ความลึกซึ้งในบทบาทพราหมณ์ต่อพิธีกรรมที่น่ารู้


บทบาทพราหมณ์ต่อพิธีกรรม

คอลัมน์ Ask an Expert

นิตยสาร atoffice

เขียน อธิษฐาน

 

ความลึกซึ้งในบทบาทพราหมณ์ต่อพิธีกรรมที่น่ารู้

       

ถ้ากล่าวถึงพราหมณ์ขึ้นมาเฉยๆ หลายคนอาจจะยังมองไม่เห็นบทบาทของคนกลุ่มนี้ในสังคมไทย แต่ถ้ากล่าวถึงพิธีการสำคัญๆ ในสำนักพระราชวัง อาทิ ผู้ประกอบพิธีพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผู้เจิมพระราชลัญจกรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผู้ประกอบพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย พิธีถวายพระราชสักการะบวงสรวงต่างๆ อาทิ พิธีถวายพระราชสักการะบวงสรวงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พิธีถวายพระราชสักการะบวงสรวงพระบรมรูปทรงม้า ฯลฯ รวมถึงพิธีการในสังคมของบุคคลทั่วไป เช่น การลงเสาเข็ม ขึ้นบ้านใหม่ พิธีการตั้งศาลพระพรหมในที่ต่างๆ เช่น ศาลพระพรหมสี่แยกราชประสงค์ เป็นต้น เราคงเห็นบทบาทของพราหมณ์ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งบทบาทเหล่านี้ได้สืบกันมา โดยมีบทบาทมากขึ้นควบคู่ไปกับพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุโขทัย ตราบจนปัจจุบัน พราหมณ์ยังคงบทบาทหน้าที่อย่างไร เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่?

 

 

นิตยสาร at office ได้รับเกียรติจากพระครูวามเทพมุนี หรือชวิน รังสิพราหมณกุล หัวหน้าคณะโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า กรุงเทพฯ และหัวหน้าคณะพราหมณ์หลวง ถวายงานพระราชพิธี สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ต่อจากบิดา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่นี้สืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นคุณทวดในสมัยรัชกาลที่ 6

 

ผู้จะมาทำหน้าที่พราหมณ์ในการประกอบพิธีต่างๆ

การที่จะเป็นผู้ทำพิธีทางพราหมณ์ได้ จะต้องเป็นลูกหลานของพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายกันมาเป็นพันปี ต่อมาคือต้องบวชเป็นพราหมณ์โดยมีอุปชาเป็นผู้พิจารณา โดยดูคุณสมบัติคือ 1) เป็นลูกของคนในสกุลพราหมณ์มาตั้งแต่สมัยอินเดียในอดีตตั้งแต่ในอินเดีย 2) มีความสมัครใจ 3) อุปชารับรอง ต้องมีทั้ง 3 ข้อนี้จึงจะบวชได้ บางคนเมื่อบิดาเสียไปแล้วก็มาบวช บางคนบวชเมื่อจบการศึกษาแล้ว บางคนก็บวชตั้งแต่เริ่มเรียน แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน

 

พราหมณ์กับบทบาทในสังคมไทย

พรามณ์เป็นผู้ปฏิบัติพิธีกรรม เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาโดยการถ่ายทอด จนเป็นถึงประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งทำให้ชีวิตเกิดความสุขสันติ

 

พิธีต่างๆ ในปัจจุบัน มีพราหมณ์เข้าไปเกี่ยวข้องยังไงคะ?

เป็นกิจกรรมซึ่งนำจิตของบุคคลให้เข้าสู่การปฏิบัติธรรมชั้นสูงโดยพิธีกรรม เริ่มตั้งแต่เกิดเป็นต้นไป แต่งงาน ปลูกบ้าน บวงสรวงเทพเทวา หาทางให้จิตนั้นสงบ มีปัญญาที่จะกลับไปสู่ความดีสูงสุด คือการไปรวมเป็นหนึ่งกับพระเป็นเจ้า พิธีการทั้งหลายเป็นการสืบทอดและให้ความรู้กับประชาชนว่าเทพองค์ต่างๆ นั้นมีความดีอย่างไร เมื่อประกาศความดีนั้นแล้ว ก็นำทางให้คนที่เป็นผู้ประกอบพิธี เป็นคนที่ขอให้ไปประกอบพิธีได้ร่วมกิจกัน นำกิจของแต่ละคนเข้าสู่ความสุข ความสงบ เข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า ตามภูมิฐานะความรู้ของแต่ละคน ในสิ่งนี้เป็นการอธิบายให้เห็นถึงวัฒนธรรมว่าเรามีประเพณีอย่างไร เช่นพิธีการเกิดก็มีการทำขวัญเดือน ไว้จุก ตัดจุก แต่งงาน ปลูกบ้าน เป็นต้น

 

กว่าจะได้เป็นคนทำพิธีต้องเรียนรู้นานแค่ไหน?

ตั้งแต่เกิด บิดาซึ่งเป็นพราหมณ์และอุปชาซึ่งเป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ให้ความรู้ตั้งแต่เด็ก การเรียนการศึกษาจะเรียนตามวิถีของประชาชนทั่วไป ควบคู่ไปกับการเรียนวัฒนธรรม เป็นไปตามประเพณีของศาสนา สอนกันตั้งแต่เล็กๆ การที่เราจะมาประกอบพิธีกรรมก็ขึ้นอยู่กับอุปชาเป็นผู้ถ่ายทอด และให้ความรู้ตามความสามารถ จึงจะไปทำได้ แล้วแต่คน บางคนก็ภายใน 2-3 ปี แล้วแต่ครับ

 

ทศพิทธราชธรรมเป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือปฏิบัติ แล้วพราหมณ์ปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่าอะไรคะ?

เรียกว่าราชนิติ คือวิถีการดำรงกิจวัตรประจำวันของการเป็นผู้นำ พระมหากษัตริย์ก็ถือว่าเป็นผู้นำ ต้องพึงปฏิบัติสอนวิธีการเรียนรู้ว่า การใช้บุคคลให้ตรงตามหน้าที่ การรู้จักรักษาสุขลักษณะ การรู้จักการปฏิบัติธรรมในทศพิทธราชธรรมก็ยังอยู่ในราชนิติด้วย เช่น ทรงต้องปฏิบัติพระองค์อย่างไร หรือผู้นำต้องปฏิบัติตนอย่างไร ยกตัวอย่างเรื่องของสุขลักษณะ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ต้องมีการเดิน ถ้านอนก็อ้วน ถ้าวิ่งก็อายุสั้น ถ้าเดินก็อายุยืน ดังนั้นหลังจากรับประทานอาหารแล้วก็จะเดิน นี้คือราชนิติ ทศพิทธราชธรรมมีอยู่ในราชนิติ ผู้ที่ใฝ่รู้ถึงจะได้เรียน เพราะหลักในศาสนาพราหมณ์มีมากมาย ในปัจจุบันพราหมณ์ที่จะเรียนรู้ก็เรียนรู้ในช่วงที่เขาสนใจ แต่หลักกว้างๆ จะเรียนรู้เหมือนๆ กันหมดครับ

 

        ปัจจุบันหน้าที่หลักของพราหมณ์เป็นผู้ประกอบศาสนากิจ ประกอบพิธีกรรมถวาย เนื่องจากการศึกษาก้าวหน้ามาก ทำให้พราหมณ์ที่จะสอนวิทยาการทั้งหมด ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ไว้อย่างดี เช่น พระธรรมศาสตร์ การเรียนกฎหมาย เกิดมีที่ปรึกษากฎหมายต่างหาก ทำให้ปัจจุบันอาจจะไม่ต้องไปเรียนรู้ตรงนั้น นอกจากนี้เมื่อก่อนพราหมณ์เป็นผู้ให้ความรู้เรื่องธนูรศาสตร์การทหาร การทำกิจกรรมปกป้องคุ้มครองประเทศ ซึ่งตรงนี้ก็ได้มีผู้ศึกษาเรียบร้อยแล้ว มีที่ปรึกษาต่างหาก พราหมณ์จึงเหลือแต่เป็นพิธีกรรมที่จะนำความสุขสันติระหว่างเรากับพระเป็นเจ้า แต่เมื่อก่อนมีทั้งหมด

 

บทบาทพราหมณ์ในสังคมไทยเปลี่ยนจากอดีตไปบ้างไหมคะ?

สังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมในความคิดของคนเปลี่ยน พิธีกรรมส่วนใหญ่เวลานี้ที่เอาไปปฏิบัติกันก็แค่ความปลอดภัย พอให้มีกำลังทรัพย์ทางวัตถุเท่านั้น แต่ไม่ได้มุ่งถึงความรู้สึกให้เกิดปัญญา เกิดความรู้สึกอยากจะปฏิบัติกตัญญูสักการะเพื่อความดี เราจะได้ทำความดีเพื่อจะได้กับไปอยู่กับพระเป็นเจ้า ตอนนี้เราพยายามถ่ายทอดความรู้ แต่สังคมส่วนใหญ่มองวัตถุเป็นที่พึ่ง ต้องมีฐานะแต่งตัวหรือใช้สิ่งต่างๆ ที่ทุกคนเห็นว่า รู้สึกว่ามีความสุขที่ได้หยิบได้ใช้ในสิ่งที่ตัวเองยึดในวัตถุนั้นๆ ตามเพื่อน แต่ไม่ได้ยึดถือเรื่องความดีว่า บาป ไม่ควรทำ สร้างแต่บุญกุศล กลายเป็นเรื่องโบราณ เมื่อสังคมเปลี่ยน ศาสนกิจทั้งหลายต้องเปลี่ยนตามให้กระชับตามเวลาที่เขาคิดว่ามีเวลาอันจำกัด ประธานในพิธีมาแล้วต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้เสร็จแล้วจะรีบไปต่อที่อื่น พิธีกรรมจึงกลายเป็นแค่วิถีเฉยๆ ไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดสุขสันติสมบูรณ์แบบอย่างโบราณ ที่มีการตั้งจิตอธิษฐานประณีตตั้งแต่ต้นจนจบต้องใช้เวลา แต่ปัจจุบันย่อลงๆ จนเหลือแต่ว่า ขอให้กล่าวคำอธิษฐาน เหลือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นเอง เมื่อกล่าวไปแล้วก็คิดเอาว่า สิ่งที่ตนเองปรารถนาจะสำเร็จตามนั้น แต่ไม่ได้มุ่งหมายอยากปฏิบัติตนให้เหมือนกับพระจารียวัตรของพระผู้เป็นเจ้า นำทางให้เราเกิดปัญญา เพราะปัจจุบันเราติดวัตถุกันมากขึ้น เดิมเราอาจจะมีพิธีทำการกุศลวันนี้ตอนเย็น วันพรุ่งนี้ตอนเช้า ก็ย่อลงเหลือทำเฉพาะวันเดียว เสร็จภายในเวลา 5-10 นาที แค่ได้ถือว่ามี

 

 

    แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุและความคิดนั้นยังมีเป้าหมายเดียวกันคือความสุขสันติ จะสวดคาถาเดียวก็ขอให้เกิดความสุขสันติ หลักของศาสนายังคงเดิม แต่วิธีจะไปถึงนั้นต้องใช้เวลา อย่างในช่วงวัยรุ่น ยังอาจไม่คิดถึงการศาสนา พอเข้าสู่วัยที่มีครอบครัวได้ประกอบสัมมาอาชีพแล้ว ก็จะมาคิดว่าบุญกับบาปเป็นยังไง ถ้าเขายังมีโอกาส แต่ถ้าเขาไม่มีโอกาส ก็คือติดอยู่ในโลกของวัตถุจนไม่สามารถถอนตัวออกได้ เขาก็จะหลุดออกไป

 

ฉะนั้นจำนวนประชากรที่จะปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้รู้ถึงปัญญาตรงนี้น้อยลง มักจะไปยึดถือวัตถุมากขึ้น เช่น ถ้าบอกเด็กว่า เรียนหนังสือได้คะแนนดีจะพาไปเที่ยว เด็กมุ่งจะไปเที่ยวก็ทำคะแนนดี แต่หลักเดิมคือขอให้เรียนด้วยความขยันหมั่นเพียรจะได้ทำงานที่ดีมีความสุข นั่นคือเป้าหมายหลัก แต่พ่อแม่เอาเครื่องมือทางวัตถุจูงใจ ฉะนั้นเขาก็เป็นคนดีได้แต่มีเครื่องจูงใจ เช่นหลักเดิมใครทำความดีก็จะมีความรู้สึกมีความสุข แต่ปัจจุบันถ้าใครทำความดีจะมีผลตอบแทน อาจจะเป็นรางวัลของพ่อแม่ให้ เป็นต้นครับ นี้คือข้อคิดฝากทิ้งท้ายจากพระครูวามเทพมุนีค่ะ



หมายเลขบันทึก: 483513เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท