ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เห็ดฟางดอกโตบนผักตบกองใหญ่


ผักตบชวาเป็นวัชพืชทางน้ำ เราสามารถนำขึ้นมาเป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางได้อย่างดี

       เห็ดฟาง (Straws Mushroom) เป็นเห็ดที่คนไทยเรารู้จักกันดี มี่ทั้งเกิดเองในธรรมชาติ และสามารถนำมาเพาะเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างดี เห็ดฟางเป็นเห็ดที่เพาะได้ง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นักเพาะเห็ดบอกว่าในดอกเห็ดฟางจะมีกรดอมิโนอยู่ตัวหนึ่งที่สามารถต่อต้านและรักษาไข้หวัดใหญ่ได้

       เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้พบกับกลุ่มเกษตรกรชุมชนดอนงิ้ว เขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ซึ่งบริเวณชุมชนตั้งอยู่ในเขตที่ลุ่ม และรอบๆ ชุมชนมีคลองน้ำที่ระบาดเต็มไปด้วยผักตบชวา กลุ่มเกษตรกรจึงได้มาพูดคุยกับผมว่าเราจะจัดการกับผักตบชวาได้อย่างไรจึงจะได้ประโยชย์ 2 ต่อ นอกจากนำมาทำปุ๋ยหมัก ผมจึงได้เล่าให้ฟังว่า

       ผักตบชวาเป็นพืชที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเห็ดฟางเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการนำต้นสดๆ ขึ้นมาสับๆ... เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมากอง เหยียบให้แน่น ใส่เชื้อเห็ดฟาง .....ปล่อยไว้ประมาณ 7-9 วันเราก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้

        ชาวบ้านสนใจยิ่ง  หลายคนเริ่มขยับเข้ามาหาผม และเริ่มซัก...วิธีการทำใหม่ หลังจากช่วงแรกๆ คิดว่าผมพูดเล่นๆ สุดท้ายมีเสียงตะโกนจากคนที่อยู่ไกลสุด บอกว่า ไม่ทัน...ไม่ทันๆ...ครับ สุดท้ายก็เลยมีผู้นำชุมชนลุกขึ้น พร้อมกับหันหน้าไปคุยกับเพื่อนๆ ว่า เอาอย่างนี้ไหม ให้อาจารย์เล่าให้ฟังใหม่เผื่อเราจะได้ไปเอาผักตบชวามาเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริมกัน สุดท้ายผมเลยต้องได้เริ่มต้นใหม่ครับ

        วิธีการเพาะเห็ดฟางด้วยผักตบชวาสด เอาหละๆ.ๆ...ถ้าอย่างนั้นผมจะขออนุญาตเล่าให้ฟังใหม่ก็แล้วกันนะครับ สำหรับวิธีการเพาะเห็ดสามารถสรุปได้ดังนี้

1. เตรียมเชื้อเห็ดฟางที่สมบูรณ์ ไม่ออ่อน ไม่แก่ เกินไป ให้พร้อม

2. เตรียมสถานที่เพาะโดยขุดเตรียมดินเหมือนกับจะปลูกผักยังไงยังงั้น

3. ทำไม้แบบเหมือนเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยทั่วไป

4. เตรียมอาหารเสริม เช่นปุ๋ยคอก รำละเอียดเป็นต้น

5. นำผักตบชวาขึ้นมาจากหนองน้ำ แล้วสับให้ขาดเป็นชิ้นเล็กๆ ความยาวประมาณ 5 ซม. สามารถใช้ได้ทุกส่วน (จากยอดถึงราก)

6. นำผักตบชวาที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ ยัดลงในไม้แบบ ให้หนาประมาณ 10 ซม แล้วเหยียบให้แน่น แล้วเอาอาหารเสริมโรยรอบๆ กองผักตบชวาด้านในไม้แบบบางๆ

7. เอาเชื้อเห็ดฟางมาโรยทับอีกชั้นประมาณ 0.5 ถุง ต่อชั้น

8. เอาผักตบชวาขึ้นทับบนเชื้อเห็ดอีกเป็นชั้นที่ 2 เหยียบให้แน่นพร้อมกับรดน้ำให้ชุ่ม

9. ทำลักษณะเช่นเดียวกันกับชั้นที่ 1 จำนวน 3 ชั้น แล้วจึงถอดไม้แบบออก เพื่อไปทำกองถัดกันไป ซึ่งให้มีความห่างประมาณ 20-25 ซม.ให้ได้ 5-10 กอง

10. เอาผ้าพลาสติกใสคลุมให้สนิท เพื่อรักษาความชื้น และอุณหภูมิ

11.รักษาอุณหภูมิในกองเพาะให้ได้อยู่ระหว่าง 30 - 32 องศาเซลเซียส ประมาณ 9 วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดมาบริโภคได้

          จากนั้นต่างคนต่างแยกกันไปเก็บผักตบชวาเพื่อมาเพาะเห็ดกัน และ  2 สัปดาห์ให้หลัง พี่น้องโทรมาส่งข่าวบอกว่าเก็บเห็ดได้แล้วครับ ดอกเบ้อเร่อ บ้าร่า เท่าไข่ไก่เลยครับ  โอ้ ! ถ้าเป็นอย่างนี้ยินดีด้วยครับ

            จากความสำเร็จของชุมชนทำให้ชุมชนสามารถมีอาหารเห็ดที่มีคุณภาพไว้บริโภค อีกทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใว้ใช้สำหรับการปลูกพืชในครัวเรือน และที่สำคัญชุมชนยังช่วยกำจัดวัชพืชทางน้ำให้กับเทศบาลได้เป็นอย่างดี สมควรอย่างยิ่งที่เทศบาลจะให้การสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตสำหรับเห็ดฟางสำหรับชุมชนต่อไป

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

4 กันยายน 2549

หมายเลขบันทึก: 48187เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2006 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณท่านอาจารย์มากค่ะ ดิฉันเรียนภาค กศ.บป.ม.ราชภัฏบรีรัมย์เอกการพัฒนาสังคม กำลังฝึกประสพการณ์วิชาชีพเตรียมจบ เรื่องการเพาะเห็ดฟางแบบต่างๆทั้ง กองเตี้ย ในตะกร้า โรงเรือน โดยได้ไปศึกษาดูงานหลายที่ ก็เก็บเกี่ยวประสพการณ์ตรงนั้นมาปฏิบัติแต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควรพบปัญหาเยอะแยะที่สำคัญคือใช้ขี้เลื่อยยางพาราแทนฟางเพาะ ปัญหาก็คือ ต้องสั่งไกลและต้องสั่งเป็นจำนวนมากเขาถึงจะมาส่งให้ ปัญหาตรงนี้คือขี้เลื่อยเก็บไม่ได้นานเป็นหนอน(ใช้งานไม่ทัน)เพราะนักศึกษาทั้งเอกมี20คนและเรียนเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ดิฉันกับเพื่อนลองทำตามคำแนะนำของอาจารย์(กำลังทดสอบปฏิบัติอยู่ค่ะ) ได้ผลอย่างไรจะเรียนให้อาจารย์ทราบทาง net น่ะค่ะถ้าประสพผลสำเร็จก็จะเก็บเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาต่อไปให้รุ่นหลังได้นำไปใช้ต่อ ไม่แน่น่ะค่ะทางคณะของเราอาจมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ม.อุบลก็ได้

ขอขอบคุณท่านมาณโอกาสนี้ด้วยความเคารพ

วรรณา

คุณวรรณาครับ ถ้าสนใจเกี่ยวกับการเพาะเห็ดลองไปดูแถวๆต. ตูมใหญ่ อ.เมืองบุรีรัมย์นะครับ เขามีการรวมกลุ่มกันเพาะเห็ดฟางจากเปลือกมันสำปะหลัง ในระบบโรงเรือน ส่วนผมเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มครับ แต่ตอนนี้กำลังทดลองใช้วัสดุอิ่นแทนเปลือกมันสำปะหลังเนื่องจากเปลือกมันหายากในฤดูฝน วัสดุที่ใช้แทนตอนนี้กำลังทดลองกับต้นหญ้าเลี้ยงสัตว์ ต้นข้าวโพด และผักตบชวา ขณะนี้ (12 ก.ค. 53 ) กำลังจะได้ผลผลิต โรงเรือนอยู่อ. บ้านด่าน ครับได้ผลยังไงจะเล่าให้ฟังวันหน้าครับ ครูบ้านนอก 085-4127837

ตอนนี้ผมก็ได้ลองเพาะเห็ดฟางโดยใช้ผักตบชวาทำดูนะครับ เพราะที่บ้านได้ทำเชื้อเห็ดฟางขายด้วยครับ

แต่ที่บ้านก็เพาะเห็ดขายด้วยเหมือนกันครับส่วนมากก็ใช้เปลือกถั่วเขียว ฟาง ทำกันนะครับมันก็ออกดีนะคับ

แต่ตอนนี้ผมอยากทดลองใช้ผักตบชวาทำดู เพราะต้นทุนมันถูกกว่ากันมาก ลืมบอกไปครับผมทำเชื้อเห็ดที่ลำปาง

ทำส่งขายทั่วประเทศอ่ะคับ(อิอิอิ บอกไปก่อนเผื่อมีคนสนใจ) อาจารย์ครับผักตบทำกองเตี้ยก็ได้ใช่ไหมคับ

ที่บ้านทำเป็นโรงเรือนยังไม่เคยใช้ผักตบชวาทำดูเลย กะจะทดลองทำกองเตี้ยดูก่อนถ้าได้ผลดี ก็จะทำในโรงเรือนครับ

แล้วยังไงผมจะโทรไปสอบถามอาจารย์ดูนะคับ เบอร์โทรผมครับ 084-4840600 ต้องขอรบกวนอาจารย์ด้วยนะครับ

แล้วอย่างไงผมจะโทรไปตามเบอร์ที่อาจารย์ทิ้งให้ไว้นะครับ

เพาะได้เลยครับ

ถ้าผักตบเปียกมากก็ทิ้งให้พอหมาดก่อน หรือเอาฟางแห้ง หรือขี้เลื่อยแห้งใส่เข้าไปด้วยเล็กน้อย เพื่อซับความชื้น

สงสัย โทร 081-8773460 ครับ

ถึง คุณวรรณา

ไม่ทราบว่าเห็ดที่เพาะเป็นอย่างไรบ้าง กรุณาส่งข่าวหน่อยนะครับ

ถ้าเรานำผักตบชวาไปทำในโรงเรือนจะได้ไหมค่ะ และวิธีการทำเหมือนกับการเพาะในโรงเรือนทั่วไปรึเปล่าค่ะ รบกวนช่วยตอบด้วยนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

หลง

อาจารณ์ค่ะพ่อของหนูศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดฟางแบบวิธีต่างต่างค่ะแต่ไม่ระสบความสำเร็จเลย ตอนแรกทำแบบธรรมดาที่ใช้ฟาง ต่อมาทำแบบใช้ออ้ยเห็ดก็ไม่ค่อยขึ้นขึ้นสวยมั่งไม่สวยมั่ง ตอนนี้กำลังทำแบบผักตบชวาไม่รู้ว่าจะสวยหรือปล่าว อาจารพอจะบอกวิธีที่ทำให้สวยแบบคนอื่นได้ไหมค่ะ อ่อ ลืมบอกว่าพ่อของหนูทำตามหลักของการปลูกเห็ดทุกอย่างเลย ค่ะแต่ก็ไม่สวย หนูอยู่ที่ฉะเชิงเทราค่ะ ขอบคุณค่ะ

เรียน คุณวรรณพร วงษ์กูล

ใช้ผักตบชวาสดหรือแห้ง หรือพอหมาดๆ ครับ

และเพาะกลาแจ้งหรือในโรงเรือนครับ

หากกลางแจ้งให้ระวังความชื้นจะมากเกินไป ดังนั้นถ้าเป็นผักตบสดปล่อยให้หมาดๆ จะดีกว่า และเติมด้วยขี้เลื่อยเก่านะครับเพื่อดูดซับความชื้น

หากสงสัยเพิ่มเติมโทรมาได้ที่ 081-8773460 หรือที่ email : [email protected] หรือเข้าไปที่ www. semubu.org เพื่อดูบทความเรื่องเห็ดฟางครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท