การคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีแบบง่ายง่าย


ผม และคณะ อสม.มาร่วมงาน อสม. ระดับจังหวัด ในวันที่ 24 มีนาคม 2555 ซึ่งล่าช้าไม่นาน เพราะวัน อสม. แห่งชาติ คือ วันที่ 20 มีนาคม  ของทุก ๆ ปี

 

ปีนี้ ประธานในพิธี คือ ท่าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข (ท่านเป็นชาวจังหวัดชัยภูมิด้วยครับ) โดยมีประเด็นในงาน อสม. ปีนี้ คือ อสม. นักจัดการสุขภาพชุมชน : คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งต่อน้ำดี

 

ก่อนพิธีเปิดงาน จึงมีการเสวนาในประเด็นนี้ บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญท่านหนึ่ง คือ น.พ.วัชรพงศ์  พุทธิสวัสดิ์   อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์เล่าว่า ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ผ่าศพครั้งแรก (ครูใหญ่) เป็นคนอีสาน และตายด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี จึงอยากทดแทนบุญคุณครู...ในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี

 

เริ่มต้นเล่าเรื่องว่า ภาคอีสานประเทศไทยมีแชมป์โลกด้วยนะ...ใช่เรามีจริง ๆ เช่นคุณสมรักษ์ คำสิงห์ กีฬามวยสากลเหรียญทองโอลิมปิก แต่อาจารย์เฉลยบอกว่าไม่ใช่

 

ที่เป็นแชมป์จริง ๆ คือ ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี มากที่สุดในโลก เกิดจากจาก พยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini) เป็นพยาธิใบไม้ชนิดหนึ่งที่ตัวแก่อาศัยอยู่ในท่อน้ำดีของคน สุนัขและแมว  พยาธิชนิดนี้มีความสำคัญทางสาธารณสุขมากกว่าพยาธิอื่นๆ ที่พบระบาดในประเทศไทย  เนื่องจากเป็นพยาธิชนิดเดียวในประเทศไทยที่องค์การอนามัยโลกยอมรับและจัดให้เป็นเชื้อก่อมะเร็ง  และเนื่องจากอาการแสดงของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในระยะแรกไม่ชัดเจน  ผู้ป่วยจึงมักมารับการรักษาจากแพทย์เมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะท้ายของโรคหรือเมื่อมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว  ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีนัก ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน 1-2 ปีหลัง

 

อาจารย์เล่าว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีมักเสียชีวิตภายใน 1-2 ปีหลังการวินิจฉัย  อัตราการมีชีวิต 5 ปีหลังรับการรักษาค่อนข้างต่ำ ประมาณร้อยละ 20   ปัจจุบันยังไม่มีวิธีวินิจฉัยที่จำเพาะกับมะเร็งท่อน้ำดีในระยะต้น ไม่มีการบำบัดรักษามาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูง  อัตราการตายเฉลี่ยร้อยละ 90 ทั้งในเพศหญิงและชาย สูงกว่า มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเฉลี่ยร้อยละ 30-40

 

เล่าแล้ว...ผมก็รู้สึกน่ากลัว ทั้งตนเอง และพี่น้องชาวอีสานครับ เพราะโรคดังกล่าว เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบๆ รวมทั้งปลาร้าไม่สุกและของหมักดอง

 

อาจารย์วัชรพงศ์บอกถึงการคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีแบบง่ายง่าย จำนวน 4 ข้อ คือ

  1. เคยตรวจพบ หรือเคยรักษาโรคจากไข่พยาธิใบไม้ตับ หรือไม่ ?
  2. กินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบๆ รวมทั้งปลาร้าไม่สุก และของหมักดอง เช่น หม่ำดิบ แหนมสด หรือไม่ ? (เพราะเนื้อดิบ + การหมัก + ดินประสิว = สารก่อมะเร็ง... ป้องกันง่ายโดยทำให้สุกโดยผ่านความร้อน)
  3. เคยกินยารักษาพยาธิใบไม้ตับอย่างซ้ำซาก หรือไม่ ?  (เพราะแสดงให้เห็นถึงการยังไม่ลด ละ เลิก การกินเนื้อดิบ)
  4. ญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี หรือไม่ ?

 

แต่เมื่อท่านประธานในพิธี คือ ท่าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข มาเปิดงาน ชื่นชมกับการเสียสละของ อสม. และมอบประกาศเกียรติคุณ อสม. ที่ทำความดีความงาม ท่านก็แถลงนโยบายว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดี จะเป็นคนที่คนชัยภูมิ และสาธารณสุขเขต 14 ต้องร่วมมือกันดำเนินงาน (บริการ + วางแผน + พัฒนา + จัดการ) เรื่องโรคมะเร็งท่อน้ำดี

 

ท่าน รมช.สาธารณสุข ได้บอกถึงการคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีแบบง่ายง่าย จำนวน 4 ข้อ (ผมว่าคล้าย ๆ กันครับ) คือ

  1. เป็นคนอีสานโดยกำเนิด หรือไม่ ?
  2. เคยตรวจพบ หรือเคยรักษาโรคจากไข่พยาธิใบไม้ตับ หรือไม่ ?
  3. อายุ 40 ปี ขึ้นไปหรือไม่ ?
  4. อาศัยอยู่ใกล้ลำห้วยหรือไม่ (เพราะแสดงว่า มีโอกาสในกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบๆ รวมทั้งปลาร้าไม่สุก และของหมักดองมากขึ้น)

 

แต่ทั้งสองท่าน สรุปเหมือนกับว่า…

ถ้าใครตอบใช่ 3 ใน 4 ขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี และการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ ถือว่าเป็นวิธีการคัดกรองที่ง่ายที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องความเชี่ยวชาญของบุคลากร คัดกรองได้น้อยราย และมีราคาแพง ซึ่งต้องมีการพัฒนากันต่อไป

และสุดท้าย การพบโรคเบื้องต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ และที่สำคัญประชาชนควรเลิกการกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบๆ รวมทั้งปลาร้าไม่สุกและของหมักดอง

 

หมายเลขบันทึก: 483287เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2012 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

แบบคัดกรองที่เกิดจากการสังเกต พัฒนาด้วยตนเองเพื่อใช้เอง เยี่ยมยอดมากค่ะ

ที่ปลาปาก ได้มีการทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ครับพี่ ตอนนี้กำลังคัดกรองความเสี่ยงประชาชน และแพทย์อุลตร้าซาวน์ไปหลายสิบคนแล้ว พบว่ามีคนเสี่ยงต่อการป่วยด้วยมะเร็งตับเหมือนกัน

* ขอฝากความห่วงใยมายังผู้ป่วย และผู้สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ด้วยค่ะ

* อยากให้ช่วยกันรณรงค์มากๆและต่อเนื่องค่ะ

สวัสดีค่ะ

ของลำดวน ตอบใช่ไป ๒ ข้อแล้วค่ะ

มีความเสี่ยง ร้อละ ๕๐ ใช่ไหมคะ

ขอบคุณความรู้ที่เป็นประโยชน์นี้ค่ะ

ถ้ามีอะไรใช้ช่วย ก็บอกนะคะยินดีแชรืความรู้ /โครงการ ไว้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้านวิชาการกันคะ

การคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี....ดีจริงๆๆค่ะ

 

  1. คยตรวจพบ หรือเคยรักษาโรคจากไข่พยาธิใบไม้ตับ หรือไม่ ?
  2. กินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบๆ รวมทั้งปลาร้าไม่สุก และของหมักดอง เช่น หม่ำดิบ แหนมสด หรือไม่ ? (เพราะเนื้อดิบ + การหมัก + ดินประสิว = สารก่อมะเร็ง... ป้องกันง่ายโดยทำให้สุกโดยผ่านความร้อน)
  3. เคยกินยารักษาพยาธิใบไม้ตับอย่างซ้ำซาก หรือไม่ ?  (เพราะแสดงให้เห็นถึงการยังไม่ลด ละ เลิก การกินเนื้อดิบ)
  4. ญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี หรือไม่ ?

    - ขอบคุณค่ะ...ได้รับความรู้ที่ดีจริงๆๆค่ะ

สวัสดีค่ะน้องทิมดาบ

ขอบคุณค่ะ เป็นประโยชน์มาก

ชื่นชมทีมค่ะ บริการเชิงรุก เข้าหาชุมชน คัดกรอง ให้ความรู้

มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ทางเอฟเอ็ม103 มข.ด้วยค่ะ

ร่วมด้วยช่วยกัน แนวโน้มความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งท่อทางเดินน้ำดีน่าจะลดลงนะคะ

หลังจากคัดกรองแล้ว กำหนดความเสี่ยงอย่างไร และมีการจัดบริการให้กลุ่มเสี่ยงแต่ละกลุ่มอย่างไร


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท