พลังจิตอาสาสร้างสุขภาวะเมือง : (2) ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้


....คุณลักษณะคนมีจิตสาธารณะและพลเมืองจิตอาสา มักเป็นคนแบบ อสม.คือ..อาสาแม่งทุกเรื่อง....

                การถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จัดขึ้น ใช้ชื่อเวทีว่า การถอดบทเรียนและวางแผนต่อเนื่อง : เครือข่ายเทศบาล-ชุมชน ส่งเสริมพลังจิตสำนึกสาธารณะเพื่อสร้างสุขภาวะท้องถิ่น ประกอบด้วยกระบวนการเวทีที่สำคัญ คือ

               (1) เรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ เพื่อเตรียมทำงานการคิด  จัดเป็นเวทีเสวนายามค่ำ Evening Talk ของยามเย็นวันแรก พูดคุยแบบคนทำงานนำประสบการณ์และสิ่งที่เป็นความปรารถนาดีมาแบ่งปันกัน ได้วิทยากรมาช่วยจุดประกายและพาเสวนา 4 คน คือ คุณหมอพนัส พฤกษสุนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี คุณอัญชัน  แกมเชย ผู้จัดการของเวทีของพลเมืองเพื่อบางกอก หรือ บางกอกฟอรั่ม  นายสมคิด พวงชื่น นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลสว่างอามรมณ์ และ นายชาญ  ชูวงศ์ ประธานชมรมสิ่งแวดล้อมสุพรรณบุรี โดยมี ผศ.ดร.อาภา  ยังประดิษฐ์  ทีมนักวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ศิริราช เป็นผู้ดำเนินรายการ

               (2) ถอดบทเรียนและเตรียมนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มีกลุ่มประชาคมและเครือข่ายคนทำงานแบบจิตอาสาตามความเข้าใจเบื้องต้นของท้องถิ่น มาร่วมกว่า 100 คน จาก 14 ชุมชนเทศบาล จำนวนเทศบาล ไม่ได้มาร่วมด้วย 3 แห่ง คือ เทศบาลตำบลเกษตรพัฒนา เทศบาลตำบลศรีประจันต์ และเทศบาลเมืองราชบุรี ทว่าจำนวนคนนั้น มากกว่าจำนวนที่เราเชิญเข้าร่วม  ใช้เวลาอย่างเต็มที่ คือ ทั้งวันของวันที่สอง รวมทั้งออกแบบเพื่อจัดกระบวนการให้เป็นบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มากกว่าเป็นเวทีนำเสนอผลงาน ซึ่งท้าทายการทำงานอย่างหนัก ทั้งการออกแบบความคิด การระดมพลังทีม และการปฏิบัติให้เวทีไม่แข็งเกินไป

               (3) การอภิปราย สะท้อนการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยบนความคิดเห็นแบบเวทีเปิด (Open Forum)

               (4) บรรยากาศสอดแทรก และการจัดสภาพแวดล้อมทั้งหมด ให้มีพลังสร้างสรรค์การเรียนรู้

               (5) การจัดกิจกรรม ชีวเกษม เพื่อเรียนรู้จากการสร้างประสบการณ์ตรงให้กับตนเองในการปฏิบัติเพื่อสุขภาพแบบองค์รวม ในตอนเช้าตรู่ จากหกโมงเช้า ถึงประมาณ 8 โมงเช้า ผสมผสานกิจกรรมหลายอย่าง คือ การเดินภาวนารับอรุณ การรำกระบองแบบป้าบุญมี การทำโยคะ การภาวนาแบบเคลื่อนไหวแนวหลวงพ่อเทียน และการล้อมวงคุย นำปฏิบัติให้โดย ปรีชา ก้อนทอง  วิทยากรกระบวนการ ของเวที ชีวเกษม-มนัสเกษม ประชาคมสร้างสุขภาวะพุทธมณฑล

               (6)  การสรุปและปิดเวทีอย่างมีส่วนร่วม อย่างพิถีพิถันทุกจุด

               ในการถอดบทเรียน แต่ละชุมชน-เทศบาล ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกชุมชนละ 5-6 คน ไปจนถึง กลุ่มละ 20 กว่าคน มีประเด็นเพื่อรวบรวมประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน 3 เรื่อง โดยมีเครื่องมือช่วย จัดการ 3 แบบ บนกระดาษปรู๊ฟ (ทีมจากเทศบาลเมืองชัยนาทแนะนำว่า เรียก กระดาษสูบยา คนต่างจังหวัดจึงจะรู้จัก) 3 แผ่น คือ

  • เรื่องที่กำลังทำกันอยู่ ให้รวบรวมรายละเอียดและนำเสนออย่างเป็นระบบโดยแผนภาพการคิด หรือ Mind Map 1 แผ่น
  • ถอดบทเรียน จุดเปลี่ยนแปลง ที่โดดเด่นของทีมท้องถิ่น ให้ถอดบทเรียนและเล่าอย่างเป็นระบบโดยแผนภูมิแบบสะพาน   ซึ่งแสดงรายเอียด 3 ส่วน คือ สภาพการณ์ก่อนเปลี่ยนแปลง /  ความเปลี่ยนแปลงและสุขภาวะภายหลังจุดเปลี่ยน  และ สิ่งที่เป็นตัวการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 1 แผ่น
  • ใช้แผนภูมิวิเคราะห์ปรากฏการณ์วิทยา ถอดบทเรียน ของกลุ่มพลังที่มีบทบาทต่อ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นในวิถีประขาคม หรือในแนวการทำงานของปัจเจกผู้มีจิตสาธารณะและพลเมืองจิตอาสา 1 แผ่น

          หลักฝึกซ้อมเทคนิคเครื่องมือ ให้โจทย์ และชี้แจงแนวปฏิบัติต่างๆแล้ว ทุกกลุ่มทำไปพร้อมกันโดยใช้เวลาครึ่งวันเช้า จากนั้น นำเสนอกลุ่มละประมาณ 15-20 นาที ทีมนักวิจัยและทีมจัดกระบวนการ เก็บบันทึกหลายวิธี ทั้งเขียน Mind Mapping ถ่ายภาพ บันทึกเทป จัดทีมสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม และบางส่วน ทำหน้าที่สะท้อนแบบทันทีกลับสู่เวที

         คุณลักษณะของผู้มีจิตสาธารณะ และพลเมืองจิตอาสา ที่ประมวลได้โดยวิธีสร้างขึ้นจากความเป็นจริงและจากประสบการณ์ของคนปฏิบัติที่ผ่านมา น่าสนใจตรงที่สามารถสื่อสารกันเองได้ในหมู่คนทำงานโดยไม่ต้องอธิบายในทางวิชาการมากนัก คือ....

  • มักเป็นคนระดับล่าง ส่วนใหญ่เป็นคนจน ไม่รวย
  • ถึงแม้ไม่ฉลาด แต่มี EQ สูง สามารถพึ่งตนเองได้สูง
  • รักเพื่อนมนุษย์
  • เป็นคนคิดแบบนักวิจัยได้
  • ไม่ก้าวร้าว  ไม่รุนแรง ใช้ปัญญาจัดการความรู้  จัดการปัญหา
  • บริหารกระบวนการเป็น
  • มีความเป็นบูรณาการ มุ่งทวีคูณศักยภาพ
  • เป็นคนมุ่งลงมือ เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ
  • เชื่อมโยงปูมชุมชน

         ผู้นำเสนอท่านหนึ่งจากกลุ่มประชาคมวิจัยสุพรรณบุรี  สรุปในช่วงสุดท้ายว่า คุณลักษณะคนมีจิตสาธารณะและพลเมืองจิตอาสา ต้องเป็นคนแบบ อสม คือ..อาสาแม่งทุกเรื่อง ซึ่งนอกจากสื่อสารกันได้เป็นอย่างดีแล้ว ปรากฏว่าเป็นที่ชอบอกชอบใจ ให้บรรยากาศเวทีเรียนรู้ที่ครึกครื้นเป็นอย่างยิ่ง

           

หมายเลขบันทึก: 48397เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท