ทบทวนตัวเอง...


เมื่อเราตั้งใจปฏิบัติดีเพื่อนก็เห็นเราเขาก็ทำเหมือน ๆ เรา เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นขบวนการ เป็นกระแสของสังคม กระแสของหมู่คณะที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มันเป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกัน

         พระพุทธเจ้าท่านให้เราทบทวนตัวเอง ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว สิ่งไหนมันไม่ดี เป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไข ประวัติศาสตร์ของตัวเราที่ทำให้เราไม่เป็นที่พึงพอใจ...

 Large_td049

         เราพยายามอยู่กับตัวเองมาก ๆ อยู่กับตัวเองอย่างไร?

         เดิน นั่ง นอน ทำงาน พยายามทำให้ใจอยู่กับตัว ให้ใจอยู่กับการทำการทำงาน แต่ก่อนมันอยู่กับการงาน การเล่น การพูดคุย ที่นี้เรามาฝึกอยู่กับตัวเราเอง พยายามไม่พูดคุย ไม่คลุกคลี

 

         พระพุทธเจ้าท่านให้เรานั่งสมาธิให้มาก ๆ เดินจงกรมให้มาก ๆ ไว้ กิจวัตรก็อย่าให้มันบกพร่อง มีความสุขกับการทำข้อวัตรปฏิบัติ กับการเสียสละ

 

         ทุกท่านทุกคนติดสุข ติดสบาย ติดฟรีสไตล์ เพราะเกิดมาเป็นลูกพ่อแม่ที่ร่ำรวย มีพ่อแม่ที่ดี เกิดมาก็ไม่ค่อยจะเห็นทุกข์กัน ที่พ่อแม่เราสะดวกสบาย มีทรัพย์สินมั่งคั่งสบาย เป็นเพราะบารมีของท่านที่ท่านสร้างของท่านมา

 

         ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน อยู่กับการฝึกปฏิบัติตนเอง...

         ความเหน็ด ความเหนื่อย ความยากลำบาก ทำให้เราได้สร้างบารมีให้กับตนเอง เพราะคนเรานี้แหละ การสร้างอินทรีย์บารมีมันอาศัยศีล อาศัยข้อวัตรปฏิบัติ ความอดความทน ความเพียร เหมือนคนเค้าสร้างเขื่อน ถมทีละนิด ถมทีละนิด ถมจนเป็นเขื่อนใหญ่ ตอนที่เราทำงานนั้น มันทุกข์มันยากลำบาก แต่เมื่องานเสร็จแล้วถึงได้รับความสบาย

 Large_1801201101

         พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นทุกข์เพราะการตามใจตนเอง ทุกข์เพราะขี้เกียจขี้คร้าน ทุกข์เพราะทำตามอารมณ์ ตามเพื่อน ตามฝูง ตามสิ่งแวดล้อม

 

         เรามาบวช มาปฏิบัติ มีโอกาสดี ๆ เราก็ฝึกตนเองนะ ฝึกไปทุก ๆ วัน ไม่ว่าหนาว ว่าร้อน ไม่ว่าเหน็ด ว่าเหนื่อย เราก็ต้องทำใจของเราให้มันสบาย “เพราะความไม่สบายมันอยู่ที่จิตใจของเรามันดิ้นรน มันไม่รู้จักพอ มันส่งออกนอก”

 

         จิตใจของเรามันเหมือนปลาตัวหนึ่ง มันอยู่ในน้ำดี ๆ แล้วก็กระโดดขึ้นบนบก ยิ่งดิ้นก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งดิ้นก็ยิ่งตายเร็ว พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า “ความปรุงแต่งมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง”

 

         เราพยายามปรับจิตปรับใจของเราไม่ให้มีทุกข์ เรื่องบ้านเรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องบุตรภรรยา สามี หยุดเอาไว้ก่อน ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปปรุงมัน พยายามทำใจดี ๆ ทำใจสบายไว้

 

         พระพุทธเจ้าท่านให้รู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ ให้เราสมมติตัวเองว่าตัวเองไม่มี ตัวเองตายจากโลกนี้ไปแล้ว

 

         พระพุทธเจ้าท่านตรัสถามพระอานนท์ว่า อานนท์ระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง? อานนท์ตอบว่าวันละพันครั้งพระเจ้าค่ะ พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันน้อยไปอานนท์ เราตถาคตระลึกถึงความตายทุกลมหายใจ...

 

         นี้หมายความว่าทุกคนต้องตายจากอดีตที่ผ่านมาแล้ว อดีตมันเอากลับคืนมาไม่ได้ เราต้องทำใหม่ แก้ไขตัวเองใหม่ เป็นพระที่ดี เป็นโยมที่ดี เรามาเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ คนเรามันใจร้อน มันก็อยากให้มันเป็นทันที ถ้ามันป่วยก็อยากให้มันหายทันที มันคิดอย่างโน้นก็อยากให้มันได้ทันที ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา กาลเวลานี้เป็นสิ่งที่เยียวยา ซ่อมแซม รักษาให้เจริญงอกงาม ให้ดีขึ้น ต้องทำให้สม่ำเสมอ ทำอย่างนี้ทุกวันไปเรื่อย ๆ

 

Large_tonkla072

         พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อคลุกคลีในเพื่อนในหมู่คณะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า

         ทำไมท่านตรัสอย่างนั้น...? ก็เพื่อให้เราอยู่กับตนเองให้มันมาก ๆ เมื่อมาบวชมาปฏิบัติแล้วก็จะได้มีโอกาสได้ปฏิบัติตนเอง ฝึกตนเอง นั่งสมาธิฝึกสมาธิให้มาก ๆ ให้มีความสุข ให้มีความพอใจในการประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ที่เอาการเอางาน เป็นผู้ที่รับผิดชอบขึ้น

Large_tonkla080 

 

         ในอดีตที่ผ่านมาแล้วก็แล้วไป ก็หยุดมัน ทิ้งมัน...

         ต่อไปนี้เราจะมาเป็นลูกที่ดี มาเป็นพระที่ดี มาเป็นนักปฏิบัติที่ดี เราอย่าไปคิดว่ามันยาก มันทำไม่ได้ “ทุกคนทำได้ ถ้าไม่ได้แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่บอกเรา ท่านไม่สอนเรา”

 

         ธรรมะเป็นสิ่งที่ทวนจิตใจของเรา ทวนโลกทวนกระแส...

         พระพุทธเจ้าให้เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ทำไป เราอย่าไปตั้งกำแพงกั้นตัวเอง

         กั้นตัวเองอย่างไร? นั่งก็ไม่อยากให้ปวดแข้งปวดขา ก็อยากให้มันสงบ เวลาทำการทำงานในชีวิตประจำวัน ก็ไม่อยากให้มันเหน็ดเหนื่อย อยากให้มันสบาย

 

         มันจะสงบหรือไม่สงบก็ช่างหัวมัน มันจะปวดหรือมันจะหิวก็ช่างหัวมัน เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องเกิดเรื่องแก่เรื่องเจ็บเรื่องตาย เรื่องของธาตุของขันธ์ จิตใจของเราก็ให้สงบ ให้เรานิ่ง

 

         พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราวุ่นวาย ถ้าไม่มีเจ็บ ไม่มีป่วย ไม่มีไม่สบายแล้ว เราก็ไม่มีได้ทำจิตทำใจ ฝึกจิตฝึกใจ

 

         ฝึกไปเรื่อย ปฏิบัติไปเรื่อยเพื่อปล่อยเพื่อวาง เพื่อไม่เอา เพื่อไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่เสียสละ สุขก็ไม่เอา สงบก็ไม่เอา เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ก็ไม่เอา เราจะปฏิบัติเพื่อปล่อยเพื่อวาง เพื่อไม่เอา

 

         ประวัติของพระอานนท์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์เขาประชุมกันทำสังคายนา แต่ยังทำไม่ได้เพราะยังขาดพระอานนท์  เพราะอานนท์เป็นพหูสูตเพราะฟังทำพระพุทธเจ้ามาก แต่ยังทำสังคายนาไม่ได้ เพราะรอพระอานนท์ พระอานนท์ก็เร่งความเพียรใหญ่เลยเพื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถึงจะเร่งความเพียรเท่าไหร่ อานนท์ก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ สุดท้ายพระอานนท์ก็เข้าถึงทางตัน ท้อแท้ หมดกำลังใจ จึงได้ปล่อยได้วางความอยากที่จะได้บรรลุธรรม เมื่อปล่อยวางพระอานนท์ก็ถึงได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ขีณาสพทันที เพราะว่ามันอยากมันมีตัวมันมีตนมันเลยไม่ได้บรรลุ

 

         พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามีความอยาก ให้เราเสียสละ ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ รักษาศีล ทำข้อวัตรปฏิบัติเพื่อเสียสละ ถ้าเราเสียสละแล้ว เราจะไม่เครียด เราจะมีความสุข มีความดับทุกข์ มีความเบาสบาย มันจะไม่มีความแบก ไม่ยึดไม่ถือ เราจะได้ตัดภพตัดชาติในชีวิตประจำวันของเรา

Large_tonkla076 

 

         พระพุทธเจ้าตรัสว่า... เราจะบวชใหม่บวชเก่า เป็นผู้หญิงผู้ชายก็ได้บรรลุธรรมเหมือน ๆ กันหมด ไม่ว่าเราเป็นพระ เป็นโยม เป็นคนชาติศาสนาใด ถ้าเราทำใจอย่างนี้ทุกคนก็ดับทุกข์เหมือนกัน

 

         หวังว่าท่านทั้งหลายจะมีกำลังใจให้กับตัวเอง เข้าถึงการประพฤติปฏิบัติ เพราะทุกคนทำได้ ปฏิบัติได้ เพราะการเรียนมาก รู้มาก จำมาก มันเป็นเพียงความรู้ทางทฤษฎี เราต้องเน้นทางปฏิบัติ เน้นด้วยการฝึกตนเอง

 

         ครูบาอาจารย์พระพุทธเจ้าท่านให้เราตั้งอกตั้งใจ เพิ่มความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป เห็นภัยในวัฏฏะสงสารให้มันมาก ๆ "บาปใด ๆ ก็ไม่ใหญ่หลวงเท่าบาปที่เราไม่ละอายต่อบาป เกรงตัวต่อบาป"

 

         ความไม่ละอายต่อบาป ความไม่เกรงตัวต่อบาป คือพระพุทธเจ้าตรัสก็เฉย ครูบาอาจารย์บอกก็เฉย ข้าพเจ้าจะทำอย่างนี้ ข้าพเจ้าชอบอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่เป็นบาป ธรรมที่จะช่วยเราได้คือความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ความไม่ประมาท ความอดความทน ความขยันหมั่นเพียร เป็นคนไม่ขี้เกียจขี้คร้าน เป็นคนติดดิน เป็นคนไม่มีทิฐิ ไม่มีมานะ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่หน้าใหญ่หน้าโต ผลที่เราจะได้รับมันคุ้มค่ามันใหญ่หลวง มันตรงกันข้าม มันอยากร่ำอยากรวยมีอำนาจวาสนา ความดีมันมีผลเป็นอมตะ หอมกระจายไปอย่างไม่มีที่สุดอย่างไม่มีประมาณ

 

         พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา ความประพฤติของเรา

 

         ในโอกาสนี้ทุกคนจงตั้งใจประพฤติปฏิบัติรักษาศีล รักเพื่อน สงสารเพื่อนที่ปฏิบัติอยู่ร่วมรวมกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยการปฏิบัติดี ๆ ปฏิบัติเป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง

 

         เมื่อเราตั้งใจปฏิบัติดีเพื่อนก็เห็นเราเขาก็ทำเหมือน ๆ เรา เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นขบวนการ เป็นกระแสของสังคม กระแสของหมู่คณะที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มันเป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกัน

 Large_td053

         ตราบใดเรายังมีความยึดมั่นถือมั่น เรายังมีตัวมีตน ตราบนั้นปัญหาของเรามันยังมีมาก ภาระของเรามันยังมีมาก

 

         ถือว่าเรามีโอกาส เรายังเป็นคนโชคดีที่ได้มาพบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และได้มาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของท่าน

 

         พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทอดธุระ ท่านไม่ให้เราประมาท ถ้ามิฉะนั้นท่านเกิดมาท่านจะไม่ได้อะไรไป แถมยังขาดทุนอีก สิ่งสุดท้ายที่เราจะได้รับก็ได้แก่ “การทอดผ้าบังสุกุลและผ้ามหาบังสุกุลเขาจะเชิญผู้มีเกียรติมาวางให้”

 

         ตราบใดท่านยังมีความรู้สึกว่า ท่านมีตัวมีตน ถ้าท่านยังว่าตัวเองเป็นผู้หญิง ว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ก็เพราะว่าจิตใจของท่านยังไม่เป็นเอกัคตา จิตใจของท่านยังไม่เป็นหนึ่ง จิตใจของท่านยังถูกสมมติครอบงำ

 

         พระพุทธเจ้าท่านให้เราตัดวัฏฏะสงสารออกจากใจของเรา...

         โลกธรรมโลกสมมตินี่มันบังเรา บังท่านนะ ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ว่าจะคิดอะไร ไม่ว่าจะพูดอะไร มันมุ่งแต่โลกธรรม มันมุ่งแต่อัตตาตัวตน เขาสมมติให้เราใช้ประโยชน์ ให้ความสะดวก เรากลับเอามาใช้เพื่อให้ตัวเองเป็นทุกข์

 

         คำว่าเป็นโรคเป็นภัยไข้เจ็บ มันทุกข์นะ ทุกข์ทางกายมันถือว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทุกข์ทางใจมันมาก

 

         คนเราเป็นโรคทางใจเยอะ แต่ไม่รู้ตัว...

         ทำไมมันไม่รู้ตัวเอง...? ก็เพราะว่ามันไม่ได้ดูตัวเอง ดูแต่สิ่งภายนอก เรื่องภายนอก เรื่องของเรา เรื่องใจของเรา มันไม่ได้รับการแก้ไข

 

         พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าคนเราถ้าไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีโลกธรรมมาครอบงำจิตใจ มันมีความสุขมาก

 Large_td035

         นักประพฤติปฏิบัติให้ตั้งใจฝึกตนเอง เพื่อละโลกธรรม ละสิ่งที่เป็นสังโยชน์ ที่เป็นอัตตาตัวตน เอาศีล เอาข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่ตั้ง

 

         พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราปฏิบัติย่อ ๆ หย่อน ๆ ลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่เอาจริงไม่เอาจัง กลัวจะเหนื่อย กลัวจะยากลำบาก กลัวกินลำบาก กลัวรักษาศีลแล้วมันจะยากจะจน มันจะเข้ากับหมู่กับคณะกับสังคมเขาไม่ได้

 

         พระพุทธเจ้าท่านให้เอาชีวิตจิตใจของเราเป็นศีล เพราะตัวพระพุทธเจ้าคือตัวศีล...

         รักษาศีลต้องเน้นที่ใจ เน้นที่เจตนา ไม่ได้รักษาเพื่อบ้าน เพื่อเมือง เพื่อสังคม ต้องรักษาศีลเพื่อไม่มีตัวไม่มีตน

 

         ตัวเองคิดไม่ดี ตัวเองไม่เป็นคนไม่ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป  คนอื่นเขาไม่รู้ คนอื่นเขาไม่เห็น แต่ตนเองรู้ ตนเองเห็นนะ พระพุทธเจ้าให้ตัวเรากราบตนเองได้ ไหว้ตนเองได้ ไม่ต้องไปลูบ ๆ คลำ ๆ ศีลอีกต่อไป

 

         การรักษาศีลนี้รวมถึงการทำข้อวัตรปฏิบัติ ต้องตั้งใจทำจริง “เพราะการทำข้อวัตรปฏิบัติก็คือการปฏิบัติศีลนั่นเอง”

 

         เราตั้งใจทำดี ๆ ในเดี๋ยวนี้ วันนี้ นั่นคืออนาคตของวันต่อไป นั่นแหละคือทำดีได้ดี ทำไม่ดีก็ได้ไม่ดี

 

         บางคนก็อยากจะรู้อนาคตของตัวเองว่าเป็นอย่างไร? เราต้องเน้นที่ปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันมันดี อนาคตมันก็ดี พระพุทธเจ้าท่านให้เราประพฤติปฏิบัติ ไม่ให้เราขอ ไม่ให้เราอ้อนวอน พระธรรมวินัยเป็นสิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เพื่อขอ เพื่ออ้อนวอน “คนขอนั้นคือคนยากคนจน คือคนพิกลพิการ”

 

         ธรรมะคือการประพฤติปฏิบัติ ใครจะมาคิดแทนเรา ทำแทนเรา มาอดมาทนแทนเรา เราต้องทำเองปฏิบัติเอง

 

         เราอย่ามัวแต่ไปอ้อนวอนขอครูบาอาจารย์ ขอพระพุทธเจ้า ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง เราต้องเอาท่านเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ไปขอเอา “มัวแต่ขออยู่นั่นแหละ เดี๋ยวธรรมะมันจะตก...”

 

         เราต้องอธิษฐานแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติตาม ว่าจะตั้งใจรักษาศีล ๕ รักษาศีล ๘ ให้ได้ รักษาศีลปาฏิโมกข์ให้ได้ กิริยามารยาททุกอย่างเราต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

 

         เราอย่าได้พากันลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ว่าท่านทำอย่างนี้ ว่าท่านปฏิบัติอย่างนี้ มันดับทุกข์ได้จริงหรือเปล่า...?

         ได้... เราไม่ต้องสงสัย ถ้าใครตั้งอกตั้งใจก็ได้หมดทุกคน โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ถ้าปฏิบัติตามศีล ตามข้อวัตรปฏิบัติ

 

         ถ้าเราไปถืออัตตาตัวตนของเราไม่ได้เน๊อะ ต้องมอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ต่อพระอริยสงฆ์ ว่าเราจะไม่ถือทิฐิ มานะ อัตตาตัวตน ว่าชีวิตของเราจะไม่ถือเอาความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอัตตาตัวตนของเรา เอาการตัดกิเลส การปล่อย การวาง เป็นชีวิตจิตใจของเรา

 

         แต่ก่อนเรายังพึ่งสิ่งต่าง ๆ นะ พึ่งเงินบ้าง พึ่งบ้าน พึ่งรถ พึ่งพ่อ พึ่งแม่ พึ่งอะไรต่าง ๆ มันพึ่งได้ชั่วครู่ชั่วยาม “คนที่เราพึ่งมันก็ตายเหมือนกัน”

 

      

         เมื่อสิ่งภายนอกมันพึ่งไม่ได้ เราก็พึ่งพระรัตนตรัย พึ่งตัวเราเอง พึ่งการประพฤติปฏิบัติของเรา

         ท่านต้องเป็นผู้เสียสละให้มาก ๆ ปล่อยวางมาก ๆ ไม่ใช่น้อย การเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านจากหน้ามือเป็นหลังมือนั้นถึงจะทำได้

 

         "ในวาระโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ต้องเอาจริงนะคราวนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นการเกิดของเรานี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย" มากินข้าว มาฉันข้าว มันเสียไปเป็นวัน ๆ ผลสุดท้ายเราก็กลายเป็นคนจน คนอนาถา เป็นคนไม่มีอะไรเลย เวลาจากไป ก็จากไปด้วยความมืด ผู้ที่เป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้องนี้ก็มีความวิตกกังวลว่าท่านตายแล้ว ท่านจะไปที่ไหน...?

 

Large_2401201108

 

         ถ้าเราท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนี้ มันมีสวรรค์มีนิพพานในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่ต้องรอให้ตายก่อน...

         ให้เราดูตัวเองในแต่ละวันนะ ดูตัวเองก็ได้ว่ามันตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ในปัจจุบันของเรา

 

         การที่ถือศักยทิฐิ ถือตัวถือตนมันปิดกั้นตัวเอง ไม่ให้เข้าถึงความดับทุกข์ที่แท้จริง

         พระพุทธเจ้าท่านบอกเราสอนเราไม่ให้เรายึดมั่นในอัตตาในตัวในตน ในธาตุในขันธ์ ศักยทิฐินี้ ความยึดความถือนี้ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นะ ถ้าเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ไม่มีทางเลยที่จะดับทุกข์ได้ ที่จะได้แก้ปัญหาได้

 

         สังโยชน์ทั้งสามนี้ทุกคนทุกคนต้องละ คือ ศักยทิฐิ ที่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน อันไหนข้าพเจ้าชอบ ข้าพเจ้าก็จะประพฤติปฏิบัติ อันไหนข้าพเจ้าไม่ชอบ ข้าพเจ้าก็ไม่ปฏิบัติ “สิ่งที่เราไม่ชอบเราก็ต้องได้ คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย..”

         สีลัพพัตตปรามาส คือ การลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ เราจะมาลูบมาคลำ มาเสียเวลาอยู่อย่างนี้ไม่ได้นะ ทีนี้เราต้องเอาจริงแล้ว

         วิจิกิจจา คือ ความลังเลสงสัย เราก็ไม่ต้องสงสัยแล้วนะทีนี้ เพราะเราสงสัยแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันต้องลงมือประพฤติปฏิบัติ

         ถ้าเรารู้มาก เราเข้าใจมาก ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติแล้ว ความรู้ความเข้าใจของเรานั้นมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 

         “ถ้าจิตใจของเรามันสงบปัญหาทุกอย่างมันจะไม่มี” มันจะไม่มีความสงสัย ที่มันสงสัยเพราะว่าใจมันไม่สงบ

         ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ให้เอาศีลเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นใหญ่

         ถ้าเราจะไปแก้ไขภายนอกเราอาจจะเป็นโรคประสาทได้ บางทีมันหาทางออกไม่ได้ มันจะฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายแล้วมันก็ไม่จบเรื่อง ถ้าใจมันยังมีปัญหาอยู่ กายมันไม่รู้เรื่อง ถ้าเราไปทำร้ายกาย มันก็ผิด พระพุทธเจ้าท่านว่าบาปมาก ชาติต่อไปต้องฆ่าตัวตายอย่างน้อยอีก ๕๐๐ ชาติ

 

         ชีวิตมันผ่านไปผ่านไปนะ จากที่ยังเป็นพระหนุ่มเณรน้อย หรือว่าเป็นพระเถระ ต่อไปก็ต้องเฒ่า ต้องแก่ ต้องชรา “ถ้าเรายังประมาทไม่ตั้งใจทำความเพียร คิดในใจสิว่า ชีวิตของท่านจะมีประโยชน์อะไรไหม...?”

         ที่แล้ว ๆ มามันผิดพลาดเพราะเกิดจากความประมาท เกิดจากความเพลิดเพลิน เกิดจากความขี้เกียจขี้คร้าน

 

         ท่านรู้จักแต่เรื่องเป็นทาสเขา เป็นขี้ข้าเขาทั้งภายนอกและภายใน

         พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่าใจของเรามันเป็นทาส มันตกเป็นทาสของกิเลส

         จิตใจของเรามันยากจน จิตใจของเรามันเป็นเปรต มันชอบกินรางวัล มันชอบได้รางวัล รางวัลของกิเลสที่ใจของเรามันตกเป็นทาสก็มีรูปสวย ๆ เสียงเพราะ ๆ อาหารอร่อย ๆ ความสะดวกสบาย ลาภ ยศ สรรเสริญ ใจของเรามันตกเป็นทาส

         เราเห็นคนยากคนจนคนพิกลพิการ เราสงสาร เราเวทนาเขา แต่ทุกท่านทุกคนลืมหันกลับมาดูตัวเอง ว่าตัวเองมันเป็นทาส ใจของเรามันเป็นเปรต มันเป็นใจส่งออก ใจไม่อิ่ม ไม่เต็ม บริโภคเท่าไหร่ก็ไม่พอ

         นักโทษที่เขาขังจองจำตลอดชีวิต มันก็ยังไม่โทษหนักเท่านักโทษในใจของเรา มันขังเราไว้ในวัฏฏะสงสารตั้งหลายภพ หลายชาติ หลายกัป หลายกัณฑ์

 

         พระพุทธเจ้าท่านถามเราว่า ท่านเห็นไหมที่เราถูกขังไว้ในวัฏฏะสงสาร…?

         ถึงเวลาแล้ว สมควรแล้ว ทุกท่านทุกคนจะได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

         ปฏิปทานี้เป็นสิ่งที่สำคัญ วันนี้ก็ได้ทำ พรุ่งนี้ก็ทำได้ วันต่อไปก็ทำได้ ยิ่งทำชำนิชำนาญการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้มันไม่ตายนะ คนเราถ้ามันจะตายก็ตายเพราะความคิดมาก คนจะขึ้นสวรรค์ก็ให้มันขึ้นตั้งแต่ยังไม่ตาย เราจะเข้าพระนิพพานก็พยายามเข้าเมื่อเรายังไม่ตาย

 

         พระพุทธเจ้าไม่ให้เราปฏิบัติแบบลม ๆ แล้ง ๆ เมื่อตายแล้วค่อยขึ้นสวรรค์ ตายแล้วค่อยขึ้นพระนิพพาน ท่านสอนเราให้ขึ้นพระนิพพานตั้งแต่ยังไม่ตาย

 

         สำหรับพระเรานะ พระพุทธเจ้าให้เราเน้นพระนิพพาน มุ่งพระนิพพานอย่างเดียว ไม่มีคำว่าสวรรค์ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ๆ อย่าให้มันมีตัวมีตน อย่าให้มีอัตตาให้มีตัวมีตนนะ อย่าให้มีโลกธรรมมาทับถมจิตใจของเรา

 

         ถ้าเราไม่ปฏิบัติเอง ยังไม่เอาจริงเอาจัง พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรายังติดสุขติดสบาย ยังชอบสวรรค์อยู่ “ถ้าใจของเราเกาะแกะอยู่กับสวรรค์ สำหรับพระเรานี้มันแย่มากเหมือนกันนะ”

         ให้เช็คดูตัวเองดี ๆ ว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งเราเดินจงกรม นั่งสมาธิทำความเพียรเป็นที่พอใจของเราหรือยัง

         พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาความสุขกับการฉัน กับการนั่ง กับการนอน กับการอยู่เฉย ๆ กับการคุยกัน พยายามพูดกับจิตใจของตัวเองให้มันเยอะ ๆ พยายามคุยกับตัวเอง ส่วนใหญ่มันคุยกับตัวเองไม่เป็น พูดกับตัวเองไม่เป็น มันชอบแต่จะไปคุยกับคนอื่น

 

         จิตใจของเรามันยุ่งมาก มันมีปัญหามาก ให้เรารู้มัน ให้มีสติเท่าทัน มันต้องบังคับกันหน่อย ไม่บังคับไม่ได้ มันเสียท่าเสียทีของกิเลสนะ

 

         ถ้าจิตใจของเราออกภายนอกเยอะ เราก็ไม่ได้ฝึกตน จิตที่มันอยากออกไปนอก แสดงว่าจิตมันมีปัญหา ถ้าจิตของเราส่งภายนอกเป็นจิตที่เราไม่รักก็เกลียดมีสองอย่างนี้แหละ

 

         จิตที่เป็นหนึ่ง จิตที่เป็นเอกัคตารมณ์ จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่เป็นวิมุติ คือจิตที่ไม่วุ่นวาย  จิตใจของเราจะได้เข้าถึงแก่น ถึงธรรมของพระศาสนาด้วยการฝึกตน ด้วยการปฏิบัติตน

 

         การปฏิบัติธรรมมันยากมันลำบากอย่างนี้แหละ แต่ทุกท่านทุกคนก็ต้องประพฤติปฏิบัติ เราค่อยสบายภายหลัง งานเรามันยังไม่จบ งานของเรามีอีกเยอะ เราอย่าได้ทอดธุระ ปฏิปทาของเราตั้งไว้กี่ปี กี่เดือน ก็ให้ปฏิบัติมันไปอย่างนี้

 


 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

วันศุกร์ที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 479999เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2012 05:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท