สร้างวัคซีนข้าวช่วงอายุ 7 - 15 วัน ด้วยมังคุดและขมิ้นชัน


นอกจากการเตรียมแปลงแบบปราณีตแล้ววันนี้จะนำเสนอสูตรการทำวัคซีนข้าวเล็กอายุ 7 วันที่มีใบเพียงสองสามใบ

 

หลังจากที่เกษตรกรได้ลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ผ่านไปได้หนึ่งถึงสองสัปดาห์ ปัญหาที่จะประสบพบเจอในระยะนี้ก็จะเป็นในเรื่องของเพลี้ยไฟไรแดง มวนง่าม หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว และหนอนกระทู้กล้า แต่ส่วนใหญ่ที่สังเกตุจะเป็นในเรื่องของเพลี้ยไฟเสียมากกว่าที่ชาวบ้านหวาดผวา ยิ่งถ้าระบาดในช่วงที่ชาวไร่ชาวนาใส่ยาคุมฆ่าหญ้า(เพราะไม่ได้เตรียมแปลงทำเทือกหมักฟางโดยใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย) ด้วยแล้วแทบจะหาความแตกต่างไม่พบไม่รู้ว่าเหลืองหรือแดงจากเพลี้ยไฟระบาดหรืออานจากการใช้ยาคุมและฆ่าหญ้ากันแน่ เกษตรกรบางท่านตกใจเห็นข้าวเหลืองโทรมรีบนำปุ๋ยยูเรียหว่านกระทุ้งซ้ำเข้าไปอีกเพื่อหวังช่วยให้ข้าวมีสีตามที่ตนเองต้องการ (แต่ลืมนึกไปว่าข้าวกำลังเจ็บป่วยทรมานจากยาคุมฆ่าหญ้า) ผ่านมาได้สองสามวันข้าวเริ่มตอบสนองต่อปุ๋ยยูเรียส่งผลให้ใบสีเข้มเขียวขจีโค้งงออวบอ้วนเหมือนเด็กสมบูรณ์ที่เป็นโลโก้ของซีอิ๊วขาว ผลลัพธ์ได้ตามที่ฝันไฝ่ทั้งเจ้าของแปลงและหนอนกระทู้กล้าด้วย ต้องปวดหัวหาซื้อหยูกยามาใส่ไม่จบสิ้น
 
ทั้งเพลี้ยไฟ ทั้งหนอนแมลงที่ชอบระบาดในระยะก่อนข้าวแตกกอ ถ้ามีการเตรียมแปลงทำเทือกอย่างพิถีพิถัน หมักฟาง ใส่ฝักคูณ ใช้หินแร่ภูเขาไฟ (พูมิช, พูมิชซัลเฟอร์) ตรวจวัดกรด-ด่างของดินให้อยู่ในช่วง 5.8 - 6.3 ใช้เมล็ดพันธ์ที่คลุกผสมผงสมุนไพรบอรเพ็ด, ฟ้าทะลายโจร,เมล็ดหรือน้ำสะเดาฯลฯ และใช้เพียง 1 ถังหรือถังครึ่งต่อไร่ ปัญหาดังกล่าวก็จะมีค่อนข้างน้อยสามารถแก้ปัญหาที่ปลายเหตุได้โดยง่ายไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะข้าวจะแข็งแรงแบบธรรมชาติมาตั้งแต่เริ่มต้น ต้นจะเตี้ย แบนอ้วนอวบ ไม่สูง ยาว ขาวชลูด โงนเงนอ่อนแอเหมือนการเตรียมแปลงที่ใช้วิธีเผาฟางและอัดปุ๋ยอัดเมล็ดพันธุ์เพียงอย่างเดียว วิธีการอย่างหลังนี้เมื่อข้าวโตขึ้น จำนวนต้นเยอะ ต้นผอมเล็ก ล้มง่ายเมื่อเจอพายุฝน เก็บเกี่ยวได้แต่ฟางให้รวงน้อยน้ำหนักเบา
 
นอกจากการเตรียมแปลงแบบปราณีตแล้ววันนี้จะนำเสนอสูตรการทำวัคซีนข้าวเล็กอายุ 7 วันที่มีใบเพียงสองสามใบเพื่อให้ข้าวปลอดภัยจากโรคและแมลงในระยะอายุก่อน 30 วันก่อนท่่ีข้าวจะแตกกอ โดยวิธีการทำให้นำเปลือกมังคุดที่รับประทานเนื้อในเรียบร้อยแล้วนำไปตากแห้งผึ่งลมทิ้งไว้หนึ่งหรือสองสัปดาห์(ดูให้แห้งสนิทดี) แล้วจึงนำมาบดสับตำให้ละเอียดเป็นผุยผง นำมาหมักกับแอลกอฮอร์ล้างแผลหรือเหล้าขาว 500 ซี.ซี. (ครึ่งลิตร) ต่อผุยผงหรือเศษช้ินส่วนเปลือกมังคุด 1 ขีดหรือ 100 กรัมทิ้งไว้ประมาณ 7วัน ต่อจากนั้นใช้ผงขมิ้นชันที่อาจหาซื้อในท้องถิ่นจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือขุดหัวสดนำมาบดหั่นตากผึ่งลมเหมือนกับเปลือกมังคุดก็ได้ นำมาบดตำให้ละเอียดแล้วนำมาหมักกับแอลกอฮอล์หรือเหล้าขาวในอัตราเดียวกับเปลือกมังคุดหมักแยกทิ้งไว้ 7 วันหรือหนึ่งสัปดาห์ ต้องไม่ลืมว่าแยกกันหมักกับเปลือกมังคุดนะครับ 
 
เมื่อครบกำหนดนำมาบีบคั้นน้ำแล้วจึงค่อยนำสารสกัดทั้งสองชนิดมาผสมเก็บใส่ขวดในอัตราที่เท่ากัน แล้วจึงนำไปใช้ในอัตรา10 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร (หนึ่งช้อนแกงโดยประมาณ) ฉีดพ่นเพื่อสร้างวัคซีนให้แก่ข้าวในช่วงอายุ 7 วัน ในกรณีที่ต้นข้าวอวบอ้วนอ่อนแอจากการใส่ปุ๋ยยูเรียมากเกินไปอาจมีการระบาดของเพลี้ยไฟและหนอนจำนวนมาก ท่านอาจจะเสริมด้วยจุลินทรีย์กำจัดเพลี้ยที่ชื่อทริปโตฝาจ และเชื้อบีทีชีวภาพกำจัดหนอนฉีดพ่นเสริมเข้าไปในแปลงนาเป็นการสร้างจุลินทรีย์เจ้าถิ่นให้อยู่อาศัยในแปลงนาคอยทำหน้าที่เป็นทหารเฝ้ายามไปจนตลอดอายุการเก็บเกี่ยวด้วยก็ได้
 
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
 
 
 
 
 
 
 
หมายเลขบันทึก: 478747เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2012 06:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท