หนังสือ "เรื่องเล่า คุณค่า ความหมาย คุณภาพ บริการปฐมภูมิ"


ปกหน้า

ปกหลัง

บางส่วนจากหนังสือที่รวบรวมเรียบเรียงจากเรื่องเล่ารพ.สต.

“โลก” และ “โรค” นี้ช่างมีความหลากหลาย ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ทั้งหมด บางอย่างดูเผินๆ ไม่มีอะไร แต่พอได้สัมผัส ได้ฟังการบอกเล่า เราก็รู้สึกว่าเออมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด และที่สำคัญมันก็ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่จะบอกเราว่ามันมีรูปแบบอย่างนั้น อย่างนี้ เช่นกันหลายครั้งที่เราได้ฟังการบอกเล่าเรื่องราวการดูแลผู้ป่วยของทีมสุขภาพในรูปแบบต่างๆ แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น เรารู้สึกว่า เฮ้ย...นี่มันสุดยอดนวัตกรรมทางสังคมเลย เฮ้ย...เรื่องดีดีอย่างนี้ก็มีเหรอ  เฮ้ย...น่าจะนำเอาไปขยายต่อนะ อีกสารพัด นี่แหละที่เขาเรียกว่าเสน่ห์ของเรื่องเล่า ยิ่งเป็นเรื่องเล่าแบบบ้านบ้าน แล้วยิ่งทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และก็ลดอัตตาความเป็นตัวตนของเราที่คิดว่า “เรารู้ เราแน่” ลงไปได้มาก

หลายครั้งเวลาเราคุยกันถึงระบบสุขภาพในภาพใหญ่ เราก็จะมักเห็นปัญหาสารพัด ยิ่งคุยยิ่งท้อแท้ หมดหวัง พลอยทำให้พลังใจห่อเหี่ยวไปด้วย แต่พอเราให้เอาเรื่องดีดีเล็กเล็ก อาจไม่ใหญ่โตมากนัก แต่เป็นเรื่องที่คนทำงานได้สัมผัส ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ที่ทำแล้วรู้สึกเป็นสุขแล้วมาเล่าสู่กันฟัง เราก็จะเห็นความงดงามที่หลากหลาย เห็นความมีชีวิตชีวาของระบบเล็กๆ งานเล็กๆ แต่มีคุณค่า มีความหมายยิ่งสำหรับการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ เป็นสังคมที่เกื้อหนุนจุนเจือกัน ไม่ทอดทิ้งกันในยามป่วยไข้ จากการได้มีโอกาสอ่านและได้ฟังเรื่องเล่าที่แต่ละรพ.สต.ได้คัดสรรมาแบ่งปันกัน ทำให้เข้าใจคุณค่าของความเป็นคน เข้าใจความหมายของการให้ เข้าใจคุณภาพของการจัดระบบบริการปฐมภูมิมากขึ้น บางเรื่องอ่านแล้วอมยิ้มไป บางเรื่องอ่านแล้วน้ำตาซึม บางเรื่องอ่านแล้วอิ่มเอมได้กำลังใจที่จะทำงานต่อ

ความงดงามหลากหลายจากเรื่องเล่าให้อะไรกับเราบ้าง

            เข้าใจโลก ว่าโลกไม่ได้กลม และไม่ได้แบน แต่มีเหลี่ยม มีมุม มีหลุม มีบ่อ มีโพรง การดูแลผู้ป่วยจึงไม่ได้มีสูตรตายตัวจาก ๑ เป็น ๒ เป็น ๓ แต่ขึ้นกับบริบทของเขา ของครอบครัว ของชุมชน ที่เกี่ยวโยงกับมิติอื่นๆ อีกมาก มิใช่แค่สุขภาพเท่านั้น

            เข้าใจโรค ว่าโรคไม่ได้เกี่ยวกับพยาธิสภาพของโรคเท่านั้น แต่มันเกี่ยวโยงกับความรู้ ความคิด ทัศนะ การมองต่อโรคของผู้ป่วย ครอบครัว คนดูแล คนในชุมชน และปัจจัยแวดล้อมความเป็นโลกของเขาด้วย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ทัศนคติ ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการอยู่กับโรคของเรา และพฤติกรรมการต่อสู้อยู่บนโลกใบนี้ด้วย

            เข้าใจคนอื่น ว่าทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมเขาจึงไม่เป็นเช่นนี้ เข้าใจที่จะเลือกวิธีปฏิบัติกับเขา โดยที่เขาไม่เป็นทุกข์ เราก็ไม่เป็นทุกข์ ความปรารถนาดีให้เขาหายป่วยอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจที่แท้ในตัวเขาด้วยเช่นกัน

            พลังของการให้ แต่ละเรื่องจะมีแง่มุมของการให้ที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะเป็นการให้แบบไหน ผู้ให้ก็เป็นสุข ผู้รับก็เป็นสุข คนอ่านก็เป็นสุข

            ทบทวนตนเอง การเล่าและการเขียนเรื่องเล่าแต่ละครั้งนั้น ทำให้ได้มีโอกาสทบทวนความคิด เรื่องราว และการกระทำของเราว่า ที่ผ่านมันเป็นอย่างไร และเราจะทำอะไรต่อ ผมเองก็ชอบเขียนบันทึก เพราะการเขียนบันทึกมันได้ช่วยขัดเกลาความคิดของเรา ทำให้เราชัดเจนขึ้นในปณิธานความมุ่งหมายในการดำรงอยู่ของชีวิต

            ลดอัตตา ความเป็นตัวตนของเรา จากที่เราคิดว่าเรามีความรู้เหนือผู้ป่วย เหนือชาวบ้าน ซึ่งไม่ถูกทั้งหมด ความรู้เรื่องสุขภาพ มีหลายมิติหลายศาสตร์ที่มาเกี่ยวข้อง เราอาจรู้เรื่องนี้ แต่ยังไม่รู้อีกหลายเรื่อง การได้เรียนรู้จากผู้ป่วยจากชุมชนช่วยให้เราลดความเป็นตัวตนลงได้มาก

            เยียวยาตัวเอง เรื่องเล่าหลายเรื่องเป็นเรื่องที่บุคลากรสาธารณสุขได้เยียวยาดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ขณะเดียวกันผู้ป่วย ผู้ดูแล และผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีส่วนเยียวยาตัวผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน

            เติมพลังใจ การได้สัมผัสเรื่องราว ความรู้ ประสบการณ์ มุมมองต่อชีวิต ความคิด ความอ่านของผู้คน ทำให้ได้แง่คิดมุมมองใหม่ๆ ที่จะมาช่วยเติมเต็มพลังการทำงานที่บางครั้งมันเริ่มเหือดแห้งหายไป ดังที่นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ได้เขียนในหนังสือหยดน้ำแห่งจินตนาการ ตอนหนึ่งว่า “..การเขียนทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมีพลังมากขึ้น เพราะชีวิตชัดเจนขึ้นกว่าเมื่อหลายปีก่อน เราจะรู้ว่าทำอะไร งานเราจึงชัดขึ้น ชีวิตส่วนตัวก็ชัดขึ้น ความชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไร และจะทำอะไรดีกับการมีชีวิตอยู่ มันหล่อเลี้ยงเรา...”

            การได้ฟังเรื่องเล่าดีดี ก็ช่วยเติมเต็มชีวิตและพลังใจให้เป็นสุข การได้อ่านเรื่องเล่าดีดีก็ได้เห็นความคิดมุมมองชีวิตของบุคลากรสาธารณสุขที่มุ่งมั่นในการพัฒนางานของตนเองให้มีคุณภาพ คุณภาพที่เกิดจากใจ ใจที่ต้องการให้ ให้ด้วยความกรุณาที่จะให้คนอื่นพ้นทุกข์ นี่คือบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ คือคุณภาพของบริการปฐมภูมิ ที่ใกล้บ้านใกล้ใจ คุณภาพของงานที่มาจากคุณภาพของใจเราเอง



หมายเลขบันทึก: 485455เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2012 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท