กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๖๔) : ผิดเป็นครู


ก่อนเข้าร่วมการสรุปประสบการณ์กับวงครูที่ทำการเปิดชั้นเรียนด้วยกัน คุณครูแคท - คัทลียา รัตนวงศ์ เรียบเรียงบันทึกชุดนี้มาส่งให้กับดิฉันเพื่อเป็นการสรุปการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง 

 

...ในการทำงานวันแรกของปี ๔ มกราคม ๒๕๕๕ เป็นการ  Open Class ครั้งสุดท้าย  ซึ่งชั้นเรียนในวันนั้นน่าจะเป็นชั้นเรียนที่งดงามที่สุดด้วยเหตุผลหลายประการ  ไม่ว่าจะตัวครูที่ได้หยุดพักผ่อนปีใหม่แบบยาว ๆ นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม 

 

แผนการสอนที่ทีมได้ Preไว้ในวันทำงานวันสุดท้ายของปีก็ได้รับการทวนซ้ำหลายครั้ง  และทั้งวันของวันที่ ๓ ก่อนจะถึงวันจริง ๑ วัน  ก็ได้มาเตรียมสื่อต่างๆ รวมทั้งนั่งอ่านงานครั้งก่อนๆ และทบทวนข้อเสนอแนะของทีมใน ๒ ครั้งแรก  ทำให้รู้สึกมั่นใจในแผน  มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองต้องแก้ไขในครั้งนี้  แอบหวังเล็กๆ ว่า  ชั้นเรียนวันนี้มันต้องเจ๋งแน่ๆ เลย เด็กๆ จะต้องสนุกและได้เรียนรู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

วันนั้นมาโรงเรียนตั้งแต่เช้า ค่อยๆ เตรียมตัว ไม่รีบร้อน เตรียมแผน เตรียมสื่อ จัดวางทุกอย่างไว้ในห้องเรียนก่อนถึงเวลา  นั่งสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง

 

ตอนเริ่มคาบทุกอย่างเป็นไปขั้นตอนอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสติก่อนเรียน และการสร้างแรงบันดาลใจก็เป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ ท่าทางของเด็กๆ ที่ดูตื่นรู้ ทำให้ครูแอบยิ้มเล็กๆ ตอนเห็นสายตาที่มองมาด้วยความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา

 

เมื่อมาถึงขั้นเปิดสถานการณ์โจทย์  ให้นักเรียน ออกแบบการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าในปูอัดมีส่วนประกอบอะไรบ้าง  ขณะที่ครูให้เด็กๆ อ่านทวนโจทย์บนกระดานอีกครั้ง  ก็รู้สึกว่าใจกระตุกวูบขึ้นมาทันที  เมื่อเสียงในความคิดดังขึ้นมาให้ได้ยินว่า  “met beforeของเด็ก มีไม่พอที่จะออกแบบการทดลองแน่ !” แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจดำเนินการทุกอย่างไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมกับคิดในใจว่า “ลองพยายามสักตั้ง”

 

นับจากนาทีนั้นเป็นต้นมา connection ระหว่างครูกับเด็กก็หายไป เพราะครูใช้ความมุ่งมั่นตั้งอกตั้งใจที่จะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามแผนที่ได้เตรียมมา  ณ ขณะนั้นจึงเหลือเพียงครูที่ลงมือทำงานตามแผนการที่วางเอาไว้

 

นักเรียนที่เคยมีคุณสมบัติของนักเรียนรู้หายไปกลายเป็นผู้ถูกสอน แล้วครูก็ได้พบกับอาการของคนที่ไปต่อไม่ได้...พวกเขาหันหน้าหันหลังถามเพื่อน เล่นยางลบ เปิดโต๊ะหยิบของไม่หยุดหย่อน เมื่อถึงช่วงของการแลกเปลี่ยนจึงมีเด็กเพียงบางคนเท่านั้นที่โต้ตอบกับคำถามของครู

 

เมื่อหมดคาบจึงรู้สึกหมดพลัง และตัวครูก็เดินออกจากห้องไปด้วยความรู้สึกย่ำแย่ เพราะสิ่งที่คิดและหวังไว้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริงนั้นห่างกันลิบลับ

 

ในช่วงของการสะท้อนหลังสอนสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้จากคาบเรียนนี้อย่างแจ่มชัดคือ

 

  • ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น... อย่าให้ connection ระหว่างครูกับเด็กหมดลงเป็นอันขาด  เพราะนั่นเท่ากับเด็กขาดจากการเรียนรู้ทั้งปวงทันที 

 

  • ก่อนออกแบบการเรียนรู้ใดๆ ต้องมั่นใจ met before ที่แท้จริง(ไม่ใช่สิ่งที่ครูคิดว่าครูได้สอนไปแล้ว)

 

  • และสุดท้ายของการเรียนรู้ครั้งนี้ คือ เรื่องที่ทำได้ยากยิ่งมาตลอดชีวิต นั่นคือ ความกล้าที่จะยืนยัน และทำตามความคิดความเชื่อของตัวเอง 

 

ขอบคุณคุณครูทุกท่านที่เป็นผู้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการ Open Class ทั้ง ๓ ครั้ง และขอบคุณทุกๆ ความผิดพลาดที่เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ นี่เอง !!!!  ที่เขาเรียกว่า “ผิดเป็นครู”

 

 

แก้มือใหม่

 

แม้ว่าการ Open Class จะจบลงไปแล้ว แต่ข้อผิดพลาดต่างๆ ก็ยังอยู่ในแผนที่จะต้องปรับปรุงครั้งต่อไป ในการสอนครั้งถัดไปครูแคทจึงนำภาวะพร้อมเรียนเล็กที่ช่วยเติม met before ที่เคยขาดหายไปในการออกแบบการทดลองง่ายๆ ในเรื่องง่ายๆ ก่อนเพื่อให้เขามีหลักคิดที่จะนำไปใช้ในออกแบบการทดลองในเรื่องที่ตัวเองสงสัยต่อไป

 

การปรับเพิ่มภาวะพร้อมเรียนขึ้นอีก ๑๐ นาทีนั้นมีค่ามาก เพราะเป็นช่วงที่จะช่วยเชื่อมให้พวกเขามีแนวคิดในการคิดออกแบบการทดลองของตนเอง กิจกรรมที่ครูเตรียมไปคือ

 

ให้เด็กๆ สังเกตน้ำเปล่าและน้ำเกลือ ซึ่งดูภายนอกแล้วเหมือนกันทุกประการ จากนั้นท้าทายให้เด็กๆ พิสูจน์ให้รู้ให้ได้ว่าในแก้วน้ำใบไหนมีเกลือผสมอยู่ และการพิสูจน์นั้นจะต้องทำให้ทุกคนเชื่อได้ว่ามันมีเกลือจริงๆ

 

เด็กๆ ช่วยกันออกแบบการทดลองอย่างสนุกสนาน และพยายามหาวิธีที่แตกต่างไปจากวิธีการของเพื่อน แล้วเลือกวิธีที่ทุกคนลงความเห็นว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด  นั่นคือการต้มให้แห้งเพื่อดูว่ามีเกลือเหลืออยู่หรือไม่มาทดลองกัน

 

เมื่อมาถึงขั้นตอนการออกแบบการทำลองเพื่อหาส่วนผสมในปูอัด เด็กๆ คิดได้อย่างรวดเร็วและรอบคอบมากขึ้น  เช่น นอกจากการลองชิมปูอัดดูแล้ว ยังต้องเอาเนื้อปูมาชิมเปรียบเทียบกัน และต้องเพิ่มการดมและการสังเกตสีภายนอกด้วย

 

ชั่วโมงแก้มือในวันนั้นจบลงด้วยความสุข  และไม่เหนื่อยเหมือนครั้งก่อนเลย...

 

บทเรียนจากการ Open Class ครั้งสุดท้าย สอนให้รู้ว่าครูต้องตั้งสติทบทวนตัวเองทั้งตอนคิดแผน ตอนก่อนเข้าชั้นเรียน หรือแม้ขณะที่เข้าไปอยู่ในชั้นเรียนว่า met before ของเด็กมากพอที่จะทำเรื่องนี้ไหม

 

และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น connection ระหว่างครูกับเด็ก สำคัญที่สุด !

 

  

หมายเลขบันทึก: 479203เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2012 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท