กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๗๗) : กระจกบานเล็ก



ในคาบสุดท้ายของภาคเรียนวิมังสา  คุณครูสุ – สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์  ก็ได้พบว่า

 

การสะท้อนความคิดของลูกศิษย์วัย ๑๐ ปี ไม่ต่างอะไรกับความใสของกระจกที่สะท้อนความรู้สึกที่ใสสะอาดของพวกเขาออกมาอย่างตรงไปตรงมา ผ่านประโยคคำถามสั้นๆ ว่า “ครูสอนพวกเราแล้วครูได้เรียนรู้อะไรบ้างหละครับ” (ลูกไม้)

 

ไม่อยากเชื่อว่าคำพูดประโยคสั้นๆ นี้ จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สร้างให้เกิดความสุขเล็กๆ ขึ้นได้ ความรู้สึกตอนนั้นคือ หยุดคิดและทบทวนตัวเองอย่างช้าๆ (ซึ่งโดยธรรมชาติของตนเองจะตอบทันทีโดยไม่หยุดทบทวน แต่ครั้งนี้หยุดไว้ได้ทัน) ก่อนที่จะตอบออกไปว่า

 

“ครูต้องขอบคุณพวกเราที่สอนให้ครูรู้ว่า บางครั้งครูเร็วเกินไปในหลายจังหวะ ครูเปลี่ยนเรื่องในการเรียนรู้ของพวกเราเร็ว การรอฟังความคิดของพวกเราในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังเร็วอยู่”

 

“ครูก็เปลี่ยนได้นะครับ” เสียงเด็กคนหนึ่งพูดขึ้น

“คาบหน้าครูก็สอนให้ช้าลงซิครับยังมีโอกาส” (ดล)  

จากนั้นก็มีคำพูดเพิ่มขึ้นอีก “ใช่ๆครูสอนเข้าใจนะคะ แต่หนูเรียนกับครูสุแล้วหนูจะหลับค่ะ เพราะว่าเสียงครูสุสม่ำเสมอทั้งคาบเลย” (พิ้ง)

 

แล้วเด็กๆ หลายคนในห้องก็บอก “ใช่ๆ... ครูลองเปลี่ยนดูนะคะ / นะครับ”

 “แต่สิ่งที่หนูได้หนูได้วินัยจากครูค่ะ”  เสียงเล็กๆ ดังลอยมา โดยที่ครูเองก็ฟังไม่ทันว่ามาจากไหน  

 

จากวันนั้นเองทำให้เราต้องกลับมาทบทวนตนเองอย่างช้าๆ และเราเริ่มที่จะฟังคนอื่นพูดกับเราอย่างช้าๆ มากขึ้น  ระวังและจดจ่อกับเรื่องราวในการสนทนากับคนที่เข้าสนทนากับเราเพิ่มมากขึ้น  เรียนรู้ทีละเล็กที่จะค่อยๆ ลดความเร็วของตนเองลง  รวมถึงการพยายามทำอะไรให้ช้าลงด้วย

 

สิ่งที่สำคัญของการเรียนรู้ คือ ต้องเริ่มที่ตัวเราเองว่าเราอยากเปลี่ยนไหม

 

ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงแค่ความคิด  แต่การเปลี่ยนแปลงหมายถึงการที่เราพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบ  อย่าท้อที่จะปรับเมื่อถูกกระทบ อย่าล้าที่จะแก้ไขข้อผิดพลาด อย่าอ่อนแรงที่จะลงมือทำแม้มันจะขัดความรู้สึกในบางครั้ง

 

นักเรียนในห้องยังให้โอกาสเรามาตลอด  พวกเขาไม่เคยบอกเราเลยว่าครูเป็นแบบนี้แบบนั้น  แต่พวกเขาก็เรียนรู้ร่วมกันกับเรามาตลอดเทอมโดยพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองก่อน

 

กระจกบานเล็กๆ เหล่านี้ ช่วยสะท้อนภาพให้เราเห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้นว่าเราไม่เคยคำนึงเรื่องเหล่านี้เลย  เรารู้เพียงว่าจะสอนอย่างไรให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้ แต่ไม่ทันระวังว่าในกระบวนการเรียนรู้มีความละเอียดมากมายที่เราต้องระมัดระวังอย่างมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การคิดตาม หรือการแก้ปัญหาของผู้เรียน

 

เรื่องของจังหวะอาจเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดคือจังหวะที่มีสติ ที่จะช่วยกำกับไม่ให้เวลาหลุดออกไปไกล

 

ขอบคุณครูนุ่นและครูม่อนที่มีส่วนสะท้อนและให้โอกาสในการร่วมเรียนรู้กับกลุ่มครูคณิตศาสตร์  ขอบคุณครูเล็กที่เปิดโอกาสให้ได้มาสอนนักเรียนชั้นเล็ก และขอบคุณนักเรียนชั้น ๔ ที่ทำให้เราละเอียดอ่อนขึ้นทั้งจิตใจและพฤติกรรม

         

 

คุณครูสุ - สุภาพร  กฤตยากรนุพงศ์  บันทึก

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 484889เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2012 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นี่คือตัวอย่างของครูที่ใช้ชั้นเรียน เป็นสถานที่เรียนรู้ของครู ใช้นักเรียนเป็น "ครู" ของครู ผมเชื่อว่าครูที่มีทักษะนี้ จะมีชีวิตที่ดี เพราะได้ฝึกความเป็น "นักเรียนรู้" อยู่ตลอดเวลา
ขอแสดงความชื่นชมต่อคุณครูสุ ครับ นี่คือ ครูเพื่อศิษย์ ท่านหนึ่ง และขอบคุณที่นำมาเล่า เพื่อ ลปรร. วิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

สำหรับครูสุแล้ว บันทึกนี้เป็นประสบการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ ตอนที่หนูได้รับบันทึกของครูสุที่ส่งมาให้ทางอีเมล ก็รู้สึกยินดีกับการเปลี่ยนแปลงของน้อง จึงได้เขียนให้กำลังใจไปว่า

"ขอบคุณมากๆ สำหรับบันทึกดีๆ
และเรื่องดีๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยอดเยี่ยมของสุค่ะ"

ครูสุตอบกลับมาว่า...

สวัสดีค่ะพี่ใหม่

            สุก็ขอบคุณพี่ใหม่เช่นกันค่ะ

สุไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจมากมายในการ เขียนเรื่องราวหรอกค่ะแต่ว่าสุชอบอ่าน และสุอ่านเรื่องราวLS ที่พี่ใหม่ส่งมาทุกครั้ง รู้สึกดีกับเรื่องราวที่อ่านเลยลองเขียนดูค่ะ ประกอบกับเด็กๆ ก็คือพลังที่เติมบางส่วนของเรา ซึ่งอาจไม่เต็มแต่เค้าให้โอกาส เราเลยลอง ให้โอกาสตัวเองเขียนบ้าง ก็สนุกดีค่ะ

                                   ครูสุ

ก็นึกภูมิใจว่า ความเพียรในการบันทึกของเราได้ผลเกินคาดจริงๆ

ด้วยความเคารพ ครูใหม่

ติดตามเรื่องราวจาก...กระจกบานเล็ก...แต่ละบรรทัดด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขไปด้วยคะครู

ส่วนที่ครูขมวดไว้นี้ ชอบจังเลยค่ะ

..."ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงแค่ความคิด  แต่การเปลี่ยนแปลงหมายถึงการที่เราพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบ  อย่าท้อที่จะปรับเมื่อถูกกระทบ อย่าล้าที่จะแก้ไขข้อผิดพลาด อย่าอ่อนแรงที่จะลงมือทำแม้มันจะขัดความรู้สึกในบางครั้ง"

ขอบคุณมากนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท