สุนทรียสนทนาว่าด้วยการประเมินภายนอกของมหาวิทยาลัย


          บ่ายวันที่ ๒๔ ก.พ. ๕๕ ผมไปร่วมการประชุมรับฟังการรายงานด้วยวาจา ผลการประเมินภายนอกรอบสาม ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยทีมประเมินจำนวน ๑๔ คน   มี ศ. เกียรติคุณ พลตรีหญิง พญ. วณิช วรรณพฤกษ์ เป็นประธาน
 
          ที่จริงผมมีหน้าที่ไปรับฟัง แต่ตอนจบหลังจากท่านอธิการบดี ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน กล่าวขอบคุณคณะผู้ประเมินแล้ว   ท่านประธาน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าศิริราชรุ่นพี่ของผม ๒ ปี ขอให้ผมกล่าวต่อที่ประชุมสั้นๆ
 
          ผมได้เล่าให้ที่ประชุม ซึ่งมีคนมาร่วมฟังประมาณ ๑๐๐ คน ว่า ผลการวิจัยโดย ทีดีอาร์ไอ ที่นำเสนอในการประชุมประจำปีของ ทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ ๑๕ ก.พ. ๕๕ บอกว่า ในช่วง ๑๒ ปีที่ผ่านมา คุณภาพของการศึกษาไทยด้อยลง ทั้งระดับการศึกษาพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา    และการประเมินของ สมศ. ไม่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพของการศึกษา    เพราะผลการประเมินของ สมศ. ไม่ก่อผลกระทบต่อการให้คุณให้โทษผู้รับผิดชอบ   การประเมินแบบไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อผลการประเมิน และไม่นำไปสู่การปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นสิ่งสูญเปล่า
 
          การประเมินที่มีคุณค่า คือการประเมินเพื่อการเรียนรู้และปรับปรุง    และต้องเน้นที่อนาคต มากกว่าเน้นที่ปัจจุบันและอดีตอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน   และโลกปัจจุบันและอนาคต ก็มีความไม่แน่นอนและมีความผันแปรสูง   อุดมศึกษาที่มีคุณภาพ จะต้องมีความสามารถทำหน้าที่ในสภาพนี้ได้อย่างไร 
 
          วิธีการประเมินของ สมศ. มีความเป็นทางการสูง และมีลักษณะ one size fits all สูง    แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สังคมต้องการมหาวิทยาลัยที่มีความแตกต่างหลากหลาย   และมหาวิทยาลัยมหิดลถูกคาดหวังให้เป็นส่วนหนึ่งของหัวขบวน ที่นำสังคมไทยฟันฝ่าสู่อนาคตที่มีทั้งส่วนที่แน่นนอนและไม่แน่นอนนี้    จึงมีประเด็นว่า เราจะมีเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพในการทำหน้าที่เชิงสร้างสรรค์ สู่อนาคต ได้อย่างไร 
 
          การพูดในโอกาสเช่นนี้ ผมเน้นการตั้งคำถาม ชวนคิดเรื่องใหญ่ๆ ให้แก่บ้านเมือง   หวังว่าจะมีคนเอาไปคิดต่อ และช่วยกันลงมือทำ    การตั้งคำถามของผม ไม่ได้หมายความว่าผมมีคำตอบ   เรื่องที่ซับซ้อนและยากเช่นนี้ ผมไม่มีสติปัญญาที่จะตอบได้ด้วยตนเอง    แต่ก็เชื่อว่าเมื่อช่วยกันคิด ช่วยกันลงมือทำ  และเอาผลมา ลปรร. กัน   เรื่องยากๆ เหล่านี้ก็ไม่เกินกำลังที่จะบรรลุผลสำเร็จได้
 
 
วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.พ. ๕๕
 
หมายเลขบันทึก: 482703เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2012 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท