สันสกฤตเรียนลัด


ผู้ที่สนใจภาษาสันสกฤตนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามลำดับความเข้มข้น จากน้อยไปมาก

เนื่องจากมีผู้ที่สนใจภาษาสันสกฤตได้สอบถามมาเป็นระยะ ว่าจะเรียนภาษาสันสกฤตอย่างไร ผมได้ตอบไปบ้างแล้ว แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านท่านอื่น จึงได้รวบรวมประเด็นข้อสงสัยและข้อเสนอมาเล่าไว้ในที่นี้

 

ผู้ที่สนใจภาษาสันสกฤตนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามลำดับความเข้มข้น จากน้อยไปมาก ดังนี้

 

1) สนใจเรียนรู้เฉพาะคำศัพท์ เช่น อยากรู้ว่าภาษาสันสกฤตคำนี้แปลว่าอะไร ภาษาไทยคำนี้มาจากภาษาสันสกฤตคำไหน หรือ ความหมายอย่างนี้ในภาษาสันสกฤต จะใช้คำไหนดี ผู้สนใจกลุ่มนี้เป็นบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจภาษาไทย อาจจะอยากตั้งชื่อ เปลี่ยนชื่อ หรือผู้สนใจภาษาโดยทั่วไป

 

2) สนใจเรียนรู้ลักษณะทั่วไปของภาษาสันสกฤต โดยเฉพาะลักษณะภาษาสันสกฤตในภาษาไทย ต้องการรู้ภาษาสันสกฤตมากกว่าแค่คำศัพท์ เช่น เสียงในภาษาสันสกฤต การสมาส การกลายเสียงจากสันสกฤตเป็นไทย ผู้สนใจกลุ่มนี้มักจะเป็นครูสอนภาษาไทย

 

3) สนใจเรียนรู้ภาษาสันสกฤตในระดับที่จะอ่านออกเขียนได้ เรียกว่า ต้องรู้ทุกอย่างที่มีอยู่ในตำราสันสกฤตเลยทีเดียว คนกลุ่มนี้เป็นพวกหนอนหนังสือ อยากรู้อยากเรียนไปหมด

 

ทีนี้มาดูว่า แต่ละกลุ่มควรจะเรียนสันสกฤตอย่างไร

 

กลุ่มที่ 1

กลุ่มนี้ต้องการแค่ความหมายของศัพท์เป็นสำคัญ เครื่องมือที่ต้องใช้จึงเน้นที่พจนานุกรม ต้องอ่านพจนานุกรมเป็น ดังนั้น

                1) ควรเรียนรู้อักษรเทวนาครี (devanagari) ซึ่งนิยมใช้เขียนภาษาสันสกฤต เรียนรู้อักษรโรมันที่เทียบเสียงสันสกฤต และอักษรไทยที่ใช้เทียบสันสกฤต เช่น อักษรเทวนาครี   อักษรไทย อักษรโรมัน g เป็นต้น โดยเฉพาะระบบ HK หรือ Harvard-Kyoto ที่นิยมใช้มากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากพิมพ์ได้สะดวก ไม่ต้องใช้เครื่องหมายพิเศษ

                2) ควรจะรู้หลักการผันคำนามไว้บ้าง (declension) เพราะคำศัพท์ที่นำมาใช้ในภาษาไทยนั้น มีทั้งคำเดิมที่ยังไม่ผัน และคำที่ผันในรูปประธานเอกพจน์ หากไม่รู้หลักตรงนี้ ก็เท่ากับเดินหน้าไม่ได้มากนัก

 

กลุ่มที่ 2

กลุ่มนี้ต้องการภาพกว้าง และหลักภาษาในเชิงเปรียบเทียบ จึงควรจะอ่านตำราเป็นหลัก ควรจะมีความรู้ และตำราในลักษณะต่อไปนี้

               1) ภาษาอังกฤษ เพราะตำราสันสกฤตส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาอังกฤษ และตำราเก่าแก่ หรือพจนานุกรมส่วนมากใช้ภาษาเก่า (สักเมื่อ 100-200 ปีที่ผ่านมา) ความหมายของคำศัพท์สมัยโน้น ต่างจากสมัยนี้ก็มาก บ้างก็เป็นคำที่ไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วยังมีศัพท์ทางไวยากรณ์อีกมาก

               2) ตำราด้านไวยากรณ์ ตำราไวยากรณ์ไม่ได้ช่วยให้อ่านออกเขียนได้ แต่ช่วยให้เห็นภาพกว้างของภาษา (ตำราเขียนด้วยภาษาอะไร ก็มีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบกับภาษานั้นไปด้วย) ผู้สนใจศึกษากลุ่มนี้ควรหาตำราไวยากรณ์สักเล่ม 2 เล่ม ก็เอาอยู่

 

กลุ่มที่ 3

               อันที่จริง กลุ่มนี้เป็นพวกขวนขวาย ใฝ่รู้ ไม่ต้องแนะนำก็คงจะหาทางจนได้ แต่เขียนไว้สักหน่อยก็จะดี

               กลุ่มนี้ต้องมีความรู้และตำราเช่นเดียวกับ 2 กลุ่มข้างต้น ได้แก่ 1) รู้อักษร 2) รู้หลักผันนาม 3) รู้ภาษาอังกฤษ 4) มีตำราไวยากรณ์, และที่ต้องมีเพิ่มเติม

               1) แบบเรียน แบบเรียนไม่ใช่ตำราไวยากรณ์ แบบเรียนจะให้ความรู้จากง่ายไปยาก พร้อมกับมีแบบฝึกหัดไว้ฝึกอ่าน เขียน แปล (ถ้ามีเฉลยด้วยก็มี แต่เท่าที่ผ่านมา แทบจะไม่มี) หาได้ทั้งเป็นเล่ม และเป็นตำราออนไลน์ แบบเรียนที่ดีจะไม่อัดเนื้อหาไว้แน่นเกินไปจนสับสน

               2) แบบแผนการแจกรูปในลักษณะต่างๆ (paradigm) เพื่อใช้ทบทวนความจำเกี่ยวกับแบบแผนทางไวยากรณ์ เนื่องจากภาษาสันสกฤตมี “สูตร” ต่างๆ มาก ทั้งนาม ทั้งกริยา สนธิ ฯลฯ

               3) หนังสือหัดอ่าน ส่วนนี้นับว่าสำคัญ เพราะช่วยทบทวนบทเรียน ไวยากรณ์ ทบทวนความจำ หนังสือหัดอ่านควรจะมีทั้งแบบสองภาษา (คือ สันสกฤต กับอังกฤษหรือไทย แปลตัวต่อตัว) และแบบอธิบายไวยากรณ์ พร้อมศัพทานุกรมด้วย

               4) สื่อด้านเสียง สมัยนี้คงหนีไม่พ้นเว็บไซต์อย่าง youtube ที่จะมีเพลงและบทสวดภาษาสันสกฤตให้คุ้นหูกัน บ้างก็มีตัวหนังสือขึ้นมาให้ดูด้วย

 

ท่านที่สนใจภาษาสันสกฤต คงจะทราบแล้วว่าตนเองอยู่ในกลุ่มไหน และต้องเตรียมตัวอย่างไร ลองค้นหาดูนะครับ ถ้าหาไม่เจอ ยังงงๆ ก็อดใจรอ ไว้ไม่ช้าไม่นาน จะมาแนะนำแนวทางการศึกษาตามลำดับไปครับ...

หมายเลขบันทึก: 482088เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2012 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีคะอาจารย์หมู .. อิอิ

กำลังจะสั่งซื้อตำราสอนภาษาสันสกฤต

เลยขออนุญาติเอาภาพหน้าปกหนังสือมาให้อาจารย์ดู

ที่หน้าปกเป็นรูปพระสรัสวตี

รู้สึกจะเป็นทางศูนย์หนังสือจุฬาที่จัดจำหน่าย

แต่หนูไม่ทราบว่าตอนนี้ยังจะมีอยู่หรือเปล่าอะคะ

คิดว่าอาจารย์ต้องรู้จักหนังสือเล่มนี้อยู่แล้ว

เห็นตรงคำอธิบายหนังสือ พออ่านดูน่าสนใจมากทีเดียวคะ

แถมเห็นมีสอนเขียนตัวอักษรเทวนาครีด้วย ก็เลยทำให้ยิ่งน่าสนใจสำหรับหนูเข้าไปกันใหญ่

แบบเรียนภาษาสันสกฤตของศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล ประกอบด้วยเนื้อหาทางไวยากรณ์สันสกฤตเริ่มแต่การฝึกเขียนตัวอักษรเทวนาครี แล้วปริวรรตเป็นตัวอักษรโรมันและอักษรไทย ไปจนถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงวากยสัมพันธ์ ขั้นตอนของบทเรียนแต่ละบทเป็นไปตามลำดับความยากง่าย ประกอบด้วยคำอธิบายอย่างละเอียด แบบฝึกหัดสำหรับทบทวนความรู้ และการฝึกอ่านวรรณคดีสันสกฤต แบบเรียนภาษาสันสกฤตเล่มนี้จะช่วยให้การศึกษาภาษาสันสกฤตในประเทศไทยเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งแก่ผู้ที่ศึกษาด้วยตนเองและผู้ที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ

ก็เลยอยากจะทราบความเห็นของท่านอาจารย์ว่าเล่มนี้ดีไหม สำหรับผู้เริ่มต้นกระเตาะกระแตะอย่างหนู

สำหรับบทความแนะนำผู้ที่สนใจจะศึกษาวิชาภาษาสันสกฤตของอาจารย์ข้างบนนั้น

เหตุผลสำหรับหนูคือ อยากจะเอาไปไว้ใช้สวดมนต์

และอ่านพระธรรม คัมภีร์คะ โดยเฉพาะกับพระเวท

แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพระเป็นเจ้าท่านคงจะประทานสติปัญญามาให้หนู ให้สมกับความตั้งใจของหนูนะคะ

สวัสดีครับ คุณศรีฯ

รู้จักชื่อผมด้วย อิๆๆ

หนังสือเล่มนี้ควรใช้อย่างยิ่งครับ

ลองตั้งเป้าไว้สัก 10 บทก่อน

ไม่ต้องรีบ ก็น่าจะเก่งได้ไม่ยาก

โดยลำดับการเรียนอย่างนี้นะครับ

1. อ่านเทวนาครีให้คล่อง

2. จำหลักสนธิ จดมาลำดับใหม่ตามความเข้าใจของเรา

3. ท่องศัพท์ให้เป๊ะ (ศัพท์ใหม่มีไม่กี่ตัว นอกนั้นเป็นศัพท์ที่เรารู้อยู่แล้ว อย่าง เทว ผล ราม ฯลฯ)

อ้อ อย่าลืมโหลด Sanskrit Primer มาอ่านด้วย เพราะอาจารย์วิสุทธิ์ ท่านเรียบเรียงจากเล่มนี้

(http://ia700506.us.archive.org/16/items/sanskritprimer00perrrich/sanskritprimer00perrrich.pdf)

แล้วทำแบบฝึกหัดด้วยล่ะ

สวัสดีครับ คุณ Ico48 Sanskrit Lover

งั้นมาช่วยกันเล่าเรื่องสนุกของภาษาสันสกฤตกันนะครับ...

สวัสดีครับ คือผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจด้านภาษาที่เกี่ยวกับศาสนามาก ตอนนี้ได้มีโอกาสเรียนวิชาภาษาบาลีมาเยอะพอสมควร แต่ผมสนใจสันสกฤตด้วย แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่อง ตำราเรียนที่หายาก(มาก) รวมถึงหนังสืออ่านภาษาสันสกฤตก็แทบจะหาซื้อไม่ได้เลย แต่ผมมีความสนใจจริงๆ ล่าสุดก็มี ตำราของ อ.วิสุทธิ์ บุษยกุล ที่ซื้อมาจากศูนย์หนังสือจุฬามาลองอ่าน ก็รู้สึกว่าดีมาก แต่อยากให้มีเฉลย เพราะมีแต่แบบฝึกหัดไม่มีเฉลยจึงไม่สามารถตรวจคำตอบได้

อยากให้ช่วยแนะนำหน่อยครับ ว่าควรเริ่มจากตำราเล่มไหนดี หนังสือสันสกฤต หาซื้อได้ที่ไหนบ้าง ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ Petrus

ถ้ามีพื้นฐานบาลีแล้ว เล่มของ อ.วิสุทธิ์ ก็น่าจะใช้ได้ครับ

จบเล่มนี้แล้ว ค่อยหาตำราไวยากรณ์ (ไม่ใช่แบบเรียน)

เคยเห็นว่ามีอยู่บ้างครับ อย่างของ ศ.ดร.จำลอง สารพัดนึก

หรืออาจารย์จาก มจร. ไว้จะแนะนำในโอกาสต่อไปนะครับ

 

สำหรับเล่มของอาจารย์วิสุทธิ์ ทำแบบฝึกหัดแล้วส่งมา ผมช่วยตรวจให้ได้ครับ

พิมพ์เป็นอักษรไทยมาก็ได้ ตามเมลที่ขึ้นให้ หรือ แปะไว้ในหน้าบันทึกนี้ ก็ได้เหมือนกันครับ

 

ป.ล. ร้านมหาจุฬาบรรณาคาร ท่าพระจันทร์ กทม. น่าจะมีตำราสันสกฤตอยู่บ้างครับ

ขอบคุณมากครับ ผมเคยไปที่มหาจุฬาบรรณาคาร ท่าพระจันทร์บ่อยมาก ตอนนั้นเคยเจออยู่ครั้งหนึ่ง กะว่าจะซื้อพอมาอีกทีหมดเกลี้ยงแล้ว TT น่าเสียดายที่ร้านเรืองปัญญาไม่มีขายครับ ยังไงก็ขอบคุณมากนะครับ สำหรับคำแนะนำ

หลังจากที่หัวหกก้นขวิดกับการทำมาหาเงินเลี้ยงชีพมาหลายเดือน ช่วงนี้พอจะมีเวลาว่างบ้าง ก็กลับมาติดตามบทความ "สันสกฤตง่ายนิดเดียว" ...(แต่ที่เหลืออยากหมด)....ของคุณธวัชชัยอีกครั้ง.. และขออนุญาติคุณธวัชชัยที่จะคัดลอกบทความของคุณเก็บไว้อ่านตอนว่างๆ ด้วยค่ะ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท