Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

น้องเขตไทได้รับการจดทะเบียนคนเกิดอย่างถูกต้องหรือไม่ ? อย่างไร ?


ข้อเสนอแนะในประการที่สามที่ผู้บันทึกมีต่อศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็คือ การเผยแพร่เรื่องราวความสำเร็จ (Success Story) ในการจดทะเบียนคนเกิดของน้องเขตไทเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องราวความสำเร็จนี้อาจใช้เป็นต้นแบบของการจดทะเบียนการเกิดให้แก่บุตรของแรงงานสัญชาติพม่าใน ท.ร.๓๘/๑ ซึ่งเกิดในประเทศไทย เป้าหมายของการสื่อสาร ก็คือ ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กดังน้องเขตไทนั่นเอง

กรณีศึกษาน้องเขตไท : สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ตอนที่ ๓ : น้องเขตไทได้รับการจดทะเบียนคนเกิดอย่างถูกต้องหรือไม่ ? อย่างไร ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกความเห็นทางกฎหมายเพื่อศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150797198258834

--------------

ที่มาของเรื่อง

--------------

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีหนังสือถีงผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ เพื่อขอหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก โดยหารือถึงประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติเด็กและกรณีแนวทางการช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากการรับจ้างตั้งครรภ์แทนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ มีการส่งข้อเท็จจริงของเด็ก ๓ คนมาให้ใช้เป็นกรณีศึกษา กล่าวคือ (๑) เด็กชาย ก. (นามสมมติ) ซึ่งเกิดในประเทศไทยอันเป็นผลมาจากการรับจ้างตั้งครรภ์แทนระหว่างประเทศ (๒) เด็กชายเขตไท ซึ่งเกิดในประเทศไทยจากบุพการีซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย ประเภท ท.ร.๓๘/๑ ซึ่งออกให้แก่คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยในไทยตามกฎหมายคนเข้าเมือง และ (๓) เด็กชายนิกร ซึ่งเกิดในประเทศไทยจากบุพการีซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย ประเภท ท.ร.๑๓ ซึ่งออกให้แก่คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในไทยตามกฎหมายคนเข้าเมือง

เพื่อการศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าว รศ.ณรงค์ ใจหาญ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้หารือกับผู้บันทึกให้ศึกษาปัญหาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ที่จะจัดการปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้นของเด็กในทั้งสามกรณีศึกษาตัวอย่างนี้

บันทึกฉบับนี้เป็นงานเขียนเพื่อตอบข้อหารือข้างต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กชายเขตไท หรือ “น้องเขตไท” โดยจะสรุปผลการศึกษาข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนวิเคราะห์สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของเด็กชายผู้นี้ อันนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของน้องเขตไทซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ส่งมาโดยศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

-------------------------------------------

ที่มาของข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เกี่ยวกับน้องเขตไท

--------------------------------------------

การสรุปข้อเท็จจริงของน้องเขตไทมาจากเอกสารที่ส่งมาโดยศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ปกครองน้องเขตไทแทนบุพการี ซึ่งรวมแล้วมีจำนวน ๔ ฉบับ อันได้แก่ (๑) แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “ท.ร.๓๘/๑” ซึ่งเป็นเอกสารบันทึกฐานะข้อมูลราษฎรฐานหนึ่งตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร กรมการปกครองได้ออกเอกสารลักษณะนี้ให้แก่นางเอ๋และนายจะเร ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของน้องเขตไท และระบุว่า การบันทึกในทะเบียนประวัติถูกจัดทำเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗  (๒) สูติบัตรสำหรับบุตรคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๐๓) เลขที่ ๑๒๐/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี (๓) สำเนาทะเบียนประวัติสำหรับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายและคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘) ซึ่งออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตจอมทองเพื่อน้องเขตไท เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ (๔) แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) ซึ่งกรมการปกครองออกให้แก่น้องเขตไทและระบุว่า การบันทึกในทะเบียนประวัติถูกจัดทำเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒

------------------------------------------

ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เกี่ยวกับน้องเขตไท

------------------------------------------

โดยพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้น เราอาจสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กชายเขตไท ไม่มีนามสกุล หรือที่เราเรียกว่า “น้องเขตไท” ได้ดังต่อไปนี้ เขาเกิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๘.๑๑ น. ณ โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๗ ถนนปทุมลาดหลุมแก้ว ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี จากนางเอ๋และนายจะเร ซึ่งรัฐไทยรับฟังว่า เป็นคนสัญชาติพม่า ทั้งที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐบาลพม่า และกรมการปกครองไทยยังได้บันทึกรายการสถานะบุคคลของบุคคลทั้งสามนี้ในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ประเภท ท.ร.๓๘/๑

-------------------------------------------

น้องเขตไทได้รับการจดทะเบียนคนเกิดอย่างถูกต้องหรือไม่ ? อย่างไร ?

--------------------------------------------

เพื่อป้องกันมิให้มนุษย์ตกเป็นคนไร้รัฐ จึงมีการยอมรับหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการจดทะเบียนคนเกิด ซึ่งนานาอารยประเทศมักจะใช้กฎหมายภายในว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อรองรับพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว

เราจะเห็นว่า นานารัฐยอมรับกลไกการจดทะเบียนคนเกิดเพื่อเป้าหมายเดียวกัน แต่อาจด้วยขั้นตอนและกระบวนการที่ไม่แตกต่างกันในประเด็นหลักๆ แต่อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดและรูปแบบขององค์กรที่เกี่ยวข้อง 

เมื่อเราพิจารณาหลักกฎหมายการทะเบียนราษฎรว่าด้วยการจดทะเบียนคนเกิด เราอาจสรุปได้ว่า กระบวนการจดทะเบียนคนเกิดที่สมบูรณ์และถูกต้องอาจเกิดขึ้นได้ใน ๓ ขั้นตอน[1] กล่าวคือ

ในขั้นตอนแรก เราพบว่า กฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐมักกำหนดให้ผู้ทำคลอดหรือสถานพยาบาลที่ทำคลอดมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองการคลอด (certification of Delivery) ของมนุษย์ที่เกิดบนดินแดนของรัฐ และเอกสารนี้ย่อมจะต้องรับรองข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวทั้งโดยหลักดินแดนและโดยหลักบุคคลระหว่างรัฐและคนเกิด  ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ในกฎหมายไทยปรากฏในมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แต่บทบัญญัตินี้ไม่ใช้คำว่า “หนังสือรับรองการคลอด” แต่กลับใช้คำว่า “หนังสือรับรองการเกิด”

ในขั้นตอนที่สอง เราก็พบว่า กฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐมักกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรของรัฐที่รักษาการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองการเกิด (certification of Birth) ของมนุษย์ที่เกิดบนดินแดนของรัฐอีกชั้นหนึ่ง และเอกสารนี้ย่อมจะต้องรับรองข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวทั้งโดยหลักดินแดนและโดยหลักบุคคลระหว่างรัฐและคนเกิดเช่นกัน  ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ในกฎหมายไทยปรากฏในมาตรา ๑๘ และ ๒๐  แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ และใช้คำว่า “สูติบัตร” สำหรับคนเกิดที่มีบุพการี และในมาตรา ๑๙, มาตรา ๑๙/๑ และมาตรา ๑๙/๓  แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ สำหรับคนเกิดซึ่งพลัดพรากจากบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คนเกิดมีบุพการีที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐต่างประเทศอื่น ก็มีความเป็นไปได้อีกด้วยที่บุพการีหรือผู้แทนบุพการีที่จะนำหนังสือรับรองการเกิดที่ออกโดยผู้ทำคลอดหรือสถานพยาบาลที่ทำคลอดไปขอออกหนังสือรับรองการเกิดตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐต่างประเทศเจ้าของสัญชาติของบุพการีของคนเกิดในสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศดังกล่าวอีกด้วยก็ได้

ในขั้นตอนที่สาม เราก็พบว่า กฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐมักกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรของรัฐที่รักษาการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรมีหน้าที่บันทึกรายการสถานบุคคลของคนเกิดในทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีของคนเกิด แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คนเกิดมีบุพการีที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐต่างประเทศอื่น ก็มีความเป็นไปได้อีกด้วยที่บุพการีหรือผู้แทนบุพการีที่จะนำหนังสือรับรองการเกิดที่ออกโดยผู้ทำคลอดหรือสถานพยาบาลที่ทำคลอด ตลอดจนหนังสือรับรองการเกิดที่ออกโดยรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดไปขอให้ สถานกงสุลของรัฐต่างประเทศเจ้าของสัญชาติของบุพการีบันทึกรายการสถานะบุคคลของคนเกิดในทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐต่างประเทศดังกล่าวอีกด้วยก็ได้

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องเขตไท ซึ่งเกิดในประเทศไทยจากบุพการีที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าและยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติพม่า เราจึงต้องมาพิเคราะห์ว่า เขาจะได้รับการจดทะเบียนคนเกิดตามกฎหมายไทยอย่างสมบูรณ์และครบถ้วนได้หรือไม่ ?

โดยพิจารณาจากสูติบัตรที่กรมการปกครองไทยออกให้แก่น้องเขตไท เราพบว่า สูติบัตรดังกล่าวออกให้แก่น้องเขตไท เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ โดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ทั้งที่น้องเขตไทเกิดเกิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๘.๑๑ น. ณ โรงพยาบาลปทุมธานี จากการพิจารณาสูติบัตรดังกล่าว เราสังเกตพบอีกว่า โรงพยาบาลปทุมธานีได้ออกหนังสือรับรองการเกิดตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่น้องเขตไท ซึ่งการออกในสถานการณ์นี้เป็นไปภายหลังการคลอดโดยผู้ทำคลอด เราจึงได้แต่สงสัยว่า ทำไมจึงมีความล่าช้าในการนำหนังสือรับรองการคลอดโดยโรงพยาบาลปทุมธานีไปแจ้งการเกิดให้แก่น้องเขตไทในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าหรือรัฐไทยให้แก่น้องเขตไท ? ความล่าช้านี้ใช้เวลาถึง ๑๓ ปี ซึ่งน่าจะทำให้น้องเขตไทประสบปัญหาความไร้รัฐ ทั้งนี้ เพราะหากไม่มีการแจ้งการเกิดของน้องเขตไทในทะเบียนราษฎรของรัฐใดรัฐหนึ่ง น้องเขตไทก็ย่อมไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก ? ดังนั้น หากมีการสอบปากคำบุพการีหรือผู้ปกครองน้องเขตไท เราก็คงจะได้ความเป็นจริงในเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันปัญหาความไร้รัฐที่เกิดแก่เด็กซึ่งเกิดในประเทศไทยในวาระต่อไป ?

แต่อย่างไรก็ตาม การแจ้งการเกิดของน้องเขตไทได้ทำโดยนายจะเรซึ่งเป็นบิดาของน้องเอง ทั้งนี้ปรากฏตามสูติบัตรที่ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ และการบันทึกรายการสถานะบุคคลของน้องเขตไทในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยยังได้รับการจัดทำโดยพลันในวันที่ดังกล่าว ดังปรากฏสำเนาทะเบียนประวัติสำหรับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายและคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘) เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒  ซึ่งออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตจอมทองเพื่อน้องเขตไท

เราอาจมีข้อสรุปทางกฎหมายในที่สุดได้ว่า นับแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ น้องเขตไทก็ได้รับการขจัดปัญหาความไร้รัฐ โดยการที่รัฐไทยยอมรับบันทึกน้องในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย แม้รัฐไทยจะยังบันทึกน้องในสถานะคนสัญชาติพม่าก็ตาม การกระทำทางปกครองนี้ก็ยังมีความหมายว่า รัฐไทยยอมรับที่จะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลประเภทหนึ่งของน้องเขตไท กล่าวคือ รัฐไทยนี้ยอมรับว่า น้องอาศัยอยู่จริงในประเทศไทยจากบุพการีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย  ทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘) และแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) จึงทำหน้าที่ทะเบียนคนอยู่ประเภทหนึ่งของรัฐไทย เอกสารมหาชนที่ออกโดยรัฐไทยนี้จึงทำหน้าที่รับรองความเป็นมนุษย์ที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทยให้แก่น้องเขตไท เขาจึงเป็นมนุษย์ที่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย แม้ยังฟังไม่ได้ว่า มีสัญชาติพม่าจริงหรือไม่  มีสิทธิเข้าเมืองหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายคนเข้าเมืองหรือไม่ ก็ตาม

จะเห็นว่า รัฐไทยยอมรับการจดทะเบียนคนเกิดอย่างครบถ้วนและถูกต้องให้แก่น้องเขตไทโดยไม่สนใจว่า บุพการีของเขาจะเป็นคนต่างด้าว หรือบุพการีของเขาจะมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองไทยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ จึงยืนยันต่อไปว่า รัฐไทยได้ให้การรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ทุกคนตามที่กำหนดโดยข้อ ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๖ แห่งกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งผูกพันประเทศไทยในสถานะกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษร

เราควรสรุปอีกครั้งว่า ด้วยการจดทะเบียนคนเกิดตามกฎหมายไทยที่ครบถ้วนและถูกต้อง น้องเขตไทจึงไม่ไร้รัฐ แม้ยังไร้สัญชาติ และเมื่อบุพการีได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติพม่า อันทำให้ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า การจดทะเบียนคนเกิดของน้องเขตไทตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรพม่าก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วย อันทำให้น้องเขตไทมีสถานะเป็นคนในทั้งทะเบียนราษฎรไทยและพม่า หรือไกลออกไปในอนาคตนับแต่ ค.ศ.๒๐๑๕/พ.ศ.๒๕๕๘  น้องเขตไทก็คือ คนในทะเบียนราษฎรอาเซียนนั่นเอง เมื่อการเชื่อมทะเบียนราษฎรของ ๑๐ ประเทศอาเซียนบรรลุขึ้นได้

ข้อเสนอแนะในประการที่สามที่ผู้บันทึกมีต่อศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็คือ การเผยแพร่เรื่องราวความสำเร็จ (Success Story) ในการจดทะเบียนคนเกิดของน้องเขตไทเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องราวความสำเร็จนี้อาจใช้เป็นต้นแบบของการจดทะเบียนการเกิดให้แก่บุตรของแรงงานสัญชาติพม่าใน ท.ร.๓๘/๑ ซึ่งเกิดในประเทศไทย เป้าหมายของการสื่อสาร ก็คือ ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กดังน้องเขตไทนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 485187เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2012 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โดยความจริงแท้แล้ว ๑.โลกนี้ เดิมที ใช้กฎหมายที่ผีออก คือ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา เป็นเครื่องควบคุมมนุษย์

๒. โลกนี้เดิมที เป็นแผ่นดินเดียวกัน ไม่แบ่งแยกเป็นอาณาจักร มนุษย์คือชาติพันธุ์ของโลก

๓. การวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยการทำสงครามเริ่มขึ้น ทำให้มนุษย์แตกฉานซ่านกระเซ็นโดยวิสัยของผู้นำ

๔. เมื่อมีการจัดตั้งอาณาจักรขึ้นแต่ละอาณาจักรก็คิดและจัดทำข้อบังคับยกเรียกเป็นกฎหมายขึ้น เรียกว่ากฎหมายคนออก

   เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสังคมและมนุษย์เป็นต้น

๕.ปัญหาข้องน้องเขตไท เริ่มขึ้นจากเหตุปฐมบท ดังกล่าวนี้ โดยกฎหมายที่คนออก

๖. คนต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เพื่อเพื่อนมนุษย์ไร้แผ่นดิน ไร้สัญชาติมากมาย

๗. คน ชอบทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก และเรื่องยากให้เป็นเรื่องยิ่งยากขึ้น

๘. น้องเขตไท เมื่อเธอเติบโตขึ้น เธอต้องรวมโลกเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ โดยใช้ธรรมชาติเป็นกฎหมาย

๙. วันเวลาที่กล่าวนั้น น่าจะได้เริ่มต้น จากประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน พัฒนาไปเป็นประชาคมอาเชียน ประชาคมเอเชีย

  ประชาคมโลก

๑๐. นี่คือเรื่องราวยุ่งเหยิงของสังคม ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่คนออกทั้งสิ้น

๑๑. แล้วเกิดความคิดที่ต่อต้านสังคมในทางลบ

๑๒. การทำเรื่องนี้ให้สำเร็จความประสงค์ ต้องทำสงครามล้างโลก เพื่อรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียว ไร้เขตแดน

๑๓. ด็อกเตอร์ครับ สงครามอีกแล้ว ช่างเหมือนเมื่อร้อยปีพันปี เสียนี่กระไร

๑๔. ใช้ ศิล สมาธิ ปัญญา พิเคราะห์ปัญหาแล้ว แก้ไข ก็ไม่รู้วันจบ

๑๕. เฮ้อ....เหมือนสามจังหวัดชายแดนใต้ วันนี้เลย

สาธุค่ะ ก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้น้องเขตไทไปก่อนนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท