คศน. ตีความโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา


การตั้งคำถามเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

คศน. ตีความโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

ทีม คศน. (www.wasi.or.th) ไปดูงาน รร. ลำปลายมาศพัฒนา และเขียนข้อเรียนรู้ไว้จากมุมมองหรือการตีความของแต่ละคน น่าสนใจมาก    ผมได้รับมานานแล้ว แต่เพิ่งพบอีกครั้ง    จึงนำมาเผยแพร่ต่อ 

 

เปิดกะลา งานทันตสาธารณสุขในโรงพยาบาล

บทเรียนจากโรงเรียนนอกกะลา

สรุปบทเรียน จากการดูงาน โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

โดย  ทพ.ดร.ธงชัย  วชิรโรจน์ไพศาล

การตั้งคำถามเป็นจุดเริ่มต้น

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คือ “การตั้งคำถาม” ซึ่งเป็นเทคนิคที่อาจารย์วิเชียรใช้กับครูและนักเรียนในโรงเรียน ให้เด็กนักเรียนหาคำตอบร่วมกัน  การตั้งคำถามให้นักเรียนตอบจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน แทนที่อาจารย์จะตอบคำถามที่นักเรียนถามซึ่งเป็นเรื่องง่ายเพราะอาจารย์รู้คำตอบอยู่แล้ว แต่อาจารย์โรงเรียนลำปลายมาศทุกคนจะใช้การตั้งคำถามกลับให้นักเรียนช่วยกันคิด ท้ายที่สุดนักเรียนจะเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่มที่ช่วยกันคิด อาจารย์มีหน้าที่นำกระบวนการกลุ่มเท่านั้น

อาจารย์วิเชียรเล่าว่า เมื่อภาคการศึกษาที่แล้ว ครูในโรงเรียนได้ตั้งคำถามว่า สิ่งที่ครูทำในโรงเรียนทำไปทำไม มีเหตุผลอะไรในการทำหรือทำตามกันมาเรื่อยๆ คุณครูในโรงเรียนได้รวบรวมมามากว่า 300 กิจกรรม เทคนิคนี้เป็นการทบทวนสิ่งที่ทำไปว่ามีความหมาย มีประโยชน์อะไร การตั้งคำถามสำหรับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันว่ามันมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน มีบางอย่างที่เราทำตามกันมาโดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรหรือไม่  

ผมลองตั้งคำถามกับทีมงานฝ่ายทันตสาธารณสุข ในโรงพยาบาลชุมชน ที่ทำงานยุ่งเหยิงทั้งวัน ทั้งงานรักษา งานป้องกันในคลินิก งานภายนอกโรงพยาบาล ออกหน่วยในโรงเรียน เยี่ยมบ้าน ฯลฯ  ว่างานที่ทำทั้งหมดนี้ มีความหมายอะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง มีความสำคัญแค่ไหน การทบทวนในเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่น่าสนใจมาก

ถ้าเป้าหมายของการจัดการศึกษาของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คือ การสร้างคนที่เน้นเรื่องความเป็นมนุษย์มากกว่า การเน้นด้านความรู้ ความเก่ง

เป้าหมายของฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลชุมชน คือ อะไร ถ้าคือการพยายามทำให้คนไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดี แล้วสิ่งที่ทำอยู่จะทำให้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ ควรจะเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี หรือเน้นเรื่องการรักษาเพื่อซ่อมสุขภาพ ทันตแพทย์และทันตบุคคลากรใช้เวลาในวันหนึ่งๆทำอะไรมากกว่ากัน ใช้งบประมาณทุ่มเทไปกับเรื่องใดมากกว่า

ปลดปล่อยศักยภาพของคนทำงาน เป็นหัวใจ

            ประโยคหนึ่งที่อาจารย์วิเชียร ไชยบัง ได้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการสร้างนักเรียนที่มีความเป็นมนุษย์คือ “ต้องสร้างครู ปลดปล่อยศักยภาพครู” เดิมครูไม่ได้ทำงานตามศักยภาพที่ครูมี ครูไม่ได้รู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่า ครูทำตามที่เบื้องบนกำหนดมา ครูคิดเรื่องของตนเอง คิดเรื่องการเพิ่มคุณวุฒิ ครูคิดเรื่องค่าตอบแทนของตนเอง ทังหมดนี้เป็นอันตรายต่อการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน

            อาจารย์วิเชียร ไชยบัง ได้บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ครูรู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่า มีคุณค่าต่อเด็ก มีคุณค่าต่อผู้ป่กครอง ถ้าครูมีตรงนี้แล้ว ก็จะทุ่มเททำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งกระบวนการปลดปล่อยศักยภาพนี้ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของครูแต่ละคน ครูแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านความคิด ความคาดหวัง พื้นฐานประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน อาจารย์วิเชียรจะใช้เทคนิคต่างๆในการพัฒนาและปลดปล่อยศักยภาพของครู เช่น การจัดวางครูไปไว้ในตำแหน่งต่างๆ การสลับงานให้ทำ เรียนรู้งานใหม่ๆ มีเบื้องหลังความคิดที่ว่า “ไม่มีสิ่งที่ดีที่สุด มีแต่สิ่งทีดีกว่า” ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และใช้การ  Coaching โดยเทคนิคการตั้งคำถาม เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆกับครู เช่น ครูสอนไม่ดีเด็กไม่เข้าใจ ครูตัดสินกรณีเด็กทะเลาะกันไม่เหมาะสม อาจารย์วิเชียรจะไม่พูดคำว่า ทำได้ไม่ดี แบบนี้ผิด ไม่ใช่ แต่จะใช้ “คำถาม” ย้อนกลับไปให้ครูได้คิด และถ้าครูอยู่ในสภาวะที่กดดันจากงาน ความเครียดจากการที่ต้องทำงานใหม่ ทางอาจารย์วิเชียร ไชยบังใช้วิธี “ช้อนรับ” เข้าไปดูแลตอนที่ครูกำลังแย่ เพื่อให้ครูรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

            ทันตบุคคลากรในโรงพยาบาลชุมชนได้ปลดปล่อยศักยภาพของตนเองหรือไม่ การทำงานที่ทำทุกวันทำให้รู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่าหรือไม่ จริงอยู่งานรักษาทางทันตกรรมก็ทำให้ตัวทันตบุคคลกรรู้สึกว่ามีคุณค่าได้ แต่ต้องตอบคำถามแรกให้ได้ก่อนว่า เป้าหมายของฝ่ายทันตสาธารณสุขเป็นอย่างไร หัวหน้าฝ่ายทันตสาธารณสุขจะต้องทำอย่างไรถึงสร้างคนในทีมงานมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ใช้วิธีการใด หรือให้ทำงานไปเรื่อยๆ

 

 

ความสุขจากทำงานแบบชาวสวน

            ครูที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นชาวสวนที่ดูแลสวนอย่างเต็มที่ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืช คอยดูแลเอาใจใส่ แต่ท้ายที่สุด ชาวสวนจะต้องปล่อยให้ต้นไม้นั้น ผลิดอก ออกผลตามธรรมชาติที่มันควรจะเป็น ชาวสวนอาจคาดหวังให้ต้นไม้ผลิดอก ออกผลได้ แต่ควบคุมมันไม่ได้ ถ้าต้นไม้ไม่ได้ให้ผลผลิตเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น เมล็ดพันธ์ไม่ดี มีภัยธรรมชาติถาโถมเข้ามา ฯลฯ สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ครูก็มีหน้าที่ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนและทำหน้าที่ของครูให้ดีที่สุด แต่เมื่อเด็กนักเรียนจบไปแล้ว จะเป็นอย่างไร เรียนต่อที่ไหน ก็เป็นไปตามธรรมชาติของนักเรียนคนนั้นๆ

            ทันตบุคคลากรจะต้องทำหน้าที่เป็นชาวสวนเช่นเดียวกัน ทำให้ของทันตบุคคลกรให้ดีที่สุดเต็มตามศักยภาพ (แต่ต้องทำหลังจากที่ตั้งคำถามแล้วว่า เป้าหมายของงานที่ทำคืออะไร มีและปล่อยให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย ตามธรรมชาติที่มันเป็น คาดหวังได้แต่อย่าควบคุมผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

            การทำงานให้ดีที่สุดแล้วไม่คาดหวังผลลัพธ์ที่เกิดชึ้นนั้น จะทำให้คนที่ทำงานไม่เกิดความทุกข์ในการทำงาน แต่จะมีความสุขจากกระบวนการทำงาน มีความสุขจากงานที่ทำ ไม่ใช่มีความสุขจากผลลัพธ์ที่จะเกิด เพราะหลายๆกรณีมีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้มาทำให้งานที่เราทำไม่สำเร็จ ดังสุภาษิตจีนที่ว่าไว้ว่า “ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า”

 

***********************************************

 

 

 

  

 

 

 

บทเรียนการศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  จ.บุรีรัมย์

โดย ศ.พญ.วณิชา  ชื่นกองแก้ว

เช้าตรู่ วันพุธที่ 20 ก.ค. 2554 คณะศึกษาดูงานออกจากโรงแรมพนมรุ้งปุรี ด้วยความตั้งใจ ที่จะไปศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือโรงเรียน “นอกกะลา” ตามที่ “ครูใหญ่” คุณครูวิเชียร ไชยบัง เรียกขานโรงเรียนของท่านและดูกิจกรรมของโรงเรียนตั้งแต่แรกเริ่ม

ก้าวแรกที่เริ่มเข้าสู่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา   ความรู้สึกแรกที่พวกเราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บรรยากาศไม่เหมือนโรงเรียนตามความคุ้นเคยของพวกเรา แต่บรรยากาศคล้ายบ้านหลังใหญ่ ที่อยู่ท่ามกลาง ต้นไม้ที่ร่มรื่นและอบอุ่น มองไปตามทางเดินเล็กๆ ที่สะอาดตา สนามหญ้าสองข้างทาง แม้จะไม่ได้ถูกตัดจนเรียบเหมือนสนามหญ้าในสวนสาธารณะ แต่ก็เขียวชอุ่มและเป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง หย่อมพุ่มไม้เรียงรายเป็นระยะตามทางเดิน โผล่พ้นพุ่มไม้ไกลออกไป มองเห็นตึกชั้นเดียว บริเวณหน้าตึกมีเสาเคารพธงชาติตั้งตระหง่านอยู่

            เมื่อก้าวเข้าภายในบริเวณตึก มองตามผนังเห็นบอร์ดแสดงผลงานของนักเรียนจัดเรียงไว้มากมาย และสวยงาม ตึกนี้ประกอบด้วยห้องเรียน 4 ห้องเรียน อีกครั้งหนึ่งที่เห็นว่าห้องเรียนเหล่านี้ แปลกไปจากห้องเรียนที่พวกเราคุ้นเคย ลักษณะโครงสร้างของห้องเรียนเกือบเป็นรูปวงกลม โต๊ะเรียน ถูกจัดเรียงไว้เป็นระเบียบรอบๆ ห้อง พื้นที่ตรงกลางว่างและโล่ง (เหตุผลที่จัดห้องลักษณะนี้ ทราบในภายหลังว่าเพื่อให้ครู-นักเรียน มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง จึงไม่มีคำว่า หน้าชั้นเรียนหรือหลังชั้นเรียน) ส่วนหลังคาห้องเรียนสูงโปร่ง ลักษณะเป็นทรงกลม ตกแต่งและระบายสี ด้วยวัสดุที่ทำคล้ายดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ในระบบสุริยะจักรวาล บรรยากาศเหมือนขณะที่เรากำลัง แหงนมองขึ้นดูท้องฟ้า

            ตอนเช้าของทุกๆ วัน ผู้ปกครองจะมานั่งคุยกับลูกๆ และเพื่อนๆ ของลูก ในห้องเรียน ซึ่งจัดเป็นกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนอย่างหนึ่ง โดยผู้ปกครองจะมา  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องหรืองานของตนเองที่ถนัดและสนใจกับครูและนักเรียน ตึกเรียนนี้เป็น ตึกเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษา ดังนั้นเวลามองออกไปนอกหน้าต่าง ไปยังสนามหน้าตึกเรียน จึงยังคงเห็นนักเรียนเด็กเล็กหลาย ๆ กลุ่ม วิ่งเล่นส่งเสียงดังกันอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่า นักเรียนทุกคนให้ความเคารพคุณครูทุกคนและแสดงความรัก  ด้วยการสวมกอดคุณครูเมื่อพบกันตอนเช้า นักเรียนที่เล็กกว่าจะเรียกนักเรียนที่โตกว่าว่าพี่ทุกคน หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรียน นักเรียนทุกคนจะเรียกเครื่องใช้เหล่านี้ โดยมีคำนำหน้าว่า”พี่” ทุกสิ่งทุกอย่าง....พี่เก้าอี้ พี่โต๊ะ พี่แก้วน้ำ.... คุณครูชาญซึ่งเป็นคุณครูผู้นำเยี่ยมชมศึกษาดูงานโรงเรียนแห่งนี้ บอกว่าการกระทำอย่างนี้ เพื่อเป็น การปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกในการให้ความเคารพผู้อื่น  หรือแม้กระทั่งเคารพสิ่งของ นับเป็นจุดประสงค์  การเรียนรู้อย่างหนึ่งของการพัฒนาการเรียนรู้เรื่องความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า มีสอดแทรก อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในบ้านเราน้อยมาก

ในขณะที่พวกเรา กำลังเพลิดเพลินกับการเยี่ยมชม บางคนก็กำลังเก็บภาพกิจกรรมของนักเรียน ผู้ปกครอง และครูอยู  เราก็เริ่มรู้สึกตัวว่าเสียงพูดคุยและเสียงนักเรียนที่เล่นส่งเสียงดังอยู่เมื่อสักครู่ ค่อยๆ เงียบลง พวกเราเงยหน้ามองดูนาฬิกา ซึ่งคุณครูใหญ่บอกว่ามีแขวนประจำอยู่ทุกตึก ในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนหัดดูเวลา ตัวเลขที่นาฬิกาบอกเวลา 8 โมงตรง ไม่มีเสียงระฆัง กระดิ่ง หรือออด ที่พวกเราคุ้นเคย แต่เมื่อมองไปที่สนามหญ้าหน้าตึกเรียนอีกครั้งหนึ่ง พวกเราเห็นเด็กๆ ทุกคน ยืนเข้าแถวพร้อมกันอย่างเป็นระเบียบตามลำดับชั้น เนื่องจากสนามหญ้า ถูกจัดวางไว้ให้ลดหลั่น เป็นขั้นบันได ทำให้สามารถมองเห็นนักเรียน ที่ยืนเข้าแถวอยู่ทุกๆ คน ตั้งแต่แถวหน้าจนกระทั่งถึงแถวหลัง พวกเราเผลอเข้าไปยืนใกล้ๆ ที่เด็กนักเรียนกำลังยืนเข้าแถวอยู่ คุณครูชาญจึงหันมากระซิบ ให้พวกเรายืนห่าง เด็กนักเรียนออกไปเล็กน้อย เพราะเกรงว่าเด็กๆ จะทำกิจกรรม  อย่างไม่เป็นธรรมชาติ สักครู่พวกเรามองเห็นเด็กนักเรียนรุ่นพี่ที่อยู่ชั้นโตกว่าออกมา เชิญธงชาติ และเด็กนักเรียนทุกคนก็ร่วมกัน ร้องเพลงเคารพธงชาติ และสวดมนต์โดยไม่มีผู้นำการร้องเพลงและสวดมนต์ ไม่มีไมโครโฟน มีเพียงคุณครูประจำชั้นที่ยืนอยู่ข้างๆ ลูกศิษย์ของตนเอง กระบวนการนี้ใช้เวลาทั้งหมด 5 นาที และทุกคนก็แยกย้ายเข้าห้องเรียนของตนอย่างเป็นระเบียบ

            หลักการของกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน “นอกกะลา” เป็นไปตามหลักสูตรของ สพฐ. โดยยึดหลักให้ผู้เรียน “เก่ง ดี มีความสุข” (และช่วยเหลือสังคม) เป้าหมายของการศึกษา เน้นในเรื่องปัญญา สังคม อารมณ์ความรู้สึก และจิตวิญญาณ แต่มีความแตกต่างใน แนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษา โดยในการประเมินของโรงเรียน “นอกกะลา” จะเน้นที่ คุณภาพของงานตามศักยภาพของนักเรียน คุณครูใหญ่ให้ข้อคิดว่า ถ้าใครสนใจวัดการประเมินแบบใด ทุกคนก็จะสนใจและมุ่งเน้นที่จะทำตามแบบนั้น แต่นักเรียนที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จะไม่มีการสอบ National test เพื่อประเมินคุณภาพการศึกษา

            แนวทางการพัฒนาครู เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่คุณครูใหญ่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการ พัฒนานักเรียน และองค์กร นอกจากการพัฒนาครูในโรงเรียน “นอกกะลา” แล้วยังมีการจัดอบรม พัฒนาครูในสถานศึกษาอื่นๆ อีกด้วย โดยริเริ่มและได้รับความสำเร็จมากคือ โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น และกำลังจะขยายไปที่จังหวัดระยองและจันทบุรี คุณครูใหญ่ให้ คติประจำใจสำหรับคุณครูว่า “ในโลกนี้ไม่มีสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องค้นหาสิ่งที่ดีกว่า” และการส่งเสริม การปลดปล่อยศักยภาพครู โดยการสะท้อนกิจกรรมที่คุณครูคิดและออกแบบ แต่จะไม่สะท้อน ที่ตัวคุณครูเองว่าทำผิดหรือถูก

            นึกย้อนกลับไปคืนวันแรกที่พวกเรามาถึง คุณครูใหญ่ได้กรุณาเข้ามาร่วมเสวนาและแนะนำ โรงเรียน “นอกกะลา” เพื่อปูพื้นความเป็นมาของโรงเรียนก่อน ครูใหญ่เล่าว่า เริ่มแรกเมื่อประมาณปี 2537 คุณเจมส์ คลาร์ก ชาวอังกฤษ ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร และมีนโยบาย ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนโดยเฉพาะในภาคอีสาน ต่อมาในปี 2546 คุณครูใหญ่จึงได้ดำริ ตั้งโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา ขึ้นที่ ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยใช้เวลา พัฒนาครูในช่วง 6 เดือนแรก โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่มีการเสียค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่าย ประมาณ 37,000 บาท ต่อนักเรียน 1 คน ต่อปี (เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณของ สพฐ. ประมาณ 43,000 ต่อนักเรียน 1 คน ต่อปี ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2552) โดยมีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 240 คน การคัดเลือกรับนักเรียนโดยการจับฉลากเท่านั้น

            ทุกๆ วัน หลังเคารพธงชาติ ตารางกิจกรรมในแต่ละวันหรือที่พวกเราเรียกว่า “ตารางสอน” ของทุกชั้นเรียน จะประกอบด้วยกิจกรรมของนักเรียน 3 ช่วง คือ ช่วงเช้าเป็นการพัฒนาความฉลาดทาง ด้านอารมณ์และจิตวิญญาณ (EQ และ SQ) ช่วงสายเป็นช่วงพัฒนาทางด้านปัญญา (IQ) และช่วงบ่ายเป็นช่วงพัฒนาทางด้านร่างกาย (PQ) ในตอนเช้าคุณครูจะเริ่มต้น การเรียนการสอน ด้วยการพัฒนาทางด้านจิตใจ เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมที่จะเริ่มการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในแต่ละวัน กิจกรรมเหล่านี้จะแตกต่างกันไป ในแต่ละระดับชั้นเรียนโดยคุณครูจะเป็นผู้พัฒนากิจกรรม ให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียน เช่น ถ้าเป็นระดับอนุบาลคุณครู จะให้ฝึกใช้การเคลื่อนไหว ของมือและนิ้ว การนับเลข ถ้าเป็นเด็กประถมศึกษาคุณครูจะให้ทำกิจกรรม เพื่อฝึกสมาธิ เช่นการส่งต่อสิ่งของ เป็นต้น ในช่วงสายกระบวนการเรียนรู้ จะเป็นการเรียนการสอน ตามหลักสูตรโดยมีวิชาบังคับ 3 รายวิชา คือ วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (ครูสอนเป็นครูชาวไทย) ส่วนวิชาอื่นๆ จะเป็นการผสมผสานกิจกรรมการเรียนรู้หรือโครงงานต่างๆ โดยกิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้คุณครูจะมีการชักนำเข้าสู่

กระบวนการทักษะการเรียนรู้ ให้เด็กฝึกทักษะ การคิด โดยคุณครูจะตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้จนได้สาระครบหรือสูงกว่า มาตรฐานกลาง ความสำคัญในการสอนทักษะกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และทักษะในการคิด ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของแนวคิดของโรงเรียน “นอกกะลา”

            พวกเราศึกษาดูงานกันจนถึงช่วงเวลาพักกลางวัน คุณครูชาญพาพวกเราไปที่โรงอาหารสำหรับครู และนักเรียน โดยการจัดโต๊ะอาหารสำหรับคุณครูจะจัดอยู่รอบๆ โต๊ะอาหาร ของนักเรียนทุกชั้นเรียน เมื่อถึงเวลาเที่ยงพวกเราเห็นนักเรียนเดินเข้าแถวกันอย่างเป็นระเบียบมีคุณครูเดินนำแถวเข้ามา หลังจากที่ นักเรียนเดินไปรับถาดอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้านั่งประจำที่ที่โต๊ะอาหารของแต่ละห้องเรียน พร้อมกันแล้ว คุณครูและนักเรียนจะพนมมือและกล่าวขอบคุณผู้ที่มีพระคุณในการที่ให้พวกเขา ดำรงชีวิตและมีอาหารรับประทานจนทุกวันนี้ เสร็จแล้วจึงเริ่มรับประทานอาหารพร้อมๆ กัน เมื่อทุกคน รับประทานอาหารเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำภาชนะของตนเองไปล้างและเก็บเข้าที่อย่างเรียบร้อย

            พวกเราได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมห้องสมุด และห้องสวัสดิการของโรงเรียน ซึ่งมีหนังสือ เรื่องเล่า หลักสูตรการเรียนการสอน แผ่นซีดีและโปสการ์ด ซึ่งจัดทำโดยคุณครูใหญ่ คุณครู และนักเรียนของโรงเรียน “นอกกะลา” คุณครูใหญ่เล่าว่ากิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งของคุณครูใหญ่ คือการตื่นเช้าตอนตีสามทุกวันเพื่อเขียนหนังสือและเรื่องเล่าของโรงเรียน “นอกกะลา” ตลอดจน แนวความคิดเรื่องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และคุณครูใหญ่จะมาถึงโรงเรียนตอนหกโมงเช้า เพื่อพบกับคุณครู และนักเรียนทุกวัน ครูใหญ่ยึดหลักว่าต้องปฏิบัติงานอยู่ในโรงเรียนให้มากที่สุด ร้านสวัสดิการแห่งนี้ มีนโยบายอย่างหนึ่งเพื่อที่จะหารายได้มาสนับสนุนงบประมาณของโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนพึ่งตนเองได้ พวกเราจึงช่วยกันสนับสนุนหนังสือ เสื้อยืด และสิ่งต่างๆ กัน หลังจากนั้นจึงร่วมกันสรุป และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก่อนเดินทางกลับ

จุดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้ไม่ใช่การที่ครูใหญ่ซึ่งเป็นทั้งผู้นำและนักพัฒนาอย่างเดียวเท่านั้น แต่การ ที่คุณครูทุกคนมีอุดมการณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การขยาย การดำเนินการของโรงเรียน “นอกกะลา” ไปสู่การเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อต้นปี 2554 แม้ว่าทางโรงเรียน “นอกกะลา” กำลังประสบปัญหาเรื่องของการสิ้นสุด การสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิของคุณเจมส์ คลาร์ก ในปี 2557 นี้ คุณครูใหญ่ ก็ยังตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อ โดยคุณครูใหญ่มีแนวคิดว่าเด็กนักเรียนที่เก่งจะสามารถ แข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อตามความตั้งใจของตนเองได้ แต่จะต้องมีโรงเรียนที่รองรับเด็กที่ไม่เก่ง หรือด้อยโอกาส เพื่อให้เด็กเหล่านี้สามารถเติบโตขึ้นประกอบอาชีพตามความถนัดของตนเองและอยู่ ในสังคมได้

“การปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ใช่สิ่งที่ง่าย แต่ก็ไม่เป็นการยากที่จะเริ่มต้น”

 

******************************************************

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทเรียนการศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

โดย  นายธีระ  วัชระปราณี

1.เจตจำนงของครูใหญ่ชัดเจนว่าจะสร้างโรงเรียนตัวอย่างที่ โรงเรียนกระแสหลักสามารถทำได้ โดยจะเป็นงานวิจัยชิ้นใหญ่ที่จะพัฒนาการระบบการศึกษาของโลก ดังนั้น เมื่อมีเจตจำนงชัดเจน ที่เหลือจึงเป็นการค้นหาวิธีการ หรือ กระบวนการ ที่จะปรับระบบการศึกษา

  1. โรงเรียนนี้ ต้องการตอบปัญหาระบบการศึกษา 3 เรื่อง คือ
    1. การเรียนการสอน
    2. การวัดผล ทั้งนักเรียน ครู และโรงเรียน
    3. การพัฒนาครู รวมทั้ง ผู้อำนวยการ

3.อาจารย์วิเชียร บอกว่า โจทย์เรื่องการวัดผลมีคำตอบเฉพาะส่วนของนักเรียนแล้ว แต่ของครู และโรงเรียน ยังต้องพัฒนา และกำลังศึกษาการประเมินโรงพยาบาล HA เพื่อศึกษาเทียบเคียง และ เห็นว่า ไม่น่าจะมีหน่วยงานประเมินหน่วยเดียวคือ สมศ. มันน่าจะมีหน่วยประเมินอื่นๆ ที่โรงเรียนสามารถเลือกใช้ได้ แต่ให้คุณค่าแบบเดียวกัน

4.ขณะนี้ การเป็นโรงเรียนตัวอย่างน่าจะเป็นรูปธรรมแล้ว โดยมีเทศบาลขอนแก่น นำเอาแนวทางนี้ไปใช้ โดยจะยกทั้งระบบมีการทำ MOU กัน และ ผอ.โรงเรียนของเทศบาลขอนแก่น พร้อมนายกเทศมนตรีมาเข้าคอร์สอบรมที่นี้แล้ว และระหว่างที่เราดูงาน ครูโรงเรียนต่างๆ 11 แห่งสังกัดเทศบาลกำลังอบรมอยู่ (ลองสอบถามดูก็ว่าดี แต่.....  มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง) นอกจากนี้ ยังมีที่ระยอง หรือภาคใต้ ภูเก็ต และอื่นๆ โดยครูของโรงเรียนนี้ จะต้องติดตามไปช่วยดูแล เสริมแรง

5.ถามว่าอาจารย์วิเชียร มียุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็โดยการบ่มเพาะโรงเรียน ตามสถานที่ต่างๆ ที่มีใจอยากทำ ไม่ใช่ถูกสั่งให้ทำ แล้วพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว เป็นหน่ออ่อนที่เติบโต แล้วขยายผลแตกก่อ ต่อกิ่งออกไป โดยการแสดงให้เห็นว่า โรงเรียนชนบทขนาดนี้ได้ทุ่มเท ยืนหยัด และพิสูจน์คุณค่าตนเองให้เห็นแล้ว ทั้งนี้ โรงเรียนกำลังเผชิญหน้ากับโจทย์ท้าทายที่แหล่งทุนจากมูลนิธิเจมส์ คาร์ก จะไม่สนับสนุนงบประมาณในปี 2557 (สัดส่วนทุนนี้คือ 1 ใน 3 อีก 2 ส่วนคือ หาเอง 1 ส่วน และ งบอุดหนุนการศึกษา 1 ส่วน ดังนั้น ถ้าถอนทุน การหาเองจะต้องทำมากขึ้น 2 ส่วน)

  1. ถามว่า อะไรคืออุปสรรคของการศึกษา คำตอบทันที คือ การศึกษาอยู่ใกล้การเมืองเกินไป ทำให้ถูกปรับเปลี่ยนเหมือนของเล่น

7.ถามว่า ทำอย่างไรที่จะบ่มเพาะครู คำตอบคิดอยู่พักหนึ่ง แล้วโยนให้ครูน้อยลองตอบ แต่ก็ลองตอบเองว่า ให้ได้คิด ทำ และปรับเปลี่ยน โดยครูใหญ่จะอยู่กับเขา และแนะนำเขาทันที พร้อมกับเข้าไปช้อนเมื่อถึงคราวจิตตก โดยครูน้อยช่วยกันมองว่า ครูใหญ่เหมือนคนปีนอยู่บนต้นไม้ที่จะดูทิศทางและแนะนำ (มารู้อีกทีเป็นหนังสือที่ครูใหญ่เขียนชื่อ คนบนต้นไม้)

8.ถามว่า โรงเรียนรอบๆ นี้เป็นอย่างไร คำตอบคือ เรามีกิจกรรมที่จะไปเรียนรู้ในชุมชนอยู่แล้ว พ่อแม่นักเรียนที่นี่หลายคนก็เป็นครูโรงเรียนใกล้ๆ มีบางแห่งที่รับไปบางส่วน มีโครงการอบรมครูไปแล้ว แต่มีเหตุที่ครูไม่ได้อยู่ ยายบ้าง (สรุป คือ ส่วนใหญ่เฉยๆ เราก็อยากซักมาก)

9.ถามว่านักเรียนที่จบไปแล้วต้องไปเผชิญโลกที่ยุ่งๆ จะรับได้ไหม คำตอบ เด็กๆ ได้เรียนรู้ไปแล้วว่าโลกก็เป็นแบบนี้ มีเหตุปัจจัยมากมาย เขาไม่สับสนตัวเอง แต่น่าจะมั่นใจในชีวิตมากกว่าด้วยซ้ำ

  1. ถามว่า มีอะไรให้ช่วยไหม คำตอบ คือ แค่สนใจก็ช่วยได้มากแล้ว

 

*********************************************************

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เปิดกะลาที่โรงเรียนนอกกะลา

โดย  นายอิทธิพร  วันดี

หลังจากที่รถตู้เคลื่อนออกจากศูนย์ คศน. มุ่งสู่เป้าหมายคือจังหวัดบุรีรัมย์ ในใจอดคิดไม่ได้ว่าจะเจอกับอะไรบ้างที่โรงเรียนแห่งนี้ จะเหมือนกับข้อมูลที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้หรือเปล่า ตลอดเส้นทางที่ผ่าน ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ภาพของความเป็นเมืองเริ่มเลือนหายไป ภาพของชนบทเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ คณะเราใช้เวลาเดินทางราวๆ ห้าชั่วโมง ก็มาถึงพนมรุ้งปุรี ซึ่งเป็นโรงแรมที่พักสำหรับพวกเราในค่ำคืนนี้

            วงสนทนาได้เริ่มขึ้นทันทีหลังมื้อค่ำ คุณครูวิเชียรกับผู้ติดตามอีกสองท่าน ร่วมวงสนทนากับเราอย่างเป็นกันเอง ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เริ่มกระจ่างขึ้น จนทำให้พวกเราอยากสัมผัสกับเหตุการณ์จริงๆ คุณครูวิเชียรได้เล่าถึงโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาให้พวกเราฟัง ได้เท่าเวลาที่มีอยู่ พร้อมกำชับกับพวกเราว่า อยากให้เห็นกิจกรรมของเด็กๆ ตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนเคารพธงชาติ หลังจากคุณครูวิเชียรและคณะกลับไปแล้ว วงสนทนาของผู้นำเรายังไม่จบลง พี่หมอเฮ้าส์หัวหน้าทีมของเรายังคงทำหน้าที่อย่างขมักเขม้น เราปรึกษาหารือกันต่อถึงแผนการที่จะเตรียมตัวก่อนลงพื้นที่จริงในวันรุ่งขึ้น

            บรรยากาศยามเช้าที่ร่มรื่นของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เริ่มคึกคักขึ้นเมื่อผู้ปกครองได้พาบุตรหลานเข้ามาส่ง การทักทายอย่างเป็นมิตรได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งผู้ปกครอง ครู นักเรียน และแม้แต่แขกผู้มาเยือน นักเรียนที่นี่รู้สึกคุ้นเคยกับแขกผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะว่าโรงเรียนแห่งนี้เปิดรับผู้ดูงานตลอดเวลา เด็กๆจึงรู้สึกเป็นเรื่องปกติธรรมดา

            กิจกรรมหน้าเสาธงตอนเช้าเป็นไปอย่างกระชับรวดเร็ว ใช้เวลาไม่เกินสิบนาที เด็กนักเรียนร้องเพลงชาติ สวดมนต์แปล และร้องเพลงแผ่เมตตา จากนั้นแยกย้ายกันเดินแถวเข้าห้องเรียน คุณครูที่คุมแถวบอกกับพวกเราว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ถ้าใช้เวลานานแดดจะร้อนและคุณครูไม่ต้องพูดหน้าเสาธงนานๆ เพราะเด็กไม่อยากฟัง ที่นี่จึงใช้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้จริงๆ

            ก่อนการเรียนการสอนจะเริ่มขึ้นในแต่ละห้อง จะมีการปรับอารมณ์ของเด็กๆ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเริ่มเรียนรู้ในแต่ละวัน เมื่อเด็กพร้อม ครูพร้อม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเริ่มขึ้น ในโรงเรียนแห่งนี้ไม่มีหนังสือตำราเรียนเล่มหนาราคาแพง หากแต่การเรียนรู้เกิดขึ้นโดย การคิด ค้นคว้า ทั้งของครูและนักเรียนร่วมกัน เป็นการออกแบบการเรียน การสอน ด้วยกัน คุณครูจึงเป็นครูจริงๆ ซึ่งต้องขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลา เพื่อถ่ายทอดให้นักเรียน ดังนั้นคุณครูจึงเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอนในเวลาเดียวกัน การเรียนการสอนของที่นี่ มีวัตถุประสงค์ไม่ได้ต่างจากโรงเรียนทั่วไป ที่ต้องการให้นักเรียนมีความรู้ แต่กระบวนการที่ทำให้เด็กได้รับความรู้นั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิง

            การเรียนการสอนที่ไม่ต้องใช้ตำราเรียน ไม่มีสัญญาณหมดเวลา ไม่มีการสอบที่วัดผลเด็กเก่ง ไม่เก่ง โดยใช้คะแนนเป็นตัวตั้ง ไม่มีทั้งการลงโทษเมื่อเด็กทำผิด มีแต่ความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนทุกคน เด็กทุกคนต้องอ่านออกเขียนได้ ต้องรู้จริง และใช้ชีวิตอยู่กับความจริงที่ผสมผสานกับชีวิตประจำวัน นี่เป็นเป้าหมายสำคัญของการเรียนการสอนในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแห่งนี้  หากเด็กคนหนึ่งคนใดอ่านหนังสือไม่ได้ ถือเป็นความบกพร่องของครูผู้สอน ตลอดเวลาที่คณะเราศึกษาดูงาน ได้พบเห็นสิ่งดีๆเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นวิถีของที่นี่ ทุกอย่างอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว ทั้งผู้นำ ผู้ตาม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นี้  ในความเห็นส่วนตัวแล้ว มีปัจจัยหลักๆ ที่สำคัญดังนี้

            ใจ : คุณครูทุกคนมีใจที่จะทำเพื่ออาชีพที่ตนรัก ทำเพื่อนักเรียนทุกคนให้ได้รับความรู้อย่างแท้จริง

            ศรัทธา : ทุกคนศรัทธาในสิ่งที่ตนเองทำ ทั้งครูและนักเรียน เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับที่ดี ซึ่งศรัทธาในความดีของกันและกัน

            ภาวะผู้นำ : ได้เห็นภาวะในการเป็นผู้นำ อยู่ในทุกส่วนของโรงเรียนนี้ ทั้งครูใหญ่ ครูน้อย และนักเรียน ทุกคนนำทีมของตนเองให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน

            คุณครูวิเชียร บอกกับพวกเราว่า “ ที่นี่ต่างจากที่อื่น คือ มี Leader ไม่ใช่ Manager ซึ่ง  Leader มีหน้าที่อุ้มชูทีม ไม่ใช่จัดการทีม ” ทุกคนจึงรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างน่าชื่นชม ทำให้การเรียนการสอนแบบบูรณาการประสบความสำเร็จได้มาจนถึงทุกวันนี้

            ลำปลายมาศพัฒนาน่าชวนคิด       เปลี่ยนชีวิตแนวทางการศึกษา  เป็นทางเลือก

*********************************************************

การเสริมสร้างพลังอำนาจครูที่ลำปลายมาศพัฒนา

ประวิต  เอราวรรณ์

จากการเยี่ยมศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ผมพยายามอธิบายกระบวนการพัฒนาครูที่โรงเรียนพยายามดำเนินการในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วยกรอบแนวคิดการเสริมสร้างพลังอำนาจครู หรือ Teacher Empowerment ได้ดังต่อไปนี้ 

 

บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในองค์การคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการเสริมสร้างพลังอำนาจ      ดังนั้นองค์การที่เป็นโรงเรียน กลุ่มเป้าหมายที่ต้องเสริมสร้างพลังอำนาจก็คือ ครู เพราะครูคือผู้ที่ต้องเข้าถึงนโยบายและความต้องการของโรงเรียน เป็นผู้ที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม ต้องเชื่อมโยงความคิดรวบยอดต่าง ๆ จากหลักสูตรเพื่อถ่ายทอดในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงรับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาผู้เรียน และที่สำคัญคือครูทุกคนจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างพลังอำนาจ เพื่อให้ครูมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็น “ครูมืออาชีพ” ที่แสดงบทบาททั้งในและนอกโรงเรียนนั่นคือ ครูต้องมีความรับผิดชอบสูง มีทักษะการสอนที่ดี มีความยืดหยุ่น ทำงานอยู่บนพื

หมายเลขบันทึก: 483047เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2012 07:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2013 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์หมอครับ นี่เป็นข้อมูลที่สำคัญมากสำหรับการนำสอนต่อยอดให้นักศึกษาครูของผมมาก ๆ ครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

ถ้าทางเลือก เป็นทางหลักเมื่อไหร่ การศึกษาไทยจะพัฒนา...

แค่สนใจมากครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท