พลังจิตอาสาสร้างสุขภาวะเมือง : (1) ปัจเจกและพลเมืองจิตอาสาจากประสบการณ์ท้องถิ่น


...........ประเทศไทย มีโจทย์ที่ต้องคิดและมองไปยังอนาคตอยู่ว่า...สังคมของประเทศ จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าด้วยคนที่มีจำนวนน้อยลง แต่ฉลาด มีกำลังบริโภค เรียกร้อง แข่งขันแย่งชิง เอาตัวรอด ในท่ามกลางความเป็นเมืองและความซับซ้อนเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ได้อย่างไร..?

               การขับเคลื่อนประชาคมวิจัยเพื่อพัฒนาเครือข่ายสร้างจิตสำนึกสาธารณะเพื่อพัฒนาการสาธารณสุขท้องถิ่น โดยจับเอาเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตทางด้านต่างๆ ของแต่ละท้องถิ่น มาเป็นประเด็นส่วนรวม ให้ปัจเจกและคนที่อยู่อาศัยในเมือง ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาความสัมพันธ์ต่อเรื่องส่วนรวมที่เขาสนใจด้วยการปฏิบัติ และเป็นการปฏิบัติชนิดที่เราเรียกว่า การประพฤติปฏิบัติที่สะท้อนถึงความมีจิตสาธารณะ

             พลเมืองที่มีคุณลักษณะดังกล่าวนี้ เชื่อกันว่าจะเป็นประชากรและปัจเจกที่มีคุณภาพอีกแบบหนึ่ง ทำนองว่า....ไม่ใช่คนที่ดูดาย ไม่ใช่คนที่มีความรู้และใช้ความรู้เพียงนำมารับใช้สัญชาติญาณความเอาแต่ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดของมุนษย์ หรือสักแต่มีปัญญาและความรู้เพียงดูแลภาวะความไม่พัฒนาของปัจเจกเท่านั้น ไม่ใช่ผู้มีส่วนร่วมในเรื่องสาธารณะแบบรอคอยรับประโยชน์จากการปล่อยให้ผู้อื่นสร้างให้ไถ่เดียว(Passived Participant) ทว่า...เป็นคนที่มีจิตอาสาด้วย โดยไม่เพียงเรียกร้องและสนใจส่วนรวมเพียงด้านที่ตนเองจะได้ประโยชน์เฉยๆ แต่ไม่อยากอาสาลงมือทำ

             ในทางตรงข้าม ทุกหนแห่ง จะมีคนอีกแบบหนึ่ง ที่มีจิตสาธารณะ และกระตือรือล้นในการอาสาเพื่อมีส่วนร่วมในการปฏิบัติด้วยตนเองด้วย จึงเป็นคุณลักษณะพลเมืองที่มีภาวะผู้นำทางการปฏิบัติ ทำให้สังคมและชุมชน มีความหวังในการเปลี่ยนแปลงตนเอง และจัดการการพัฒนาด้วยการพึ่งตนเองได้มากขึ้น

             ยิ่งในอนาคต ประเทศไทยจะมีเด็กรุ่นใหม่เกิดน้อยลง ซึ่งหมายความว่า ในระยะอันใกล้ จะพัฒนาไปสู่การมีกำลังคนหนุ่มสาวและวัยการผลิตในจำนวนที่น้อยลง ขณะเดียวกัน พัฒนาการและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะยิ่งทำให้คนในสังคมมีสุขภาพดี อายุขัยยืนยาว และเป็นสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น

             เงื่อนไขและความจำเป็นดังกล่าว เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทย มีโจทย์ที่ต้องคิดและมองไปยังอนาคตอยู่ว่า...สังคมของประเทศ จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าด้วยคนที่มีจำนวนน้อยลง แต่ฉลาด มีกำลังบริโภค เรียกร้อง แข่งขันแย่งชิง เอาตัวรอด ในท่ามกลางความเป็นเมืองและความซับซ้อนเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ได้อย่างไร..?

            "...พัฒนาคุณภาพของพลเมือง ปัจเจก และประชากร ให้มีพลังจิตอาสา และมีภาวะความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อการอยู่ร่วมกันของส่วนรวม สอดแทรกอยู่ในชุมชนและองค์กรต่างๆทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ..." น่าจะเป็นคำตอบหนึ่ง 

              ในฐานะที่เป็นองค์กรจัดการความรู้ และจัดการเรียนรู้สุขภาพ ทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเห็นบทบาทของเรื่องสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในแง่มุมที่เป็นมากกว่าการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย  ทว่า เป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาพดี เพื่อมีส่วนในการร่วมสร้างและเข้าถึงเรื่องสุขภาพของพลเมืองก่อนให้ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นก่อนในชีวิต สร้างสุขภาพ พร้อมกับออกแบบกระบวนการและจัดการให้เป็นแหล่งประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ความเป็นพลเมืองแบบจิตอาสาไปด้วย ตลอดชีวิต ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ คนออกมาสร้างเสริมสุขภาพ และสุขภาพก็เป็นกระบวนการชี้นำการพัฒนาคน

              ด้วยการตระหนักเช่นนั้น เราจึงร่วมกันทำวิจัยแบบสหสาขา อีกทั้งบูรณาการทั้งการสร้างความรู้ การเรียนรู้ และการเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การปฏิบัติของคนทำงาน ชาวบ้าน และคนทำงานมาหากิน อีกด้านหนึ่ง จากการปฏิบัติ ไปสู่การถอดบทเรียนและสร้างความรู้   ต่อเนื่องมาเกือบสิบปีแล้ว กระทั่งสองสามปีที่ผ่านมา เราลองยกระดับขึ้นสู่การปฏิบัติการระดับพื้นที่ขนาดใหญ่ในภาคตะวันตก คือ 8 จังหวัดของลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง โดยมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่ง การใช้พื้นที่เป็นกรอบการเรียนรู้และสร้างความรู้ขึ้นมาจากการปฏิบัติ (Area-Based / Community-Based CO-PAR)จะทำให้เครือข่ายปฏิบัติการทางสุขภาพ สามารถเรียนรู้เพื่อผสมผสานเข้าอย่างเป็นเรื่องเดียวกันกับการพัฒนาในมิติอื่น โดยเฉพาะ การพัฒนาสังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม

             บทเรียนที่ได้ น่าจะเป็นความรู้เพื่อนำการปฏิบัติให้คนทำงานได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาคนให้กับท้องถิ่น การพัฒนานักสาธารณสุขและนักพัฒนาในภาคที่เป็นทางการ ให้มีความสามารถในวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ในแนวราบ ที่ทุกภาคีต่างมีความเป็นปัจเจกและต่างก็สำคัญต่อเรื่องส่วนรวมไม่น้อยไปกว่ากัน ทั้งภาครัฐ  เอกชน ปัจเจกจิตอาสา กลุ่มประชาคม ชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานสุขภาพในท้องถิ่น ภาคการเมืองและองค์กรท้องถิ่น การเพิ่มพูนทักษะให้คนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัย การสร้างการเรียนรู้และสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ทางสังคม  เราทำวิจัยแบบขับเคลื่อนกลุ่มประชาคมวิจัย จึงเป็นการระดมคนปฏิบัติ วิจัยและสร้างความรู้ผ่านการปฏิบัติ โดยคนทำงาน และเพื่อแก้ปัญหาทางการปฏิบัติสู่ความร่วมมือเป็นเครือข่าย สร้างการสาธารณสุขท้องถิ่น ใน 8 จังหวัดจึงมีพื้นที่ทำกรณีศึกษา 17 ชุมชนเทศบาล ทำโครงการย่อยเพื่อเรียนรู้และร่วมสร้างความรู้ขึ้นจากการปฏิบัติ 17 โครงการย่อย (กรุณาดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากบล๊อก)

         หนึ่งปีผ่านไปแล้ว เราจึงจัดเวทีกลาง ให้แต่ละพื้นที่ถอดบทเรียน และนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ (Cross-Civic Groups Learning Forum) เมื่อ ศุกร์ ที่ 1- อาทิตย์ ที่ 3 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมบ้านสวนฝน  จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีคำถามใหญ่เพื่อการถอดบทเรียนว่า......

        ....การจัดการความรู้และการจัดการกับประสบการณ์ที่ได้รับ ผ่านการปฏิบัติการทางด้านต่างๆในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ให้บทเรียนจากผลสัมฤทธิ์ทางด้านต่างๆ อย่างไร....?

  • บทเรียนจากการค้นหาคนและการยกระดับการทำงานปฏิบัติในพื้นที่ให้บทสรุปว่า...คุณลักษณะอย่างไรและการปฏิบัติอย่างไร ที่เรียกว่าปัจเจกจิตสาธารณะ และปัจเจกแบบจิตอาสา เป็นคนอย่างไร  เป็นคนพันธุ์ไหน
  • มีวิธีขับเคลื่อนการร่วมสร้างสุขภาพ  สร้างคุณภาพชีวิตของเมือง  อย่างไร ดำเนินชีวิตและมีส่วนร่วมอย่างไร ที่สะท้อนความมีจิตสาธารณะ และความเป็นพลเมืองจิตอาสา 
  • มีศิลปะและเทคนิคการถอดบทเรียน เรียนรู้ และขยายผล ให้เกิดผลดีมากยิ่งๆขึ้น อย่างไร

          เรื่องเล่าต่อไปนี้จึงเป็นรายงานจากสนาม (Field Report) เราจัดกระบวนการและมีทีมระดมเก็บบันทึกข้อมูลอย่างรอบด้าน...ได้บทเรียนและองค์ความรู้มากมายพอสมควร  ซึ่งหลายเรื่อง บ่งบอกถึงการตอบด้วยความเข้าใจแบบนักปฏิบัติ.......

             

หมายเลขบันทึก: 48358เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท