"ภูเขาที่ว่าสูงใหญ่ยังมีคนขึ้นไปถึง แล้วกับสิ่งเล็ก ๆ ทำไมเรายังท้อ" ... (ผลจากการสอนด้วยความเพียร ๔ เดือน)


ศิลปะ หมายถึง ความยืดหยุ่นในการสอนคนให้เป็นมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งที่สามารถรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัว และสังคมให้งอกงามกว่าที่เคยเป็น

รายวิชา "นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา" หรือ "เทคโนโลยีการศึกษา" เดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานคุรุสภาในวิชาชีพครูที่นักศึกษาครูต้องเรียน อันเป็นวิชาที่ว่าด้วยการออกแบบและสร้างสื่อการเรียนการสอน

รายวิชานี้เป็นวิชากลางที่มีผู้สอนหลายคน ผู้สอนแต่ละคนมีวิธีการและเทคนิคการสอนที่แตกต่างกันแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน

แน่นอนว่ากระบวนการสอนผมไม่เหมือนใคร และไม่มีใครอยากเหมือน เพราะคนเป็นครูต้องใช้เวลากล่อมเกลาในกระบวนการทั้งเนื้อหาความรู้ การฝึกหัดทำสื่อจริง พร้อมกับการพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องตามกระแสสังคมหลัก ให้กลับมาสู่เส้นทางคุณธรรมที่ดีขึ้นกว่าเดิม

 

เริ่มตั้งแต่เข้าห้องเรียน พฤติกรรมทางการเรียน ชิ้นงาน การสอบ ฯลฯ

ผมว่า นี่เป็นศิลปะการสอนที่ยากจะเลียนแบบกันได้ เพราะ ศิลปะ หมายถึง ความยืดหยุ่นในการสอนคนให้เป็นมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งที่สามารถรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัว และสังคมให้งอกงามกว่าที่เคยเป็น

เมื่อกระบวนแห่งการเห็นผลสิ้นสุด ๔ เดือน หรือ ๑ ภาคเรียน ย่อมต้องมีการพิสูจน์ว่า นักศึกษาไ้ด้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ทัศนคติ หรือการใช้ชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ไปบ้างหรือไม่

 

เทคนิคการทดสอบที่ว่านี้ จะอยู่ในข้อสอบปลายภาคที่เป็นอัตนัยที่เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้นักศึกษาเขียนการเปลี่ยนแปลงตนเองที่เกิดขึ้น

(ใครจะตั้งคำถามในความไม่เชื่อมั่นในคำตอบ ขอให้กลับไปอ่านบันทึกเก่า ๆ ในบล็อกนี้)

 

วันนี้ (๒๑ ก.พ.๕๕) นักศึกษาครู ปี ๑ ภาคปกติ สอบประมาณบ่ายโมง ผมรับซองข้อสอบมาเตรียมตรวจ เริ่มพลิกเปิดอ่านความรู้สึกนึกคิดของเด็กทีละคน ๆ อ่านไปอ่านมา ผ่านไป ๒ ชั่วโมง ... ปกติกว่าจะอ่านจบก็หลายวัน แล้วจึงให้คะแนน

 

แต่อ่านไปพบกับ คำตอบที่น่าประทับใจของลูกศิษย์คนหนึ่ง ซึ่งผมตอนนี้ยังนึกน่าไม่ออกเลย อยากแชร์ความรู้สึกนี้ให้กับ "กัลยาณมิตร" ได้อ่านไปพร้อม ๆ กันครับ

 

 

 

.

วิธีคิด, ทัศนคติ หรือ การใช้ชีวิตของ "ตนเอง" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

คำตอบจากนักศึกษาคนหนึ่ง ...

จากการเรียนนวัตกรรมกับอาจารย์มา ทำให้เราเปลี่ยนวิธีการคิด การมองโลกไปได้หลายอย่าง ทำให้เรามีความคิดที่จะเสียสละมากขึ้น และไม่นิ่งเฉยต่อความไม่ถูกต้อง เพราะอาจารย์คอยกระตุ้นให้เราเป็นคนดี แม้เราอาจไม่ใช่คนเก่งอะไร แต่เราเป็นคนดีได้ และการทำดีก็ไม่จำเป็นต้องให้ใครเห็น ใครมาชื่นชมเรา แค่ตัวเรารู้ก็พอ

สำหรับหนูนะ การดำเนินชีวิตหนูเปลี่ยนนะ ตรงที่เราไม่จำเป็นต้องตามใคร พอในสิ่งที่มี คือ บางครั้งเราเห็นเพื่อน ๆ มีอะไรใหม่ ๆ  ดี ๆ เราก็อยากมีบ้าง แต่ความคิดนั้นได้หายไปแล้ว เพราะบางทีสิ่งของนอกกายมันไม่ได้เพิ่มคุณค่าของความเป็นคนเท่ากับใจที่อยู่ข้างใน เหมือนว่าอาจารย์คอยเตือนสติเลยทำให้ความคิดต่าง ๆ ของเราเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้เรามีการพัฒนาความคิดที่ดีขึ้นสูงขึ้น และภาพอาจารย์เองก็สะท้อนให้หนูมีความคิดที่จะเป็นครูที่มาจากวิญญาณความเป็นครูจริง ๆ ซึ่งหนูมองว่า อาจารย์มีเยอะนะ และชีวิตของอาจารย์ก็เป็นแบบอย่างที่หนูอยากเจริญรอยตาม โดยเฉพาะความคิดที่ดีเหมือนอาจารย์ เป็นตัวเองดีไม่ต้องแกล้งทำให้ใครมาชื่นชมสรรเสริญตรงตามความถูกต้องเป็นพอ

 

ทบทวนสิ่งที่พูดไป ...

* ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน

* หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน (๔ เดือนเชียว)

 

 

 

๒.

วิธีคิด, ทัศนคติของตนเองที่กระทำต่อ "พ่อแม่และครอบครัว" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

คำตอบจากนักศึกษาคนหนึ่ง ...

สำหรับทัศนคติต่อพ่อกับแม่ มันทำให้เราย้อนนึกถึงความรักของพ่อกับแม่มากขึ้นสำหรับหนูแล้ว หนูบอกได้เลยว่าชีวิตหนูพ่อแม่ที่หนึ่งอยู่แล้ว หนูไม่เคยมีแฟน หนูก็เลยไม่รู้ว่าการที่รักแฟนมากกว่าพ่อกับแม่ มันเป็นยังไง

สำหรับรักเพื่อน หนูรัก แต่ไม่เท่าพ่อกับแม่ เพราะหนูใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่มาตลอด หนูเห็นถึงความยากลำบากของพ่อกับแม่เสมอ และยิ่งอาจารย์กระตุ้นถึงความกตัญญูต่อพ่อกับแม่ ทุกครั้งมันเป็นแรงที่ผลักให้หนูทำทุกวันให้ดี

บางทีบางอย่างวันนั้นเราท้อนะ แต่อาจารย์คอยย้ำ มันทำให้หนูต้องทำให้ดี หนูเลยชอบเวลาฟังอาจารย์สอน มันทำให้หนูเกิดความคิดดี ๆ เหมือนเราดูมีค่าขึ้น และทำให้หนูรู้ซึ้งถึงความสำคัญของพ่อกับแม่มากกว่าก่อน เพราะสำหรับชีวิตคน ๆ หนึ่งแล้วคงไม่มีผู้หญิงคนไหนรักเราเท่าแม่ และคงไม่มีผู้ชายคนไหนเสียสละเพื่อเราเท่าพ่อแล้ว ...

ขอบคุณสำหรับจิตสำนึกที่ดี ๆ ค่ะ คุณครู ...

 

ทบทวนสิ่งที่พูดไป ...

* ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี

* พ่อแม่อาจจะรอเห็นเรารับปริญญาไม่ทันก็ได้ จะรีบทำอะไรก็รีบทำเสียแต่เดี๋ยวนี้

 

 

 

๓.

วิธีคิด, ทัศนคติของตนเองที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่าง "เพื่อนร่วมห้อง หรือ เพื่อนร่วมหมู่เรียน" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

คำตอบจากนักศึกษาคนหนึ่ง ...

ทัศนคติที่เปลี่ยนไป คือ เรารู้สึกผูกพันนะ เพราะ Sec อื่น วิชาอื่น เรากับเพื่อนไม่ค่อยมีเวลามาทำอะไรด้วยกันบ่อยมากนัก ถ้าไม่ใช่เอกเดียวกัน แต่ Sec นี้ วิชานี้ เรามีเวลาอยู่ด้วยกันทำอะไรหลายอย่างด้วยกัน

เพื่อนบางคนดูเงียบ ๆ ดูไม่เป็นมิตร แต่ที่จริงเค้าน่ารักดี เพียงแต่เรามองไม่เจอ มันเลยทำให้หนูรู้ว่า มองคนอย่ามองแค่ภายนอก แล้วตัดสินเค้า เราต้องสัมผัสชีวิตเค้าก่อน และจากการทำงานด้วยกันมาก็ทำให้เราเห็นน้ำใจของเพื่อน ๆ แม้เพื่อนต่างสาขาเค้าก็หวังดีกับเราคอยแนะนำเรา เวลาที่เราทำงานผิด และทำให้เราอยากเสียสละเพื่อเค้าด้วย

หนูเลยมองว่า ถ้าเรามีความคิดดี ๆ เราก็จะส่งต่อสิ่งดี ๆ เพื่อคนอื่น และการที่มีคนมากระตุ้นความคิดดี ๆ แก่เรา ก็เป็นสิ่งที่ดีจึงทำให้เราแสดงออกมาในทางที่ดีแก่คนรอบข้างด้วย

 

ทบทวนสิ่งที่พูดไป ...

* ธรรมชาติของวิชานี้จะมีนักศึกษาครูมาเรียนหลายเอก กระบวนการหลายอย่างทำให้เด็กต้องทำงานร่วมกัน

* คิดดูดี ๆ ก่อนให้เครื่องหมายลบกับใคร (The Last Lecture)

 

 

 

๔.

วิธีคิด, ทัศนคติของตนเองที่มีต่อ "อาจารย์ประจำวิชา" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

คำตอบจากนักศึกษาคนหนึ่ง ... 

สำหรับอาจารย์ ทัศนคติก็เปลี่ยนเหมือนกันนะคะ คือ ตอนแรกก็คิดนะว่า อาจารย์คนนี้ ทำไมเยอะจัง ตอนแรกที่เห็นงานอาจารย์ก็คิดว่า เราจะทำได้ไหม แต่ไม่คิดย้าย section นะ เพราะหนูอยากรู้ว่า หนูจะทำได้ไหม และระยะเวลาก็ได้พิสูจน์มาแล้ว แม้มันอาจไม่ดี ๑๐๐ % แต่เราก็ทุ่มเททำ ภูมิใจมากค่ะ

ตอนแรกที่เจออาจารย์ ดูอาจารย์เป็นคนแบบเรียบ ๆ นิ่ง ๆ ไม่ดุ ไม่ด่า แต่คำพูดอาจารย์แอบเจ็บค่ะ แต่พออยู่กับอาจารย์นาน ๆ ไป รู้เลยว่า อาจารย์เป็นคนมีหลักในการดำเนินชีวิต และอาจารย์เป็นคนใจดีนะ หนูว่า อ่อนไหวด้วย และเหมือนว่าอาจารย์จะเข้าใจความรู้สึกของทุก ๆ คนเลย อาจารย์จะเอาใจใส่กับนักศึกษาทุกคน ไม่รู้หนูคิดไปเองหรือเปล่านะ แต่หนูรู้สึกเหมือนอาจารย์คอยเฝ้ามองพัฒนาการของนักศึกษาทุกคน

ในระยะเวลาที่เรียนกับอาจารย์มา มันเลยทำให้ภาพแรกกับภาพสุดท้ายที่มองอาจารย์ต่างกันไป จนตอนนี้ วันนี้ หนูมีเพียงความศรัทธาในตัวอาจารย์ และนับถืออาจารย์เป็นครูในดวงใจคนที่ ๒ ในชีวิต (ครูคนแรกเป็นครูสอนหนูตอน ป.๕ ค่ะ)

 

ทบทวนสิ่งที่พูดไป ...

* ภาพแรก คือ พูดเงื่อนไขแรกที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามก่อน ใครรับไม่ได้ให้ไป DROP

* ระยะเวลา ๔ เดือน วิญญาณความเป็นครูของผมสอนพวกเขา บางทีผมเองก็ยังจำไม่ได้ว่า ได้พูดอะไรไปบ้าง เพราะแล้วแต่สถานการณ์ เนื้อหาวิชาแต่ละช่วง

* ภาพสุดท้่าย คือ บอกเหตุผลทั้งหมดที่เกิดขึ้น ๔ เดือนให้เข้าใจ ใครไม่เข้า ก็เหมือนเรียนไม่จบรายวิชานี้

 

 

 

๕.

วิธีคิด, ทัศนคติ หรือ การใช้ชีวิตของตนเองที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายในอนาคต คือ "การเป็นครูที่ดี" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

คำตอบจากนักศึกษาคนหนึ่ง ...

เปลี่ยนมากค่ะ หนูอยากบอกอาจารย์ตรง ๆ เลย เพราะตอนแรกหนูคิดเพียงว่า เราเรียนแค่ได้เกรดดี ๆ ก็ดีแล้ว หนูลืมนึกถึงคุณภาพไป แต่ยังดีที่รู้ตัวตอนปี ๑ ทำให้หนูเริ่มใหม่ได้อยู่ เพราะตอนแรกมาเรียนจิตวิทยา เพราะชอบจิตวิทยา แต่ไม่ชอบครู ตอนนี้รู้แล้วว่า การเป็นครู มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ สำคัญด้วย และการเป็นครูที่ดี และเป็นคนที่ดีด้วยเนี้ยะยิ่งน่าท้าทาย มันเลยเปลี่ยนความคิดไปเยอะเลย ทำให้หนูอยากเป็นครูที่มาจากข้างใน คิดถึงลูกศิษย์ก่อนเสมอ และมอบสิ่งดี ๆ ให้เค้า

หนูอยากเป็นครูดอยค่ะ แม้ใครจะบอกว่าลำบาก แต่หนูมาจากความยากลำบากนั้นหนูเห็นถึงการขาดการศึกษาของเด็ก ๆ หนูอยากเป็นคน ๆ นั้นที่จุดประกายความฝันของเด็กหลาย ๆ คน หนูว่า หนูเป็นครูบนดอยอบอุ่นดีนะ มันไม่เสแสร้งดี จริงใจ และเด็ก ๆ ก็ขาดโอกาส เป้าหมายของหนูจึงอยากเป็นครูดอย และเป็นครูดี มีจิตวิญญาณความเป็นครู

หนูคิดว่า เราสร้างได้ค่ะ และหนูจะนำทุกคำสอนของอาจารย์ไปปรับเปลี่ยนทัศนคติหลายด้านของหนู เพื่อที่จะเป็นครูที่ดีเหมือนอาจารย์

 

ทบทวนสิ่งที่พูดไป ...

* ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน

* สอนโดยไม่สอน

* สอนแบบไม่รู้ตัว

* สอนด้วยการกระทำให้เห็น และเป็นจริง

 

 

 

๖.

ทักษะและความรู้ที่ได้รับจริง จากการลงมือผลิต "สื่อการเรียนการสอน"

 

คำตอบจากนักศึกษาคนหนึ่ง ...

จากการลงมือผลิตสื่อเองทำให้เรียนรู้หลายอย่าง และได้รับอะไรหลายอย่างกลับมา ตอนแรกก็ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมต้องทำ แต่พอรู้ว่ามันคอยสอนเราให้เราได้ใช้ในอนาคต เลยเข้าใจ หนูคิดว่า หนูต้องได้ใช้แน่นอน และหนูจะจำงานทุกชิ้นที่ทำเพื่อที่จะใช้สอนในอนาคต และการผลิตสื่อต่าง ๆ ก็สอนให้เรามีความอดทน รอบคอบ ละเอียดด้วย และทำให้หนูรู้ว่า หนูก็มีความสามารถทำได้

ตอนแรกเห็นงานที่อาจารย์เอามาให้ดูเนี้ยะ ท้อเลย และนั่งคิดว่า เราจะทำได้ไหม? แต่ก็ทำได้อ่ะ เหมือนคำที่ว่า "อย่าคิดว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำ" คำนี้จริงเลย แค่เราคิดว่า เราทำไม่ได้ อะไร ๆ ก็คงจบแค่นั้น แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ เราก็ทำได้

 

ภูเขาที่ว่าสูงใหญ่ยังมีคนขึ้นไปถึง แล้วกับสิ่งเล็ก ๆ ทำไมเรายังท้อ

 

ทุกอย่างที่ผ่านมาเลย สอนให้หนูไม่ยอมท้อกับงานค่ะ ไม่ว่าวิชาไหน ๆ

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับสิ่งดี ๆ ที่อาจารย์ส่งมาให้

ป.ล. ลายมือไม่สวยแล้วค่ะ คิดว่าอาจารย์คงอ่านออก

สวัสดีค่ะ อาจารย์ (....................)

 

ทบทวนสิ่งที่พูดไป ...

* คำศักดิ์สิทธิ์ "อย่าเพิ่งคิดว่าทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำ"

* สอนด้วยการทำงาน (Project-Based Learning)

* สอนด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing)

* ความยากและความลำบาก จะทำให้เราเห็นคุณค่าของงานที่เราสร้างด้วยมือ

 

 

 

ความหวัง พลังใจ

 

ผมใช้เวลาขัดเกลาจิตใจของเขาถึง ๔ เดือน โดยใช้กระบวนการเท่าที่มันสมองเล็ก ๆ จะพอคิดได้ เนื่องด้วยตัวเองเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ

การทำอย่างไรก็ได้ให้เด็ก "เปิดใจ" ออกมา จึงเป็นสิ่งที่จะพยายามครั้งแรกด้วยงานต่าง ๆ โดยการเลือกสรรวีดิทัศน์แทงใจดำ

 

ส่วนชิ้นงานที่ง่ายและยากเย็นจะสลับกันทำงานของมันเองต่อไป

การสั่งงานแต่ละชิ้นย่อมมีเหตุผลในตัวเอง แรก ๆ เด็กจะต่อต้านในเรื่องปริมาณและความหนักหนาสาหัส ต่อมาเมื่อเด็กพบว่า คุณค่าและความนับถือตนเองเกิดจากสิ่งนี้ แรงต่อต้านจึงเท่ากับ 0

 

"คุณภาพของงาน" ไม่สำคัญเท่ากับ "ความสำเร็จของงาน" ที่เขาได้ลงมือทำด้วยมือของเขาเอง

 

แต่หากผลเลวร้ายเกินไป ผมต้องสอนให้เขายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อเรียกร้องใด ๆ อันเป็นเรื่องของ "ทำสิ่งใด ย่อมได้ สิ่งนั้น"

ดังนั้น หากไม่มีุคุณค่าพอ อย่าแบมือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เพราะมันไม่ภูมิใจและไร้คุณค่าในตัวเอง

 

ความเหนื่อยและความท้อใจของคนสอนก็มีอยู่บ้างในกรณีของคนที่ "ปิดใจ" อัตตาพอกหนา คิดว่า ตนเองทำดีแล้ว เก่งแล้ว พวกนี้ผมจะพยายามดูก่อนด้วยวิธีการอื่น ๆ หากไม่ไหวใน ๔ เดือนจริง ๆ คงต้อง "บุญทำ กรรมแต่ง"

แต่การคัดง้างคิดเป็นจำนวนถือว่า น้อยมาก ห้องหนึ่งก็มีสักคน สองคนเท่านั้น

 

คนส่วนใหญ่ เมื่อเราใช้เหตุผล เขาจะฟังและนำไปคิด และเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยที่เราไม่ต้องบอกอะไรเลย

 

"ไม่มีใครเปลี่ยนใครได้ ถ้าเจ้าตัวไ่ม่เปลี่ยนเอง"

 

เด็กคนนี้เขียนได้ประทับใจผมเหลือเกิน ผมเองก็ยังจำไม่ได้เหมือนกันว่า ผมได้สอนอะไรเขาไปบ้าง ผมได้พูดอะไรไปบ้างหนอ จำไม่ได้จริง ๆ

แต่ก็รู้สึกภาคภูมิใจในความเพียรพยายามของตัวเองที่ผ่านมา ๔ เดือนครับ

 

"มันได้ผล!"

 

คำอุทานสั้น ๆ ของผม !

 

 

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้เสมอนะครับ กัลยาณมิตรของผม ;)...

 

บุญรักษา นะครับ ;)...

หมายเลขบันทึก: 479555เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2012 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

อาจารย์ครับ

ผมชื่นชมกับอาจารย์และน้องนักศึกษาในการเรียนรู้ครั้งนี้นะครับว่า

วิธีคิด ทัศนคติของตนเองสามารถปรับเปลี่ยนได้

ถ้ามีอาจารย์สนับสนุน และนักศึกษามีพลังในใจ

เป็นการเรียนรู้ในวิชาสุดท้ายที่อาจารย์ไม่เคยสอน

แต่อาจารย์นำมาสอนนักศึกษาล่วงหน้า

ผมมองเห็นความงดงามทางความคิดของนักศึกษา

และเชื่อว่าเขาจะเป็นอนาคตที่ดีให้กับโลกเรา

เพราะเขาได้รับหน่วยกิตชีวิตไปแล้วครับ

เมื่อเริ่มเปลี่ยน มุมคิด แน่นอนที่สุด ชีวิตก็จะ เปลี่ยน

ว้าว ชอบคำโปรย แต้ๆ เจ้า ... ยินดีและส่งกำลังใจ ค่ะ

ศิลปะ หมายถึง ความยืดหยุ่นในการสอนคนให้เป็นมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งที่สามารถรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัว และสังคมให้งอกงามกว่าที่เคยเป็น

 

 

 

 

อ่านแล้วซาบซึ้งใจ และภูมิใจแทน ค่ะ..คุณครู

 "ไม่มีใครเปลี่ยนใครได้ ถ้าเจ้าตัวไ่ม่เปลี่ยนเอง"

หากไม่มีุคุณค่าพอ อย่าแบมือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เพราะมันไม่ภูมิใจและไร้คุณค่าในตัวเอง

ขอบคุณเแต้ ๆ เจ๊า..^_^


เป็นกะลังใจให้อาจารย์....ก้าวเดินตามอุดมการณ์ต่อไป

อาจารย์ Wasawat Deemarn เจอเพชรเม็ดงามเข้าแล้วค่ะ ดีใจกับตัวเด็กและอาจารย์ด้วยนะคะที่ช่วยกันนำสิ่งที่ดีที่สุดออกมา จากการเรียน การสอนวิชานี้

หวังว่าความประะทับใจนี้จะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างครูที่เป็นคนดีเพิ่มอีกคนค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ....ครูเงา

ชื่นใจ  ภูมิใจ....หายเหนื่อยมากแล้วซิคะ

ขนาดไม่ได้นั่งเรียนด้วย  ๔  เดือน

แค่อ่านคำตอบหนึ่ง....ซาบซึ้งมาก

เหมือนติดตามอ่านบันทึกครูเงาแล้ว...วิธีคิดก็ขยับเปลี่ยนได้

ทำอย่างไรเราจะทำดีขึ้น  เป็นคนที่ดีขึ้น

ครูเงา  ครูทุกขณะ  จิตสาธารณะ  ครูด้วยจิตวิญญาณ 

พักผ่อน  นอนหลับ  ทานอาหารให้อร่อยนะคะ

สู้ต่อไปนะ....ทาเคชิ  :),

(นึกภาพเป้บนหลังอัดแน่นไปด้วยข้าวของ  ค่อย ๆ ขนออกมาสอนนักศึกษา  ม่ายใช่นะ  ไม่ใช่....บ้าหอบฟาง อิอิ)

อิ อิ ครูเงา คนขี้เหงา ตัวเท่าเสือ :) ชวนไปจับภาพเรือยักษ์

กล้องพร้อม ใจพร้อม รอคำแนะนำจากเซียนกล้อง อิ่มลำยามเที่ยงเน่อเจ้า :)

ขอบคุณ คำว่า "หน่วยกิตชีวิต" จากคุณหมอ ทิมดาบ ครับ ;)...

คำโปรยที่ใช้เป็นการสั่งสมประสบการณ์ที่ทำให้พอนิยามคำ ๆ นี้ออกมาได้

ขอบคุณมากครับ คุณ Poo ;)...

ขอบคุณมากครับ พี่หมวย สีตะวัน ;)...

ถึงบ้านแล้วนะครับ

นมัสการพระคุณเจ้า Phra Anuwat ครับ

ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจครับผม ;)...

อาจารย์ ...ปริม ทัดบุปผา... ครับ

อาจารย์เชื่อไหมว่า คำตอบลักษณะนี้เป็นแนวทางนี้เกือบทั้งห้องที่สอนเลยครับ

เด็กทุกคนเห็นคุณค่าที่เข้ามาเรียนกับผมตลอด ๔ เดือน

ผมสอนเขาด้วยความตั้งใจและหนักหน่วง ตรงไปตรงมา

สอนให้เขาเข้าใจ และเปลี่ยนตัวเองได้

เหนื่อยหน่อยครับ แต่ก็หัวใจพองโตใช้ได้เลย

ขอบคุณมากครับ ;)...

คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา ครับ

บางคำตอบอ่านแล้วก็น้ำตาซึมก็มีนะครับ

เด็กที่เกเร เอาแต่ใจตัวเองที่สุดก็ยังสามารถเปลี่ยนตัวเองได้

ยากนะครับ ... Working Hard มาก ๆ ครับ

เป้หลัง ... มีทุกอย่างที่ต้องการครับ อิ อิ

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณครับ คุณ Poo แวะมาส่งเทียบเชิญ อิ อิ

ชอบคำนี้ค่ะ "มันได้ผล" ขอบคุณที่อาจารย์เล่าสิ่งที่เป็นประโยชน์มากมายต่อครูนกค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้คะอาจารย์

...

ความสำเร็จในการสร้างคนอย่างแท้จริง

คือ คำนี้แหละ

"ไม่มีใครเปลี่ยนใครได้ ถ้าเจ้าตัวไ่ม่เปลี่ยนเอง"

ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ คุณครูนก noktalay ;)...

ขอบคุณมากครับ

ยินดีและขอบคุณ คุณหมอบางเวลา ป. เช่นกันครับ ;)...

ยินดีด้วย กับกล้วยไม้...ที่กำลังเติบแกร่ง...ค่ะอาจารย์

ศิษย์นอกระบบ ขอประเมินตนเองมั่งติหละ :)

บางครั้ง ความเงียบ ก็ให้คำตอบได้...ชัดดี

เคยขอให้อาจารย์ ไปช่วยอ่าน... ติชมบันทึก... ได้ความเงียบเป็นคำตอบ!

ต้องกลับไปอ่านเองหลายๆรอบ พบคำตอบมากมาย^___6

ขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง สำหรับความพยายามอย่างต่อเนื่องของอาจารย์ค่ะ

เป็นบทเรียนที่ถ่ายทอดให้เห็น เห็น เห็น  ไม่จำเป็นต้องสอน...เนอะ ^____^

ขอบคุณค่ะ

ขออภัยในความเงียบและความดังเบา ๆ นะครับ คุณ Tawandin ;)...

บางที กระบวนการสื่อสารของผมเองก็คงไม่ค่อยดีด้วยนะครับ

เขียนมาก อ่านน้อย ว่างน้อย เีขียนมาก จึงแว่บได้บ้าง แว่บไม่ได้บ้างน่ะครับ

ขออภัยจริง ๆ ครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท