เวียงโกศัย ตอน 5 Data Information and Knowledge for PCA


Data Information and Knowledge for PCA

หลังจากสนทนาตอนย่ายจบด้วยความประทับใจ และฝากร่องรอยความหวังว่าวันรุ่งขึ้นเราจะได้ Tour de Phrae อย่าง Royal Silk CLass กันแล้ว เราก็ยกขบวน (เล็กๆ) ไปมี mini-meeting กันที่ร้านกาแฟ พี่อ้อย project manager ของเราก็โยนคำถามท้าทายลงมาตูมกลางวง

"พวกเราพร้อมที่จะมี model นำร่อง ที่ชาวบ้านชาวช่องเป็นเจ้าเข้าเจ้าของกิจกรรม และนำเสนอให้ประชาชนเห็นรึยังว่า Primary Care ที่แท้นั้น ทำอย่างไร และจะได้ผลเช่นไร?"

ขณะนี้โครงการนี้ก็ได้ทำมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ประสบการณ์ในเงื้อมมือแต่ละ cup แต่ละ node นับว่าไม่น้อย หลายๆคนเวลาเล่าเรื่อง พอจะดูออกมาในตัวตนนั้นได้ค้นพบอะไรบางอย่างที่สำคัญ คำถามก็คือ "เรามาถึงระยะที่เรารู้สึกว่าเรามีอะไรที่ดีมาก และอยากให้คนอื่นเขามีด้วย แล้วหรือยัง?"

ด้วยวิธีที่เราทำในขณะนี้ เราเริ่มมองเห็น "ชีวิตจริงๆ" ท่ามกลางงานที่ทำทุกวัน เป็นงานที่มี privilege อย่างยิ่ง แต่ละ case แต่ละเรื่อง มีน้ำจิตน้ำใจและความงามที่แท้ของมนุษย์เต็มไปหมด แต่หากเราจะทำให้สิ่งที่เราค้นพบนี้เผยแพร่ได้ เราจะต้อง "สำแดงผล" ว่า เราคิดอย่างไร เราถึงทำอย่างไร และเราถึงได้ผลออกมาเช่นไร เพื่อที่จะเกิดการต่อยอดตั้งแต่ concept methodology และ แนวทางการดำเนินการที่จะต้องดัดแปลงไปให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ในการทำกระบวนคิดรวบยอดนั้น เราจะเห็นการเดินทาง (journey) ของเรื่องราว จากข้อมูลดิบ (story) ไปเป็นข้อมูล (Data) ไปเป็นสาระ (Information) ไปเป็นความรู้ (knowledge) และสุดท้ายที่จะหล่อหลอมตกผลึกออกมานั่นคือ "ภูมิปัญญา (Wisdom)"

ตอนนี้เรามี "เรื่องเล่า" มากมาย (story-telling) จากหน่วยงานทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องเล่าธรรมดาๆ แต่มีพลังในตัวมันเอง แต่การจะนำมาใช้ประโยชน์ เรื่องเล่าหรือข้อมูลดิบเหล่านี้ควรจะทำให้เกิดคุณสมบัติบางประการได้แก่

  • accessible คนใช้เข้าถึงได้ 
  • managable ระบบข้อมูลจัดการได้
  • usable และที่สำคัญที่สุดคือมีสาระที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตได้

ยกตัวอย่างเช่นที่ที่เราเก็บข้อมูล ควรจะเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก "ผู้ใช้หลัก" (จะเป็นใครก็ตาม) ไม่ใช่เก็บล็อกกุญแจ ไม่มีใครอ่านได้ หรือไม่มีใครอ่านเข้าใจ ในขณะเดียวกันก็มีระบบป้องกันที่เหมาะสมเรื่องการรักษาความลับของปัจเจกบุคคล นี่เรียกว่า accessible

data ที่เข้าถึงได้ ต้องสามารถดึงออกมาจัดระเบียบ หรือที่สำคัญก็คือ ดึงออกมา "ได้สาระ" ได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเรามีทะเบียนประวัติของคนป่วยในหมู่บ้าน แต่ปรากฏว่า เราอาจจะเก็บเอาไว้ใน word file พอเราจะจัดระเบียบเพื่อ "มองเห็นภาพรวม" บางประการ เช่น คนเป็นอัมพาตมีกี่ราย อยู่แถบไหนของพื้นที่ ปรากฏว่าเราต้องไปนั่งแยกเป็นทีละคน ไม่สามารถจะดึงออกมาได้ แทนทีจะเก็บไว้ในรูปแบบของโปรแกรม access หรือ excel เป็นต้น ที่สามารถจะ "สร้างภาพรวม" ทั้งบางมุม ทั้งแบบมหภาค หรือเป็นคำถามจำเพาะได้อย่างง่ายดาย นี่เรียกว่า managable

การเลือกวิธี การจัดหมวด data เพื่อการใช้นั้น ต้องการคนที่มีทักษะในการ "ตั้งคำถาม" และเป็นคำถามที่ relevant ต่อประโยชน์ในชีวิตจริงๆ ไม่ใช่อยากรู้อะไรเรื่อยเปื่อย เก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้ก่อน เพราะการสร้างฐานข้อมูลนั้นแพงมาก แพงทั้งเงิน แพงทั้งเวลา แพงทั้งแรงงานที่จัดการ การเก็บไว้ก่อนก็อาจจะมีประโยชน์ก็จริง แต่สุดท้าย เราก็จะถูกท่วมไปด้วยภูเขาข้อมูลที่ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นหรือไม่เคยถูกนำมาใช้ได้เลย เสียทั้งเวลา พื้นที่ และค่าใช้จ่ายมากมาย

เมื่อเราได้ Data ก็จะถึงช่วงสำคัญคือ "ทำให้เป็นสาระ (information)"

จาก Data ด้วยคำสั่งง่ายๆ เช่น

  • หมู่บ้านเรามีไข้เลือดออกทุกๆปีมากกว่าทุกหมู่บ้านในจังหวัด
  • อำเภอเรามีท้องร่วงมากทุกฤดูร้อน
  • คนไข้โรคปอดอาการหนักขึ้นต้องนอน รพ. ทุกช่วงปลายปีถึงต้นปีใหม่ ประมาณ 4 เดือน
  • คนไข้อัมพาตที่นอนอยู่ที่บ้านในหมู่บ้านเรามีถึง 120 คน
  • คนไข้เบาหวานส่วนใหญ่อยู่ที่หมู่บ้าน A ที่เหลืออีก 10% กระจายอยู่ที่อื่นๆ

นี่คือลักษณะของ data ที่กลายเป็น information แล้ว

Information เป็น "สาระที่กระตุกต่อมเอ๊ะ" เป็น "สาระที่กระตุกการตั้งคำถาม" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คำถามวิจัย" อันเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะคำตอบของคำถามวิจัยนี้เองที่จะกลายเป็น knowledge

ชาวปฐมภูมิที่รักทุกท่าน อาจจะสละเวลามามองๆสิ่งที่เรามีในมือ ณ ขณะนี้ว่าเรามีอะไร และอยากจะมีอะไร มี raw data แล้ว ถ้างั้นเรามี data แล้วหรือไม่ มีใครเอา data มาทำให้เกิดสาระไหม หรือมีสาระมากมาย อยากจะได้คนมาช่วยตั้งเป็นคำถาม ฯลฯ ขั้นตอนเหล่านี้ เราไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด เพราะที่จริง ชาวบ้านเองก็อาจจะมีอยู่แล้วตั้งแต่ raw data, data, information หรือแม้กระทั่ง knowledge และ wisdom ที่เราพึงนำมาต่อยอด ขยายออกไป และพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง

ตัวอย่าง

สันทรายเป็นอำเภอใหญ่ มีต้นทุนทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ตั้งรากที่นี่ (ผมก็พึ่งทราบไม่นานนี้เองว่าสันทรายมีโรงงานผลิตของเล่นไม้ประเภท puzzles เช่น ขุนแผนแหกคุก Hanoi Tower etc มีเป็นร้อยๆ items ส่งขายทั้งในและนอกประเทศเลยทีเดียว ที่ สอ.สันทรายกำลังคุยกันคือเรื่องการปลูกพืชผักสุขภาพ ที่ไม่เพียงเพื่อเลี้ยงตัวเองเท่านั้น แต่อาจจะไปถึงระดับทำเป็นรายได้ของชุมชน

น้องอ้อ เล่าเรื่องโครงการใหม่ของเธอ ที่ได้มาจากการไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าคนดูแลหลัก (primary caregiver) กลับมีปัญหาหลายเรื่อง และเริ่มมีความทุกข์แทรกซ้อนด้วย เธอก็เลยริเริ่มโครงการดูแลผู้ดูแล (care of primary caregiver) ขึ้นปรากฏว่าในเบื้องต้นได้ผลที่น่าสนใจ คนต่างอำเภอเริ่มมาขอให้เล่าให้ฟังว่าทำอย่างไร ทำเพราะอะไร

น้องเมย์ เป็นคนดูแลผู้ป่วยทุพพลภาพที่บ้าน ได้ใช้วิธีการฟังอย่างลึกซึ้งที่เรียนมา เข้าไปดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทุพพลภาพที่บ้าน แต่เนื่องจากเมย์ไม่ได้ดูเฉพาะแต่โรคเท่านั้น เมย์ได้ถามคนไข้ว่าอยากจะได้อะไร อยากจะให้ช่วยอะไร และอะไรที่จะทำให้คุณลุงมีความสุขได้อีก คุณลุงคนหนึ่งบอกว่าจริงๆแล้วอยากจะเจอเพื่อนเก่า ไม่ได้เจอกันมาตั้งยี่สิบปีแล้ว อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ตั้งแต่พิการ ไปไหนมาไหนไม่สะดวกก็ไม่ได้เจอะเจออีกเลย เมย์ได้ลองไต่ถามคนหลายๆคนดู ในที่สุดก็ลองหาลู่ทาง และได้จัด meeting เกลอเก่าของคุณลุงผู้พิการให้ ผลที่ได้นั้นน่าประทับใจและซาบซึ้งมาก เรียกว่าเป็น dramatic results ของ social therapy โดยแท้ และเมื่อมีคนเอ่ยขึ้นมาว่า "อยากทำบุญ" บรรดาคนที่มารวมกัน ก็ช่วยกันออกความเห็น และเกิดลู่ทาง หนทาง โครงการเล็กๆน้อยๆตามมาอีกมากมายด้วยกัน

========================================

จากเรื่องทั้งสามเรื่อง ดูเผินๆเหมือนเป็น raw data แต่ที่จริง มีอะไรมากกว่านั้นแฝงอยู่ การมี "เวทีเล่าเรื่อง" ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของ qualitative story ที่จะถูก share และส่งต่อ เหมือนการใช้ access/excel ของ quantitative data ได้เหมือนกัน

จากข้อมูลของอ้อ และเมย์ เราเห็น "รูปแบบของสังคมบำบัด" ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนืองานประจำทางสาธารณสุข หากเราเกิดความ "สนใจ และต่อไปคือสงสัย" อยากจะทราบว่าสังคมบำบัดนั้น จะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหม นี่จะเป็นโครงการต่อยอดที่สามารถทำเชิงระบบได้

หากเรามีสถานี day-care ที่นำเอาผู้ป่วยพิการก็ดี ผู้ป่วยเรื้อรังก็ดี มาพบปะสังสรรค์กัน เราจะเกิดระบบที่ทำให้การ manage high-risk cases ง่ายขึ้น และก่อให้เกิดการ early detection ของความผิดปกติเร็วขึ้น หากเราให้หมอ หรือพยาบาล เข้ามา screen ตรวจ ในศูนย์สังคมบำบัดแบบนี้ ศูนย์นี้จะเป็นแหล่งพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการทำงานของอาสาสมัครประเภทต่างๆ นักเรียนนักศึกษา ที่อยากจะหัดดูแลผู้คน มาเป็นเพื่อนคุย มาเป็นคนช่วยเหลือ ใครจะนำเอาศิลปบำบัด อาทิ วาดรูป ทำเซรามิก ปั้นหม้อ ฯลฯ ก็จะสามารถทำได้เช่นกัน

แม้แต่ primary-caregiver ถ้าหากได้มาพบปะกัน เราก็ไม่ควรจะหวังเพียงให้เขาเหล่านี้คลายทุกข์จากงานดูแลเท่านั้น เป็นโอกาสอันดีที่เราจะ empower ทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดูแล เผลอๆเราอาจจะสร้างวิทยากรที่ชำนาญการดูแลคนไข้เบาหวานที่สามารถจัด ws hands-on ได้จากกิจกรรมนี้ และผลก็คือ คนไข้เองก็จะถูกดูแลดีขึ้น

และถ้าใครคิดจะขยายต่อไปทำกับ primary caregivers ของคนไข้กลุ่มอื่นๆ อาทิ คนไข้ neuro (อัมพาต) คนไข้มะเร็ง คนไข้โรคหัวใจโรคปอดโรคไตเรื้อรัง ก็น่าสนใจ ลำพังคนไข้มะเร็งกลุ่มเดียว เราก็ต้องใช้เวลาพอสมควรกับญาติเกี่ยวกับ home medication โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการใช้ยากลุ่มมอร์ฟีน

และหากเราดูแลคนไข้พิการ คนไข้เรื้อรังดีพอ เราจะพบว่า "คนไข้กลุ่มนี้บางคน ยังสามารถทำงานเบาๆบางอย่างได้"

พอดีก็จะเอาโครงการพืชผักอนามัยของสันทรายมาเชื่อมโยง เช่น คนไข้หลายคน น่าจะพอนั่งได้ ทำงานด้วยร่างกายท่อนบนได้ ก็สามารถทำงานประเภทบรรจุหีบห่อ pack ของ และติดตรา ฯลฯ คนไข้ที่เคยเป็นภาระต่อคนอื่น ก็จะสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อการดูแลครบวงจร ครบระบบ ดูทั้งคนไข้เองและ caregiver และอย่างเป็นองค์รวมเช่นนี้เอง

จาก data เป็น information

จาก information เป็น knowledge

จาก knowledge เกิดเป็น ปัญญา (wisdom)

หมายเลขบันทึก: 484747เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้สาระ เข้าใจง่าย และจุดประกาย การเดินทางของเรื่องเล่าสู่ปัญญาค่ะ

เรืือง usability เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ฐานข้อมูลก็กระพร่องกระแพร่ง ขึ้นลงตามอารมณ์คนเก็บ ถ้าคนเก็บข้อมูลไม่รู้ว่าเก็บไปแล้วทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นได้อย่างไร

สงสัยเล็กน้อยค่ะว่า ทั้ง การบันทึกข้อมูล แบบเล่าเรื่อง กับแบบ คีย์เป็นตัวเลขเข้าคอม หากเกิดหลังจาก "ผล" ย้อนไปหาเหตุ จะสุ่มเสี่ยงต่อ ความลำเอียง (bias) - เลือกที่จะรำลึก เลือกที่จะแสดงออก หรือไม่

ปัทมาครับ

ผมคิดว่าในเชิง qualitative research เราทราบเงื่อนไขมาแล้วว่า "ตัวผู้ทำวิจัย" เป็นเครื่องมือวิจัยด้วย ดังนั้น subjectivity อยู่ใน package แน่นอน เวลา analyze เงื่อนไขนี้คงอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ

เวลาไปทำงานเรื่องแบบนี้กับชาวบ้าน เราก็จะไม่ได้ถามไปเฉยๆว่า "ลุงมีความสุขไหมครับ" หรือ "คุณป้าช่วงนี้มิติทางจิตวิญญาณเป็นไง" แต่ถามเอาข้อมูลหลายหลาก items หลายมิติ และสุดท้ายคนทำวิจัยก็ draw conclusion ว่าเขาพบอะไรที่อยู่ในคำถามวิจัยหรือไม่

ไม่งั้นผมสงสัยอย่างมากว่า เวลาทำวิจัยเรื่องความสุข คุณภาพชีวิต มิติทางจิตวิญญาณ ฯลฯ เหล่านี้ เขาทำเป็น unbiased object ได้อย่างไร 

PS ปกติ bias ในเชิงวิจัยเราหมายถึง systematic bias ใช่ไหมครับ ในที่นี้ผมว่ามัน random กว่านั้น ยกเว้นเราคิดว่าสามารถใส่สมการให้ personality, context และเดาได้อย่างแม่นยำว่าจะเบ้ไปในทางใด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท