ก้าวย่างที่แตกต่าง?


“อ้น! ทำไมลูกเป็นคนอย่างนี้ ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด” เสียงของหญิงสาวเอ็ดเจ้าลูกชายตัวแสบ ดังออกมาจากข้างในบ้านแต่เช้าตรู่ ทำให้บรรยากาศของเช้าที่กำลังสดใสเริ่มก่อเคล้าของความขมุกขมัวขึ้นมาแทนทีในทันที!

        “สวัสดีครับพี่อร” เอกเอ่ยทักทายพี่สาวพร้อมกับยกมือไหว้

        “อ้าว...เอกมาตั้งแต่เมื่อไหร่”  พร้อม ๆ กับเสียงหลานชายตามมาติด ๆ

       “หวัดดีครับน้าเอก” น้ำเสียงบ่งบอกถึงความดีใจและโล่งใจอยู่ในทีที่มีตัวช่วยมาทันเวลา

       “ผมมาถึงเมื่อกลางดึกที่ผ่านมานะครับพี่อร” ทุกครั้งที่เอกกลับบ้านเขาจะไปพักอยู่ที่บ้านพ่อกับแม่ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านของพี่อรมากนัก หลังจากที่พี่อรแต่งงานก็แยกออกมาอยู่กับสามีที่บ้านหลังดังกล่าว

      “คุยอะไรกันหรือครับพี่อร...หลานอ้น เสียงดังเชียว” เอกหันไปเย้าพี่สาวและเจ้าหลานชายตัวแสบ

      “คุย...เคย อะไรกันตาเอก พี่กำลังอบรม สั่งสอนเจ้าหลานชายคนโปรดของเอกอยู่นะซิ” พี่สาวพูดขึ้นเป็นเชิงบ่นในขณะที่น้องชายหันหน้ามาทางอ้นก่อนถามขึ้นว่า“เราไปสร้างวีรกรรมอะไรไว้หละเจ้าตัวแสบ แม่ถึงได้อารมณ์เสียขนาดนี้”

     “ไม่มีอะไรหรอกครับน้าเอก แค่อ้นกับแม่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง” หลานชายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นพูดขึ้นพร้อมยักไหล่นิด ๆ

         “เห็นหรือยังตาเอก เดี๋ยวนี้หลานรักของแก พี่จะด่าหรืออบรมอะไรนิดอะไรหน่อยไม่ได้เลย ยกเอาแต่ไอ้ความคิดหงคิดเห็นแตกตงแตกต่าง มาอ้างตลอด” พี่สาวเขาพูดขึ้นทันที

              ก่อนที่พี่สาวของเขาจะกล่าวอะไรต่อ พลันกลิ่นเหม็นไหม้อะไรซักอย่างก็เข้ามาแทรกตรงกลางเหมือนจะมาขอออกความคิดเห็นด้วยก็ลอยตามสายลมมาเตะจมูกของทุกคน

        “ว้าย ! ตายแล้ว พี่ทำกับข้าวทิ้งไว้ ลืมไปเลย ไหม้หมดแล้ว” เธออุทานขึ้นพร้อมกับกึ่งเดินกึ่งวิ่งไปที่ครัว แต่มิวายหันกลับมาต่อว่าลูกชายตัวแสบอีก

        “เห็นไหม... เป็นเพราะแกคนเดียว กับข้งกับข้าวไหม้หมดแล้ว”

      อ้นยกมือเกาศีรษะระคนดีใจเหมือนได้ระฆังช่วยไว้อีกครั้งพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ ในขณะที่เอกเดินเข้าไปตบที่บ่าเบา ๆ พร้อมกับกอดที่คอ

       “ไงไอ้เสือ...เราไปนั่งคุยกันที่ม้าหินอ่อนหน้าบ้านกันดีกว่า” เอกบอกกับหลานชายในขณะที่ทั้งคู่เดินตรงไปที่ม้าหินอ่อนหน้าบ้าน

       “เห็นแม่บอกว่าน้าเอกจะมาอาทิตย์หน้านี่ครับ เจอเมื่อกี้ผมตกใจหมดเลย” อ้นพูดขึ้นหลังจากที่สองน้าหลานมานั่งที่ม้าหินอ่อนแล้ว

        “แล้วดีใจหรือเปล่าหละ ที่เจอน้า” เอกถามขึ้น

         “ดีใจที่สุดเลยครับน้าเอก และที่สำคัญมาทันเวลา ไม่อย่างงั้นวันนี้ระเบิดลงทั้งวันแน่เลย” หลานชายพูดติดตลกในตอนท้าย

         “เออ! ว่าแต่ว่า...เรากับแม่ ทะเลาะกันเรื่องอะไรหละ” น้าชายถามขึ้น

         “ไม่มีอะไรหรอกครับน้าเอก ก็อย่างที่แม่พูดนั่นแหละ ความคิดเห็นของผมกับแม่ไม่ตรงกันนิดหน่อยเท่านั้นเอง...น้าเอกก็รู้ดีนี่ครับว่าแม่แกขี้บ่น” หลานชายทำท่ากระซิบกระซาบในตอนท้ายพร้อมกับหันหน้าสอดส่ายสายตาไปในบ้านเหมือนกลัวว่าจะมีใครจะมาได้ยินก่อนที่จะพูดต่อ

           “อะไรนิดอะไรหน่อยบ่นได้ ๓ วัน ๗ วันไม่มีซ้ำ” น้ำเสียงยังคงเบาเหมือนกระซิบ

           เอกยิ้มให้หลานเล็กน้อยเพราะรู้นิสัยของพี่สาวตัวเองดีก่อนพูดขึ้น “แล้วไอ้ที่ว่า...ความเห็นของเรากับแม่ไม่ตรงกัน มันเรื่องอะไรเหรอ”

          “มันก็ไม่เชิงเป็นเรื่องของอ้นโดยตรงหรอกครับน้าเอก” หลานชายตัวแสบบอกอย่างเซ็ง ๆ ก่อนที่จะพูดต่อ

          “น้าเอกจำเพื่อนของอ้นที่ชื่อเก่งกับแก้วได้หรือเปล่าครับ”

น้าชายทำท่านึกสักพักก็พยักหน้าร้องอ๋อ “จำได้ซิ! เก่งลูกเสี่ยวินัยแล้วแก้วลูกน้าไม้ ใช่ไหม”

          “ถูก...ถูก...ถูกต้องแล้วครับ” อ้นพูดขึ้นพร้อมกับทำท่าทางเลียนแบบพิธีกรรายการยอดฮิตรายการหนึ่ง

                “แล้วเก่งกับแก้วมาเกี่ยวข้องด้วยกับเรื่องนี้ยังไงหละ” น้าชายถามขึ้นพร้อมกับขมวดคิ้วเป็นเชิงสงสัย

                “คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับน้าเอก เมื่ออาทิตย์ที่แล้วที่โรงเรียนสอบปลายภาค” หลานชายของเขาเริ่มต้นเล่า

               “ชั่วโมงสอบวิชาคณิตศาสตร์ ผม เก่ง และแก้วนั่งอยู่โต๊ะข้าง ๆ กัน เก่งนำเอากระดาษที่จดสูตรเอาไว้เข้าไปลอกในห้องสอบด้วย แต่ครูจับไม่ได้ ทั้งที่เรื่องของเรื่องมันไม่มีอะไรแล้ว แต่แก้วก็ทำให้มันเกิดเรื่องขึ้นมาจนได้” หลานชายตัวแสบพูดด้วยน้ำเสียงเคือง ๆ

              “หลังสอบเสร็จแก้วไปบอกคุณครูว่าเก่งทุจริตในการสอบและบอกอีกว่าผมก็เห็นด้วย... ครูก็เลยเรียกพวกเราทั้งสามคนไปพบในห้องตอนเลิกเรียน” หลานชายกลืนน้ำลายลงคอก่อนที่จะพูดต่อ พอไปถึงครูก็ถามขึ้นว่า...

            “นายเก่ง เห็นแก้วบอกว่าเรานำสูตรเข้าไปลอกในห้องตอนสอบวิชาคณิตศาสตร์ จริงหรือเปล่า?”

            “ไม่...ไม่จริงนะครับคุณครู ไอ้แก้วมัน เอ้ย! เขาใส่ร้ายผมครับ ไม่เชื่อครูถามอ้นดูก็ได้ครับ”เก่งบอกกับครูพร้อมกับหันหน้ามาพยักเพยิดกับผมในขณะที่คุณครูก้มหน้าลงค่อย ๆ มองลอดแว่นส่งสายตามาที่ผม

           “เอ่อ...คือ...จริงอย่างที่เก่งพูดครับคุณครู เก่งไม่ได้ทุจริต ผมนั่งอยู่ข้าง ๆ ไม่เห็นมีอะไรนี่ครับ แก้วคงเข้าใจผิดไปเองครับ”  

           “เอ้ย! อ้น ทำไมนายโกหกคุณครู นายก็เห็นเหมือนกับที่เราเห็น ว่าเก่งลอกข้อสอบจริงๆ”

            “นายว่าใครทุจริต!”              

             “ก็ว่านายนั่นแหละ!”

             เก่งกับแก่นโต้เถียงกันอย่างดุเดือด จ้องหน้าเหมือนจะกินเลือดกินเนื้อกัน ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามบานปลายไปกันใหญ่ คุณครูก็พูดขึ้น

            “เอาหละ เอาหละ ไม่ต้องทะเลาะกัน เอาเป็นว่าครั้งนี้ไม่มีใครผิด แต่ครั้งต่อไป ถ้ามีการทำทุจริตแล้วครูจับได้ โดนแน่” คุณครูกล่าวภาคทันฑ์เอาไว้...

        อ้นถอนหายใจก่อนที่จะเล่าต่อ  “เหตุการณ์ของวันนั้นก็ผ่านไปด้วยดี...แต่มันก็ยังไม่จบครับน้าเอก เมื่อวานแม่ไปตลาดแล้วไปเจอกับลุงไม้พ่อของแก้ว ลุงไม้ได้เอาเรื่องดังกล่าวไปเล่าให้แม่ฟัง เท่านั้นแหละครับ พอกลับถึงบ้านก็บ่นผมตั้งแต่ช่วงเย็น เว้นก็แต่ตอนนอน พอตื่นขึ้นมาก็อย่างที่น้าเอกเห็นเมื่อเช้านี่แหละครับ” หลานชายของเขาเล่าด้วยสีหน้าเซ็ง ๆ

          “แล้วเราเห็นตอนที่เก่งทุจริตหรือเปล่าหละ?” น้าชายถามขึ้นหลังจากที่ฟังมานานเมื่ออ้นเล่าจบแต่อ้นไม่กล้าสบตาเขาโดยตรง...ได้แต่พยักหน้าหงึก ๆ

          “อ้นฟังน้านะครับ...” น้าชายเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงที่นุ่มทุ้ม

          “การที่เราเห็นคนอื่นทำผิดหรือทุจริตในเรื่องอะไรก็ตาม หากว่าเราปกป้องหรือปกปิดคนผิดก็เท่ากับว่า เราเห็นด้วยหรือไปช่วยส่งเสริมในการทำผิดของเขา” น้าชายกล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

         “แต่น้าครับ...ถึงแม้ว่าเก่งจะทุจริตในการสอบจริง แต่ครูก็จับไม่ได้นี่ครับ ผมคิดว่า มันก็น่าจะจบ ๆ กันไป ในเมื่อครูจับไม่ได้เองนี่ครับ” หลายชายยังคงแย้งขึ้น

        เขาเอามือลูบที่หัวของหลานเบา ๆ “อ้นถึงแม้ว่า ทำผิดแล้วจะไม่มีใครรู้ ใครเห็นหรือจับไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าความผิดที่ทำนั้นจะหายไปหรือไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความผิดนั้นก็ยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครรู้ ใครเห็น แต่เราเองก็รู้อยู่แก่ใจดี... เออ แล้วทำไมจึงช่วยเก่งปกปิดหละ” น้าชายถามขึ้นเมื่อนึกขึ้นได้ในขณะที่อ้นก้มหน้านิ่งไปสักพัก น้าชายจึงพูดเชิงปลอบใจขึ้นว่า

             “ไม่เป็นไรหรอกอ้น บอกน้ามาตาตรงเถอะ”

             “เอ่อ...คือ...คือเก่งเขาให้เงินอ้น ๒๐๐ บาทครับ” หลายชายพูดตกุกตะกักไม่เต็มเสียงนัก

            “ฮั่นแน่! มีการติดสินบนกันด้วย มิน่าหละ แล้วเรื่องนี้แม่รู้หรือเปล่า?” น้าชายถามขึ้นในประโยคหลัง

           อ้นรีบเอามือจุ๊ปากเป็นสัญญาณก่อนพูดกระซิบกระซาบ “อย่าเสียงดังไปครับน้าเอก เดี๋ยวแม่ได้ยิน แม่ยังไม่รู้ครับน้า ให้รู้ไม่ได้หากแม่รู้เรื่องนี้ แม่เอาผมตายแน่ครับ” หลานชายพูดด้วยท่าทางหวาดกลัว

        “อ้นฟังน้านะครับ...สิ่งที่อ้นทำอยู่มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะครับ อย่างที่น้าบอกนั่นแหละ มันเป็นการไปส่งเสริมและสนับสนุนให้คนที่ทำผิดไม่ให้ถูกลงโทษ และที่สำคัญมันไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างที่อ้นเข้าใจ” เขาพูดปลอบใจและสอนหลานเพื่อให้เข้าใจอยู่ในที

      “ทำไมจะไม่ใช่หละครับน้า” หลานชายแย้งขึ้น

      “ผมเห็นผู้ใหญ่หลาย ๆ คนหรือแม้แต่นักการเมืองเวลาทำอะไรผิด แล้วจับไม่ได้หรือกฎหมายเอาผิดไม่ได้ ก็เห็นยังลอยนวลอยู่เลยครับ หรือพอมีใครทักท้วงขึ้นมา ก็มักจะพูดว่า เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง ผมเห็นอยู่ในข่าวออกบ่อยไป” อ้นพูดขึ้นตามที่คิดและเห็นในข่าวสารทางสื่อต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ซึ่งเขามีนิสัยเหมือนพ่อที่ชอบติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เป็นประจำนั่นเอง

     น้าชายยิ้มบาง ๆ ก่อนพูดขึ้นว่า “ดีแล้วที่อ้นสนใจในเรื่องข่าวสารบ้านเมือง แต่ในบางอย่างหรือบางเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราก็ไม่ควรเอาอย่างหรือเลียนแบบ แต่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจไว้เพื่อที่จะแยกแยะในเรื่องที่ถูกหรือผิด รวมทั้งเรื่องของความเห็นที่แตกต่าง” น้าชายหยุดพักก่อนที่จะอธิบายต่อ   

         “ ‘ความคิดเห็นแตกต่าง’ ที่อ้นและคนส่วนใหญ่ในสังคมคิดนั้นในทัศนะของน้าแล้วเห็นว่า ความคิดเห็นแตกต่างนั้นน่าจะเป็นไปในลักษณะของเรื่องความชอบ – ความไม่ชอบ ความรัก -   ความเกลียด เป็นต้น ซึ่งความคิดเห็นในลักษณะแบบนี้ สามารถที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ในอนาคตได้ เช่น จากที่ชอบอาจเปลี่ยนเป็นไม่ชอบ จากที่ไม่ชอบอาจเปลี่ยนเป็นชอบ  หรือ จากที่เคยรักอาจเปลี่ยนเป็นเกลียด จากที่เคยเกลียดอาจเปลี่ยนเป็นรัก ซึ่งเป็นรูปแบบของมายาคติที่ถือเอา ความคิด ของตัวเราเองเป็นที่ตั้งและเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนสะท้อนออกมาทางความคิดและการกระทำที่มีต่อสิ่งหนึ่ง ๆ เช่น อ้นอาจจะมองว่าผู้หญิงที่หน้าคม ผิวสีแทน เป็นผู้หญิงที่สวยในสายตาของอ้น ในขณะที่เก่งอาจจะมองว่าผู้หญิงหน้าหมวย ผิวขาว เป็นผู้หญิงที่สวยในสายตาของเก่ง” เขาหยุดพักนิดนึงเมื่อเห็นหลานตั้งหน้าตั้งตาฟังจึงพูดต่อไป

             “ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ ปกติ ในทุกสังคมที่สะท้อนออกมาในเรื่องของความชอบหรือความไม่ชอบ ความรักหรือความเกลียด ย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป และที่สำคัญมันไม่สามารถบอกได้ว่า ความชอบและ/หรือความไม่ชอบ ความรักและ/หรือความเกลียด ของใคร ถูก – ผิด หรือ ดี – เลว ได้ ตราบใดที่ความชอบ/ไม่ชอบ หรือ ความรัก/เกลียด ในกรณีดังกล่าวไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นหรือทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน โดยปกติทั่วไป ความชอบ/ไม่ชอบ หรือ ความรัก/เกลียด ในเรื่องใด ๆ มักขึ้นอยู่กับ ทัศนะคติและรสนิยม ของบุคคลนั้น ๆ เป็นประการสำคัญ ดังที่อ้นคงเคยเห็นและสัมผัสได้ในสังคมปัจจุบันอยู่บ่อย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่คลั่งไคล้ดารา ก็จะเถียงกันว่า ดาราคนโน่น คนนี้ สวยหรือหล่อกว่าอีกคน ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนใช่ไหม” เขาถามในขณะที่หลานพยักหน้าตามเป็นเชิงตอบรับ

          “แต่ในบางเรื่องเราจะมองเพียงผิวเผินแล้วบอกว่าเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกันไม่ได้ เช่น การแยกแยะความถูก – ผิด และ ความดี – เลว เราต้องมองตามพื้นฐานของความเป็นจริงไม่อย่างนั้นแล้วก็จะกลับกลายเป็นว่า  ทัศนะคติและรสนิยมของความชอบ/ไม่ชอบ และ ความรัก/ความเกลียด ของแต่ละคนจะอยู่เหนือตรรกะของเหตุผล ความถูก – ผิด และ ความดี – ความเลว  เช่น นาย ก. ทุจริตคอรัปชั่น? หรือ นาย ข. ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในการข่มขู่เอาผลประโยชน์จากผู้อื่น เป็นต้น” น้าชายอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง

             “หากว่าใช้เกณฑ์ในการวัดด้าน ‘ความคิดเห็นแตกต่าง’ ที่ใช้ความชอบและไม่ชอบมาตัดสิน สิ่งเหล่านี้ ถ้าหากไปถามคนที่ชอบนาย ก. และนาย ข.  ส่วนใหญ่ก็จะมองว่าบุคคลเหล่านี้ถูกใส่ร้ายและถูกกลั่นแกล้ง หรือ ถ้าหากไปถามคนที่ไม่ชอบ นาย ก. และนาย ข.  ส่วนใหญ่ก็ก็จะมองว่าบุคคลเหล่านี้ผิดจริง เป็นคนไม่ดี ซึ่งภาวะของสังคมไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่กำลังตกอยู่ในวังวนกับดักของมายาคติของความชอบ/ไม่ชอบ และ ความรัก/ความเกลียด และถือเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นดัชนีชี้วัดอยู่เหนือเหตุผลของการกลั่นกรองสิ่งที่ถูก – ผิด และ ดี – เลว ผ่านเส้นแบ่งของมิติคำว่า “ความคิดเห็นแตกต่าง” ซึ่งน้ามองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเป็นอย่างมาก กลับกลายเป็นว่า อิทธิพลของความชอบ/ไม่ชอบ และ ความรัก/ความเกลียด อยู่เหนือเหตุผลและความถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่แท้ที่จริงแล้วดัชนีชี้วัดในประเด็นดังกล่าวที่แยกแยะความถูก – ผิด และความดี – ความเลว ต้องยืนอยู่บนเส้นแบ่งของ สัมมาทิฏฐิ และ มิจฉาทิฏฐิ* น้าชายหยุดพักอีกครั้งก่อนอธิบายต่อเมื่อเห็นหลานยังตั้งใจฟัง

       “อ้นฟังน้านะ....

            - การที่เราชอบคน ๆ หนึ่งมาก ทั้ง ๆ ที่แท้ที่จริงแล้ว เขาคนนั้นเป็นคนเลว คดโกง แต่เราก็ยังเห็นเขาเป็นคนดีในสายตาและความคิดของเรา แสดงว่า เราถูกมิจฉาทิฏฐิ คือ ความรัก/ความหลง ครอบงำจนบดบังกระบวนการกลั่นกรองความคิดของตรรกะเหตุและผลที่ก่อให้เกิดปัญญาและตาสว่าง หาใช่ เป็นแก่นของความคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่นไม่ หรือ

            - การที่เราเกลียดคน ๆ หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้กับสังคม แต่เราก็ยังมองเขาว่าเป็นคนไม่ดีในสายตาและความคิดของเรา แสดงว่า เราถูกมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเกลียด/ความอาฆาต ครอบงำจนบดบังกระบวนการกลั่นกรองทางความคิดของตรรกะเหตุและผลที่ทำให้เกิดปัญญาและตาสว่าง หาใช่ เป็นแก่นแท้ของความคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่นไม่

            หากว่าสังคมยังดำรงอยู่ท่ามกลางการแยกแยะในประเด็นดังกล่าวไม่ออก สังคมก็จะสุ่มเสี่ยงต่อความแตกแยกรุนแรงขึ้นไปอีกดังที่อ้นาเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไงหละ เพราะความไม่เข้าใจ และ/หรือความจงใจที่จะไม่เข่าใจในการใช้วาทะกรรม “ความคิดเห็นแตกต่าง” มาบิดเบือนแก่นแท้ของมาตรฐานของการแยกแยะถูก-ผิด และ ความดี –เลว แทนการมองถึงแก่นแท้และรากเหง้าของการถูก “มิจฉาทิฏฐิ” ครอบงำจนมืดบอดทางปัญญา แล้วสังคมในอนาคตจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ? ในเมื่อเรื่องของความถูก – ผิด และ ความดี – เลว ถูกผลักภาระไปยังมายาคติ “ความคิดเห็นแตกต่าง” ที่ไม่สามารถสะท้อนออกมาทางมาตรฐานของดัชนีชี้วัดในเรื่องดังกล่าวได้ หากเป็นเช่นนั้นสังคมคงดำรงอยู่บนกับดักของสองมาตรฐาน (double Standard) ของความถูก –ผิด และ ความดี –เลว ที่ใช้ดัชนีชี้วัดจากความชอบ/ไม่ชอบ และความรัก/ความเกลียด แทน ความสมเหตุสมผลที่เป็นผลผลิตจากคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงามและสั่งสมมายาวนานในสังคมไทย” น้าชายอธิบายซะยืดยาวก่อนที่จะพูดต่อว่า

            “ที่น้าพูดและอธิบายให้อ้นาฟังรวมทั้งยกเอาเหตุและผลมาเยอะแยะมากมาย ก็เพราะน้าอยากจะปลูกฝังวิธีการคิดที่ถูกต้องให้กับอ้น ถึงแม้ว่าอ้นเองอาจจะยังไม่เข้าใจในอีกหลาย ๆ เรื่องที่น้าพูด แต่หากว่าอ้นรู้จักการแยกแยะความชัดเจนระหว่าง ‘สัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ’ ออกจากกันให้ถูกต้อง เรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกันของเรื่องต่าง ๆ ก็จะไม่เป็นปัญหาสำหรับอ้นในอนาคต”

        อ้นพยักหน้าหลังจากที่นั่งฟังน้าชายพูดอย่างตั้งใจ “อ้นพอที่จะเข้าใจบ้างแล้วหละครับน้าเอก ถึงแม้จะยังไม่มากนัก ขอบคุณน้าเอกมากนะครับ” หลานชายพูดพร้อมกับยกมือไหว้ในขณะที่มีเสียงตะโกนออกมาจากในบ้าน

         “กับข้าวเสร็จแล้ว มา...มากินข้าวกันได้แล้วน้าหลาน”  เสียงพี่อรดังขึ้นมาจากในบ้าน

         “ครับพี่อร จะเข้าไปเดี๋ยวนี้หละครับ” เอกตะโกนตอบพี่สาวก่อนเดินเข้าบ้านเขาหันมาพูดกับหลานชายตัวแสบอีกครั้ง

          “อ้น...อย่าลืมนะครับ ที่น้า...”

      ก่อนที่เขาจะพูดอะไรต่อ อ้นรีบพูดขึ้นว่า “ขอโทษคุณแม่ และเอาเงินไปคืนเก่ง น้าเอกย้ำกับผมเป็นครั้งที่ร้อยแล้วมั้ง” พอพูดจบสองคนน้าหลานก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน ซึ่งมันเป็นเสียงหัวเราะที่มีความสุขของเขาเป็นอย่างมากในเช้าอันสดใสของวันนี้หลังจากที่มีเมฆหมอกพัดผ่านเข้ามาทักทายเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา...

 

   *สัมมาทิฏฐิ : เห็นชอบ (right view หรือ right understanding) คือ การมีความรู้ตามจริงในเรื่องอริยสัจ ๔ เกี่ยวเนื่องกับ ความรู้ในทุกข์ (ทุกข์)  ความรู้ในสาเหตุของความทุกข์ (สมุทัย)  ความรู้ในความดับทุกข์ (นิโรธ) และความรู้ในวิธีปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ (มรรค) ดังพุทธพจน์ที่ว่า :

          “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิคืออะไร ? ความรู้ทุกข์  ความรู้ในทุกขสมุทัย  ความรู้ในทุกขนิโรธ  ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  นี้เรียกว่า สัมมาทิฐิ”

   *** ทิฏฐิ กับ ทิฐิ  เป็นคำเดียวกัน




คำสำคัญ (Tags): #เรื่องสั้น
หมายเลขบันทึก: 482169เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2012 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท