สนทนาพาสุขกับพระมหา ว.วชิรเมธี


คนหนุ่มสาวกับความสนใจหนังสือธรรมะ

คอลัมน์ Ask an Expert

นิตยสาร atoffice พ.ศ.2552

โดย อธิษฐานบารมี



สนทนาพาสุขกับพระมหา ว.วชิรเมธี


     ขึ้นชื่อว่ากระแสอินเทรนด์ แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ต่างก็จับตา ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นซีรีย์เกาหลี การผ่อนคลายความเครียดด้วยสปา อาหารสุขภาพไร้ไขมัน รวมไปถึงเรื่องของจิตใจก็ยังมีประเด็นให้ต้องอินเทรนด์ และหนึ่งในกระแสมาแรง เห็นจะเป็นธรรมะพ็อกเก็ตบุ๊คของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือที่รู้จักกันในนามปากกา ว.วชิรเมธี ซึ่งหากมีชื่อของท่านบนปกนิตยสารหรือหนังสือเล่มไหน เล่มนั้นก็จะมีแนวโน้มยอดขายแซงแนวอื่นเล่มอื่น ท่านมีวิธีใดที่ทำให้คนหนุ่มสาว พ.ศ.นี้ หันมาสนใจหนังสือธรรมะอย่างไม่เคยปรากฏ เราได้ไขข้อข้องใจมาฝากทุกท่านค่ะ

 

 

แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือธรรมะครั้งแรก

 

อาตมาหลงรักการอ่านหัวปักหัวปำมาตั้งแต่ยังไม่บวช จนกล้าพูดว่าอ่านหนังสือเสมือนเป็นลมหายใจของเรา คือไม่รู้สึกว่าต้องใช้ความพยายาม มีแต่ความรักที่อยากจะอ่าน ทุกวันนี้อาตมภาพ (เป็นการเรียกแทนตัวเองต่อฆราวาส) อ่านหนังสือรายวัน 7 ฉบับ เป็นภาษาไทย 5 ฉบับ ภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ และนิตยสารเดือนหนึ่งอย่างน้อย 4 ฉบับ พ็อกเก็ตบุ๊คเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 เล่ม พอหลงรักการอ่านมากๆ มันเหมือนรับประทานอาหารเข้าไปมากจนอิ่ม เกิดความรู้สึกมาจากข้างในว่าเขียนเถอะ เป็นเสียงเรียกจากภายในว่าเริ่มเขียนได้แล้ว เธออ่านมามากพอแล้ว

 

   บทความแรกเขียนตอนเป็นสามเณรวุฒิชัย บุญถึง อายุ 17-18 ปี ชื่อปรัชญาหน้ากุฏิ ได้รับความนิยมทันที ต่อมาพิมพ์ธรรมะติดปีกหนังสือแนวธรรมะประยุกต์ ได้รับความนิยมจนเกิดกระแสธรรมะอินเทรนด์ ช่อง 3 นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ ได้รางวัลมา 12 รางวัลจากหลายสถาบัน ตั้งแต่นั้นก็มีผู้มาขอรวบรวมบทความของอาตมา จนมีผลงานตีพิมพ์แล้วไม่ต่ำกว่า 75 เล่ม เป็นภาษาต่างประเทศแล้ว 6 ภาษา

   เมื่อย้อนกลับไปนึกถึงงานเขียนที่ได้ตีพิมพ์ครั้งแรก รู้สึกอิ่มไป 1 วัน (ยิ้ม) เกิดความเชื่อมั่นว่า ฉันน่าจะมาถูกทางแล้ว จงเขียนต่อไป พอเรารู้แล้วว่าเป้าหมายของเราอยู่ตรงไหน อาตมาไม่เคยลังเล ทุกวันนี้ทันทีที่เงื้อมือลงบนแป้นคีย์บอร์ด พิมพ์งานตั้งแต่ต้นจนจบได้โดยไม่เคยลังเลแม้แต่ครั้งเดียว

 

 

ความฝันที่จะเป็นนักปราชญ์กับตนเองในวันนี้

เป็นความฝันตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม 5-6 เคยเขียนไว้ใน Friendship ว่าอยากเป็นนักปราชญ์ มาวันนี้เป็นหรือไม่เป็น อาตมาคิดว่ามันเป็นคำที่สูงส่งมาก คงต้องให้สังคมประเมิน อาตมาไม่กล้าประเมินตัวเอง

 

ปัจจัยที่ทำให้ผู้อ่านชอบแนวเขียนของท่าน

(ไตรปิฎก [–ปิดก] น. พระธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร)

(ธรรมิก [ทํามิก, ทํามิกกะ] ว. ประกอบในธรรม ประพฤติเป็นธรรม ทรงธรรม เช่น ธรรมิกราช สหธรรมิก)

 

อาตมาคิดว่าคือความง่ายและความงาม ความง่ายคือทุกเรื่องที่พูด คนอ่านต้องเข้าใจได้ทันทีที่อ่าน และความงามคือการนำไปสู่ชีวิตที่ล้ำเลิศขึ้น ส่วนงานเขียนของอาตมาที่เข้มข้นขึ้น เป็นไปตามวุฒิภาวะในการดำเนินชีวิตและสติปัญญา สื่อมวลชนบางคนเคยพูดถึงผลงานของอาตมาว่ายุคแรกเป็นยุค Romantic ธรรมะเกร็ดแก้ว ธรรมะติดปีก ธรรมะสบายใจ ธรรมะดับร้อน ฯลฯ มาถึงทุกวันนี้เป็นธรรมาธิปไตย์ สนทนาในแง่เพื่อการแสวงหาการเมืองใหม่ แค่ปล่อยก็ลอยตัว ยศ ทรัพย์ อำนาจ เป้าหมายหรือมรรควิธีของชีวิต จนกระทั่งถึงธรรมิกพุทธศาสน์ ธรรมิกเศรษฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข นักวิชาการบางคนบอกว่า อาตมาผ่านยุค Romantic มาสู่ยุค Realistic (หัวเราะ)

 

      อาตมภาพไม่ได้จบบริหารจัดการมา เพียงแต่อ่านหนังสือหลายประเภท ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันนิพพาน ตั้งแต่อะตอมถึงจักรวาล รวมถึงหนังสือแนวบริหารจัดการ แล้วเกิดการสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ใหม่ นำเอาความร่วมสมัยมาประยุกต์กับ

 

พุทธศาสตร์อย่างคำว่า “กิเลส Management” ก็พูดได้ว่าอาตมาบัญญัติขึ้นมา แล้วตอนนี้ก็มีใช้ในหลายองค์กร คำเหล่านี้ถ้าพูดตรงไปตรงมา มีรากฐานอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งหมด เพียงแต่อาตมภาพยืมคำของยุคสมัยมาปรับใช้ แต่งเนื้อแต่งตัวให้ธรรมะเสียใหม่ หลายคนจึงเรียกว่า ธรรมะเคลือบช็อกโกแลต (ยิ้ม)

 

เหตุที่คนหนุ่มสาวให้ความสนใจหนังสือธรรมะกันมากขึ้น

วิปัสสนา [วิปัดสะนา] น. ความเห็นแจ้ง การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง

 

1) เพราะหนังสือธรรมะถูกประยุกต์ให้เข้าใกล้ เข้าใจ เข้าถึงง่ายขึ้น 2) ปรับบุคลิกภาพของหนังสือธรรมะเสียใหม่ ทั้งในแง่ของรูปเล่ม รูปลักษณ์ รูปเรื่อง รูปภาพ และรูปรส 3) เพราะมีผู้สนใจมากขึ้น เกิดเป็นเทรนด์หรือเป็นแนวโน้ม ใครไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะ ไม่เคยไปวิปัสสนากรรมฐาน คนนั้นเชย 4) สภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป มนุษย์มีความเครียดมากขึ้น จึงแสวงหาทางออกจากความเครียด 5) อาจเป็นไปได้ว่าตัวนักเขียนยังคงมีชีวิตโลดแล่นให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คนจะรู้สึกว่าเป็นรูปธรรมของงานคิดงานเขียนที่หยิบจับสัมผัสได้ 6) เป็นเพราะคุณูปการของสื่อมวลชนด้วย

 

คนบางกลุ่มไม่มีศาสนา จะใช้อะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

คนที่บอกว่าไม่มีศาสนา แท้จริงเขามีศาสนาเหมือนกันคือ ศาสนาไม่มีศาสนานั่นเอง ฉะนั้นในโลกนี้แทบไม่มีใครไม่มีศาสนา แม้แต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่บอกว่าผมไม่มีศาสนา แต่ความหมายของไอน์สไตน์ก็คือวิทยาศาสตร์ เราอาจจะเรียกสิ่งที่เรายอมรับนับถือว่าศาสนาหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่เขายึดเหนี่ยวนั่นแหละคือศาสนาของเขา

 

พรปีใหม่ไทยถึงผู้อ่าน

ขอให้มองลึกนึกไกล ใจกว้าง มองลึกหมายความว่า เรามีปฏิสัมพันธ์ใดก็ตาม อย่าไปยึดติดคุณค่าเทียมๆ ของสิ่งนั้น แต่มองให้ถึงคุณค่าแท้ของสิ่งนั้นให้ได้ เช่น เวลาเราปฏิสัมพันธ์กับประชาธิปไตย อย่ามองแค่การเลือกตั้ง หรือเพียงการแสวงหาผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง เราจึงไม่สนใจ เป้าหมายของประชาธิปไตยคือการสร้างประโยชน์สุขให้แก่คนทั้งประเทศ ถ้าเรามองลึกอย่างนี้บ้านเมืองจะไม่ถูกนำไปสู่การ Corruption และจะไม่มีนักการเมืองที่ชอบมาอ้างว่า ฉันมาอย่างถูกต้อง เพราะฉันมาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่จริงฉันมาจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง

 

      นึกไกล คือเวลาจะคิดจะพูดจะทำอะไร อย่านึกถึงแต่ตัวเอง ให้นึกถึงส่วนรวมด้วย อย่าถามแต่ว่าฉันจะได้อะไร แต่ควรถามด้วยว่า ในขณะที่ฉันได้อะไร แล้วคนอื่นเขาต้องเสียอะไรเพื่อให้ฉันได้ เหมือนนักการเมืองหลายคน ตัวเองได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คนไทยจำนวนมากต้องเสียความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิตไป แล้วคุ้มไหม ส่วนใจกว้าง ขอให้เราอยู่รวมกับคนที่มีความแตกต่างหลากเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ผิวสี ความคิดความอ่าน ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสันติ โดยถือหลักว่าโลกทั้งผองคือพี่น้องกัน

 

       ส่วนผู้ที่อยู่ในภาวะตกงานอย่าตกใจ เพราะถ้าคุณตกใจ คุณจะไม่สามารถสร้างงานใหม่ขึ้นมาได้ โลกนี้มีคนจำนวนมากที่ตกงาน แต่เพราะเขาไม่ตกใจ เขาก็สร้างงานใหม่ขึ้นมา สตีฟ จอบส์ เจ้าพ่อ Apple Macintosh IPod เคยถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตนตั้งมากับมือ เป็นบ้าเป็นหลังอยู่ครึ่งปี วันหนึ่งเขาคิดขึ้นมาได้ว่า เขาแค่ไล่ฉันออกจากบริษัท แต่ไม่ได้ไล่ความสามารถออกจากตัวฉัน เขาจึงไปตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Next ภายใน 3 ปี บริษัทนี้โตเกือบเท่าบริษัทแม่ และนั่นทำให้บริษัทแม่ตัดสินใจรวบกับบริษัทเขา เขาจึงได้กลับไปอยู่บริษัทของเขาอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้เขาดู 3 บริษัทพร้อมกัน กลายเป็นสุดยอดซีอีโอของโลก

 

 

      สุดท้ายนี้พระมหาวุฒิชัย ได้ฝากหลักปฎิบัติตนไว้ว่า "ในการทำงานให้ถือความเป็นมืออาชีพ ในปฏิสัมพันธ์ขอให้ถือความอ่อนโยนต่อทุกคน เข้มแข็งต่อหลักการ ในชีวิตขอให้แสวงหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม ทางปัญญาและทางจิตใจให้ได้" การใช้เงินขอให้ตระหนักอย่าจ่ายเกินหน้าตัก ในความสุขขอให้แสวงหาความสุขทางประสาทสัมผัสแล้วอย่าหยุดอยู่แค่นั้น ก้าวขึ้นไปแสวงหาความสุขทางปัญญา และไปให้ถึงความสุขทางจิตใจคือภาวะพระนิพพาน ในทางสังคมขอให้ถือว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ขอให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ในแง่ของโลกขอให้คิดว่าโลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 483515เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท