บูรพาภิวัตน์ : จุดประกายความคิดกับทิศทางการศึกษาไทย


.....จริงๆแล้วการศึกษาต้องมีเป้าที่สูงส่งกว่านั้นคือต้องจัดการศึกษาเพื่อสังคมที่มีความก้าวหน้าอย่างสมดุลเป็นสังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติมีชีวิตที่มีสุขภาวะทั้งทางกายใจสังคมและจิตวิญญาณโดยที่แต่ละคนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพและดำเนินการพัฒนาตนไปตลอดชีวิต .....


          บ่ายวันที่ ๓๑ ม.ค. ๕๕ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ และหน่วยงานพันธมิตรจัดการเสวนา“บูรพาภิวัตน์ : จุดประกายความคิดกับทิศทางการศึกษาไทย”โดยผู้ประสานงานตั้งประเด็นให้ผมเตรียมไปให้ความเห็นต่อไปนี้

ศ.นพ.วิจารณ์พานิช

การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศไทยในด้านใดบ้างและควรรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

ในฐานะนักการศึกษาท่านเห็นว่าแนวทางการศึกษาของไทยขณะนี้มีจุดอ่อนจุดแข็งหรือสอดรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนถ่ายสู่เอเชียนี้อย่างไรบ้าง

ประเทศไทยควรมีการปรับตัวด้านการศึกษาอย่างไรเพื่อรับกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะพลิกขั้วอำนาจสู่เอเชีย


ศักยภาพของคนไทยในสายตาของท่านเห็นว่าเป็นเช่นไรและควรเพิ่มเติมในด้านใด


กระบวนการหรือกลไกด้านการศึกษา (ทั้งในระบบและนอกระบบ ) ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้สามารถเป็น "ทุนมนุษย์" ที่มีคุณภาพให้กับเศรษฐกิจ


มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของประเทศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรบ้าง

 

          ก่อนประชุม ๑๐ วันคุณยุวดีคาดการณ์ไกลอีเมล์มาบอกว่าคนลงทะเบียนเข้าร่วมแล้วถึง ๖๐๐ คนคาดว่าจะเพิ่มถึง ๗๐๐ คน

           ผมเตรียมไป “ตอบแบบไม่ตอบ” ตรงๆดังต่อไปนี้

          ที่จริงเรื่องการศึกษาหลายส่วนเป็นเรื่องของการปรับตัวเชิง global megatrends และอีกหลายส่วนเป็นการปรับตัวสนองและชี้นำการปรับตัวเชิง localและ regionalmegatrends  ด้วย

          ในเรื่องแนวโน้มใหญ่ของโลก หรือ global Megatrends มีการทำนายมากว่า ๑๕ ปีแล้วโดย John Naisbittในหนังสือ Megatrends Asiaว่าโลกยุตศตวรรษที่ ๒๑ จะเป็นยุคที่เอเซียผงาด  และคำทำนายนั้นก็ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นจริง    ดังระบุในหนังสือ บูรพาภิวัตน์ : ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่

          ผมได้เขียนในคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ว่า “การศึกษาตั้งแต่อนุบาลขึ้นมาจนถึงระดับปริญญาตรีโทเอกต้องกระตุ้นการเปลี่ยนโลกทัศน์นี้   รวมทั้งนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศก็ต้องมีมิติโลกมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   ประเทศไทยจะล้าหลังตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะโลกที่กำลังเดินสู่ “บูรพาภิวัตน์”   หากเราไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์และปฏิบัติการสู่โลกกว้างอย่างมียุทธศาสตร์”

          ถามถึงจุดอ่อนจุดแข็งของการศึกษาไทย  เรามีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง   จุดอ่อนอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ที่บริหารการศึกษาของประเทศด้วยวิธีการหรือยุทธศาสตร์ที่ผิด   คือใช้การควบคุมและสั่งการ (Command & Control) ในขณะที่วิธีการจัดการที่ถูกต้อง (ในความเห็นของผม) คือ Empowerment ให้โรงเรียนและครูสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ของศิษย์ตามแนวทางของหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑หนังสือครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ : สรรพวิธีและลูกบ้าในห้อง ๕๖และหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

          จุดอ่อนของการศึกษาไทยก็คือ กระทรวงศึกษาธิการกำลังบริหารการศึกษาของประเทศตามแนวทางของคริสตศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙   ไม่ใช่ตามแนวทางการศึกษาของศตวรรษที่ ๒๑   แนวทางของกระทรวงศึกษา ล้าหลังอยู่อย่างน้อย ๑๐๐ ปี    ถ้าอยากทราบว่าล้าหลังอย่างไรให้ไปอ่านหนังสือ ๓ เล่มที่เอ่ยชื่อข้างต้น

          แต่เราก็มีจุดแข็งอยู่ด้วย แต่จุดแข็งจะอยู่ที่โรงเรียนที่ค่อนข้างปลอดจากการควบคุมและสั่งการจากกระทรวงศึกษาธิการ คือโรงเรียนราษฎร์ และโรงเรียนสาธิตในสังกัดมหาวิทยาลัย    จุดแข็งเหล่านี้พิสูจน์โดยผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศ และของ PISA และ TIMSS

          ในยุคประจิมาภิวัตน์ คนทั่วไปและพ่อแม่เชื่อว่า “การไปเรียนต่างประเทศ” เป็นการวางพื้นฐานอนาคตของชีวิตของบุตรธิดาโดยเน้นว่า “ต่างประเทศ” หมายถึงประเทศตะวันตกหรือประเทศที่ก้าวหน้าตามแนวทางตะวันตก (ญี่ปุ่นออสเตรเลียนิวซีแลนด์) เน้นว่ายุคก่อนความก้าวหน้าของวิทยาการอยู่ที่ประเทศตะวันตก

          บัดนี้ โลกเปลี่ยนไป  ความหมายของ “ความก้าวหน้าทางวิทยาการ” เปลี่ยนไป โลกวิทยาการไม่ได้มีขั้วเดียว (คือขั้วตะวันตก) อีกต่อไป   โลกตะวันออกได้ผงาดขึ้นมาด้วย   

          ความเข้มแข็งของวิทยาการแบบ “การพัฒนาแบบเส้นตรง” (Linear Model of Academic development) กำลังถูกท้าทายโดย การพัฒนาวิทยาการแบบซับซ้อนและปรับตัว (Complex-Adaptive Model of Academic Development) ซึ่งหมายถึงการสร้างฐานวิชาการจากวงการนักปฏิบัติ หรือจากชีวิตจริง

          ถ้าถามว่าความแตกต่างระหว่างวิชาการแห่งศตวรรษที่ ๒๐ (และ ๑๙) และวิชาการแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คืออะไรคำตอบของผมคือวิชาการแห่งศตวรรษที่ ๒๐ เป็นวิชาการแห่งการควบคุมตัวแปรเป็นวิชาการในห้องปฏิบัติการหรือในสถานการณ์ที่นักวิจัยหรือนักวิชาการควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมดเพื่อให้ได้ผลการทดลองที่แม่นยำเชื่อถือได้

          แต่นักวิชาการแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ก้าวหน้ากว่านั้นพลังของไอซีทีพลังของวิธีวิทยา (methodology) สมัยใหม่ช่วยให้นักวิชาการเก็บข้อมูลจากชีวิตจริงได้และสามารถวิเคราะห์หรือประมวลข้อมูลที่ซับซ้อน (ที่ไม่เคยประมวลได้มาก่อน) ได้

          ในยุคปัจจุบันหรือศตวรรษที่ ๒๑ การศึกษาที่ทรงพลังจึงเชื่อมโยงอยู่กับการปฏิบัติอย่างไม่เคยมีมาก่อน   หรือกล่าวใหม่ว่าการสร้างทฤษฎีความรู้ในปัจจุบันจึงเชื่อมโยงกับการปฏิบัติ   ภาคการศึกษากับภาคชีวิตจริงการทำงานจริงจึงเชื่อมโยงแนบแน่นกว่าในยุคก่อน

          กล่าวใหม่ว่าในยุคปัจจุบันการเรียนรู้ต้องเชื่อมโยงกับภาคชีวิตจริงจึงจะเป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังหรือทรงคุณค่า

          จึงเกิดประเด็นว่าจะจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับภาคชีวิตจริง (relevance)  และได้ประเด็นเรียนรู้ที่ลึก(depth) และหลากหลาย (diversity) ได้อย่างไร   ต่อคำถามนี้เราไม่มีคำตอบสำเร็จรูป   แต่เป็นความท้าทายต่อวงการศึกษา

          กลับมาที่โลกเปลี่ยนขั้ว มารุ่งโรจน์ที่ตะวันออก

          คำถามคือ การศึกษาจะช่วยให้คนไทยยุคใหม่รู้จักโลกตะวันออกแค่ไหน   ช่วยให้คนไทยเปลี่ยนจากมายาเทิดทูนบูชาโลกตะวันตก มาสู่การให้คุณค่าความเข้าใจโลกตะวันออก ได้อย่างไร    ช่วยให้คนไทยออกไปดำรงชีวิตและทำงานในโลกกว้างกว่าขวานทอง สู่สังคมตะวันออก (และสังคมตะวันตก) อย่างมีความสุข ความมั่นใจตนเอง และอย่างมีคุณค่าต่อสังคมที่ตนไปอยู่ ได้อย่างไร

          ข้างต้นนั้น เขียนเมื่อวันที่ ๒๙ ม.ค.   เช้าวันที่ ๓๑ ม.ค. ผมทบทวนสาระที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษา ดังโจทย์ข้างต้น   แล้วคิดว่าโจทย์ผิด   เพราะไปเอาการศึกษารับใช้เศรษฐกิจ มองคนเป็น “ทุนมนุษย์” เท่านั้นจริงๆแล้วการศึกษาต้องมีเป้าที่สูงส่งกว่านั้นคือต้องจัดการศึกษาเพื่อสังคมที่มีความก้าวหน้าอย่างสมดุลเป็นสังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติมีชีวิตที่มีสุขภาวะทั้งทางกายใจสังคมและจิตวิญญาณโดยที่แต่ละคนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพและดำเนินการพัฒนาตนไปตลอดชีวิต (อย่างที่ผมกำลังหมั่นเพียรพัฒนาตนเองอยู่นี่แหละ)

          การศึกษาในสังคมยุคใหม่ต้องการการนิยามใหม่ทำใหม่ในหลากหลายมิติที่สำคัญคือต้องไม่คิดและทำจำกัดอยู่เฉพาะช่วงที่เป็นเด็กและเยาวชนเท่านั้นแต่ต้องขยายไปครอบคลุมตลอดชีวิตและการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาต้องเตรียมความพร้อมเตรียมทักษะ (และฉันทะ)ของการเรียนรู้ตลอดชีวิตไว้

          มิจฉาทิฐิที่ก่อความเสียหายที่สุดคือการเรียนรู้แบบตื้นยึดมั่นถือมั่นกับวิชาหรือความรู้(knowledge) การศึกษาหรือการเรียนรู้สมัยใหม่ต้องไปให้ถึงการพัฒนาทักษะ (skills)  ที่เรียกรวมๆว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ย้ำว่าการศึกษาสมัยใหม่ต้องเล็งเป้าหมายเลยจากเนื้อหาวิชาไปสู่การพัฒนาทักษะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการเรียนรู้โดยสิ้นเชิง

          คือเปลี่ยนจากเน้นการสอนเป็นเน้นการเรียนและเน้นการเรียนโดยการลงมือทำ (Learning by Doing) และเรียนเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมและทักษะความร่วมมือกับผู้อื่น ทักษะการอยู่กับความแตกต่างหลากหลาย ทักษะในการค้นคว้าหาความรู้มาลองใช้ เป็นต้น

          คำถามเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ผมมีโอกาสให้ความเห็นเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยยุคใหม่   ว่าหัวใจ คือสถาบันอุดมศึกษาต้องแตกต่างกัน   สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๘๐) ต้องเน้นการจัดการศึกษาเพื่อ ออกไปทำงานประกอบสัมมาชีพ เป็นพลเมืองดีของสังคม   บัณฑิตเหล่านี้ต้องมีทั้ง ความรู้วิชาที่เป็นแกน  บวกกับทักษะอีก ๓ กลุ่ม คือ (๑) ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ  (๒) ทักษะการเรียนรู้  (๓) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี   บัณฑิตเหล่านี้ไม่ได้เรียนเน้นวิชาการจ๋าอย่างที่มหิดล จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยกลุ่มที่เรียกว่า มหาวิทยาลัยวิจัย  

          มหิดล จะทำหน้าที่สร้างตัวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก (World Class Research University) ให้แก่ประเทศซึ่งหมายความว่าเราจะเป็นตัวแทนของประเทศไทยอุดมศึกษาไทยออกไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับวงการวิชาการระดับโลกและทำหน้าที่ดึงดูดวงการวิชาการระดับยอดของโลกสู่ประเทศไทยหรือสู่การขับเคลื่อนสังคมไทยเพื่อให้สังคมไทยได้ใช้พลังปัญญาของทั้งโลกเอามาสร้างสรรค์สังคมไทยในลักษณะร่วมมือเคียงบ่าเคียงไหล่กันไม่ใช่เราเป็นฝ่ายรับถ่ายทอดเทคโนโลยีแต่ถ่ายเดียว

          การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกต้องเป็นสมาชิกเครือข่ายในวงการวิชาการนานาชาติและในขณะเดียวกันก็ต้องผสานกับวงการวิชาการภายในประเทศที่เป็นวงการวิชาการรับใช้สังคมทำงานวิชาการจากฐานสังคมไทยนักศึกษาบัณฑิตและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีความท้าทายที่จะต้องทั้งองอาจผึ่งผายในวงนานาชาติและทั้งติดดินเราจะต้องหาวิธีส่งเสริมให้นศ.ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะ 21st Century Skills ตามจุดเน้นของมหาวิทยาลัยมหิดล

          การเรียนรู้สมัยใหม่ ต้องก้าวข้ามจาก informative learning และ formative learning ไปสู่ transformative learning ให้ได้   นี่คือความท้าทายวงการศึกษา ว่าจะจัดการเรียนอย่างไรให้ได้คุณสมบัตินี้ และรู้ได้อย่างไรว่าบัณฑิตมีคุณสมบัตินี้  
informative learning เป็นการเรียนรู้ในระดับที่รู้เนื้อหาวิชา ตอบข้อสอบที่ถามเนื้อความรู้ได้   formative learning เรียนประยุกต์ใช้ความรู้ เอาไปประกอบอาชีพได้   ส่วน transformative learning เรียนให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงในตน จนเกิดภาวะผู้นำ มีทักษะในการนำการเปลี่ยนแปลง (change agent)   โลกปัจจุบันและอนาคต เป็นโลกของการเปลี่ยนแปลง    บัณฑิตต้องมีทักษะในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ในระดับเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำ    ทักษะภาวะผู้นำจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของบัณฑิตแห่งศตวรรษที่ ๒๑

          บันทึกหลังการประชุม  ผมเสวนาร่วมกับ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์   โดยมีผู้ดำเนินการอภิปรายตั้งคำถาม   การอภิปรายของผมก็มีสาระไปในแนวทางข้างบน   แต่ไม่ละเอียดเท่า 

           คุณเจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ ฟังการอภิปรายแล้วเกิดแรงบันดาลใจ นำไปเขียนตีความต่อที่นี่

 

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ม.ค. ๕๕  ปรับปรุง ๓๑ ม.ค. ๕๕  และ ๑ ก.พ. ๕๕
 

หมายเลขบันทึก: 479712เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2012 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

* อ่านแล้วคิดถึงหนังสือดีมีคุณค่าที่ได้รับแจกวันนี้ค่ะ..ในหน้า 186 ของหนังสือที่ เขียนถึง..

 " ชุมชนแห่งการเป็นผู้นำ " ..ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง..ยุทธศาสตร์ผู้นำรวมหมู่..ที่ควรปลูกฝังในจิตสำนึกจากรากถึงโคนของการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้...

Large_photo227 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท