จาก OTOP, SMEs , SMCE ถึง MEs


โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ : One Tambon One Product เป็น โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น : Outlet To On-Shelf Peer working วิสาหกิจขนาดกลางหรือวิสาหกิจขนาดย่อม : SMEs วิสาหกิจชุมชน : SMCE วิสาหกิจรายย่อย : MEs

จาก OTOP,  SMEs , SMCE ถึง MEs

1.)  “โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ One Tambon One Product เป็น “โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น” หรือ Outlet To On-Shelf Peer working

“โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” เกิดจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ พ.ศ. 2544 ประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน 2544 สมัยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เรียกสั้นๆว่า โอทอป (OTOP) เป็นโครงการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชาวบ้านในแต่ละตำบลสร้างอาชีพในการผลิตสินค้า เพื่อออกจำหน่าย โดยสร้างสินค้าที่เป็นสินค้าประจำตำบลนั้นๆ จากแรงบันดาลใจมากจากโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่น หลังจากรัฐประหาร พ.ศ. 2549 โครงการโอทอปได้ถูกยกเลิกไป ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี[Online]. Available URL :  http://th.wikipedia.org/wiki/)

โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ในปี พ.ศ. 2553 (OTOP Product Champion : OPC)

นโยบายรัฐบาลยังคงใช้ชื่อ “โอทอป” (OTOP) แต่ปรับเปลี่ยนคำเดิม จาก “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ One Tambon One Product เป็น “ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น” หรือ Outlet To On-Shelf Peer working  โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ โอทอปที่ผลิตโดยชุมชน เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ซึ่งไม่จำเป็นว่า หนึ่งตำบลจะต้องมีหนึ่งผลิตภัณฑ์ อาจเป็นหลายชุมชนเป็นเครือข่าย และไม่จำเป็นต้องอยู่ในจังหวัดหรือภาคเดียวกัน  ส่วนที่ 2  คือผลิตภัณฑ์มาจากผู้ประกอบรายเดียว เช่น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น” โดยมุ่งเน้นเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างรายได้ และกำไรให้กับชุมชนของตนเอง ส่วนการพัฒนาสินค้าชุมชน จะเน้นการเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้าน โดยให้นำศักยภาพทางการตลาดมาเป็นตัวนำในการผลิตสินค้า เพื่อเป้าหมายด้านรายได้และกำไร ตามระบบตลาด  มาเป็นตัวนำในการผลิตสินค้า โดยมองว่า ที่ผ่านมาจะเป็นการดำเนินธุรกิจ โดยไม่มีการวางแผนถึงแนวทางการทำการตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ต้องล้มหายตายจากไป ไม่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้

(กัลยาณี สูงสมบัติ, 2554. [Online]. Available URL :   http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L6/6-2-3.html)

 

2.) “วิสาหกิจขนาดกลางหรือวิสาหกิจขนาดย่อม : SMEs”

“วิสาหกิจ” (Enterprise) ตามพจนานุกรมหมายความว่า การประกอบการที่ยาก สลับซับซ้อนหรือเสี่ยงต่อการขาดทุน ล้มละลาย (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) แต่ตามพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติให้ความหมายว่า “การประกอบกิจการเพื่อหารายได้” (วิชา มหาคุณ, 2548)

“วิสาหกิจ” หมายความว่า กิจการผลิตสินค้า กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก หรือกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 3 พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543)

“วิสาหกิจขนาดกลางหรือวิสาหกิจขนาดย่อม” (Small and Medium Enterprises หรือ SMEs) ได้แก่ วิสาหกิจที่มีจำนวนการจ้างงานมูลค่าสินทรัพย์ถาวร หรือทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 4 พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543)

สรุปวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หมายถึง กิจการด้วยจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวร ดังนี้

 

ลักษณะวิสาหกิจ

จำนวนการจ้างงาน

 (คน)

จำนวนสินทรัพย์ถาวร

(ล้านบาท)

ขนาดย่อม

ขนาดกลาง

ขนาดย่อม

ขนาดกลาง

กิจการผลิตสินค้า

ไม่เกิน 50

51-200

ไม่เกิน 50

51-200

กิจการค้าส่ง

กิจการค้าปลีก

ไม่เกิน 25

ไม่เกิน 15

26-50

16-30

ไม่เกิน 50

ไม่เกิน 30

51-100

31-600

กิจการให้บริการ

ไม่เกิน 50

51-200

ไม่เกิน 50

51-200

 

ที่มา : กฎกระทรวง กำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2545 และ มาตรา 4 พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543

([Online]. Available URL : http://www.rd.go.th/publish/38056.0.html)

การเติบโตของธุรกิจ SMEs นับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สำนักงานส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดทำโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งเน้น 2 แนวทาง คือ การยกระดับทักษะความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ (skills enhancing) และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของSMEs (competitiveness improvement) เพื่อเพิ่มทักษะและคุณภาพด้านบริหารจัดการ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับ SMEs ในระดับอุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังให้ความสำคัญสนับสนุนด้านการเงิน การตลาด การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน เพิ่มความรวดเร็วเพิ่มผลิตภาพ ของอุตสาหกรรมเพื่อเกิดความร่วมมือระหว่างกัน ขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ SMEs ให้กระจายในภูมิภาคอันเป็นกลไก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมในระดับภูมิภาค ([Online]. Available URL : http://th.wikipedia.org/wiki/SMEs_Project)

3.) “วิสาหกิจชุมชน : SMCE”

“วิสาหกิจชุมชน” (Small and Micro Community Enterprise – SMCE) หมายถึง กิจการชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน (มาตรา 3 พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548)

 

สรุปคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน (ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน วันที่ 15 สิงหาคม 2548)

1. เป็นกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นๆ  ที่ทำให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน

2. เป็นกิจการที่ดำเนินการหรือประสงค์จะดำเนินการร่วมกันในชุมชน โดยคณะบุคคลที่เป็นนิติบุคคลหรือไม่เป็นนิติบุคคล และประกอบด้วยสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในชุมชน ไม่น้อยกว่า 7 คน โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน

3. เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เพื่อการพึ่งพาตนเองและเพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน

4. เป็นกิจการที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

(ข่าวเศรษฐกิจ RYT9, 28 สิงหาคม 2549.[Online]. Available URL : http://www.ryt9.com/s/ryt9/64580)

 

4.) “วิสาหกิจรายย่อย : MEs”

 “วิสาหกิจรายย่อย” (Micro Enterprises : MEs) หมายถึง วิสาหกิจที่มีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน และไม่จดทะเบียนพาณิชย์

(นิยามวิสาหกิจรายย่อยของประเทศไทย ยังมิได้มีการให้คำจำกัดความอย่างเป็นทางการดังเช่นนิยามของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หากพิจารณาจากนิยามของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พบว่า วิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprises) เป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprises : S) ทั้งนี้ วิสาหกิจขนาดย่อมที่ไม่รวมวิสาหกิจรายย่อย เรียกว่าวิสาหกิจขนาดเล็ก)(สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.), รายงานสถานการณ์วิสาหกิจรายย่อย ปี 2552, 2553)

หมายเลขบันทึก: 480254เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2020 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 43 ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการของบุคคลไว้ดังนี้

“มาตรา 43 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”

ในการดำเนินการทางธุรกิจปัจจุบัน ต้องแข่งขันกับตลาดโลกการค้าเสรี (FTA-Free Trade Area) ตามแนวคิดระบบตลาดเสรี ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่า “ระบบทุนนิยม” (Capitalism) (ดร.ไสว บุญมา,2552. [Online]. Available URL : http://www.sarut-homesite.net/2009/07/คิดถึงอะดัม-สมิธ-1-ดร-ไสว/) ซึ่งในสังคมไทยกำลังประสบกับปัญหาสองกระแสที่ขัดแย้งกัน คือ ซีกหนึ่งเป็น "ระบบวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยม" (Materialism/Consumerism) และอีกซีกหนึ่งเป็น "พอเพียงนิยม"(Sufficientism) ผู้ศึกษาจึงได้ศึกษารูปแบบธุรกิจที่เห็นว่าอยู่ระหว่างสองกระแสดังกล่าว คือ “วิสาหกิจชุมชน" (SMCE- Small and Micro Community Enterprise) ซึ่งเป็นธุรกิจที่เล็ก ๆ ในท้องถิ่น มีเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นการประกอบกิจการแบบใช้ฝีมือ อันแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในท้องถิ่นในชนบท

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548

มาตรา 6 เมื่อกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับคำขอจดทะเบียนและเห็นว่าวิสาหกิจชุมชนที่ยื่นคำขอจดทะเบียนมีลักษณะและวัตถุประสงค์ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ให้กรมส่งเสริมการเกษตรรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนแก่วิสาหกิจชุมชนนั้น

วิสาหกิจชุมชน กับมาตรการทางภาษีแบบมีส่วนร่วม

โดยที่เศรษฐกิจชุมชนเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง และโดยที่เศรษฐกิจชุมชนในปัจจุบันจำนวนหนึ่งยังอยู่ในระดับที่ไม่พร้อมจะเข้ามาแข่งขันทางการค้าทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ สมควรให้มีการส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างรายได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาความสามารถในการจัดการและการพัฒนารูปแบบของวิสาหกิจชุมชน อัน จะยังผลให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งพร้อมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคตไม่ว่าในระดับใด รวมไปถึงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนไปสู่การเป็น ผู้ประกอบกิจการขนาดย่อมและขนาดกลางต่อไป แต่การมีข้อจำกัดสองประการ คือ การประกอบการยังไม่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนอื่นๆ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และ ข้อมูลของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายยังไม่ชัดเจน ทำให้การสนับสนุนจากภาครัฐไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 ขึ้น

โดยวิสาหกิจชุมชนนั้นจะมีสถานะเป็นหน่วยภาษี ซึ่งรายได้จากกิจการของวิสาหกิจชุมชน ย่อมถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และกิจการของวิสาหกิจชุมชนที่ได้กระทำในราชอาณาจักร อาจอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ภาครัฐพยายามที่จะสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำมาตรการทางภาษีเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและกระตุ้นให้วิสาหกิจชุมชนสามารถเติบโตและก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการขนาดย่อมและขนาดกลางต่อไป ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 กำหนดให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นข้อ (78) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ "เงินได้ของวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้ไม่เกินหนึ่งล้านสองแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด" ซึ่งกรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 168) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ของวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551 โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชนที่ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ไว้ดังนี้

1 ) วิสาหกิจชุมชนต้องจดทะเบียนและ ได้รับใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจากกรม ส่งเสริมการเกษตรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548

(วารสารสรรพากรสาส์นประจำเดือน พฤศจิกายน 2551. [Online]. Available URL : http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.php?aID=189)

1 เสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 83 ว่า “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจเศรษฐกิจพอเพียง”

ในการแข่งขันกับตลาดโลกการค้าเสรี (FTA-Free Trade Area) ในสองกระแสระหว่าง "ระบบวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยม" (Materialism, Consumerism) และ "พอเพียงนิยม" (Sufficientism) เมื่อมีกฎหมายในรัฐธรรมนูญ การบริหารของรัฐจึงต้องมีความทัดเทียมกัน คือให้การสนับสนุนทั้งสองฝ่าย ทำอย่างจริงจังทั้งสองฝ่าย สรุปว่ามุ่งพัฒนาให้เต็มรูปแบบทั้ง 2 ฝ่าย ประชาชนจะเลือกอยู่ในระบบใดเป็นสิทธิของประชาชน เมื่อนานปีเข้าประชาชนเป็นผู้ตัดสินเลือกฝ่ายได้เด่นชัดขึ้น หรือจะควบคู่ไปทั้งสองอย่างก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทั้งนี้ให้เป็นทางเลือก เพื่อเป็นบทพิสูจน์ระบบการดำรงชีวิตไปในตัว ไม่ต้องให้ประชาชนกังขาว่าระบบใดดีไม่ดีอย่างไร นั่นเป็นการค้นหาการดำรงชีพที่ให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริง และยั่งยืนช่องทางหนึ่ง

ประทีป วัฒนสิทธิ์ ได้นำเสนอ ดังนี้ " ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพการเลือกแนวทางการดำรงชีพ ในรูปแบบ ประชาธิปไตยระบบเศรษฐกิจวัตถุนิยม หรือ ประชาธิปไตยระบบเศรษฐกิจพอเพียงนิยม โดยรัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาทั้งสองระบบเศรษฐกิจนี้อย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน " (ประทีป , 2555.)

2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 (2015)

มีข้อควรระวังเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจเสรี หรือระบบเศรษฐกิจโลก ในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจจุบัน ระวังเอเชียกำลังเผชิญภาวะเสี่ยงหลังเกิดกระแสเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิเคราะห์หวั่นว่าจะนำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้งรอบใหม่ ด้วย (กรุงเทพธุรกิจ, 24 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]. Available URL : http://www.rsunews.net/index.php/news/detail/595)

อาเซียน จะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 หนีไม่พ้นสัจจธรรมว่าด้วย “โอกาสและความท้าทาย” บทเรียนของการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักดีว่า ภาวะไร้พรมแดนของการเคลื่อนย้ายสินค้าและเงินทุนนั้น มีอยู่จริงก็แต่เพียงในอุดมคติเท่านั้น เนื่องจากสนธิสัญญา ข้อตกลง หรือระเบียบกฎหมายอะไรต่าง ๆ มักจะมีช่องโหว่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าได้ตลอดเวลา ข้อตกลงจัดตั้ง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็เช่นเดียวกัน หลีกหนีไม่พ้นปัญหาการใช้ช่องโหว่ของข้อตกลงเพื่อเอารัดเอาเปรียบกัน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติของธุรกิจการค้าหรือธรรมชาติของมนุษย์ก็ว่าได้

(ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์, 24 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]., Available URL : http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000025293)

3 แนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิค “อะดัม สมิธ”

ดร.ไสว บุญมา (2552) กล่าวสรุปว่า ท่ามกลางการโหมกระหน่ำของวิกฤติเศรษฐกิจ แนวคิดระบบตลาดเสรี ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่า ระบบทุนนิยม ถูกประณามว่าสามานย์และเป็นต้นตอของเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ พร้อมทั้งครั้งที่ผ่านๆมาด้วย เนื่องจาก อะดัม สมิธ ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นตำรับของแนวคิด บ่อยครั้งชื่อของเขาจึงถูกอ้างถึง แต่ผู้อ้างส่วนใหญ่ดูจะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า อะดัม สมิธ คิดอย่างไร และดำเนินชีวิตอย่างไร ถ้าคนไทยเข้าใจและปฏิบัติตามแนวคิด และการดำเนินชีวิตของเขา เมืองไทยจะไม่ประสบวิกฤติในหลากหลายด้าน ซึ่งแสดงอาการออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทั้งโดยทั่วไปและในด้านการทำธุรกิจในปัจจุบันนับวันจะสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น สร้างความจำเป็นให้ทุกคนต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นที่มาของเรื่อง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” คนไทยเพิ่งจะเริ่มพูดถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ทั้งที่มันมีมาตั้งแต่ก่อนสมัย อะดัม สมิธ ด้วยซ้ำ การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นวิธีเพิ่มทุนในด้านนามธรรม ที่ อะดัม สมิธ เองปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะจากการอ่านและการฟังปราชญ์ ในระบบตลาดเสรี คนเราต้องมีข่าวสารข้อมูลทัดเทียมกัน ... เพราะคนไทยโดยทั่วไปไม่ค่อยมีทุนทางด้านมันสมอง พร้อมทั้งขาดจริยธรรมนั่นเอง…

จากข้อความสะท้อนให้เห็นความสำคัญของโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด แม้การประกอบการธุรกิจ

ในปัจจุบันโลกมีแนวโน้มหันกลับมาแนว “บูรพาภิวัตน์” หรือ กลับขั้วจากตะวันตกมาตะวันออก เพราะตะวันออกเราเจริญมากทางเศรษฐกิจ ในยุค 5 ปี 10 ปี ที่ผ่านมา ...ประมาณ 2000 ปีที่แล้ว หรือในสมัยพุทธกาล เอเชียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณเกือบ 80% ของเศรษฐกิจโลก เป็นเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะจีน กับอินเดีย … (เอนก เหล่าธรรมทัศน์, 2555.)

4 ประเทศไทยอยู่ในอุ้งมือของธุรกิจ SMEs

จากข้อมูลปี 2552 พบว่า จำนวน SMEs ที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม มีอยู่จำนวน 2.88 ล้านแห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.4 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด (ข้อมูล สสว.2553) พบว่าปี 2552 วิสาหกิจรายย่อย (MEs) มีเป็นจำนวนมากถึง 1.89 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 65.7 ของจำนวน SMEs ทั้งหมด

ข้อมูลปี 2552 ระบุว่ามีจำนวน SMEs ถึง 2.88 ล้านหน่วย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 99.4 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็น “วิสาหกิจรายย่อย” (Micro Enterprise : MEs) ถึงร้อยละ 65.7 และมีการจ้างงาน SMEs จำนวน 8.26 ล้านคน และ MEs จำนวน 3.15 ล้านคน (ข้อมูล สสว.2553)

ด้วยข้อจำกัดของ SMEs ที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจส่วนใหญ่ของประเทศ (ร้อยละ 99 ของวิสาหกิจทั้งหมด) ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่อาจแข่งขันกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ได้ และประเทศไทยเปิดเสรีด้านการลงทุน การบริการ และการค้ารัฐบาลไทยจึงมีนโยบายการเจาะตลาดต่างประเทศของ SMEs ขยายไปตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น ตลาดอาเซียน จีน อินเดีย และรัสเซีย เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ทดแทนตลาดหลักที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่จะรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าและธุรกิจบริการบนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างตราสินค้า นวัตกรรม การสร้างสรรค์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการค้าในโลกยุคใหม่

(ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์, 4 มกราคม 2554. [Online]., Available URL : http://www.managerweekly.com/)

5 ด้านเงินทุน micro finance

โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อยมีน้อย ควรเปิดโอกาสให้มีโอกาสให้มากขึ้น โดยให้นำแนวคิดเรื่อง “micro finance” ในเรื่อง “ธนาคารคนจน” ตามแบบของโมฮัมเม็ด ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังคลาเทศผู้ได้รับรางวัลโนเบล มาใช้

6 การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)

การประการวิสาหกิจชุมชน เป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นไป มีการพัฒนาทักษะมาตรฐานฝีมือ สมอ. หรือ มผช.(มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) ควรให้มีการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา

7 แนวโน้มธุรกิจสีเขียว (GLOBAL GREEN 2012)

ขอฝากเรื่องการดำเนินการธุรกิจที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก ตามกระแสโลการค้าเสรีไว้ด้วย กล่าวคือ

แนวโน้มของการพัฒนาแนวคิดกรีนหรือโลกสะอาดยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนอยากเห็นว่าจะดำเนินไปอย่างไรในอนาคต จึงมีนักวิจัยหลายสำนักออกมาพยากรณ์เกี่ยวกับแนวโน้มของโกลบอล กรีนกันตั้งแต่ต้นปี 2012 อย่างเช่นสถาบันที่มีชื่อว่า The Spencer Institute ได้เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มของการดำเนินชีวิตแบบกรีนและการดำรงอยู่แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2012 ไว้ว่าชีวิตในอนาคตยังคงเน้นความพยายามที่จะอยู่แบบกรีนมากขึ้นกว่าเดิม โดยคาดว่าจะเน้นในด้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนของการเติบโตแบบกรีนมากขึ้น ทำให้สีของปี 2012 ยังคงเป็นสีเขียว และแนวคิดกรีนไม่ใช่เพียงแนวโน้มของโลกอีกต่อไป …

(ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์, 6 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]., Available URL : http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000016589)

บรรณานุกรม

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประมวลรัษฎากร

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 รวมแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475

พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510

พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548

พระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการเป็นพาณิชยกิจ พ.ศ. 2546

หนังสือ

เพิ่มบุญ แก้วเขียว. การไล่สายทางกฎหมายภาษีสรรพากร Taxation Law Made Easy. บริษัทวิทยพัฒน์จำกัด, กรุงเทพ , พิมพ์ครั้งที่ 2 , 2552.

เพิ่มบุญ แก้วเขียว. ประมวลรัษฎากร ฉบับประยุกต์ สำหรับนักศึกษาภาษีอากร(แก้ไขปรับปรุงล่าสุด). มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2554.

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.). “รายงานสถานการณ์วิสาหกิจรายย่อย ปี 2552, 2553.”

อรวรรณ พจนานุรัตน์ และ เพิ่มบุญ แก้วเขียว. เอกสารประกอบคำบรรยายกระบวนวิชากฎหมายภาษีอากรชั้นสูง (Advanced Taxation) LA417. หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภาคการศึกษาที่ 2/2554.

บทความ

Campbell Brown. “PRIORITY OR SUFFICIENCY OR BOTH?.”

Economics and Philosophy, 2005, vol. 21, issue 02, pages 199-220. [Online]. Available URL : http://philpapers.org/rec/BROPOS

Daipalo (นามแฝง). “บูรพาภิวัตน์: ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่.” กรุงเทพธุรกิจ, 7 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]. Available URL : http://www.tissiam.com/archives/1140

“GLOBAL GREEN 2012 10 แนวโน้มธุรกิจสีเขียว.” ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์, 6 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]. Available URL : http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000016589

“insight AEC : ปัญหาท้าทายของอาเซียน.” ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์, 24 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]. Available URL : http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000025293

“SMEs Project : โครงการวิสาหกิจขนาดกลางหรือวิสาหกิจขนาดย่อม.” [Online]. Available URL : http://th.wikipedia.org/wiki/SMEs_Project

“กฎหมายภาษี.” [Online]. Available URL : http://www.thethailaw.com/law27/lawpdf/law4/4-9.pdf

กัลยาณี สูงสมบัติ. “ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (Outlet To On-Shelf Peering Working) หรือ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์.” มหาวิทยาลัยเทคโนราชมงคลพระนคร, มปป.

[Online]. Available URL : http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L6/6-2-3.html

“คำศัพท์ที่น่าสนใจสำหรับชาวร้านค้าออนไลน์.” 15 กรกฎาคม 2553. [Online]. Available URL : http://www.makewebeasy.com/article/word_shoppingonline.html

“บทความ: มารู้จัก พ.ร.บ. วิสาหกิจชุมชนกันดีกว่า.” ข่าวเศรษฐกิจ RYT9, 28 สิงหาคม 2549. [Online]. Available URL : http://www.ryt9.com/s/ryt9/64580

“ปตท.ลั่นเดินหน้าเต็มที่ 'พลังสีเขียว' เพิ่มเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม.” ไทยรัฐออนไลน์ โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจออนไลน์, 25 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]. Available URL : http://www.thairath.co.th/content/eco/240666

ประทีป วัฒนสิทธิ์. “ขอเสียงสนับสนุน การเสนอกฎหมาย 1 มาตรา ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่.” 25 กุมภาพันธ์ 2555. [Online]. Available URL : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/479920

“ภาษีเงินได้ : ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีอย่างไร ได้ประโยชน์สูงสุด.” วารสารสรรพากรสาส์นประจำเดือน พฤศจิกายน 2551.

“ภาษีอีคอมเมิร์ซ:เปิดร้านค้าออนไลน์เสียภาษีไหม?...หลักการคำนวณภาษีขายสินค้าออนไลน์เป็นอย่างไร... ” ใน: อีคอมเมิร์ซ แมกาซีน ฉบับ เดือนมีนาคม 2553, 29 มิถุนายน 2553. [Online]. Available URL : http://www.makewebeasy.com/article/e-commercetax.html

“วิสาหกิจชุมชนว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร.” [Online]. Available URL : http://province.prd.go.th/phrae/visahakitchoomchon.htm

ไสว บุญมา. “คิดถึงอะดัม สมิธ.” 18 กรกฎาคม 2552. [Online]. Available URL :

http://www.sarut-homesite.net/2009/07/คิดถึงอะดัม-สมิธ-1-ดร-ไสว/ or

http://www.sarut-homesite.net/2009/07/คิดถึงอะดัม-สมิธ-จบ-ดร-ไ/

“ห่วงเงินไหลเข้าเอเชีย วิกฤติต้มยำกุ้งรอบใหม่.” กรุงเทพธุรกิจ, 24 กุมภาพันธ์ 2555.

[Online]. Available URL : http://www.rsunews.net/index.php/news/detail/595

อารียา ศรีประเสริฐ. “E-COMMERCE MANAGEMENT IN INTERNATIONAL BUSINESS.” คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ, มหาวิทยาลัยอีสต์เอเชีย. [Online]. Available URL : course.eau.ac.th/course/Download/00237422/Chapter1.ppt

เว็บไซต์

เว็บไซต์กฎหมายไทย http://www.thailaws.com/

เว็บไซต์กรมสรรพากร http://www.rd.go.th/

เว็บไซต์กูเกิลกูรู http://guru.google.co.th/

เว็บไซต์ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ (TKC e-Thesis) http://www.tkc.go.th/thesis/

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์. http://www.manager.co.th/

เว็บไซต์พจนานุกรมแปลภาษา http://th.w3dictionary.org/

เว็บไซต์รวมลิงค์กฎหมายไทย http://www.lawamendment.go.th/totallink.asp

เว็บไซต์รัฐบาลไทย http://www.thaigov.go.th/

เว็บไซต์ศูนย์บริการช่วยสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

http://isc.ru.ac.th/

เว็บไซต์สถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) http://www.tdri.or.th/

เว็บไซต์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ http://www.thaiecommerce.org/

เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) http://www.trf.or.th/

เว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) http://www.nesdb.go.th/

เว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว. www.sme.go.th/

เว็บไซต์ห้องสมุดออนไลน์ https://history.myfirstinfo.com/

ระเบียบชื่อเรียกต่างๆนี่เข้าใจยากนะครับ หลังจากตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำกิจการที่ดูแลได้เองโดยใช้วิธี บริหารจัดการเอากลุ่มคนที่มีความสามารถกับตัวสินค้ามารวมกันเพื่อทำการติดตั้งก่อนส่งมอบให้ลูกค้าแหะๆ ที่จริงผมเปิดร้านรับ ติดฟิล์มอาคาร ครับ ร้านได้ขออนุญาตจดทะเบียนแบบอิเล็คทรอนิค คือใช้เว็บไซต์เป็นหน้าร้าน แบบนี้จะเข้าข่าย SMEหรืออะไรดีครับ เพราะเราทำงานแบบรวมการเฉพาะกิจ ก็คือผมจะซื้อฟิล์มกรองแสงแล้วก็จ้างช่างมาติดให้ อะไรประมาณนี้ครับ

สรรพากรรื้อใหญ่รับอาเซียนเร่งขจัดอุปสรรคภาษี

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/tax/20111221/425603/สรรพากรรื้อใหญ่รับอาเซียนเร่งขจัดอุปสรรคภาษี.html

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การเงิน - การลงทุน : มุมภาษี

วันที่ 21 ธันวาคม 2554 11:51

ภายใต้เงื่อนไขการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(เออีซี)ของ 10 ประเทศสมาชิกในอีก3 ปีข้างหน้า คำว่า"เสรี"จะถูกคืบคลานเข้าไปสู่ทุกภาคส่วนของธุรกิจ

โดยเฉพาะเงื่อนไขทางด้านภาษี ระบบภาษีของแต่ละประเทศ จึงต้องปรับปรุงทั้งโครงสร้างและรูปแบบการบริการ เพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว

บุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยต้องมีเลขประจำตัวบุคคล ๑๓ หลักที่กำหนดโดยรัฐไทย : นัยยะคืออะไร ?

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480977

4 มีนาคม 2555 Archanwell

รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุของ อ.แหวว - การเชื่อมฐานข้อมูลการประกอบธุรกิจระหว่างกรมการปกครอง กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อกำหนดเลขประจำตัวบุคคล ๑๓ หลักนี้ ย่อมจะทำให้รัฐไทยมีข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับบุคคลที่มีเงินได้ในประเทศไทย ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งที่เป็นบุคคลสัญชาติไทยและบุคคลต่างด้าว ความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นจากปฏิบัติการนี้

(ปุณฑวิชญ์ ฉัตรมงคลชาติ :

“การเปลี่ยนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ จาก ๑๐ หลักเป็น ๑๓ หลัก”

“การ เปลี่ยนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรจากเดิม ๑๐ หลัก เป็น ๑๓ หลัก ตามหนังสือประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากร มีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕")

มท.ดัน'โอทอปมิดเยียร์'2พันร้าน ร่วมกระตุ้นศก.ในประเทศ
http://www.thairath.co.th/content/eco/284072

ไทยรัฐออนไลน์ 16 สิงหาคม 2555


มท. ดันโอทอปมิดเยียร์ ระดมกว่า 2 พันร้านเข้าร่วม พร้อมกิจกรรมตลาด 4 ภาค จัดระหว่าง 18-26 ส.ค.55 เชิญ "ยิ่งลักษณ์" เป็นประธานเปิดงาน หวังกระตุ้น ศก.ในประเทศ...

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 55 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน เตรียมจัดงาน โอทอปมิดเยียร์ 2012 ระหว่างวันที่ 18–26 ส.ค.55 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป ระดับ 3-5 ดาว ที่ผ่านการคัดสรรในปี 2553 จากทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จำนวนมากกว่า 2,000 ร้านค้า การจำหน่ายอาหารเด่น หรือโอทอป ชวนชิม และอาหารฮาลาล กว่า 120 ร้านค้า การสาธิตและแสดงนิทรรศการกระบวนการผลิต และพัฒนาสินค้าโอทอป จาก 15 จังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ มีกิจกรรมตลาด 4 ภาค ที่รวบรวมบรรยากาศตลาดจากทั้ง 4 ภาคของเมืองไทยมารวมไว้กัน เพื่อจำลองวิถีชีวิต และภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยสอดแทรกกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตและจุดเด่นการท่องเที่ยว กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันแม่แห่งชาติ การจัดรายการช่วงเวลานาทีทอง ตั้งแต่เวลา 10.00–21.00 น. บริเวณอาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ จะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 20 ส.ค. เวลา 09.00 น. ณ บริเวณเวทีกลางอาคารชาเลนเจอร์ 2 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

สำหรับนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนสินค้าโอทอปให้ไปสู่เวที การค้าระดับโลกนั้น กระทรวงมหาดไทยได้จัดโครงการสืบสานสุดยอดภูมิปัญญาไทยไปสู่ระดับเวทีโลก ภูมิปัญญาแห่งอารยะ ศิลปะแห่งแผ่นดิน โดยจะนำสินค้า โอทอปชั้นเยี่ยม ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของตกแต่ง สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เครื่องดื่ม และอาหาร ไปจัดแสดงในพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูสู่ประเทศไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้สัมผัสและเห็นคุณค่าแห่งวิถีชีวิตท้อง ถิ่นไทย.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท