ไหม : จากผ้ามาเป็นธนบัตรและแสตมป์


แสตมป์ผ้าไหม

ไหมจากผ้ามาเป็นธนบัตรและแสตมป์.pdf

 

ไหม : จากผ้ามาเป็นธนบัตรและแสตมป์

 

วิโรจน์   แก้วเรือง

 

ไหม : แมลงที่แต่งแต้มความอบอุ่น

          ไหม (Silk) เป็นเส้นใยที่ได้จากแมลงขณะที่เป็นตัวหนอน (silkworm) หลังจากฟักออกจากไข่ ออกมากินใบหม่อน (mulberry leaves) ประมาณ ๒๐ วัน จากนั้นก็จะทำรังด้วยการคายเส้นใยห่อหุ้มตัวเอง ก่อนลอกคราบกลายเป็นดักแด้ อยู่ภายใต้รังราว ๙-๑๔ วัน ก่อนกลายเป็นผีเสื้อ คายน้ำลายเจาะรังออกมาผสมพันธุ์ วางไข่ เป็นรุ่นลูกต่อไป ถ้าเราต้องการได้เส้นไหมที่ยาวอย่างต่อเนื่องต้องนำรังไหมที่ยังเป็นดักแด้อยู่ภายในรังออกมาต้มในน้ำร้อนละลายกาวไหม สาวออกมาเป็นเส้นใยใช้ถักทอเป็นผืนผ้า

          การใช้ประโยชน์จากเส้นใยไหมใช้ทอเป็นพัสตราภรณ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกที่ประเทศจีน เมื่อราว ๔,๕๐๐–๔,๗๐๐ ปี มาแล้ว ก่อนที่ชาติพันธุ์อื่นๆ จะได้รู้จักและได้ใช้อาภรณ์จากไหม หลังการเกิดเส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าขายอันลือเลื่องของโลกจากประเทศจีน แพร่หลายสู่หลายประเทศในเอเชีย สู่ยุโรปทั้งทางบกและทางทะเล รวมทั้งประเทศไทยที่มีการค้าขายกับจีน ทั้งที่พุมเรียง อำเภอ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดปัตตานี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีการค้าขายผ้าไหมกับจีน และมีตลาดค้าขายผ้าไหมโดยเฉพาะเรียกว่า “ป่าไหม”

 

ไหม : กลายเป็นธนบัตรและแสตมป์

          ธนบัตรใบแรกของโลกก็กำเนิดในจีนเช่นกัน โดยรัฐบาลอนุญาตให้เอกชน ๑๖ รายในมณฑลซื่อชวน ตั้งธนาคารเริ่มใช้เงินกระดาษ ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๘ หรือต้นศตวรรษที่ ๙ ราว ๑,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา

          ธนบัตรยุคนั้นเป็นกระดาษเรียกว่าเงินปลิว เนื่องจากมีความบางเบาปลิวลมหลุดมือได้ง่าย เงินกระดาษรุ่นแรกใช้เป็นตั๋วแลกเงินมากกว่าจะใช้เป็นเงินจริงๆ โดยพ่อค้าวานิชจะฝากเงินสดไว้ที่เมืองหลวง แล้วรับเงินปลิวเอาไปแลกเป็นเงินสดในมณฑลอื่นได้

 

 

          รัฐบาลจีนได้ดึงอำนาจคืนจากเอกชน ตั้งตัวแทนของรัฐให้สามารถออกธนบัตรหน่วยเงินต่างๆ ที่มีเงินสดสำรองฝากไว้ ทั่วโลกจึงให้การยอมรับว่าธนาคารของรัฐที่มีเงินสำรองแห่งแรกของโลก เกิดขึ้นเมื่อคริสตศักราช ๑๐๒๓ (พุทธศักราช ๑๕๖๖)

          เมื่อชาวมองโกลครองอำนาจในจีนมีการออก “ธนบัตรผ้าไหม” เงินรุ่นเก่าต้องนำมาแลกเป็นธนบัตรผ้าไหม ใช้มัดเส้นด้ายไหมเป็นสิ่งสำรองในการออกเงินสกุลนี้ ธนบัตรผ้าไหมมีการใช้อย่างกว้างขวางถึงเปอร์เซีย ในช่วงคริสตศักราช ๑๒๙๔ (พุทธศักราช ๑๘๓๗) และใช้มาจนถึงคริสตศักราช ๑๓๗๕ (พุทธศักราช ๑๙๑๘) จึงมีการออกธนบัตรใหม่แทนธนบัตรผ้าไหม และแล้วในที่สุดการใช้เงินกระดาษของจีนก็เสื่อมความนิยมลง เนื่องจากการปลอมแปลงธนบัตรทำได้ง่ายทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ จนกระทั่งยุโรปนำธนบัตรกลับมาใช้ใหม่ และใช้กันอย่างแพร่หลายยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากการผลิตที่สลับซับซ้อนปลอมแปลงได้ยาก

 

แสตมป์ผ้าไหมดวงแรกของโลก

    แสตมป์ผ้าไหมเป็นนวัตกรรมของไทยโดยแท้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา๑๒ สิงหาคม๒๕๕๓ และเนื่องในโอกาสที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ได้ก่อตั้งครบ ๓๖ ปี เป็นแสตมป์ที่ทำจากผ้าไหมไทยครั้งแรกของโลกใช้ผ้าไหมหัตถกรรมทำด้วยมือ ราว ๖,๐๐๐ หลา ผลิตเพียง ๒๐,๐๐๐ ชุด โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตราสัญลักษณ์นกยูงพระราชทาน เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย จำนวน ๔ แบบ คือนกยูงสีทอง นกยูง สีเงิน นกยูง  สีน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว ให้บริษัทไปรษณีย์ไทยมาเป็นแบบจัดพิมพ์ลงบนแสตมป์ ทำการเปิดตัวแสตมป์ผ้าไหมไทยชุดที่ระลึกครั้งแรกเมื่อวันที่๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ ในงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชียพุทธศักราช ๒๕๕๓ ณ แพลนนารีฮอลล์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ ๔-๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จมาเป็นประธานในพิธี

          จะเห็นได้ว่าไหมเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าอยู่ในตัว ประเทศไทยมีไหมไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติ จนมีคนกล่าวขานว่า “ไหมคือศรีแห่งแผ่นดิน” นอกจากเราจะได้ภาคภูมิใจว่าไหมใช้เป็นทั้งธนบัตรและแสตมป์ซึ่งมีมูลค่าปรากฏให้เห็น ในอดีตผ้าไหมยังใช้เป็นสิ่งของจำนำแลกเป็นเงินได้ เกษตรกรในภาคอีสานได้ใช้ผ้าไหมแลกเป็นธนบัตรส่งลูกส่งหลานเรียนจนจบปริญญาตรีมาแล้วมิใช่น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ขอให้ชาวไทยภาคภูมิใจใน “ไหมไทย” ของเราร่วมกัน

 

บรรณานุกรม

บาราย. 2554. ธนบัตรใบแรกของโลก ใน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 คอลัมน์คัมภีร์จากแผ่นดิน. หน้า 5.

http://www.komchadluek.net.  ล้ำเลิศ เลอค่า งานแสตมป์.

http://www.thailandpost.co.th

ที่มา : colourway ปีที่ 17 ฉบับที่ 96 เดือนกันยายน-ตุลาคม 2554 เขียนโดย วิโรจน์ แก้วเรือง

 

 

หมายเลขบันทึก: 484017เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท