ไปเสาะหาวิธีจัดการเรียนรู้ของวิชาชีพสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ ที่กุฉินารายณ์


          ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๒ ก.พ. ๕๕ ผมติดตามคณะ คศน. ในโครงการ Special Studies ไปเยี่ยมชมกิจการ จัดบริการสุขภาพปฐมภูมิเชื่อมโยงกับทุติยภูมิ ที่ รพ. สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์  จ. กาฬสินธุ์

          ตั้งใจว่าไปหาประสบการณ์ตรงด้านการทำงานของ รพช. (โรงพยาบาลชุมชน) ที่ดี   สำหรับเอามาปะติด ปะต่อ หาลู่ทางขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ของวิชาชีพสุขภาพ ให้บรรลุ Transformative Learning, Systems-Based Education, และ Competency-Based Curriculum ที่คิด competencies ที่ต้องเรียนรู้จาก ความต้องการของระบบสุขภาพ   สำหรับใช้ในขบวนการ HPER (Health Professional Education Reform) for 21st Century

          แล้วผมก็ไม่ผิดหวัง เพราะ ผอ. รพ. คือ นพ. นพดล เสรีรัตน์ มีจินตนาการของระบบบริการสุขภาพ ปฐมภูมิเชื่อมโยงกับทุติยภูมิที่น่าทึ่งมาก   เป็นจินตนาการที่เป็นนวัตกรรม   และเกิดผลที่เป็นนวัตกรรมด้วย    คือทำให้เกิดการทำงานควบคู่กับการเรียนรู้เป็นทีมสหวิชาชีพที่ไม่มีที่ไหนเหมือน ประกอบกับมือทำงานหรือ หัวหน้าทีมงานคือ นพ. สิริชัย นามทรรศนีย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว มีทักษะพิเศษด้านการทำงานเป็นทีม    เราจึงได้ไปเห็น Trans-Professional Team ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

          เป็น Trans-Professional Team เพื่อการทำงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ ครอบคลุมทั้งอำเภอ เชื่อมโยงกับ บริการทุติยภูมิ เป็นเนื้อเดียวกัน โดยที่บริการทุติยภูมิบางด้านให้บริการแก่ประชาชนของอำเภออื่นด้วย เช่นบริการ CAPD (ล้างไต)

          เป็นการเชื่อมโยงระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่ระบบที่เป็นทางการแยกเป็น ๒ สาย    คือสาย สาธารณสุขอำเภอ กับ รพสต.   และสาย รพช. เข้าด้วยกัน   ให้เป็นเนื้อเดียวกัน

          เป็น Trans-Professional Team ที่ทำงานไป พัฒนารูปแบบของการทำงานไป ผ่านการเรียนรู้จากการ ทำงาน ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ใช้เครื่องมือ KM    โดยหมอเอก (นพ. สิริชัย) บอกว่า ในเวลาทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง จะใช้เวลา ลปรร. ถึง ๓ ชั่วโมง    เป็นทั้ง Learning Team และ Team Learning   รูปแบบของบริการปฐมภูมิ ที่อำเภอกุฉินารายณ์จึงมีลักษณะจำเพาะตัว ไม่เหมือนที่อื่น

          ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง (มีลักษณะจำเพาะหลายด้านมาก) คือการให้บริการแบบมี “หมอเจ้าของไข้” โดยที่ “หมอเจ้าของไข้” อาจเป็นคนในวิชาชีพใดก็ได้ในทีม คืออาจเป็นพยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด หรือนักจิตวิทยา   ดังนั้นคนที่เป็นทีมงาน ไม่ว่าจะอยู่ในวิชาชีพใด ต้องเรียนรู้ทักษะเพื่อการทำงานปฐมภูมิที่เป็น ความรู้ของวิชาชีพอื่นเท่าที่จำเป็นด้วย   ทีมงานแต่ละคนจึงมี Multi-Professional Skills อยู่ในตัว

          ผมไปเห็น leadership แบบนิ่มๆ และใจเย็น ใช้ยุทธศาสตร์ค่อยเป็นค่อยไป แต่ทำต่อเนื่องไม่หยุด ของ นพ. นพดล   โดยใช้ภาวะผู้นำออกแบบจุดยุทธศาสตร์ของการเริ่มงานบริการสุขภาพปฐมภูมิที่การดูแลผู้พิการ   คู่ไปกับการพัฒนาทีมงานที่มีนักกายภาพบำบัดเป็นกำลังสำคัญ   ที่นี่มีนักกายภาพบำบัดถึง ๗ คน 

          บริการปฐมภูมิต้องรุกออกไปถึงตัวผู้ต้องการบริการ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงบริการที่โรงพยาบาลหรือ สถานีอนามัย   นั่นคือการเยี่ยมบ้าน   การเยี่ยมบ้านจึงเป็นยุทธศาสตร์การเรียนรู้ของทีมบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่ยิ่งใหญ่ และไม่รู้จบ   เพราะเป็นการไปเรียนรู้สภาพจริง ชีวิตจริง ของผู้ป่วยแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันเลย    และไปค้นพบผู้ป่วยที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างยิ่ง แต่จะไม่มีวันมาที่โรงพยาบาล คือผู้ป่วยโรคจิต   ผู้ป่วยที่ไม่มีสถานะ เป็นพลเมืองไทย  ผู้พิการเป็นต้น

          ผมจึงไปค้นพบเครื่องมือสำหรับ HPER ชิ้นหนึ่งแล้ว คือ การเยี่ยมบ้าน ที่เป็นกิจกรรมร่วมของ นศ. วิชาชีพสุขภาพหลายวิชาชีพ   โดยที่พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้จากการเยี่ยมบ้านน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีบริการ ปฐมภูมิเป็นระบบ อย่างที่อำเภอกุฉินารายณ์นี้  

          จึงนำสู่การค้นพบเครื่องมือ HPER ชิ้นที่สอง คือมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีอื่นๆ ในพื้นที่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท.) เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิขึ้นภายในอำเภอ   ย้ำว่าเครื่องมือ HPER ชิ้นที่สองคือ ความร่วมมือพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของอำเภอ

          โดยที่น่าจะศึกษาระบบ (บริการสุขภาพปฐมภูมิ) ที่ รพ. กุฉินารายณ์พัฒนาขึ้น   นำเอาความรู้จาก ประสบการณ์นี้มาพัฒนาระบบให้เหมาะสมกับอำเภอนั้นๆ   โดยผมมีความเห็นว่า ลักษณะสำคัญที่น่าชื่นชมยิ่ง ของ “กุฉินารายณ์โมเดล” คือเป็นระบบที่เรียนรู้   หลักการและวิธีการที่ใช้ช่วยทำให้ทีมงานเกิดการเรียนรู้ และผู้บริหารโรงพยาบาลก็เรียนรู้    ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่เรียนรู้ทางเทคนิกวิชาชีพ แต่มีการเรียนรู้ทักษะทางจิตใจ ทางอารมณ์ หรือการเรียนรู้เติบโตภายใน   และผมเชื่อว่า ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ด้วย   รวมทั้งเป็นโมเดลของ การสร้างการเปลี่ยนแปลง (change management) แบบ positive change ที่ได้ผลดี น่าสนใจ และน่าชื่นชมมาก

          คุณหมอเอกบอกว่า ทีมงานเน้นการนำเอาเรื่องดีๆ มาเล่าเรื่อง    แล้วส่วนที่ต้องปรับปรุงก็ตามมาเอง   โดยไม่ทำให้สมาชิกรู้สึกเสียหน้าหรือรู้สึกผิด

          นักศึกษาวิชาชีพสุขภาพที่ได้เข้าฝึกงานในบรรยากาศแบบนี้ จะได้เรียน Change Agent Skills แบบที่เป็น positive change   และได้บรรยากาศหล่อหลอมการเรียนรู้แบบ Transformative Learning และ Trans-Professional Learning โดยไม่รู้ตัว 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.พ. ๕๕
โรงแรมเกื้อพิมาน  อ. กุฉินารายณ์  จ. กาฬสินธุ์

 

บรรยากาศในห้องประชุมบรรยายสรุประบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของอำเภอกุฉินารายณ์  

ผู้สวมเสื้อขาวนั่งข้างหลังคือ นศพ. ปี ๔ ของ มมส.

 

นพ. นพดล เสรีรัตน์ ผอ. รพ.

 

นพ. สิริชัย นามทรรศนีย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

 

วง BAR ก่อนออกเยี่ยมบ้าน ที่ทีมงานเรียก Pre-Conference

 

เยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกกักขังจนพิการและปัญญาอ่อน

 

ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขของเทศบาลมาร่วมเยี่ยมบ้านด้วย

 

เยี่ยมบ้านคุณยายเป็นเบาหวาน อัมพาต และไร้สัญชาติ

 

                                                           เยี่ยมบ้านผู้พิการจากอุบัติเหตุรถยนต์

 

 

                                                        กลับมาทำ AAR ที่ทีมงานเรียก Post-Conference

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 481050เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2012 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท่านอาจารย์ฯ ไปถึงบ้านผมเลย เป็นเกียรติมาก

ขอบพระคุณมากครับ

วิชิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท