สำคัญไฉนถ้าลูกจะเลือกใช้มือซ้ายหรือขวา


การเลือกถนัดในการใช้มือ

 สำคัญไฉนถ้าลูกจะเลือกใช้มือซ้ายหรือขวา

 

คุณพ่อคุณแม่เคยตั้งคำถามให้กับตัวเองไหมว่า ทำไมจึงรู้สึกดีกว่า ถ้าลูกจะถนัดมือขวามากกว่าซ้าย เป็นเพราะส่วนใหญ่ในโลกนี้ถนัดมือขวา เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงออกแบบให้เหมาะสำหรับคนถนัดขวา หรือเป็นเพียงกฎเกณฑ์ทางสังคม มาแต่โบราณกาล ที่ไม่รู้ว่าใครกำหนดขึ้น? ถ้ามนุษย์เราสามารถใช้มือทั้งสองทำงานได้ทัดเทียมกัน โดยไม่มีมือหนึ่งมือใดเป็นมือนำ อีกมือเป็นมือตาม ปัญญานี้คงไม่เป็นที่ถกเถียงกันแต่เพราะกฎธรรมชาติไม่ได้กำหนดไว้อย่างนั้น จึงกลายเป็นประเด็นที่ขอนำมาพูดกันในวันนี้ค่ะ

 

พัฒนาการที่นำไปสู่การใช้มือข้างเดียว

 

ถ้าคิดให้เป็นกลาง คุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่า ก่อนเจ้าตัวเล็กเข้าสู่ขวบปีแรก เขาจะใช้มือทั้ง 2 ข้าง หยิบจับของโดยไม่มีเค้าว่า เมื่อโตขึ้นอีกนิด เขาจะใช้มือข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง จนกลายเป็นมือถนัดขึ้นมา จึงเป็นเรื่องน่าฉงนว่า เหตุใดมนุษย์ทุกคนผ่านพัฒนาการใช้มือทั้ง 2 ข้าง มาเหลือมือถนัดเพียงข้างเดียว ?

 

น.พ.ชาญวิทย์ พรนภดล หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เคยกล่าวว่า มนุษย์เริ่มพัฒนาร่างกายจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ศีรษะไปยังปลายเท้าคือ เริ่มชันคอ คว่ำ คลาน ยืน เดิน ฯลฯ ขณะเดียวกันจะพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ จากต้นแขนสู่ปลายแขน จากนั้นจึงค่อยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก จากมือสู่ปลายนิ้ว เป็นลำดับ โดยเจ้าตัวเล็กอายุ 3 เดือน จะควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณมือ เพื่อไขว่คว้า จับ และกำวัตถุไว้เฉยๆ ไม่สามารถขยับนิ้ว เพื่อให้วัตถุชิ้นนั้นเคลื่อนไหวได้ การใช้มือจึงยังเป็นการเคลื่อนไหวแบบหยาบ เมื่อเจ้าตัวเล็กอายุ 9 เดือน กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ควบคุมนิ้วมือเริ่มพัฒนาเพื่อทำงานที่ละเอียดขึ้น สังเกตได้จากการใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ แต่เพราะนิ้วมือมีกล้ามเนื้อมัดเล็กมากถึง 20-30 มัด และเพราะธรรมชาติยังกำหนดให้การพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ ต้องรอความพร้อมของกล้ามเนื้อส่วนอื่น ที่เป็นพรรคพวกของมันก่อน อาทิ สายตา กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ต้นแขน ข้อศอก และระดับสติปัญญาตามวุฒิภาวะของสมองที่เป็นไปตามวัย ดังนั้นกว่าเจ้าตัวเล็กจะใช้นิ้วจับสิ่งของได้คล่อง ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ระหว่างนี้เขาจึงยังใช้วิธีกำสิ่งของในมือเป็นส่วนใหญ่ เราจึงรู้สึกไปว่า เจ้าตัวเล็กถนัดใช้มือทั้ง 2 ข้าง ยังมองไม่เห็นเด่นชัดว่าเขาถนัดใช้มือข้างไหน แต่เมื่อร่างกายพัฒนาขึ้น สมองทำงานดีขึ้น มือก็ต้องการทำงานที่ละเอียดขึ้น เช่น การกลัดกระดุม ร้อยลูกปัด การจับวัตถุขนาดเล็กด้วยนิ้วชี้และนิ้วโป้ง รวมถึงการเขียน กฎธรรมชาติจึงพัฒนาให้มือข้างหนึ่งทำงาน ที่ละเอียดกว่าอีกข้าง ซึ่ง นพ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ชี้ว่ามันเป็นปรากฏการณ์หรือความซับซ้อนของธรรมชาติ นพ.กมลอธิบายถึงการที่มนุษย์ จะถนัดใช้มือข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างต่อว่า การที่เจ้าตัวเล็กวัย 1-2 ปี ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งจับของเล่น ช้อนตักอาหาร หรือแม้แต่ใช้มือข้างนั้นรับสิ่งของจากคุณพ่อคุณแม่ ยังไม่เป็นการบอกว่า เขาจะถนัดใช้มือข้างนั้นชัดเจน เพราะเขาก็ยังคงผลัดเปลี่ยนการใช้มือหยิบจับสิ่งของไปเรื่อย จนกว่าจะอายุ 5 ปี หรือจนกว่าจะได้ขีดเขียน ซึ่งถือเป็นงานละเอียดที่สำคัญในการกำหนด ว่าเขาถนัดมือข้างนั้นจริง

 

พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมกับการเลือกถนัดในการใช้มือ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่า เมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์ ระบบประสาทสั่งงานอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย มักจะอยู่ทางซีกขวามากกว่าซ้ายถึง 60% เพราะจะทำให้ทารกสามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวต่างๆ ของแม่ได้ และเมื่อทารกเกิดมา คุณแม่ที่ถนัดมือข้างขวาเองก็มักจะอุ้มหรือประคองลูกด้วยแขนข้างซ้ายเป็นประจำ เพื่อจะได้ใช้มือขวาในข้างที่ถนัดทำงานอย่างอื่นระหว่างอุ้มลูกไปด้วย ดังนั้นทารกจึงเคยชินกับการใกล้ชิด และสามารถได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่ด้วยหูข้างขวา รวมถึงอวัยวะต่างๆ ทางซีกขวาของเด็ก จะสัมผัสรับรู้ถึงความอบอุ่น ความปลอดภัย ในขณะที่อยู่ในอ้อมแขนคุณแม่นั่นเอง จึงพอสรุปได้ว่า ทารกอาจถนัดใช้มือข้างที่ตนเองรู้สึกว่าอบอุ่น หรือรู้สึกเคยชินมากกว่า

 

ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า การถนัดมือซ้ายจะเกิดขึ้น 1 ใน 8 หรือเจ้าตัวเล็กเกิดมา 8 คน จะเป็นเด็กถนัดมือซ้าย 1 คน ซึ่งเดิมเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แต่อีกกลุ่มผู้วิจัย นำโดย Dr.Adam Blau ได้บันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง The Master hand โดยกล่าวว่า การจะถนัดใช้มือข้างไหนไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม แต่เป็นเรื่องของความเคยชิน ถ้าหากเจ้าตัวเล็กได้รับการโน้มน้าวจากผู้ใหญ่ตั้งแต่เขาเริ่มหัดใช้มือ โดยให้ใช้มือขวาจนติดเป็นนิสัย ก็จะทำให้เขาชินกับการใช้มือขวา และ Dr.Adam Blau ยังเชื่อต่อไปว่า การที่ผู้ปกครองพยายามจู้จี้กับเจ้าตัวเล็ก เมื่อเห็นว่าเขามีทีท่าว่าจะถนัดมือซ้าย อาจทำให้เจ้าตัวเล็กอารมณ์เสีย เลยแกล้งทำตรงกันข้ามเป็นเชิงปฏิเสธ (negativism) ไปเลย

ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เจ้าตัวเล็กถนัดมือขวาตั้งแต่แรกเริ่ม ควรจะยื่นของเล่นให้เขาถือด้วยมือขวา หรือพอเขาเริ่มสนใจหม่ำอาหารเสริมด้วยตัวเอง คุณก็ให้เขาจับช้อนทางมือขวา นพ.กมล เสริมในส่วนนี้ว่า การสอนของคุณพ่อคุณแม่ ควรค่อยเป็นค่อยไปไม่ควรบังคับ เพราะถ้าบังคับ เจ้าตัวเล็กบางคนอาจต่อต้าน เกิดผลกระทบต่ออารมณ์ตามมา และทำให้เด็กเกิดความเครียดได้

 

ความถนัดในการเลือกใช้มือส่งผลต่อสติปัญญาด้วย หรือไม่ ?

 

นอกจากงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น นพ.กมล ได้ให้ข้อมูลงานวิจัยว่า ผู้ที่ถนัดซ้ายอาจมีความผิดปกติในการอ่านการเขียน หรือ Learning disorder (L.D.) แต่เป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ปัจจัยหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ถนัดซ้ายจะเป็น L.D. ทั้งหมด และผู้ที่ถนัดซ้ายก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นเดียวกันกับผู้ที่ถนัดขวา นอกจากนี้พบว่า สมองซีกซ้าย และขวา ทำหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้

สมองซีกซ้าย
ทำหน้าที่ได้ดีในด้านต่อไปนี้

สมองซีกขวา
ทำหน้าที่ได้ดีในด้านต่อไปนี้

- การแสดงออกทางด้านการพูด
- การรับรู้ด้านภาษา
- การใช้กล้ามเนื้อแขนขาและมือ
- ความระมัดระวัง
- การเรียนรู้โดยการจัดหมวดหมู่
- การค้นหาความเหมือนกัน
- การที่จะมีสติควบคุมตัวเองได้
- การสร้างแนวคิดใหม่ๆ หรือความรู้ที่เกี่ยวกับแนวความคิด หรือความคิดรวบยอดที่เราเรียกว่าการวาง Concept
- การวิเคราะห์เกี่ยวกับเวลา
- การเรียนคณิตศาสตร์คำนวณ การเข้าใจจำนวน
- การเขียน
- การจำแนกซ้ายขวา
- การจัดลำดับสิ่งของ

- การมองอะไรที่เป็นมิติ และช่องว่างบนพื้นผิว (Spatial)
- การเข้าใจภาษาง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อน
- การรับรู้ลวดลายทางด้านศิลปะ การแสดงละครบนเวที
- ความคิดสร้างสรรค์
- การมีอารมณ์ขัน
- การรับรู้เกี่ยวกับการสัมผัส
- ความคิดเชิงนามธรรม
- การใช้ภาษาท่าทางหรือภาษากาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้เป็นประจำ เช่น การแสดงออกของสีหน้า
- การจัดสภาพแวดล้อมให้กลมกลืน
- การทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน รวมถึงการฟังคน 2 คนพูดพร้อมกัน ทั้งที่ต่างพูดคนละแบบ

 

ความถนัดในการเลือกใช้มือ ส่งผลต่อการทำงานของสมองในส่วนอื่นไหม ?

มาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าเจ้าตัวเล็กถนัดมือขวา จะทำให้การทำงานของสมองซีกหนึ่งมากกว่าอีกซีกหนึ่งหรือไม่ หรือทำให้เขามีแววความสามารถ ไปตามสมองซีกขวามากกว่าซ้ายหรือเปล่า ? ความจริงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ความสามารถในการจำแนก ซ้าย-ขวา จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่อยู่ในการทำงานของสมองซีกซ้าย ซึ่งไม่เกี่ยวพันกับสติปัญญา และความจริงอีกข้อหนึ่งคือ สมองซีกซ้ายจะควบคุมการทำงาน และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อซีกขวา ส่วนสมองซีกขวา ก็จะควบคุมการทำงาน และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อซีกซ้าย และแม้สมองจะมีการแบ่งซีกว่า ซีกใดทำหน้าที่อะไร แต่ในส่วนของระบบประสาทแล้ว จะมีการทำงานเชื่อมโยงกัน หรือทำหน้าที่ร่วมกันเสมอ ไม่ได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง

อีกคำถามหนึ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่อาจเกิดความสงสัยจากเนื้อหาข้างต้นคือ เจ้าตัวเล็กที่ถนัดมือขวาแล้วการทำงานของมือซ้ายไม่ค่อยได้ถูกกระตุ้น จะมีผลต่อการทำงานของเซลล์สมองให้ด้อยลง หรือเปล่า ?

 

นพ.กมล ชี้ว่า ปกติสมองของมนุษย์จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีแรก พบว่ามีการสร้างจุดเชื่อมต่อของใยประสาทจำนวนมากกว่าที่สมองจะใช้จริง 2 เท่า ใยประสาทของเซลล์สมองตัวหนึ่งจะแตกแขนงออกไปเพื่อทำหน้าที่สัมผัสกับเซลล์สมองตัวอื่น คล้ายทางเดินหรือสะพานเชื่อมนั่นเอง หลังจาก 2 ขวบปีไปแล้ว ใยประสาทนั้นจะค่อยๆ ลดลง เหมือนทางเดินที่ไม่ได้ใช้ จะถูกปกคลุมด้วยหญ้า ทั้งที่เซลล์ประสาทยังคงอยู่ แต่เมื่อจุดเชื่อมต่อของใยประสาทหายไป ก็เหมือนขาดการติดต่อกับเซลล์ประสาทส่วนนั้น แต่เซลล์ประสาทที่ควบคุมมือขวา และซ้าย ไม่ใช่เป็นส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา จึงไม่มีผลต่อสติปัญญาในกรณีที่กำลังอธิบายนี้

 

ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการถนัดขวาจะส่งผลให้การควบคุมมือซ้ายหายไปหมด เพราะกิจวัตรประจำวันโดยทั่วไป ยังจำเป็นต้องใช้มือซ้ายในการประคับประคอง หรือ Support มือขวา เช่น การใช้มือซ้ายถือส้อม เพื่อให้มือขวาใช้ช้อนตักอาหารขึ้นไปกินได้ หรือการใช้มีดกับส้อมหั่นเนื้อ จะใช้มือซ้ายถือส้อม เพื่อให้มือขวาหั่นมีดได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้เรายังใช้ทั้ง 2 มือ ประสานงานกันในการกลัดกระดุมเสื้อ การขับรถ ฯลฯ

 

จะเห็นว่าความจริงการใช้มือทั้ง 2 ประสาทงานกันจึงยังมีอยู่แทบทุกิจกรรมของทุกวัน ใยประสาทของเซลล์ที่มือซ้ายจึงคงมีอยู่ แต่จะมากหรือน้อยต่างจากมือขวาที่เป็นมือถนัด คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่างกันเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนผู้นั้นด้วย เช่น ถ้าเจ้าตัวเล็กมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเล่นดนตรีไทย และสากล ขิม จะเข้ ระนาด เปียโน กีตาร์ กลอง กีฬาบางชนิด เช่น ว่ายน้ำ กอล์ฟ ฯลฯ ที่ต้องใช้มือทั้ง 2 ข้างอยู่บ่อยๆ จะช่วยให้สมองทั้ง 2 ซีก ประสาทงานในการถ่ายทอดข้อมูลแลกเปลี่ยนกันและกันได้ดีขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น และทำให้ความถนัดในการใช้มือทั้ง 2 ข้างใกล้เคียงกัน แต่ไม่ถือขนาดเท่ากันเปี๊ยบ เพราะเขาก็ยังต้องใช้มือที่ถนัดจริงๆ ในการเขียนหนังสืออยู่นั่นเอง และการถ่ายทอดข้อมูลแลกเปลี่ยนกันของสมอง ก็เป็นเพียงการทำงานเฉพาะส่วนเท่านั้น เนื่องจากสมองมีการทำงานหลายส่วน อย่างหลากหลาย มันจึงไม่ได้มีอิทธิพลต่อการทำงานในด้านอื่นด้วยมากนัก จึงไม่มีความต่างอย่างเป็นนัยสำคัญทางด้านสติปัญญา หากเจ้าตัวเล็กคนใด จะถนัดใช้มือข้างใดเด่นชัดเพียงข้างเดียว

 

สิ่งสำคัญกว่านั้นที่ นพ.กมล ฝากเป็นข้อคิดไว้คือ คุณพ่อคุณแม่สามารถเบี่ยงเบนเจ้าตัวเล็กวัย 1-3 ปี ที่ถนัดมือซ้ายให้มาถนัดมือขวาได้ เพราะสมองของเขากำลังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาในทุกวินาทีที่ผ่านไป จึงพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อยู่ แต่ถ้าเลยวัยนี้แล้ว จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรือถ้าผู้ปกครองเห็นว่า เจ้าตัวเล็กถนัดมือซ้ายไปแล้วจริงๆ ก็ไม่ควรบังคับให้มาถนัดมือขวา เพราะเขาจะอึดอัด หงุดหงิดมากถึงกับร้องไห้ ไม่คุ้มค่าต่อผลเสียทางด้านอารมณ์ ที่จะบั่นทอนความภาคภูมิใจในตัวเอง เนื่องจากทำกิจกรรมอะไรก็รู้สึกไม่ถนัดไปซะหมด เพราะแม้เขาจะถนัดซ้ายหรือขวา ในวัยนี้เขาจะทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยความตั้งใจ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเขาอย่างอิสระ มันจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชม ให้กำลังใจ แต่ถ้าไปบีบบังคับเรื่องการใช้มือ ในสิ่งที่เขารู้สึกว่าเปลี่ยนไม่ได้ มันจะไปบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ มีผลต่อการเรียนรู้ และเกิดความไม่มั่นใจในสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงนั่นเอง


โดย อธิษฐาน พูลศิลป์ศักดิ์กุล  นิตยสารบันทึกคุณแม่ ปีที่ 10 พฤษภาคม 2547 ]

หมายเลขบันทึก: 483508เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท