ฝึกจิต ฝึกสมาธิ...


พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาใจใส่ในเรื่องการทำสมาธิ คนอื่นเขาจะทำหรือไม่ทำก็ช่างเขาก็ให้เราปฏิบัติ เราอย่าเอาคนอื่นเป็นประมาณ “เราเกิดมาก็เกิดคนเดียว แก่ เจ็บ ตาย ก็คนเดียว...”


          การฝึกจิตใจนี้ ฝึกสมาธินี้สำคัญมาก...
          พระพุทธเจ้าของเราท่านจะเดิน จะนั่ง จะนอน จิตใจของท่านมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง หายใจเข้าก็สบาย หายใจออกก็สบาย มีวิหารธรรมด้วยความว่าง ด้วยอานาปานสติ

Large_out107

          การฝึกหายใจเข้าออกสบายนี้ ไม่ใช่เฉพาะการนั่งสมาธิ “พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกหายใจเข้าออกสบาย”
          บ้านเราที่แท้จริง... ให้ทุกท่านทุกคนรู้ไว้ว่าบ้านเราที่แท้จริง คือ พระนิพพาน คือสถานที่ปราศจากตัวตน “ถ้าเราปราศจากตัวได้เราจะสัมผัสแดนพระนิพพาน...”

          การฝึกใจให้เข้าสมาธินี้สำคัญมาก...
          พระพุทธเจ้าก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านก็กำหนดจิตใจเข้าสู่สมาธิ เข้าญาณ ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ ถอยกลับไปกลับมา ท่านจึงเสด็จดับขันธ์เจ้าสู่ปรินิพพาน นี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกจิตใจให้เป็นสมาธินี้สำคัญมาก
เวลาเราเจ็บไข้ไม่สบาย เรี่ยวแรงจะเดิน จะวิ่ง จะพูดมันก็ไม่มีมันทำไม่ได้ มันพึ่งอะไรไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราจะพึ่งได้ก็คือ สมาธิ คือลมหายใจเข้าหายใจออก ให้ใจของเรามาอยู่กับลมเข้า ลมออก ฝึกเข้าสมาธิให้ได้

Large_jungle084

          ทำจิตใจของเราให้ขาวรอบ...
          เขาทำความสะอาด ซักเสื้อผ้า เขาทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมา “เราจะซักฟอกจิตใจของเรา เราก็ต้องซักฟอกด้วยสมาธิ...”

          ฝึกให้มาก ปฏิบัติให้มาก...
          ถ้าเราหายใจเข้าออกสบาย ความสงบมันก็มีของเขาเอง เราไม่ต้องอยากหรือไม่อยาก เรามีหน้าที่ทำ มีหน้าที่ปฏิบัติ
พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ให้เราทุก ๆ อิริยาบถ เราจะหายใจเข้าออกให้สบายก็ได้ หรือจะหายใจเข้าพุทธออกโธก็ได้

          ถ้าใจมันไม่อยู่ก็ท่อง พุทโธ พุทโธ ถ้ามันยังไม่อยู่ก็นับ พุทโธ๑ พุทโธ๒ ไปเรื่อย ๆ นะ นับไปเหมือนกับเรานับแบงค์นับสตางค์ ถือว่าพุทโธเป็นแบงค์พันก็แล้วกัน นับไปเรื่อย ๆ อย่าให้มันหลง ถ้ามันหลงแล้วก็เริ่มต้นใหม่

          เมื่อใจของเรามันสงบ ใจของราเป็นหนึ่ง เราค่อยกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก
          เมื่อใจมันสงบ กายมันสงบ เราก็มาอยู่กับตัวผู้รู้ ตัวผู้รู้เป็นเอกัคตารมณ์ คือ ลมเป็นหนึ่ง จิตใจของเรามันจะใส มันจะตั้งมั่น ไม่ปรุงแต่งอะไร

Large_sche105 

          ให้เราตั้งมั่นไว้เป็นหนึ่งนาน ๆ ...
          อย่าไปสงสัยว่ามันเป็นฌานที่ ๑, ๒, ๓, หรือเปล่า อย่าไปสงสัย ถ้าเราคิดปรุงแต่งเมื่อไหร่ สมาธิของเราจะเคลื่อน เราฝึกไว้ ปฏิบัติไว้เพื่อให้เกิดความชำนิชำนาญ ถ้าความอยาก ความต้องการมาปรุงแต่งจิตใจของเรา สมาธิมันจะหายทันที เราฝึกใจเราไว้ เพื่อให้สติ เพื่อให้สมาธิของเรามันแข็งแรง

          ใจของเรานี้มันมีคลื่นเหมือนกับคลื่นสถานี...
          ถ้าเราทำไปปฏิบัติไป ไปเจอคลื่นต่าง ๆ อาจจะทำให้เราหลงได้ ไปเจอคลื่นหูทิพย์เข้า ได้ยินอะไรต่าง ๆ สิ่งที่มนุษย์เราไม่ได้ยินกัน ไปเจอคลื่นตาทิพย์ สิ่งที่มนุษย์เราไม่รู้กัน มันอาจจะเกิดนิมิตต่าง ๆ นานาในจิตใจของเรา

          พระพุทธเจ้าท่านก็ให้พวกเราทั้งหลายอย่าพากันหลงนะ ให้อยู่กับตัวผู้รู้ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป
มันจะรู้หรือไม่รู้ มันจะเห็นหรือไม่เห็น ไม่สำคัญ มันไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ เรื่องดับทุกข์ก็คือจิตใจของเราไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีความยึดความถือใด ๆ ทั้งสิ้น
ฝึกจิตใจของเราให้มันว่างไว้ก่อน อย่าให้มีตัวมีตนว่าตัวเองรู้ ตัวเองเห็น ตัวเองบรรลุ ว่าตัวเองเป็นบุคคลพิเศษ ...


          ร่างกายนี้มันไม่ใช่พิเศษ มันเจ็บ มันแก่ มันตาย มันพลัดพราก มันมีปัญหามาก ด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค มันไม่มีอะไรพิเศษ มันเป็นธรรมะ เป็นธรรมชาติ มันมีความเกิดเนื่องด้วยเหตุปัจจัย ใจของเรามีอวิชชา มีความหลง มันถึงเป็นอย่างนี้

          พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาใจใส่ในเรื่องการทำสมาธิ คนอื่นเขาจะทำหรือไม่ทำก็ช่างเขาก็ให้เราปฏิบัติ เราอย่าเอาคนอื่นเป็นประมาณ “เราเกิดมาก็เกิดคนเดียว แก่ เจ็บ ตาย ก็คนเดียว...”

Large_sche032

          ให้เราเน้นมาหาตัวเรา เน้นมาหาตัวเก่า ของเก่า คือจิต คือใจของเรา
ถ้าเรามามัวแสวงหาข้าวของ เงินทอง ยศ อำนาจ วาสนาแล้วล่ะก็ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันเป็นสมบัติภายนอก มันไม่ใช่อริยทรัพย์


          เราอายุมากขึ้นหน่อยเราก็เป็นขยะของสังคมแล้ว ไม่มีใครต้องการเราแล้ว จะมีบ้างก็คือลูก ๆ หลาน ๆ ที่มีคุณธรรม เขาก็จะดูแลเราจนกว่าเราจะตาย
เมื่อเราแข็งแรง ประพฤติปฏิบัติได้ เราก็ไม่ปฏิบัติกัน พากันประมาท
ที่จริงเราปฏิบัติได้ เน้นปฏิบัติทั้งทางกาย ทางใจไปพร้อม ๆ กัน


          เอาชีวิตประจำวันนะเป็นวันคืนแห่งการประพฤติปฏิบัติ
           การทำมาหากิน การดำรงชีวิต ถ้าเราไปทิ้งธรรมะ วัตถุต่าง ๆ มันจะให้โทษเรา...


          ยิ่งแก่ก็ยิ่งหลง มันห่วง มันหวง มันอาลัยอาวรณ์ น้ำท่วมบ้านก็ไม่ยอมหนี ไฟไหม้บ้านก็ไม่ยอมหนี จิตใจมันเป็นเปรต เป็นผี เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์...
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า คนเรามันต้องภาวนา คนเรามันต้องปฏิบัติ เน้นไปที่ใจ เน้นไปที่การรักษาศีล เน้นเรื่องทำสมาธิ ปัญญาของเราถึงจะเกิดได้

          ให้ทุกท่านทุกท่านได้พากันฝึกสมาธิกัน ทั้งที่อยู่ในศาลา ในที่พัก ในกุฏิ ที่บ้าน ก็ให้ได้ฝึกกัน


          ให้เป็นตัวของตัวเอง อย่าเป็นคนจิตใจล่องลอย ไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์ ลอยไปลอยมา แล้วแต่สิ่งแวดล้อมมันจะพาไป เป็นคนไม่มีศีล ไม่มีคุณธรรม เดี๋ยวจะเสียชาติเกิดที่เราและท่านได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า ...

Large_out083


 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันอังคารที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 481512เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2012 05:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 02:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท