การโพสต์ภาพอุจาด


หากผู้หญิงคนนี้เป็นญาติหรือคนรู้จักเราล่ะ เราจะรู้สึกอย่างไร
เวปไซต์เครือข่ายสังคม หรือ Social Network ช่วยให้ผู้ใช้เผยแพร่ข้อมูล ความรู้สึก และภาพต่างๆ ได้อย่างสะดวกเสรี จนแทบไม่มีใครมายับยั้งได้ ดังที่เป็นปัญหามากมายอยู่ในปัจจุบัน เพราะเมื่อเราโพสต์ข้อมูลบางอย่างไปแล้ว ข้อมูลเหล่านี้อาจย้อนกลับมาทำร้ายเราในอนาคต ดังนั้นการทำอะไรก็แล้วแต่ในเครือข่ายสังคม ต้อง “คิดก่อนโพสต์” เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า “คิดก่อนพูด” นั่นแหละครับ เป็นคติเดือนใจในยุคนี้ได้ดีจริงๆ ครับ
                หากกล่าวถึงเวปไซต์ Facebook.com หลายคนคงรู้จักเวปไซต์นี้เป็นอย่างดี แม้แต่ผู้เขียนเองก็เปิดใช้วันละหลายๆ ครั้ง เมื่อผมมีข้อมูลทั้งภาพ เสียง และข้อความ ก็มักจะไปโพสต์บอกกล่าวให้เพื่อนคนอื่นร่วมรับรู้ด้วยเป็นประจำ แต่บางครั้งก็ไปเห็นภาพ และข้อความของเพื่อนๆ ในแวดวงเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้วก็ทำเอาหงุดหงิดเหมือนกันครับ
                สิ่งที่เห็นบ่อยครั้ง คือ การโพสต์ภาพประเภทบาดแผลเหวอะวะ ดูแล้วชวนอาเจียน แน่นอนว่าเราสามารถเลือกชมภาพเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริง ภาพเหล่านี้มันมาถึงเราโดยที่เราไม่ได้มีโอกาสคัดกรองเลย หลายครั้งทำให้ผู้ชมภาพเครียดถึงกับนอนไม่กลับก็มี อย่าลืมว่าแต่ละคนที่อยู่ในกลุ่มเราเขาอาจจะมีความต้านทานต่อเรื่องพวกนี้แตกต่างกันออกไป ดังนั้น หากผู้ที่โพสต์ภาพลักษณะนี้มีมารยาททางสังคมสักหน่อยก็น่าจะคิดก่อนโพสต์นะครับ เราจะได้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายบรรยากาศดีๆ ของคนอื่น
                ภาพที่น่ากังวลอย่างยิ่งประเภทหนึ่งก็คือ ภาพที่หมิ่นเหม่ต่อการทำลายศักดิ์ศรีของผู้อื่น อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ผมเห็นคนใกล้ตัว นำภาพหญิงสาวต่างประเทศ น่าจะเป็นหญิงจากมาเลเซีย (แต่หากดูผิวเผินอาจจะคิดว่าเป็นคนไทย) ที่นั่งเก้าอี้ท่ายียวน เห็นโน่นเห็นนี้ (คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเห็นอะไรบ้าง คงพอเดากันออก) ผมเห็นภาพนี้ปรากฏอยู่ใน Facebook ของเพื่อนคนนั้น ผมก็เลยถามว่า
“โพสต์ภาพแบบนี้ทำไมเหรอ”
 “โพสต์เล่นๆ แบ่งปันคนอื่นๆ” เพื่อนผมตอบ ผมก็เลยพูดไปอีกว่า
“หากผู้หญิงคนนี้เป็นญาติหรือคนรู้จักเราล่ะ เราจะรู้สึกอย่างไร” เพื่อนก็เงียบ และบอกผมว่า
“มันก็จริง น่าสงสารเขานะ” ผมก็เลยถือโอกาสบอกเขาไปว่า
“การโพสต์ภาพต่างๆ เราต้องคิดให้มากนะ บางครั้งเราอาจไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น โดยไม่รู้ตัว กฎหมายอาจจะตามเอาผิดเราไม่ได้ แต่เราก็ได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนทำลายชีวิตของใครสักคน ถึงแม้เราไม่รู้จักเขา แต่หากเราช่วยกันเผยแพร่ไปมากๆ แน่นอนภาพนี้จะต้องไปถึงคนที่รู้จักเขา คนที่ใกล้ชิดเขา หรืออาจจะเป็นญาติเขาหรือคนในครอบครัวเขาสักวันหนึ่ง แล้วผู้หญิงที่ปรากฏในภาพนั้น เขาจะอยู่อย่างไรในสังคม ที่สำคัญ Facebook ที่เราใช้ก็ปรากฏชื่อเรา ตำแหน่ง ที่ทำงานเราชัดเจน หากผู้ใหญ่ในที่ทำงานหรือผู้ที่เราเคารพนับถือมาเห็นภาพที่อยู่หน้า Wall เรา เขาจะคิดอย่างไร มันเหมาะกับหน้าที่การงานเราหรือเปล่า”
หลังจากผมเทศนาไปพักใหญ่ เขาก็เห็นด้วยกับเหตุผลที่ผมพูดไป สุดท้ายก็เอาภาพนั้นออกจาก Facebook ทันที แต่สิ่งที่น่าตกใจ คือ ภาพนี้กลับไปปรากฏในหน้า Wall ของคนอื่นๆ อีกหลายคน ซึ่งแต่ละคนก็อยู่ต่างที่ต่างถิ่นกันทั้งนั้น มันแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนน่าตกใจ
ท่านผู้อ่านที่เล่น Facebook หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ครับ ผมยังยืนยันว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการเผยแพร่อะไรต่างๆ นั้น เราควรได้รับสิทธิ์นั้นเต็มที่ แต่เสรีภาพก็ต้องกำกับด้วยความรับผิดชอบ และศีลธรรมด้วย ไม่อย่างงั้นสังคมก็คงบอบช้ำ เละเทะ เหมือนที่กำลังเป็นอยู่นี่แหละครับ
สุดท้าย ผมขอนำมารยาทของการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อแนะนำของชุมนุมคลินิกคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีอะไรบ้างลองอ่านดูนะครับ
  • ไม่ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อล่วงละเมิดหรือรบกวนผู้อื่น
  • ไม่ใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรม
  • ไม่นำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้ในทางที่ผิด หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้น ๆ
  • ไม่บอกรหัสกับผู้อื่นแม้แต่เพื่อนสนิท
  • ไม่ใช้บัญชีชื่อผู้ใช้ของผู้อื่น หรือใช้เครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ไม่ยืมหรือใช้โปรแกรม รูปภาพ หรือข้อมูลของผู้อื่นบนอินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
  • ไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต
  • ไม่เจาะเข้าระบบของผู้อื่นหรือท้าลองให้ผู้อื่นเจาะระบบของตัวเอง
  • หากพบมีการรั่วไหลในระบบ หรือบุคคลน่าสงสัยให้รีบแจ้งผู้ให้บริการในทันที
  • หากต้องยกเลิกการใช้อินเตอร์เน็ตให้ลบข้อมูลทั้งหมดและแจ้งผู้ดูแลเว็บไซต์
  • การทิ้งบัญชีชื่อผู้ใช้งานไว้บนอินเตอร์เน็ตอาจทำให้มีผู้ไม่หวังดีเจาะเข้ามาในระบบได้
เริ่มที่ตัวเราก่อนครับ แล้วค่อยขยายไปยังคนอื่นๆ สังคมออนไลน์และสังคมที่เราอาศัยอยู่จริงๆ จะได้น่าอยู่ขึ้นอีก นิดหน่อยก็ยังดีครับ
หมายเลขบันทึก: 482203เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 04:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท