ยางพารากับผักหวานป่า : สูตรปลูกผักหวานป่าที่ประหยัดที่สุด ตอนที่12


ยุคปัจจุบันพืชพลังงาน(อุตสาหกรรม) และพืชอาหาร(สุขภาพ) นับว่ามีบทบาทและความสำคัญกับวิถีชีวิตมนุษย์เรา แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งคือผืนแผ่นดินที่มีจำนวนจำกัด(เท่าเดิม) เราจะทำอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดในผืนแผ่นดินที่แต่ละคนมีอยู่(ครอบครอง)

 

  ...ปัจจุบันการอาชีพทางด้านเกษตรกรรม การปลูกต้นไม้พืชผักนับเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักของใครหลายๆคน(เกษตรเพื่อชีวิต) ยิ่งในยุคปัจจุบันกับสภาวะสิ่งแวดล้อมดินฟ้าอากาศที่แปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว(มนุษย์เราเป็นผู้เร่งการเปลี่ยนแปลง) โรคภัยไข้เจ็บที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่คนชรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากอาหารการกิน.

 

...กระแสของพืชพลังงานที่กำลังมาแรงในยุคปัจจุบันหลายๆท่านคงนึกได้ทันทีทันใด ใช่แล้วค่ะ!ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ปัจจุบันไม่ใช่มี-ปลูกเฉพาะที่ภาคใต้ อีสานและภาคเหนือทุกวันนี้ไปทางไหนก็ได้พบเห็น.

 

..."หัวข้อ"ยางพารากับผักหวานป่า ก็เป็นอีกเรื่องราวที่ข้าพเจ้ากับคุณโอภาส ไชยจันทร์ดี ได้ถกคิดพูดคุยกันเองอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับมุมมองด้านต่างๆในพืชทั้งสองชนิดดังกล่าว และอีกส่วนหนึ่งมาจากญาติๆคนรู้จักที่กำลังวางแผนที่จะปลูก และทีปลูกพืชชนิดนี้อยู่แล้ว(อุปสรรค ปัญหา การจัดการ รายได้ ความคุ้มค่าฯ) .

 

..."คำถาม"ยางพารากับผักหวานป่า ส่วนหนึ่งมาจากเหล่ากัลยาณมิตรที่คิดจะปลูกยางพารา และผักหวานป่า เป็นผู้ตั้งคำถามมาผ่านทางโทรศัพท์หรืในโอกาสที่มาเยี่ยมเยือนกันที่สวน.

 

...จึงเป็นที่มาของบันทึกฉบับนี้ที่จะขอนำความรู้มุมมองจากคนปลูกป่าปลูกผักหวานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกๆท่าน เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นคำตอบให้กับใจหลายดวงที่กำลังเกิดคำถามกับตัวเองกับพืชทั้งสองชนิดนี้ค่ะ.

 

...ยางพารากับผักหวานป่า ในสองมุมมองความรู้สู่การปฏิบัติ...

- การปลูกผักหวานป่าผสมผสานร่วมกันกับยางพารา

- ระหว่างการปลูกยางพารา หรือ จะปลูกผักหวานป่า

 

    ระหว่างปลูกยางพารา หรือ ปลูกผักหวานป่าแบบไหนดี

...เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยๆจากกัลยาณมิตรผักหวานป่า ในที่นี้จะกล่าวถึงมุมมองทั้งสองพืชชนิดนี้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการคิดพิจารณาของแต่ละท่านนะคะ หากจะเอ่ยว่าดีหรือไม่ดีคงฟันธงไม่ได้เพราะปัจจัยต้นทุนชีวิตของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันออกไปค่ะ.

 

...ยางพารา...

- ยางพาราพืชเชิงเดี่ยว จะทำการปลูกต้องมีการเปิดป่า(หากไม่ใช่พื้นที่โล่งแจ้ง) ไถ พรวน เตรียมแปลงปลูก

- ต้นพันธุ์และราคา(ค่อนข้างสูง)

- ระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวผลผลิต 7ปี

- ต้นทุน การดูแลตั้งแต่ปีที่1-7 (ปลูก-เก็บเกี่ยว)

- เมื่อถึงปีที่7(เก็บเกี่ยว) บางพื้นที่พบปัญหาต้นโตสมบูรณ์แต่ไม่มีน้ำยาง หรือน้ำยางน้อยไม่คุ้มค่าเวลาและการลงทุน

- ยางพารา ผู้ปลูกไม่สามารถกำหนดราคาเองได้

- ยางพารา ผู้ปลูกรับประทานไม่ได้(ได้เงิน)

- ยางพาราอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ30-50ปี(สายพันธุ์ การดูแลรักษาฯ)

- ยางพาราเป็นพืชที่ต้องกลับมานับหนึ่ง(โละแปลงกลับมาเริ่มปลูกใหม่เมื่อหมดอายุของต้น)

- ยางพารา เป็นอาชีพยามค่ำคืน

- ยางพาราผู้ปลูกไม่สามารถจัดการได้เอง ต้องจ้างแรงงาน ต้องแบ่งรายได้(ผู้ปลูกและผู้กรีด)

- ปลูกยางพาราต้องใช้ยา สารเคมีปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (สวนที่ไม่ใช้สารเคมีปุ๋ยวิทยาศาสตร์นั้นมี แต่ส่วนน้อย)

 

...ผักหวานป่า...

- ผักหวานป่า ต้นพันธุ์เมล็ดพันธุ์ ราคาต่ำกว่ายางพารา

- ผักหวานป่าระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวอย่างช้า 4ปี(นับจากปลูก)

- ต้นทุน การดูแลตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ต่ำกว่ายางพารา

- ผักหวานป่าเป็นพืชที่รับประทาน(จำหน่าย)ได้ตั้งแต่โผล่ยอด ไม่ต้องรอให้ออกดอก หรือติดผล ความเสี่ยงจึงน้อยมาก

- ผักหวานป่าผู้ปลูกสามารถรัปประทานได้(อิ่มทั้งครอบครัว)

- ผักหวานป่าผู้ปลูกสามารถกำหนดราคาเองได้(ต้นทุนต่ำ)

- ผักหวานป่าอายุยืนยาวถึง 100ปี

- ผักหวานป่าผู้ปลูกไม่ต้องกลับมานับหนึ่ง ปลูกใหม่เพราะผักหวานป่าขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเองจากทางราก

- ผักหวานป่าสามารถสืบทอดไปจนถึงรุ่นลูกหลาน (ไม่ต้องปลูก)

- ผักหวานป่าเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลากลางวัน ไม่เกิดปัญหาด้านสุขภาพ

- ผักหวานป่าผู้ปลูกสามารถบริหารจัดการด้านการเก็บเกี่ยว แปรรูป การตลาดเองได้ภายในครอบครัว(แม้จ้างแรงงานก็เพียงเสริมชั่วคราว)

- ผักหวานป่าเป็นพืชอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่าไม้ เพราะเป็นพืชไร้สาร ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีปุ๋ยวิทยาศาสตร์

 

...ยางพารากับผักหวานป่าทั้งสองชนิดพืชที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น เป็นมุมมองพื้นฐานความเป็นจริงระหว่างทั้งสองพืชชนิดดังกล่าวที่แม้จะไม่ใช่ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถนำไปคิดวิเคราะห์ตัดสินใจได้ก่อนลงมือลงทุนในพื้นที่ของแต่ละท่าน เพื่อความคุ้มค่าในด้านพื้นที่ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สุขภาพ ความยั่งยืนผูกพันกับลูกหลาน และเวลา..(ที่มากกว่าเรื่องราคา"เงิน") หากจะมองชีวิตอย่างกลางๆ หากจะมองออกไปนอกตัวเอง สิ่งเหล่านี้ข้าพเจ้าเรียกมันว่า"ความสุข" ร่วมกันในการดำรงชีวิตของโลกใบนี้คน-พืชสัตว์(สิ่งแวดล้อมมวลรวม)

 

...ปลูกผักหวานป่าผสมผสานร่วมกันกับยางพารา ในหัวข้อดังกล่าวนี้ก็มีหลายๆท่านที่ได้พูดคุยสอบถามมุมมองดังกล่าวมายังคุณโอภาสและข้าพเจ้า หากจะถามว่าสามารถนำผักหวานป่ามาปลูกร่วมกันกับยางพาราในแปลงปลูกเดียวกันได้หรือไม่...

...ขอตอบว่าได้ แต่ต้องมีการวางแผนปลูกในพื้นที่(แปลงยางพารา) ซึ่งในแต่ละความพร้อมย่อมแตกต่างกันออกไป

...บางคนมีต้นยางพาราที่โตแล้ว

- สำหรับสวนที่ปลูกยางพาราอายุเกิน5ปีขึ้นไปคงปลูกผักหวานป่าในแปลงค่อนข้างยาก แต่สำหรับบางพื้นที่ที่เว้นความห่างระหว่างแถวไว้กว้าง5-7เมตรก็สามารถปลูกผักหวานป่าเสริมได้

...บางคนพึ่งจะปลูก

- สำหรับคนที่พึ่งจะปลูกยางพาราได้1-5ปี สามรถวางแผนปลูกผักหวานป่าเสริมในพื้นที่ได้เลย

...บางคนกำลังวางแผนปลูก เตรียมพื้นที่(หาข้อมูล)

- สำหรับคนที่กำลังวางแผนปลูกตั้งแต่เริ่มแรกถือว่าได้เปรียบเพราะได้วางแผนตั้งแต่เริ่มต้นทั้งผักหวานป่าและยางพารา

...สรุปคือมามารถปลูกผักหวานป่าร่วมกับยางพาราได้ แต่ก็มีข้อปฏบัติตรงที่แปลงปลูกนั้นต้องทำการเกษตรแบบไร้สารไปพร้อมๆกัน

 

***สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าหวังว่ามุมมองผักหวานป่ากับยางพาราคงเป็นประโยชน์ให้ท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ ขอบคุณและสวัสดีค่ะ***

 

หมายเลขบันทึก: 483803เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอบคุณแนวคิดดีๆนี้ อยากให้มีการสื่อออกไปอย่างกว้างขวาง จะเป็นประโยชน์มากๆค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ พระมหาแล อาสโย ขำสุข

...กราบบขอบพระคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจที่ท่านเมตตามอบให้ข้าพเจ้าเสมอมานะคะ.

ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้และกำลังใจจากคุณนงนาทค่ะ...

...ที่จริงดิฉันชอบการปลูกยางแบบสวนผสมทางภาคใต้มากค่ะ(สวนสมรม) ที่มีพืชผักผลไม้มากมายอยู่ร่วมกันเป็นทั้งยาและอาหารให้กับคนในครอบครัวและผู้ที่อุดหนุนจุนเจือกันเมื่อนำออกจำหน่าย.

...ซึ่งในแดนดินถินอีสานที่แห้งแล้งหากทำสวนปลูกป่าในแนวทางเดียวกันอาหารและป่าอันร่มรื่นเขียวขจีคงช่วยให้ความร้อนแห้งแล้งลดไปได้ รวมถึงสุขภาพที่ดีทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภคค่ะ.

เห็นข้อมูลการเปรียบเทียบ
ของพืชสองชนิดแล้ว
ได้ความรู้ความเข้าใจอะไรขึ้นอีกเยอะ 

ตอนนี้ยางพารา มาแรงมากจริงๆ 
แถวพิษณุโลก ก็กรีดได้หลายแห่งแ้ล้ว

ข้อมูลของโยมน้อนนี้ ทำไงจะเข้าถึงชาวบ้านได้มากๆ
มีประโยชน์มากมาย
ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงความรู้ ทำให้การตัดสินใจทำอะไร
มีทางเลือกน้อยตามไปด้วย 
 

 กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล อาสโย ขำสุขค่ะ...

...สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกที่จะทำก่อน(มากกว่า)ที่จะหาความรู้ นั่นคือ รายได้-ผลตบแทน(เงิน)ค่ะ. ...บางครั้งแม้ความรู้จ่ออยู่เบื้องหน้าก็มองไม่เห็นเพราะปิดใจค่ะ. ...คงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับโลกใบนี้แล้วกระมังคะ(ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูกค่ะ)

 ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจจากทุกๆท่านค่ะ...

บทความนี้ของ คุณน้อย น้ำพอง หรอ แสดงความเห็นแบบมองแค่ในกรอบที่เหมือนคนไทยอื่น ๆ ที่ถูกครอบงำ เช่นคำว่า ปลูกของกิน..ราคาที่เรากำหนดได้ ..ต้องมองในมุมที่ว่า การทำอะไรก็ได้ที่มีรายได้เป็นเงิน(คือพระเจ้า)โดยไม่ผิดกฎหมาย (คนที่รวยไม่จำต้องผลิตของกิน อาจผลิตรถยนต์ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์..) ราคาที่กำหนดได้ก็เหมือนกัน ใครจะไปกำหนดราคาอะไรได้ในโลกนี้มันไม่มีจริง ราคามันเป็นกลไกตลาด ..เห้อ พอแล้ว จบดีกว่าเสียเวลา

 

สวัสดีค่ะคุณบอส นครศรี...

...คนรวยไม่จำเป็นต้องผลิตของกิน!  ...แต่ทั้งคนรวยและคนจนก็ล้วนต้อง"กิน" (หรือมีใคร?อยู่ได้โดยไม่ต้องกิน)

...การกำหนดราคาของผู้ผลิตมันก็สามารถทำได้หากไม่ต้นทุนต่ำและไม่โลภจนเกินไปเช่นผักหวานป่าเป็นพืชที่ผู้ผลิตกำหนดราคาเองได้หรือให้ฟรี(ทำบุญ)ได้โดยไม่ต้องกลัวการขาดทุน

...แนวทางผักหวานป่าที่เผยแพร่ออกไป ไม่ได้มุ่งร้ายต่อพืชชนิดไหนเพียงแต่นำเสนอให้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่อยากตามกระแสก็เท่านั้นเอง

...ขอบคุณที่เสียเวลา...

สมศักดิ์ ศรีหาคลัง

แล้วจะหาพันธุ์ ผักหวานป่าได้ที่ไหน โปรดแนะนำ

พี่น้อยค่ะ ต้องระวังมากๆ กับการปล่อยเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลในอินเทอร์เน็ตนะคะ คนที่คิดไม่ดีอาจนำไปเป็นข้อมูลต่อค่ะ ส่วนอีเมลก็จะเป็นการปล่อยสแปมเข้าหาค่ะ 

ขออนุญาตลบความเห็นด้านบนนะคะ

สวัสดีค่ะคุณสมศักดิ์...ต้องการข้อมูลวางแผนปลูกผักหวานป่าหรือพันธุ์ผักหวานป่า ติดต่อได้ทางอีเมลของเว็บได้นะคะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์จันทวรรณ...ขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำและการดูแลเอาใจใส่จากผู้ดูแลระบบค่ะ

โดยเจตนาที่อยากให้ความสะดวกกับผู้ต้องการปลูกผักหวานป่าค่ะเบอร์โทรและอีเมลจำต้องแนะนำซึ่งคาดหวังว่าคนที่คิดดีทำดีคงมีเยอะมากกว่าประเภทตรงกันข้าม(แม้จะเคยโดนให้รู้สึกแย่ๆบ้างแต่ก็ไม่มากมายเท่ามิตรภาพดีๆที่ได้รับกลับมา)

ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท