ชุมชนเข้มแข็ง ความสุขที่ยั่งยืน


กิจกรรมการศึกษาดูงานในหัวข้อ "บทบาทของโรงพยาบาลชุมชนในการพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน" ณ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๕

“อำเภออุบลรัตน์” เป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในด้านการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ผมเองได้เคยมาศึกษาดูงานที่นี่หลายครั้งตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ รวมทั้งช่วงที่ได้ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนแล้ว หลายๆ สิ่งที่ได้เห็นจากที่นี่ เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งให้ผมตัดสินใจที่จะทำงานในโรงพยาบาลชุมชน และเลือกที่จะเรียนในหลักสูตรผู้นำการจัดการระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมินี้

สถานที่แรกที่เราได้ไปเยี่ยมชม คือ โรงพยาบาลอุบลรัตน์ และได้พบกับบุคคลที่ถือเป็นแกนนำสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องราวที่เราจะไปเรียนรู้ในครั้งนี้ คือ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์

นพ.อภิสิทธิ์ ได้นำเราเข้าสู่เนื้อหาโดยเริ่มจากการกล่าวถึง ระบบทุนนิยม อันมีเงินเป็นเป้าหมาย แต่ด้วยการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน คนไทยซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกร ต้องมุ่งเน้นการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและหันไปพึ่งสารเคมีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้กลับทำให้ผู้คนต้องเป็นทุกข์จากกลไกตลาดและความล้มเหลวในการบริหารเงิน กลายเป็นหนี้ ซ้ำยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในที่สุด

จากการที่ได้เรียนรู้จาก “ปราชญ์ชาวบ้าน” ได้นำมาซึ่งแนวคิดเรื่อง “ความพอเพียง” ที่ถือเอา “ความสุข” เป็นเป้าหมายของชีวิต การเปลี่ยนความคิดจาก ทุนนิยม ไปเป็น ความพอเพียง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่วิถีชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนได้

ในฐานะผู้นำทางสุขภาพ นพ.อภิสิทธิ์ ได้นำพาชุมชนให้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนความคิดดังกล่าว โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตกผลึกความคิดด้วยตัวเอง จนเกิดมีความรู้สึกแห่ง “การเป็นเจ้าของ” ในแนวความคิดและการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มีสุขนั้นๆ ของตนเอง ประเด็นหลักของการปฏิบัติจะเป็นเรื่อง “เกษตรปราณีต” ซึ่งมีตัวอย่างดังคลิปต่อไปนี้

หลายๆ คนประสบความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนความคิดดังกล่าวแล้วนำไปปฏิบัติ เกิดเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” และมีเครือข่ายกัลยาณมิตรที่ช่วยถ่ายทอดความรู้กระจายไปสู่บุคคลและชุมชนอื่นๆ เมื่อคนส่วนใหญ่ในชุมชนทำได้เช่นนี้ ความสุขก็เกิดขึ้นเป็นภาพรวม สุขภาพที่ดีก็ตามมา และในที่สุดก็กลายเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” ด้วย “ความสุขที่ยั่งยืน”

สิ่งที่คาดหวังสำหรับการมี “ชุมชนเข้มแข็ง” และ “ความสุขที่ยั่งยืน” ของชาวอำเภออุบลรัตน์ เรียกว่าเป็น “๕ส แบบ อ.อุบลรัตน์” ที่ไม่ได้เกี่ยวกับมาตรฐานการจัดระเบียบสถานที่หรือหน่วยงาน แต่มีรายละเอียดดังนี้

ส๑ สี่ปัจจัย หรือ ปัจจัย ๔ พอเพียง มีคุณภาพ
ส๒ สังคมดี คนไม่ทอดทิ้งกัน
ส๓ สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีมลภาวะ
ส๔ สมองดี แก้ปัญหาได้
ส๕ สุขภาพดี ไม่ตายโดยไม่สมควร มีสถานพยาบาลที่พร้อม มีเจ้าหน้าที่ที่ดี และประชาชนลุกขึ้นมาสร้างสุขภาพด้วยตนเอง

เป้าหมายดังกล่าว อาศัยยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งมี ๓ องค์ประกอบหลัก คือ ความรู้ เครือข่าย และการจัดการ โดยดัดแปลงจากแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี นำมาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อให้เกิด “๕ส” ดังกล่าว

หลังจากนั้นเราได้ไปพบกับบุคคลอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ในเรื่องของการเปลี่ยนความคิดและนำมาปฏิบัติจนเกิดผลดีและมีชีวิตที่มีสุข นั่นคือ Mr.Martin Wheeler ชาวอังกฤษซึ่งแต่งงานกับคนไทยและมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านคำปลาหลาย อ.อุบลรัตน์ แห่งนี้มานานเกือบสิบปี

คุณมาร์ตินได้เล่าเปรียบเทียบชีวิตสังคมความเป็นอยู่ของชาวอังกฤษที่คนไทยมักคิดว่า ฝรั่งรวย ฝรั่งฉลาด แต่ระบบทุนนิยมก็ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมที่ดูรุนแรงมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำในสายตาของเขา คุณมาร์ตินกล่าวว่า ชาวไทยส่วนใหญ่ยังโชคดีที่มีที่ดินใช้ทำกินได้ ในขณะที่คนอังกฤษส่วนใหญ่ไม่มีที่ดิน ต้องเช่าของคนรวยอยู่ การเกษตรก็เป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น เพราะเป็นกลุ่มชนส่วนน้อยที่มีที่ดิน สวัสดิการต่างๆ อาจดีกว่าไทย แต่ก็ต้องแลกด้วยการจ่ายภาษีที่แสนแพง และที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขามาก ก็คือ ลูกชายของเขาจะกลายเป็นคนแรกในรอบกว่าร้อยปีของตระกูล Wheeler ที่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่เป็นที่ดินในประเทศไทย

คุณมาร์ตินได้นำหลักการของเกษตรปราณีตมาใช้ โดยทำให้ที่ดินของครอบครัวภรรยาของเขา สิ่งที่เขาได้รับอาจไม่ใช่เงินทองหรือผลกำไร แต่เป็นความสุขพร้อมกับสุขภาพที่ดี ปัจจุบันคุณมาร์ตินกลายเป็นบุคคลที่เป็นแหล่งความรู้และแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนที่จะเปลี่ยนความคิด และอาจถือได้ว่าเขาเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” คนหนึ่งได้เช่นกัน

อ่านเรื่องราวของคุณมาร์ตินเพิ่มเติมได้ที่ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=165112

สถานที่สุดท้ายที่เราไปเยี่ยมชม คือ ศูนย์ค้ำคูณ ๒ ซึ่งเป็นที่ดินที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ซื้อไว้แล้วให้ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV มาทำการเกษตรปราณีตตามแนวคิดที่ตกผลึกร่วมกันมา ที่แห่งนี้ นอกจากจะเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นที่ที่ให้โอกาสสำหรับผู้ป่วยที่สังคมเคยปฏิเสธการยอมรับ แต่ทุกวันนี้ ผู้ป่วยเหล่านั้นนอกจากจะมีสุขภาพกายที่ดีแล้ว สุขภาพใจก็แจ่มใสอีกทั้งยังมีความภูมิใจในตนเองที่สามารถพึ่งตนเองได้ และนี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงการได้มาซึ่งสุขภาพที่ดีจากแนวคิดแห่งความพอเพียงดังกล่าว

สำหรับการศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีอีกบุคคลหนึ่งที่เราต้องขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างสูง คือ พญ.ทานทิพย์ ธำรงวรางกูร ผู้เป็นทั้งคู่ชีวิตของท่าน นพ.อภิสิทธิ์ และผู้ที่ร่วมบุกเบิกดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ จนกลายมาเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ ครั้งนี้ท่านได้มานำพวกเราไปยังสถานที่ต่างๆ ดังกล่าว พร้อมทั้งเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆ ที่ตกค้างจากการฟัง นพ.อภิสิทธิ์ และคุณมาร์ติน ช่วยทำให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 480745เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2012 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่แบบอย่างดีๆเช่นนี้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท