พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

Study Tour 1- Japan to Thailand : ตามรอยความไร้สัญชาติ ณ หมู่บ้านป่าคาสุขใจ แม่สลอง จ.เชียงราย


ปัญหาความไร้สัญชาติ ของชนเผ่าอาข่าในพื้นที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

พมา พม่า = ใช่  อีกสาเหตุของการบันทึกผิด กับผลลัพธ์ที่หมายถึงสิทธิในสัญชาติ ??

                หมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ปรากฏคนไร้สัญชาติ หรือคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล ในลักษณะที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป และหลังจากการลงพื้นที่ในวันนี้โดยการประสานงานกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และมูลนิธิกระจกเงา ทำให้เราได้พบคนไร้สัญชาติ เชื้อสายอาข่า  ซึ่งเมื่อได้สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว ก็สามารถแยกแยะคนที่มีปัญหาความไร้สัญชาติในพื้นที่นี้ ได้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1.คนเกิดไทย และบิดามารดา เกิดไทย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นคนไทยดั้งเดิม ที่มีความเป็นไปได้ในการได้สัญชาติไทย ตามระเบียบฯ 43

(อุปสรรคของคนกลุ่มนี้ คือ พยาน หลักฐานในการพิสูจน์สถานที่เกิด เนื่องจากมีการระบุสถานที่เกิดในทะเบียนประวัติผิดไปจากความเป็นจริง)

2. บิดามารดาเกิดต่างประเทศ แต่ตนเองเกิดไทย ก่อน 26 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย ตาม ม. 23 พรบ.สัญชาติ(ฉบับที่ 4) 2551

(อุปสรรคของคนกลุ่มนี้ คือ พยานหลักฐานการพิสูจน์สถานที่เกิด และเมื่อยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย แต่ไม่ได้รับ “ใบรับคำร้อง” ไว้เป็นหลักฐานเพื่อติดตามเรื่อง

3. คนที่เกิดต่างประเทศ และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้ว และควรเข้าสู่กระบวนการแปลงสัญชาติต่อไป

(อุปสรรคของคนกลุ่มนี้ คือ เงื่อนไขของการแปลงสัญชาติ เรื่องรายได้)

4. คนที่เกิดต่างประเทศ ถือบัตรชนกลุ่มน้อย และควรเข้าสู่กระบวนการขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

จะเห็นได้ว่าในการแยกแยะกลุ่มคนที่มีปัญหา เราอาศัยจุดเกาะเกี่ยวที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “ข้อท็จจริง

เรื่องสถานที่เกิด” แต่จะเป็นอย่างไร หากข้อมูลที่ถูกบันทึกลงในทะเบียนราษฎรดังกล่าวนั้น ไม่ถูกต้องแท้จริง แน่นอนว่าเหนือกว่าความผิดพลาด คือ ย่อมหมายถึงผลกระทบต่อ สิทธิในสัญชาติโดยหลักดินแดน และสิทธิอื่นๆ ตามมา ดังนั้นกระบวนการควานหาข้อเท็จจริงเหล่านี้จะต้องปราณีต เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความถูกต้อง ย่อมไม่อาจจะมีสิ่งใดมาเพิกถอน โต้แย้งได้

                ยกตัวอย่างสถานการณ์ของการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านไร้สัญชาติคนหนึ่งได้ถ่ายทอดให้เราฟังว่า

คนไร้สัญชาติเชื้อสายอาข่า ซึ่งพูดและฟังภาษาไทยไม่ได้ชัดเจน 100 % แต่ต้องถูกสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งฟังและพูดภาษาไทยได้ชัดเจน แต่ไม่รู้จักภาษาอาข่า และเมื่อฝ่ายผู้สอบปากคำถามว่า “เกิดที่ไหน” “เกิดพม่าใช่ไหม”  “สัญชาติพม่าใช่ไหม” แต่เมื่อสำเนียงเสียง “พม่า พมา” ในภาษาอาข่า แปลว่า “ใช่” ความผิดพลาดจึงอาจจะบังเกิดขึ้นได้ เมื่อมันเป็นเหตุที่ทำให้คนไร้สัญชาติ พูดจาเออ ออ ไปด้วยความที่ไม่เข้าใจภาษาไทยได้ชัดเจน และเข้าใจไปว่า ผู้สอบปากคำถามว่า “เกิดไทยใช่ไหม”  “สัญชาติไทยใช่ไหม” เมื่อผงกหน้ารับ ผู้สอบปากคำก็บันทึกลงในเอกสารว่า “เกิดพม่า” “สัญชาติพม่า” และเป็นไปได้หรือไม่ที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ถึงความผิดพลาดนี้ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดของผู้ถูกสอบปากคำเสมอมา --- นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานหนึ่งจากคนไร้สัญชาติรุ่นลูก ที่คาดว่า สาเหตุของความผิดพลาดในสมัยรุ่นบิดามารดาของตนเอง หรืออาจจะเป็นสาเหตุความผิดพลาดในปัจจุบันด้วยก็ได้ อาจจะเป็นหนึ่งในที่มาของเอกสารที่ผิดพลาดไปจากความเป็นจริง และนำไปสู่ผลกระทบต่อสิทธิในสัญชาติ สถานะบุคคลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ตลอดจนสิทธิประการอื่นๆ

                ถึงแม้ข้าพเจ้าไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การแก้ปัญหาบางครั้ง ความเร่งด่วนของปัญหาทำให้เราแก้ปัญหาไปแบบ case by case แต่เมื่อปัญหาได้จบสิ้นลง หรือกำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไข ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรระลึกไว้สม่ำเสมอที่จะออกมาตั้งหลัก และตั้งคำถามถึง “สาเหตุของปัญหา”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ปัญหามันซ้ำรอยเดิม ถอดแบบเดิม วนเวียน ณ ที่เดิม ยิ่งต้องแสวงหา “สาเหตุ และที่มา” ของปัญหา เพื่อให้ “ปัญหาที่ซ้ำๆ” กันนั้นถูกแก้ไขอย่างตรงประเด็นที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่แท้จริง และสิทธิที่พึงมีพึงได้

หมายเลขบันทึก: 478597เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 01:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นเรื่องเล่าเก่าๆ จากคนใหม่ๆๆ ที่จะสืบทอดการให้ความช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย อ.แหววมีความสุขที่ได้อ่านบันทึกนี้

ขอให้เชอรี่มาทำให้บันทึกเรื่องคนไร้สัญชาติแห่งป่าคาสุขใจฉบับนี้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆๆ นะคะ

เป็นเรื่องเล่าเก่าๆ จากคนใหม่ๆๆ ที่จะสืบทอดการให้ความช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย อ.แหววมีความสุขที่ได้อ่านบันทึกนี้

ขอให้เชอรี่มาทำให้บันทึกเรื่องคนไร้สัญชาติแห่งป่าคาสุขใจฉบับนี้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท