รู้จักนิสัยลูกจากการดูดนมแม่


เรียนรู้ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของลูก

รู้จักนิสัยลูกจากการดูดนมแม่

 

แม้ว่าเด็กแรกเกิดถึงขวบปีจะมีขั้นตอนของพัมนาการทางด้านร่างกายตามวัย ที่แทบไม่แตกต่างกันคือ มีพัฒนาการในเรื่องสายตา การชันคอ การคืบ คลาน ยืน เดิน ซึ่งพอคาดคะเนได้ว่าน่าจะเริ่มต้นในช่วงอายุเดือนที่เท่าไร แต่สำหรับพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของเด็กแต่ละคนนั้น มีความแตกต่างกันอยู่ เรียกได้ว่า เด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่แม้คุณพ่อคุณแม่จะได้ศึกษาตำราวิธีการเลี้ยงดูลูกน้อยมาอย่างดี และมากมาย ตั้งแต่ได้ทราบว่ากำลังจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มในครอบครัว แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องดูแลลูกน้อยจริงๆ เนื้อหาที่ตำรากล่าวอ้าง ก็อาจไม่ได้เป็นไปตามนั้นทั้งหมด บางครั้งตำราจึงกลายเป็นเพียงแค่แนวทางเท่านั้น

 

ดังนั้นไม่เพียงคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใกล้ชิด เพื่อเรียนรู้ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของลูก ลูกน้อยเองก็ปราถนาที่จะรู้จัก และเรียนรู้คุณพ่อคุณแม่ของเขาเช่นกัน

 

ลักษณะนิสัยตามพื้นอารมณ์ของลูกมีมาตั้งแต่เกิด

พ.ญ.พิกุล อาศิรเวช กุมารแพทย์ หน่วยพัฒนาการเด็ก เคยกล่าวไว้ว่า ธรรมชาติของลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด จะมีพื้นฐานทางอารมณ์หรือที่เรียกว่า Temperament ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การตอบสนองต่อสิ่งเร้า การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ต่างๆ ฮอร์โมนของการผ่อนคลาย ฯลฯ ทั้งนี้ พ.ญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเคยกล่าวชี้แจงว่า เหตุที่พื้นฐานทางอารมณ์ของทารกแรกเกิดแต่ละคนแตกต่างกัน เป็นผลมาจาพันธุกรรมที่เด็กได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ และสภาพแวดล้อมทั้งขณะที่อยู่ในครรภ์และหลังคลอด ซึ่งส่งผลทำให้เกแต่ละคนแสดงพฤติกรรมออกมาแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ถูกเลี้ยงดูโดยแม่คนเดียวกัน หรือในบ้านเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้สามารถแบ่งเด็กตามพื้นฐานอารมณ์ (Temperament) ของลูกน้อยได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

 

1. Easy child กลุ่มเด็กเลี้ยงง่าย พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 60 ของเด็กทั้งหมด เด็กกลุ่มนี้จะมีลักษณะการทำงานของร่างกายสม่ำเสมอปรับตัวได้รวดเร็ว กินได้ง่าย นอนตรงตามเวลา ถึงเวลาตื่นก็ร้องเพียงเล็กน้อย พอได้นมก็เงียบไป ไม่ค่อยโยเย ใช้เวลาในการทำกิจกรรมไม่นานก็จะหลับต่อ และหลับได้นาน และคาดเดาได้ว่าอีกกี่ชั่วโมงจะตื่นตรงตามเวลานั้นจริงๆ ลูกกลุ่มนี้จะเกิดความมั่นใจในการควบคุมสถานการณฯและคุณพ่อคุณแม่มีความรู้สึกว่า การเลี้ยงดูลูกนั้นไม่ได้ยากเลย

 

2. Difficult child เด็กกลุ่มนี้มีลักษณะตรงข้ามกับกลุ่มแรก พบได้ร้อยละ 10 ของเด็กทั้งหมดส่วนหนึ่งเพราะเด็กกลุ่มนี้มีระบบการทำงานของร่างกายไม่สม่ำเสมอ จึงตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นด้วยวิธีการถอยหนี ปรับตัวยากหรือปรับตัวช้า ต้องใช้เวลานาน อารมณ์เสียง่ายแสดงอารมณ์ไม่คงที่ในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น กิน นอน ขับถ่าย ไม่ตรงเวลา หงุดหงิดง่าย โวยวาย ร้องไห้เก่ง มีอะไรมากระทบนิดหนึ่งก็จะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ปลอบยากเคลื่อนไหวเก่ง

3. Slow to worm up เด็กกลุ่มนี้เป็นการผสมผสานระหว่างกลุ่ม Easy child กับ Difficult child เด็กกลุ่มรี้อาจร้องไห้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ช่วยทำให้รู้สึกสบายขึ้น หรือรู้สึกคุ้นเคยขึ้นก็จะเงียบลงนอกจากนี้อาจทำอะไรได้ช้าหน่อย ต้องให้โอกาสและเวลาก็จะทำได้ดี เช่น การป้อนอาหารเสริมช้อนแรก อาจจะใช้เวลายอมรับนานกว่ากลุ่ม Easy child แต่ถ้าให้โอกาสต่อเนื่อง สุดท้ายเด็กกลุ่มนี้ก็จะยอมรับ

 

คาดเดาลักษณะนิสัยบางประการของลูกได้จากการดูดนมแม่

 

นอกจากนี้พื้นฐานทางอารมณ์ของลูก อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีลักษณะท่าทางการดูดนมแม่ที่แตกต่างกันไป ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • หิวจัด เด็กกลุ่มนี้จะดูดนมจุ หิวเก่ง เมื่อได้ดูดนมก็จะดูดอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่นาทีน้ำนมก็หมดเกลี้ยง ด้วยลักษณะนิสัยเช่นนี้ทำให้เมื่อเด็กได้ดูดนม จะดูดแรง หากคุณแม่ให้นมแม่ อาจทำให้หัวนมของคุณแม่แตกและเจ็บได้ง่าย
  • มักตื่น(เต้น) เด็กกลุ่มนี้มักตื่นเต้นกับสิ่งต่างๆ มาก ดังนั้นพองับหัวนมได้ก็จะมีลักษณะ เดี๋ยวดูด เดี๋ยวหลุด สลับกันไปมา จนรู้สึกโมโห และอาจร้องกรี๊ดๆ ออกมา วิธีช่วยให้ลูกรู้สึกใจเย็นและสงบลงได้บ้างก็คือ อุ้มเบาๆ กอดจูบ และพูดปลอบสักหน่อย คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใกล้ชิด เพื่อเรียนรู้ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของลูก ลูกน้อยเองก็ปรารถนาที่จะรู้จัก และเรียนรู้คุณพ่อคุณแม่ของเขาเช่นกัน
  • นักชิม เด็กกลุ่มนี้มักเอาลิ้นแตะหัวนมเพื่อชิมน้ำนมก่อนสักพัก ท่าทางเหมือนยังไม่หิวนม แต่สักครู่ก็จะเริ่มดูดน้ำนม ซึ่งเป็นลักษณะของเด็กที่ต้องการเวลาในการปรับตัวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดสักหน่อยหนึ่งก่อน ถ้าคุณแม่เป็นคนใจร้อนหรือขี้รำคาญ ต้องการเร่งให้ลูกดูดนมเร็วๆ จะได้ไปทำธุระอื่น ลูกก็จะโกรธและเป็นเด็กโยเย
  • เรื่อยๆ เด็กกลุ่มนี้เมื่อดูดนมไปสักพักแล้วจะหยุดดูดเพื่อพักสัก 2-3 นาที แล้วจึงเริ่มต้นดูดใหม่ ถ้าคุณแม่ต้องการให้ลูกได้น้ำนมมากๆ เพียงพอกับการเจริญเติบโตของร่างกายก็ควรใจเย็นๆ กับเด็กกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับเด็กกลุ่มนักชิมค่ะ

 

ลูกน้อยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะการดูดนมที่ต้องให้ความสำคัญมีดังนี้

  • หลับง่าย หิวบ่อย เด็กบางคนดูดนมไปเพียงไม่กี่นาทีก็หลับ ทั้งที่คุณแม่ยังมีน้ำนมอยู่เต็มเต้า หรือยังมีน้ำนมเต็มขวด กรณีนี้อาจเกิดจากตัวเด็กเอง หรือเกิดจากเต้านมของคุณแม่หรือนมขวดคือ

เด็กบางคนเกิดมามีน้ำหนักตัวน้อย หรือมีโรคประจำตัว จึงไม่ค่อยมีแรงดูดน้ำนม หากเป็นเด็กแข็งแรงปกติ อาจเกิดจากหัวนมของคุณแม่มีก้อนไขมันเล็กๆ อุดตัน พอออกแรงดูดแล้วน้ำนมไม่ค่อยไหลออกมา จึงรู้สึกเหนื่อยและขี้เกียจดูดต่อ แต่พอคุณแม่วางลูกลงบนที่นอน ลูกก็จะรู้สึกตัวและร้องโยเยด้วยความหิวอีกครั้ง ทำให้รู้สึกว่าลูกหิวบ่อย ทั้งๆ ที่ให้นมก็ไม่ค่อยดูดหากเป็นกรณีให้นมขวด อาจต้องดูว่ารูที่หัวนมยางเล็กเกินไปจนน้ำนมไม่ค่อยไหลหรือไม่

  • โมโหง่าย เด็กกลุ่มนี้จะแสดงอาการโมโหหิวทันทีที่ดูดนมแล้วได้น้ำนมไม่เพียงพอ โดยจะเหวี่ยงศรีษะออกจากเต้านมแล้วร้องไห้ลั่น ก่อนหันกลับไปงับหัวนมใหม่อีกครั้ง อาการที่ลูกแสดงออก จะทำให้คุณแม่เครียดมีผลต่อปริมาณน้ำนม ยิ่งทำให้ลูกดูดน้ำนม แล้วรู้สึกได้ไม่เพียงพอมากขึ้นเป็นวัฏจักร

ดังนั้นคุณแม่จึงควรทำใจให้สบายก่อนให้นมลูก ดื่มน้ำอุ่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ฯลฯ เพื่อทำให้จิตใจผ่อนคลายมากที่สุด

  • ขี้เล่น เด็กกลุ่มนี้จะชอบพักผ่อนระหว่างดูดนม โดยจะดูดนมไปสักพักก็จะเล่นหัวนมแม่ เดี๋ยวก็จะดูดต่อ แต่จะดูดครั้งละมากๆ คุณแม่ไม่ควรกังวลว่าเด็กกลุ่มนี้จะได้นมไม่เพียงพอ เพราะหากคะยั้นคะยอให้ดูด ต่อไปเมื่อลูกโตขึ้น อาจเป็นเด็กที่กินข้าวยาก

 

 

จะเห็นได้ว่าแม้ลูกยังเป็นเพียงทารก อายุยังไม่ถึงขวบปีแต่ก็เริ่มแสดงลักษณะทางบุคลิกภาพและลักษณะบางอย่างแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากการแสดงพฤติกรรมการแสดงออก เช่นกรณีการดูดนมแม่ที่ได้เสนอข้างต้น หากคุณแม่จับจุดได้ตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะมีเวลาคิดหากวิธีรับมือ หรือปรับวิธีการเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับลูกน้อยของคุณได้อย่างเข้าใจในตัวลูกมากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของลูกรักต่อไป


[โดย Atidtarn.. นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.150 January 2006 ]

หมายเลขบันทึก: 483509เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท