งานปัจฉิมนิเทศ ว่าที่บัณฑิต คณะวิทย์ มมส. ประจำปี พ.ศ. 2555


อยากให้ว่าที่บัณฑิตที่ได้อ่านกระทู้นี้ เขียนถึงความประทับใจของตน ไว้ด้านล่างนี้ เพื่อให้พี่น้องคนอื่นๆ อ่าน...จะเป็นการดียิ่ง

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 เรา (คณะวิทยาศาสตร์ มมส.) จัดโครงการปัจฉิมนิเทศนิสิตชั้นปี 4 ว่าที่บัณฑิตประจำปีการศึกษา 2554  ปีนี้ผมในฐานะผู้นำตั้งใจว่าจะทำให้ออกมาดี เหมือนปีที่ผ่านมา ที่ ผศ.ดร.บังอร กุมพล ท่านทำไว้อย่างดียิ่ง...ดูภาพถ่ายบันทึกตลอดงานได้ที่นี่

แผนกำหนดการแบ่งเป็น 3 ช่วง เหมือนปีที่ผ่านมา คือ ช่วงเช้าปิจฉิมนิเทศรวมที่ห้อง SC1-100 ช่วงบ่ายแยกไปปัจฉิมนิเทศตามภาควิชา...ผมเองรู้สึกเห็นใจภาควิชาคณิตศาสตร์ รู้สึกละอายต่อหัวหน้าภาคคณิตศาสตร์ เกือบทุกครั้งที่ถามว่า ภาควิชาใดจะให้นิสิตแยกไปที่ไหน ซึ่งภาคชีวะฯจะอยู่ที่ห้อง SC1-300 ฟิสิกส์อยู่ที่ห้องประชุม SC1-200 ซึ่งมีระบบเสียงอย่างดี ส่วนเคมีก็ดูจะสุขพอกับการรออยู่ที่ห้อง SC1-100 แต่ภาควิชาคณิตศาสตร์จำต้องใช้ห้องปฎิบัติการคอมพิวเตอร์ SC1-107 ซึ่งผมคิดว่าไม่เหมาะกับการทำกิจกรรมกลุ่ม...ส่วนช่วงเย็น เป็นงาน "ราตรีสีเหลือง" งานสังสรรค์ แบ่งปันความสุขกัน ไม่เฉพาะระหว่างว่าที่บัณฑิตแต่เป็นนิสิตทั้งสี่ชั้นปี เน้นกิจกรรมน้องทำเพื่อพี่ ผมเชื่อมั่นว่ากิจกรรมเช่นนี้แหละ ที่จะปลูกฝังความสามัคคี ให้เกิดมีในใจเราชาว "วิด-ยา มมส." ทุกคน 

ผมเพิ่มกิจกรรม "AAR" (After Action Review) ประมาณ 30 นาที คั่นกลางระหว่างช่วงเช้าและช่วงบ่าย ตามสไตล์คน KMI ที่ต้องใส่ใจกับความรู้สึกและประทับใจของว่าที่บัณฑิตที่มีต่อคณะวิทย์ที่พวกเขากำลังจะจากไกล

ช่วงเช้าเราเชิญวิทยากร จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มาให้ความรู้ในเรื่องเส้นทางการประกอบอาชีพ เทคนิคการสมัครงานและการปฏิบัติตัวในการสอบสัมภาษณ์อย่างถูกต้อง หลังจากรับประทานอาหารเที่ยงแล้ว ก่อนเปิดเวที AAR ผมสรุปให้ว่าที่บัณฑิตฟังว่า ผมจับประเด็นได้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. ว่าที่บัณฑิตต้อง "มั่นใจในตนเอง" ความมั่นใจในตนเองจะทำให้เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เต็มความสามารถ เต็มศักยภาพของตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด "ความกล้า" คือ กล้าคิด กล้าสงสัย กล้าพูด กล้าถาม กล้าเผชิญกับปัญหาอุปสรรค ไม่อาย "ไม่กลัว" เพราะเรา "ไม่ได้ทำชั่ว" ภูมิใจในความดีหรือมีดีของตน ไม่สับสนกับชีวิต มีจิตใจมั่นคง สิ่งนี้แหละที่จะหนุนส่งให้ "ความเป็นคนวิทย์" เจริญสุขต่อไป
  2. ว่าที่บัณฑิตต้อง "รู้จักตนเอง" การรู้จักตนเองคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิด "ความมั่นใจในตนเอง" เราต้องพิจารณาใคร่ครวญ เรียนรู้ตนเอง ให้รู้ว่า เราเป็นใคร ถนัดอะไร มีความรู้ความเข้าใจเรื่องใด มีอะไรดี เด่นเรื่องอะไร มีจิตใจรักงานประเภทใด ยิ่งถ้าหากรู้จักตนเองในเชิงปรัชญาชีวิตเช่น เกิดมาทำไม จะทำประโยชน์ให้กำส่วนรวมในด้านใด ชีวิตที่เหลือจะทำอะไรบ้าง ยิ่งจะทำให้เกิด "ความภูมิใจในตนเอง" ซึ่งจะทำให้เกิด "ความมั่นใจในตนเอง"
  3. ว่าที่บัณฑิตต้อง "รู้รอบ รู้จัก" นอกจากรู้จักตนเองหรือ "รู้เรา" แล้ว จะต้อง "รู้เขา" ด้วย "เขา" ในที่นี้หมายถึง บริษัทหรือผู้ประกอบการ นายจ้าง ที่เราจะไปสมัครงาน  ต้องรู้รอบและรู้จักเกี่ยวกับ ตำแหน่งงานที่เราต้องการโอกาสในการทำงานนั้น รู้จักหน้าที่ รู้ว่าสำคัญอย่างไร จะทำให้เกิดประโยชน์กับบริษัทได้อย่างไรในตำแหน่งนั้น เป็นต้น .... ผมเน้นย้ำกับว่าที่บัณฑิตว่า เราต้องเป็น "นักเรียนรู้" เรียนรู้ทุกวัน เรียนรู้จากการทำงาน เหมือนกับที่อาจารย์ทำอยู่ทุกวันนี้

ตอนท้ายผมพยายามที่จะบอกพวกเขาว่า พวกเขาสำคัญแค่ไหน ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ ผมอธิบายว่าประเทศที่เจริญรุ่งเรืองเขาให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน แต่เมื่อหันมามองประเทศไทย กลับแห่กันเรียนวิศวกร แห่กันสอนแต่เทคโนโลยีต่อยอด(ฝรั่ง) สิ่งที่ตกทอดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น หลายอย่างขาดวิ้นและสูญหายไป ผมพยายามเน้นว่า มีแต่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น ที่จะ "พัฒนาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล" ได้ เพราะเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกปลูกฝังให้เรียนรู้และค้นหา ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งภาคสนามแบบลงลุยพื้นที่และมีทั้งที่คิดค้นจากขนาดระดับอณูสู่การใช้งานจริงในห้องเลป

ท้ายที่สุดผมเน้นปรัชญาของมหาวิทยาลัย "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" หากพวกเขาประพฤติตนแบบนั้นได้ ผมคิดว่านั่นคือ "แก่นของความสุข" เป็นทางเบื้องต้นสู่ "หนทางแห่งการพ้นทุกข์" ซึ่งความสุขจะเกิดขึ้นทันทีที่พวกเขาเริ่มทำ

พิมพ์ผิดอย่างไร ขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วยครับ 

ป.ล. อยากให้ว่าที่บัณฑิตที่ได้อ่านกระทู้นี้ เขียนถึงความประทับใจของตน ไว้ด้านล่างนี้ เพื่อให้พี่น้องคนอื่นๆ อ่าน...จะเป็นการดียิ่ง

หมายเลขบันทึก: 478743เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2012 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท