การเมืองฐานปะชาชน : ดุลยภาพการเมืองแบบตัวแทนและการเมืองภาคประชาชน


                (นำเสนอในการอภิปรายเป็นคณะ เรื่อง การเมืองฐานประชาชน: ดุลยภาพการเมืองแบบตัวแทนและการเมืองภาคประชาชน เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2548 ผู้อภิปรายอื่น คือ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และ รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โดยมี รศ.วุฒิสาร ตันไชย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และเป็นส่วนหนึ่งของ การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า (KPI Congress) ครั้งที่ 7 ประจำปี 2548 เรื่อง การเมืองฐานประชาชน: ความยั่งยืนของประชาธิปไตย (People-Based Politics: Sustainable Democracy) 4 6 พฤศจิกายน 2548 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร)

                 ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ วันนี้เป็นการประชุมวิชาการที่สถาบันพระปกเกล้าจัด คงต้องพูดเชิงวิชาการสักเล็กน้อย และวันนี้เราได้คำใหม่อย่างน้อยสำหรับประเทศไทยคือคำว่าการเมืองฐานประชาชน ผมได้ทราบมาว่าในอเมริกาเขาใช้กันมานานพอสมควร ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า People – Based Politics แต่คำว่าการเมืองฐานประชาชนอาจจะสื่อถึงแค่ว่าการเมืองนั้นเกี่ยวกับประชาชน ตัวอย่างเช่น ไปถามประชาชนว่าอยากได้อะไร ประชาชนบอกว่าอยากได้เงินก็เอาเงินไปให้ อย่างนี้เรียกว่าการเมืองฐานประชาชนใช่หรือเปล่า ฉะนั้นคำว่าการเมืองฐานประชาชน ในความเห็นของผมคิดว่าความหมายยังกำกวม น่าจะยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เราอยากให้การเมืองเป็นการเมืองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน สำหรับการเมืองหรือการปกครองหรือการบริหารที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งภาษาอังกฤษคือ People-Centered Democracy ผมยังคิดว่ามีคำที่ดีกว่านั้นอีก ซึ่งเรายังไม่ค่อยได้ใช้ คือคำว่าการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยประชาชน คำนี้ภาษาอังกฤษน่าจะเป็นคำว่า People-Driven Democracy หรือว่า People-Driven Politics คำนี้จะชัดขึ้นว่าประชาชนนั่นเองคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือเรื่องของความหมายและหลักการ

                สำหรับประเทศไทยนั้นผมคิดว่าเราอ้างถึงรัฐธรรมนูญได้เลย เพราะว่าเราใช้เวลาประมาณ 1 ปีเต็ม ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ท่านอดีตประธานรัฐสภาได้พูดเมื่อเช้าว่าเป็นวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมน่าจะมากที่สุดในโลก ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีมาตราต่างๆ ที่บ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมและบทบาทของภาคประชาชนเป็นสิบๆมาตรา ไม่ว่าจะเป็นมาตราที่อยู่ในหมวดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย อยู่ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อยู่ในหมวดว่าด้วยระบบรัฐสภา อยู่ในหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ล้วนแล้วแต่มีหลายมาตราที่บ่งบอกว่าประชาชนต้องมีบทบาทสำคัญ มีบทบาทในเรื่องของการรับรู้ มีบทบาทในเรื่องของการร่วมพิจารณา มีบทบาทในการร่วมตัดสินใจ และมีบทบาทในการร่วมดำเนินการ และสุดท้ายคือมีบทบาทในการตรวจสอบและควบคุม มีเป็นสิบๆ มาตราที่บ่งบอกไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นถ้าพูดถึงหลักการเราคงไม่ต้องมองไกล ไม่ต้องไปเอาทฤษฎีที่ไหนมาเพราะว่าเราได้บรรจุทั้งหมดอยู่ในรัฐธรรมนูญ

                คำถามต่อไปคือว่าเราใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มา 8 ปี สถานการณ์จริงเป็นอย่างไร ใกล้เคียงแค่ไหนกับที่เราแสดงความมุ่งมาดปรารถนาไว้ในรัฐธรรมนูญ ผมเองอยู่ในภาคประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ในเชิงบวกเห็นครับ เห็นว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น คือคำว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือบทบาทของภาคประชาชนนั้นต้องคิดตั้งแต่ท้องถิ่นขึ้นมา คนในกรุงเทพฯอาจจะมีแนวโน้มคิดถึงการเมืองระดับชาติ แต่ว่าในชนบท ในท้องถิ่นต่างๆ บทบาทของประชาชนในระดับท้องถิ่นถ้าเทียบระหว่างก่อน พ.ศ. 2540 กับหลัง พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่ามีมากขึ้น คิดจากแนวโน้มนี้ถือว่าดี เช่น ประชาชนรวมตัวกันวางแผนพัฒนาท้องถิ่นโดยร่วมกันระหว่างภาคชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำกันนับ 1,000 ตำบลขณะนี้ ต้องถือว่าดี เป็นการเมืองที่ไม่ใช้คำว่าการเมือง แต่เป็นบทบาทของประชาชนในการร่วมบริหารจัดการ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การจัดการต่างๆในท้องถิ่นของตน บทบาทของประชาชนในการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ออกข้อข้อบังคับ ทำการจัดซื้อจัดจ้าง ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางกรณีถึงขั้นมีการรวมตัวกันเพื่อยื่นขอถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตำแหน่ง เหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยมีกรณีที่ดีเกิดขึ้น

                นั่นคือในระดับท้องถิ่น ในระดับชาติ ระดับประเทศได้มีขบวนการของภาคประชาชนไม่ใช่น้อยในการคุ้มครองผู้บริโภค ในการที่จะอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อม ในการยื่นเสนอกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติป่าชุมชน เมื่อเร็วๆนี้ก็มีการยื่นที่จะขอออกพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่จริงได้มีการเคลื่อนตัวของภาคประชาชนมาเป็นเวลาหลายปีที่อยากจะมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ แล้วได้ลงชื่อกันแสนกว่าคน เพื่อก่อให้มีพระราชบัญญัติฉบับนี้ จนกระทั่งรัฐบาลเลยต้องคล้อยตาม รัฐบาลได้เอาร่างของรัฐบาลเข้าไปด้วยเพื่อจะบอกว่ารัฐบาลเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ขณะนี้อยู่ในรัฐสภา อย่างนี้เป็นต้น

                ที่กล่าวมาคือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราไปเปรียบดูว่าแล้วสถานการณ์เช่นนี้มันใกล้เคียงกับที่เป็นเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมคิดว่ายังห่างไกล หรือถ้าเทียบเคียงกับที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาทางด้านประชาธิปไตยมาก่อนหน้าเรา เช่นที่สหรัฐอเมริกา หรือที่แคนาดา ผมคิดว่าการมีส่วนร่วมในประเทศไทยน่าจะยังไม่ดีเท่า แต่การเปรียบเทียบเช่นนี้อาจไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญก็คือต้องมองสังคมไทย มองว่าเราอยากไปให้ถึงไหน เพื่อให้รวบรัดคงตอบได้ว่าเราอยากไปให้ได้อย่างที่ระบุในรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้เรายังไปได้ไม่ไกลเท่าไร แม้จะดีขึ้น แต่ยังไปได้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจุดหมายปลายทางที่เราต้องการจะไป ฉะนั้นคำถามจึงมาอยู่ว่า เราจะทำอย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อดูสถานการณ์ที่เป็นจริง คนทั่วไปคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าเรายังไปไม่ถึงจุดที่พึงปรารถนา ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือ แล้วเราจะดำเนินไปอย่างไร เพื่อให้เข้าสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างดีที่สุด

                ในความคิดเห็นของผม แนวคิดและหลักการว่าด้วยการเมืองฐานประชาชน น่าจะมีเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่

                1) ประชาชนจะต้องได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและเพียงพอ

                2) มีแนวทางให้ประชาชนสามารถเลือก ทางเลือก

                นอกจากนั้น สิ่งที่น่าจะมุ่งหวังให้เกิดได้แก่การเปลี่ยนแปลงจากการเมืองฐานประชาชนหรือการเมืองที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางไปสู่การเมืองที่ขับเคลื่อนโดยประชาชน (People-Driven Politics) ซึ่งหลักการสำคัญก็คือการที่ประชาชนต้องมีบทบาทในการรับรู้ ร่วมพัฒนา ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมตรวจสอบ และควบคุม

                เนื่องจากมีเวลาจำกัด ผมจึงขอสรุปเป็นข้อเสนอดังต่อไปนี้เพื่อให้ เกิด การเมืองที่ขับเคลื่อนโดยประชาชน มากขึ้นและดีขึ้น ได้แก่

                1) การสร้างพลัง ปัญญา และความรู้ เพื่อนำไปใช้ได้อย่างสร้างสรรค์

                2) การสนับสนุนพลังประชาชน หรือพลังสังคม โดยผ่านกลไกเครือข่ายเป็นสำคัญ

                3) การใช้พลังด้านนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม

                และทั้ง 3 แนวทางนี้จะบังเกิดได้ ต้องมีกลไกและกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอด้วย 

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

5 ก.ย. 49

หมายเลขบันทึก: 48355เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท