Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

น้ำใจของผู้บริหารองค์กร : น้ำใจจาก “มหาวิทยาลัย”


ถอดบทเรียนจากน้ำท่วม เรื่องเล่าผ่านมุมธรรม “จากน้ำท่วมสู่น้ำใจ” โดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว

บทเรียนสุดท้าย ที่ขอถอดนำเสนอเป็นเรื่องเล่าในมุมธรรม  คือ บทเรียนจากน้ำใจของผู้บริหารแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุด  มหาวิทยาลัยเพิ่งจะประกาศอัตลักษณ์ของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยว่า “มีจิตอาสา พัฒนาท้องถิ่น”  แน่นอนที่สุด เหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นและคืบเข้ามาสู่ท้องถิ่นนครปฐม ถือเป็นบทพิสูจน์ที่ท้าทายชาวมหาวิทยาลัยว่าจะสามารถการันตีอัตลักษณ์ของนักศึกษาที่นี่ได้มากน้อยแค่ไหน  และแล้วจากวันวานสู่วันนี้ วันที่มหาวิทยาลัยได้จัดการดูแลผู้ประสบภัยที่มาพักพิงเกือบพันชีวิตจนลุล่วงถึงวันส่งกลับบ้านโดยสวัสดีและการที่มหาวิทยาลัยได้ส่งทีมงานอาสาจำนวนมากพร้อมด้วยข้าวของยังชีพไปยังพื้นที่ต่างๆ นับหมื่นชุด คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาเหล่านั้น ล้วนตระหนักดีว่านี่คือหน้าที่ของชาวมหาวิทยาลัยที่ต้องทำ ยามเพื่อนพี่น้องในท้องถิ่นประสบทุกข์ยาก  เหล่านี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า  มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นสถาบันที่สร้างบัณฑิตให้มีอัตลักษณ์ดังกล่าวได้อย่างแน่นอน เพราะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรจำนวนมาก เป็นแม่พิมพ์ เป็นต้นแบบที่ดีแก่นักศึกษาอย่างชัดเจน

                        เริ่มต้นที่ท่านอธิการบดี (ผศ.สมเดช นิลพันธุ์)  ตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยท่านไม่ได้นิ่งดูดาย คอยส่งสัญญาณเตือนและปลุกใจให้ชาวมหาวิทยาลัยตื่นตัวกับเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในภัยที่เกิดขึ้นและตามตอกย้ำจิตสำนึกอาสา การแสดงออกถึงน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ไดยไม่ขาดสาย  จนถึงวันที่ตัดสินใจเปิดศูนย์พักพิง  ท่านได้เป็นผู้นำในนามผู้อำนวยการศูนย์พักพิง นำผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทุกภาคส่วน เข้าร่วมเป็นทีมงานดูแลผู้มาพึ่งธารน้ำใจของชาวมหาวิทยาลัย  โดยตัวท่านอธิการเองได้สะท้อนความตั้งใจและทุ่มเทผ่านการทำให้ดู อยู่ให้เห็น ตอนเปิดศูนย์ใหม่ๆ งบประมาณไม่มี  ก็ตัดสินใจขอคณะกรรมการบริหารเพื่ออนุมัติงบเพื่อการนี้และยืนยันกับผู้พักพิงว่าจะดูแลให้อยู่อย่างอุ่นใจและปลอดภัย จนถึงวันที่ส่งกลับบ้าน  

                        ภาพท่านอธิการใส่เสื้อยืด นุ่งกางเกงขาสั้น อยู่ในสภาพกลมกลืนกับผู้พักพิง มาพูดคุยอย่างเป็นกันเอง  ร่วมบรรเลงเพลงตะหลิวทำอาหารเลี้ยงผู้พักพิงด้วยตนเอง  ยามเช้า ยามค่ำก็วนเวียนมาดูแลด้วยความเป็นห่วง ภาพเหล่านี้ใครจะเห็นหรือไม่ แต่คงอยู่ในใจของผู้มาพักพิงไปตราบนาน การดูแลจัดการกว่าจะผ่านมาถึงวันสุดท้าย ก็ย่อมมีเรื่องชวนให้ท่านกังวลอยู่เรื่อยๆ  มากคนมากความคิด “อธิการต้องอย่างนั้น ท่านต้องอย่างนี้” หลายคนเสนอให้ท่านทำ ไหนจะคอยคิดป้องกันภัย ไหนจะคอยคิดบริหารจัดการ ไหนจะต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ทางวิชาการ ไหนจะต้องรับคำบ่นจากคนที่ไม่พอใจ ไหนจะต้องแก้ปัญหาสาระพันในแต่ละวันที่เกิดขึ้น  เชื่อแน่ว่าถ้าไม่มีขันติธรรมในใจก็คงยากที่จะดูแลและบริหารให้ผ่านมาได้ด้วยดีเช่นนี้  “น่าอนุโมทนาในบุญใหญ่ที่ท่านอธิการได้ทำครั้งนี้” ประโยคนี้เป็นคำพูดของท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่พูดสรรเสริญท่านอธิการให้ผู้เขียนได้ยินและพลอยอนุโมทนากับท่านด้วย

                        นอกจากท่านอธิการแล้ว ทีมงานผู้บริหารก็ทุ่มเทเกินบรรยาย  ท่านรองอธิการเกศีนี (ผศ.ดร.เกศินี  ประทุมสุวรรณ) ได้รับมอบหมายจากท่านอธิการบดีด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและประสานงานภายนอกอย่างเป็นทางการ หลังจากการนำร่องดำเนินการด้วยจิตอาสาพร้อมทีมงานอยู่ระยะหนึ่งแล้ว  นับจากนั้นเหล่าภาคีเครือข่ายทั้งท้องถิ่นและระดับชาติก็เข้ามาเชื่อมต่อบทบาทโดยผ่านท่านรองเกดกันอย่างต่อเนื่อง  สื่อสารมวลชน เริ่มต้นจาก ThaiPBS (ทีวีไทย) WBTV  ช่อง ๓  ช่อง ๑๑  และ NCTV หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชนและอื่นๆ รวมทั้งสถานีวิทยุชุมชนหลายสถานี  ต่างสนใจและให้ความสำคัญกับบทบาทของมหาวิทยาลัยกับภัยน้ำท่วมครานี้ 

                        ท่านรองเกดในฐานะถนัดงานด้านประชาสัมพันธ์และประสานงานประชาคม ยังได้จัดและร่วมจัดการประชุม  จัดการเสวนาเพื่อจัดการความรู้สู้อุทกภัยอยู่หลายครั้ง ลุยทั้งประชาสัมพันธ์ ลุยทั้งประสาวิชาการ ดำเนินการภารกิจอย่างเข้มแข็งและเข้มข้น  รวมทั้งการช่วยเหลือเครือข่ายท้องถิ่นที่ประสบภัยด้วยความรู้สึกว่า “เราไม่ช่วยเขาเวลานี้แล้วจะช่วยเขาเวลาไหน” วิกฤตินี้จึงเป็นโอกาสแห่งสัมพันธภาพอันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับท้องถิ่นและหวังได้ว่าวันข้างหน้า (ฟ้าหลังฝน) จะต้องเป็นวันที่ดีมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินพันธกิจร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างดี  สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นภาพลักษณ์ที่ดีงามสำหรับมหาวิทยาลัยในสายตาสังคม และแน่นอนผลดีย่อมเกิดกับทุกฝ่าย สุดท้ายแม้นักศึกษาก็ยังได้รับความภาคภูมิใจกับการเป็นศิษย์ของสถาบันนี้ด้วย

                        อีกมุมหนึ่งท่านรองวิรัตน์ (ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว) ได้รับมอบหมายจากท่านอธิการบดี ให้ดูแลจัดการป้องกันภัยและจัดการภายในศูนย์พักพิง  ภารกิจของท่านรองวิรัตน์นั้น เริ่มต้นตั้งแต่งานโยธาฯ ขุด ลอก สูบน้ำป้องกันน้ำท่วมมหาวิทยาลัย สโลแกนหนึ่งที่รองวิรัตน์เอ่ยขึ้นในที่ประชุมผู้บริหารเพื่อเตรียมการป้องกันภัยน้ำท่วม คือ “เราต้องมองว่ามันจะเกิดขั้นร้ายแรงไว้ก่อน จะได้เตรียมรับมือเต็มที่และทันเวลา” หลังจากป้องกันมหาวิทยาลัยอย่างน่าจะไว้ใจได้แล้ว เมื่อมหาวิทยาลัยได้เปิดศูนย์พักพิงขึ้น ท่านรองวิรัตน์ก็เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดการหมู่บ้านของผู้พักพิง ปกครองดูแลลักษณะมหาดไทย  ประชุมหัวหน้าหมู่ในศูนย์พักพิงแทบทุกคืน ทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาเป็นระยะๆ  เมื่อมีคนหมู่มากมาอยู่รวมกัน ปัญหามากมายย่อมตามมา แต่ก็ฝ่าฟันความไม่เข้าใจ  ความวุ่นวายของคนหลากหลายความคิด จนถึงวันสุดท้ายของการส่งกลับบ้าน กลับไปด้วยรอยยิ้ม  ความสุขและเสียงขอบคุณที่มีต่อมหาวิทยาลัยของผู้พักพิงทุกคน

                        ท่านรองอธิการสมหมาย (ผศ.สมหมาย เปียถนอม) ในนามลุงหมายของชาวมหาวิทยาลัย ก็มาดูแลเป็นกำลังใจผู้ประสบภัย ณ ศูนย์พักพิงทุกวัน ท่านรองโสรัจ (รศ.โสรัจ  กายบริบูรณ์) รองอธิการบดีอีกท่านหนึ่งที่เป็นผู้ไม่ละทิ้งผู้ประสบภัย ดึกดื่นค่ำคืนก็มาอยู่ให้อุ่นใจ เช้า กลางวันก็คอยเป็นทัพหน้าต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยียนไม่เสมอๆ ท่านรองวิชัย (ผศ.ดร.วิชัย  ลำใย) รองอธิการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็มาดำเนินการจัดการด้านการสื่อสารภายใน  ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้ศูนย์ข่าวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่  ท่านผู้ช่วยสุวิมล (อ.ดร.สุวิมล มรรควิบูลย์ชัย) อีกเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำหน้าที่บริหารจัดการด้านงบประมาณ คอยต้อนรับผู้มาเยือนและให้ข้อมูลต่างๆ แก่ทุกฝ่ายอย่างเป็นกันเอง  และอีกท่านหนึ่งที่ลืมไม่ได้ อาจารย์ตัวน้อยๆ แต่พลังงานเหลือล้น ปฏิบัติงานเข้มข้น ณ ศูนย์พักพิง เป็นที่รู้จักกันดีของผู้พักพิงว่า “อาจารย์เปิ้ล” (อ.อนัญญา ทองสิมา )รอง ผอ.สำนักศิลปวัฒนธรรม  พร้อมด้วยทีมงานนักศึกษากองพัฒนานักศึกษา ปฏิบัติงานเป็นเรี่ยวเป็นแรงให้ศูนย์พักพิงอย่างไม่ขาดลา  งานทะเบียน งานประสาน  งานประชาสัมพันธ์ภายใน งานติดต่อทั่วไป งานอะไรต่อมิอะไรมากมาย แม้กระทั่งขอเบิกช้อนส้อมก็ต้อง อ.เปิ้ล ขอยกนิ้วให้เลยทีเดียวในความขันแข็งของท่าน

                        ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมผู้บริหารคณะต่างๆ นำโดยคณบดี ที่ร่วมส่งกำลังพลเข้าปฏิบัติงานโดยเฉพาะครัวอาหารทั้งเลี้ยงในศูนย์และส่งนอกศูนย์  สรรพกำลังคณาจารย์เจ้าหน้าที่จากคณะต่างๆ แต่ละวันถือว่าเหลือล้น  แม้ในช่วงเปิดศูนย์พักพิงจนถึงเกือบปิดศูนย์พักพิง จะไม่ค่อยมีนักศึกษาเนื่องจากปิดเทอมและเลื่อนการเปิดจนถึงวันที่ ๒๑ ต.ค. แต่เหล่าคณาจารย์เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็ยังพร้อมใจกันมาช่วยเหลือภารกิจของมหาวิทยาลัยกันอย่างน่าอนุโมทนา กิจกรรมมากมายเกิดขึ้นที่นี่ โปรแกรมวิชาต่างๆ ได้ร่วมกันส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย

                        โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา (สังกัดของผู้เขียน) จัดกิจกรรมเจริญจิตภาวนาร่วมกับทีมพระอาจารย์  โปรแกรมวิชาดนตรี จัดดนตรีสร้างสุขเกือบทุกวัน โปรแกรมวิชาศิลปะสอนศิลปะเด็กๆ ในศูนย์ โปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษและศูนย์ภาษาร่วมกับอาสาสมัครชาวต่างชาติสอนภาษาอังกฤษตลอดงาน โปรแกรมวิชาการจัดการอาหารดูแลเรื่องอาหารอย่างใกล้ชิด โปรแกรมบรรณารักษศาสตรและสารนิเทศศาสตร์จัดมุมหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน  โปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัยจัดกิจกรรมช่วยดูแลเด็กเล็กทุกวันจนถึงวันเปิดเทอม (๒๑ ต.ค.)  โปรแกรมวิชานิติศาสตร์ให้ความรู้ด้านกฎหมาย โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชนจัดกิจกรรมนวดฟรีและสอนการนวดโดยอาสาสมัคร  สโมสรนักศึกษาจัดกิจกรรมประกวดเทพีวันลอยกระทงอย่างสนุกสนานและอีกหลากหลายกิจกรรมจากผู้มีจิตอาสาภายนอก เช่น การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น สอนทำสิ่งประดิษฐ์  นิทาน ความบันเทิง สุขภาพอนามัยนับไม่ถ้วน  รวมทั้งโปรแกรมวิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมจัดทำแพพีวีซีหลายลำสำหรับช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย  เหล่านี้คือภาพดีๆ ที่จะมีอยู่ในความทรงจำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดจากการนำ การสนับสนุน การทำเป็นแบบ และการเชิญชวนของท่านอธิการและทีมงานผู้บริหารนั่นเอง

                        ต้นแบบจากผู้บริหารนำโดยท่านอธิการบดี  คือ ภาพที่กระตุ้นเตือนให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และที่สำคัญ คือ นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ไม่มากก็น้อยที่คงจะได้ซึมซับและรับอานิสงส์จากความดีที่ต้นแบบได้ทำเป็นต้นทางให้เดินตาม  อย่างน้อยๆ ที่สุด  กลุ่มนักศึกษาอาสาที่ช่วยปฏิบัติงานในแต่ละวัน คงได้รับผลฝังลึกถึงบึ้งหัวใจ ให้มีธาตุแท้เป็นคน “อาสา” อย่างแท้จริง

 

  อ่านรายละเอียดเนื้อหาบทความตั้งแต่เริ่มต้นได้ที่นี่ค่ะ

 

จากน้ำท่วมสู่น้ำใจ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480096

 

น้ำใจของเนื้อนาบุญ : น้ำใจจาก “วัด”

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480098

 

น้ำใจของผู้บริหารองค์กร : น้ำใจจาก “มหาวิทยาลัย”

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480099

 

ปัจฉิมลิขิต : วิธีป้องกันวิกฤติอย่างยั่งยืน

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480100

 

เตรียมกาย เตรียมใจ รับภัยน้ำท่วม

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480086

หมายเลขบันทึก: 480099เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 02:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยค่ะ นับเป็นโชคดีของบุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ที่มีผู้บริหารที่เป็นแบบอย่างที่ดีของความมีน้ำใจ จริงใจ รักลูกน้อง รักองค์กร และ...สรุปคือ รักของท่านนั้นจริงใจไม่เสแสร้ง ดิฉันได้มีโอกาสไปประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (สมศ) เวลา 3 วัน ทีมผู้ประเมินทำงานหนักมาก เช้า ถึง 4 ทุ่ม ท่านอธิการบดีและทีมผู้บริหาร ก็มาอยู่ด้วย เราทำงานไป ท่านก็คอยอำนวยความสะดวก มากมายก่ายกอง ยังจำได้ว่าเราต้องสัมภาษณ์กรรมการสภา เลยเวลาไปถึง 3 ทุ่ม ท่านวิชัย ก็น่ารัก อยู่กับเรา ให้ข้อมูลผู้ประเมินชนิดที่เราทึ่งเลยค่ะ

เชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ จะก้าวสู่ที่หนึ่งในภูมิภาคแน่นอนค่ะ

อ ประไพ เสนาบุญญฤทธิ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท