ภาวะผู้นำครู


ภาวะผู้นำครู
ความสำคัญของภาวะครูผู้นำ

ผู้นำ คือบุคคลที่ได้รับการมอบหมาย อาจโดยการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง และเป็นที่ยอมรับของสมาชิกให้มีอิทธิพลและบทบาทเหนือกลุ่ม สามารถที่จะจูงใจ ชักนำ หรือชี้นำให้สมาชิกของกลุ่มรวมพลังเพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ ของกลุ่มให้สำเร็จ

ภาวะผู้นำ   หมายถึง กระบวนการต่างๆ ที่ผู้นำใช้รูปแบบของอิทธิพลระหว่างผู้นำ และสมาชิกในกลุ่ม หรือใช้อิทธิพลของตำแหน่งให้สมาชิกในกลุ่มปฏิบัติตาม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม ตามที่ได้กำหนดไว้

กระบวนการสำคัญที่ผู้นำใช้ ได้แก่ กระบวนการกลุ่ม กระบวนการเกลี้ยกล่อมจูงใจ กระบวนการติดต่อสื่อสาร  กระบวนการใช้อำนาจ อิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม  กระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตาม และระหว่างผู้ตามด้วยกันเอง  และกระบวนการประสานสัมพันธ์บทบาทต่างๆ ในกลุ่ม ตลอดจนการควบคุมชี้นำ กิจกรรมของกลุ่มเพื่อการบรรลุเป้าหมาย

ความหมายของภาวะผู้นำของครู
การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับภาวะของผู้นำของครู ยังขาดการให้คำจำกัดความที่ชัดเจน การให้คำจำกัดความมีหลายแง่มุม และเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา  ยอร์ค-บาร์  และดุ๊กค์       ( York-Barr and Duke ,2004:260) สังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะผู้นำของครู  และสรุปความหมายของภาวะผู้นำของครูที่พบในงานวิจัยไว้ดังนี้

1.   ภาวะผู้นำของครูในแง่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ ครูที่มีความเชียวชาญด้านการเรียนการสอน ใช้บทบาทของผู้นำเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ท่ามกลางครู และครูผู้นำเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนโดยมุ่งเน้นที่ความสำเร็จในการเรียนรู้ของผู้เรียน
2.   ภาวะผู้นำของครูในแง่ของการใช้พฤติกรรมผู้นำ  คือ การที่ครูผู้นำใช้พฤติกรรมครูผู้นำทั้งแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ 4 ลักษณะ ได้แก่
1.   ภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม
2.   ภาวะผู้นำแบบมุ่งคุณภาพขององค์การ
3.   ภาวะผู้นำตามภารกิจที่ปฏิบัติ
4.   ภาวะผู้นำแบบใช้บทบาทคู่ขนาน

ภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม ครูผู้นำให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือกับผู้ร่วมงาน  ใช้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ร่วมงานเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ
   
   ภาวะผู้นำแบบมุ่งคุณภาพขององค์การ ครูผู้นำให้ความสำเร็จกับการพัฒนาองค์การด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย แสวงหาวิธีการปรับปรุงการปฏิบัติงาน เน้นความเป็นเลิศ แสดงความเชื่อมั่น ว่าผู้ร่วมงานสามารถปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานสูงได้

   ภาวะผู้นำกลุ่มตามภารกิจที่ปฏิบัติ  ครูผู้นำใช้พฤติกรรมผู้นำให้สอดคล้องกับลักษณะของภารกิจที่ปฏิบัติและคุณลักษณะของกลุ่ม

   ภาวะผู้นำแบบใช้บทบาทคู่ขนาน  ครูผู้นำให้ความสำคัญกับกระบวนการในการสร้างความผูกพันให้ฝ่ายบริหารเข้ามาปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อเป้าหมายสร้างศักยภาพให้กับโรงเรียน ด้วยการสร้างบรรยากาศของการไว้วางใจซึ่งกันและกันและการสื่อสารแบบเปิด

ความสำคัญของภาวะผู้นำ
การพัฒนาครูให้เป็นครูผู้นำ และใช้ภาวะผู้นำเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียน ก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญ 4 ประการ
1.   การเปิดโอกาสให้ครูผู้นำได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานศึกษา  ฝ่ายบริหารไม่สามารถบริหารและจัดการการศึกษาโดยลำพัง  ต้องได้รับความร่วมมือและร่วมรับผิดชอบในภารกิจต่างๆ  จากทุกฝ่าย โดยครูผู้นำเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดทีมผู้สอนที่มีความผูกพัน และเต็มใจในการปฏิบัติการสอนแบบมืออาชีพ และเป็นเครือข่ายในการช่วยเหลือและส่งเสริมครูคนอื่น  ครูผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการนำวิสัยทัศน์และนโยบายของโรงเรียนไปสู่การปฏิบัติ
2.   การเพิ่มศักยภาพเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้ รูปแบบการพัฒนาครูที่เน้นให้ครูผู้นำซึ่งเชี่ยวชาญด้านการสอนให้คำชี้นำและให้คำปรึกษาครูคนอื่น  ตลอดจนร่วมคิดร่วมปฏิบัติภารกิจแบบกัลยาณมิตรระหว่างครูผู้นำและครู  ช่วยสลายบรรยากาศและวิธีการทำงาน แบบต่างคนต่างอยู่ของครูและช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกัน เพื่อไปสู่ความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศด้านการสอน
3.   การประกาศเกียรติคุณ การสร้างโอกาสของความก้าวหน้าในวิชาชีพและรางวัลสำหรับครูที่มีภาวะผู้นำ ครูผู้นำเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่าย เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญทางการสอนให้ครูคนอื่น จึงทำให้ความรู้และประสบการณ์ของครูผู้นำลึกซึ้ง และนำไปปฏิบัติได้จริงจนเป็นที่ประจักษ์  จึงเป็นไปได้ที่ครูผู้นำจะมีโอกาสได้รับการยกย่อง และเชิดชูเกียรติ  และเป็นสิ่งกระตุ้นให้ครูคนอื่นเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาภาวะผู้นำของตน  ทำให้วงการวิชาชีพครูมีครูที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนเพิ่มขึ้น  ครูเหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาวิชาชีพครูต่อไป
4.   การเป็นตัวแบบสำหรับครูผู้นำแบบประชาธิปไตย ให้กับผู้เรียน  ถ้าโรงเรียนใช้ภาวะผู้นำของครูเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการการศึกษา ย่อมทำให้ผู้เรียนได้เห็นเป็นตัวแบบของสังคมประชาธิปไตยในโรงเรียนที่เน้นการมีส่วนร่วมและการสื่อสารแบบเปิด เพื่อการปฏิบัติภารกิจไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

บทบาทครูผู้นำ

การประสานงานและการจัดการ
1.   ประสานงานตามภารกิจประจำวัน และประสานงานในหตุการณ์พิเศษ
2.   มีส่วนร่วมในการประชุมและการทำงานเชิงบริหาร
3.   กำกับตรวจสอบเพื่อปรับปรุงการทำงาน และการจัดการกับความขัดแย้ง

งานเกี่ยวกับหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรท้องถิ่น
1.   กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้และมาตรฐานการเรียนรู้
2.   เลือกและพัฒนาหลักสูตร

งานพัฒนาวิชาชีพครูให้กับเพื่อนร่วมงาน
1.   เป็นครูพี่เลี้ยงให้กับครูคนอื่น
2.   เป็นผู้นำในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ
3.   ให้เวลากับการประชุมกลุ่มย่อมกับเพื่อนครูในการแนะนำและสอนงาน
4.   เป็นตัวแบบและให้การสนับสนุนความก้าวหน้าในวิชาชีพ

การมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนาโรงเรียน
1.   มีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับนโยบายของโรงเรียน
2.   อำนวยความสะดวกให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในหมู่ครูภายใต้กระบวนการบริหารจัดการของโรงเรียน
3.   ทำงานกับเพื่อนครูเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษาในทางที่ดีกว่าเดิม
4.   มีส่วนร่วมในการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
5.   เผชิญอุปสรรคและชักชวนให้เกิดการรวมพลังสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาภายใต้วัฒนธรรมและโครงสร้างขององค์การ

การมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน
1.   สร้างสัมพันธ์กับผู้ปกครองและส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับโรงเรียน
2.   สร้างพันธกิจกับธุรกิจชุมชน
3.   ทำงานกับชุมชนและองค์การชุมชน

การส่งเสริมวิชาชีพครู
1.   มีส่วนร่วมกับองค์การวิชาชีพ
2.   มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน

การมีส่วนร่วมกับสถานบันผลิตครู
1.   สร้างพันธกิจกับสถานบันผลิตครูเพื่อพัฒนาผู้ที่ต้องการประกอบวิชาชีพครู

คุณลักษณะของครูผู้นำในฐานะครู
1.   การมีประสบการณ์ตรงในวิชาที่สอน มีทักษะการสอนที่ดีเยี่ยม
2.   การมีความรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้หลักสูตรและเนื้อหาในวิชาที่สอน
3.   การบ่มเพาะบุคลิกภาพความเป็นครู
4.   การมีหลักปรัชญาการศึกษาที่แจ่มชัดของตน
5.   การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นนักพัฒนานวัตกรรม ใฝ่รู้ กล้าคิด กล้าทำ  เรียนรู้ตลอดชีวิตและศรัทธาในอาชีพครู
6.   การมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
7.   การได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนร่วมงานในความสามารถ
8.   การใส่ใจต่อความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น
9.   การมีความคิดที่ยืดหยุ่นและใจกว้าง
10.   การมีความมุ่งมั่น  การมีความสามารถในการจัดการกับภาระงาน  มีทักษะในการบริหารจัดการ

คุณลักษณะของครูผู้นำในบทบาทของผู้นำ
1.   การสร้างความเชื่อถือ การช่วยเหลือส่งเสริมเพื่อนร่วมงาน  การสร้างสัมพันธภาพที่มั่นคงกับเพื่อนร่วมงาน
2.   การทำงานแบบทีมกัลยาณมิตร การมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของโรงเรียนโดยผ่านสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและบุคลากรในโรงเรียน
3.   การมีสมรรถภาพในการสื่อสารและทักษะในการฟัง
4.   การมีความสามารถในการจัดการกับความขัดแย้ง สามารถทำให้เกิดการเจรจา และเกิดการปรองดอง
5.   การดำเนินการแบบเป็นระบบมีขั้นตอนการทำงาน
6.   การมีทักษะกระบวนการกลุ่ม
7.   การมีความสามารถในการประเมิน ตีความ จัดอันดับความสำคัญ
8.   การมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับนโยบายและแผนงานสำคัญของโรงเรียน
9.   การมีความสามารถในการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจโดยผู้บริหารและครู

ที่มา แนวการศึกษาชุดวิชา ประสบการณ์วิชาชีพประกาศนียบัตรบัณฑิตหลักสูตรและการสอน มสธ.
หมายเลขบันทึก: 478744เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2012 03:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท