วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๔๕. From Action to Academic


 

           กลับจากเชียงใหม่เมื่อค่ำวันที่ ๒๑ ก.พ. ๕๕ หลังไปร่วมการประชุมเรื่อง “แนวทางและกลไกสนับสนุนการสร้างผลงานวิชาการรับใช้สังคม”   ผมกลับมาไตร่ตรองต่อที่บ้าน ว่าความท้าทายหลักๆ ของการพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคมคืออะไรบ้าง    และสรุปกับตนเองว่า ต้องสร้างทักษะ “From Action to Academic”

          นั่นคือ ในสภาพปัจจุบันนักวิชาการสาย Action ไม่มีทักษะด้านวิชาการ   เป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักวิชาการ   เราต้องหาช่วยทำให้คนที่ระบุตนเองว่าเป็นนักวิชาการสาย Action ซึ่งมีทักษะด้าน Action / การพัฒนา อยู่แล้ว    ให้มีทักษะด้านวิชาการด้วย

          ทักษะวิชาการคือการตั้งคำถาม และตอบคำถาม Why   ไม่ใช่แค่ What และ How   คือต้องอธิบายเหตุผลของการเกิดหรือไม่เกิดปรากฏการณ์ได้ไม่ใช่เพียงอธิบายปรากฏการณ์และวิธีทำให้เกิดปรากฏการณ์ซึ่งเป็นการนำเสนอแบบ descriptive   ผลงานวิชาการต้องเน้นที่ระดับ analytical และ synthesis

          ทักษะวิชาการคือการท้าทายทฤษฎีตรวจสอบทฤษฎี   นักวิชาการสายปฏิบัติต้องท้าทายหรือตรวจสอบทฤษฎีด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์จากการปฏิบัติ 

          การท้าทายทฤษฎีนี้เราไม่จำเป็นต้องท้าทายทุกส่วนของทฤษฎีเราเลือกท้าทายเพียงบางส่วนได้และวิธีท้าทายที่ง่ายที่สุดคือท้าทายความไม่ครบถ้วนไม่สมบูรณ์ของทฤษฎี (มีอะไรบ้างในโลกนี้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์จริงๆ) ยิ่งทฤษฎีที่สร้างขึ้นในโลกตะวันตกย่อมใช้บริบทวัฒนธรรมตะวันตกเป็นฐานเราอยู่ในวัฒนธรรมตะวันออก เวลาประยุกต์ใช้ความรู้ทฤษฎีใดก็ตามย่อมต้องคำนึงถึงบริบทเฉพาะในสังคมของเรา หรือบริบทเฉพาะในพื้นที่ปฏิบัติการ

          การตรวจสอบทฤษฎีด้วยความรู้เชิงบริบทนี่แหละคืออาวุธสำหรับสร้างทฤษฎีใหม่ หรือขยายบางส่วนของทฤษฎีเดิมออกไป

          แนวความคิดว่านักวิชาการสายปฏิบัติไม่จำเป็นต้องสนใจทฤษฎีจึงไม่ถูกต้อง    คนที่เป็นนักวิชาการย่อมต้องสนใจทฤษฎีเสมอ   และต้องทำความเข้าใจทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในมิติที่ลึกเพียงพอที่จะท้าทายทฤษฎีได้

          เพราะนิยามของนักวิชาการคือนักท้าทายทฤษฎี (ไม่ใช่นักเชื่อทฤษฎี)   นักวิชาการสายปฏิบัติท้าทายทฤษฎีจากมุมปฏิบัติการในพื้นที่จริงสภาพจริงที่ควบคุมตัวแปรไม่ได้หรือควบคุมยากตัวแปรเหล่านี้เรียกว่าบริบท   ความรู้เชิงบริบท (Contextual Knowledge) คืออาวุธของนักวิชาการสายปฏิบัติ หรือสายรับใช้สังคม

          นี่คือการตีความทำความเข้าใจหลักการสำหรับใช้พัฒนานักปฏิบัติการ (Action) ไปเป็นนักวิชาการสาย Action  หรือนักวิชาการสายปฏิบัติ หรือสายรับใช้สังคม   ที่ผมไม่ทราบว่าตีความถูกต้องหรือไม่

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.พ. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 482449เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2012 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 03:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท