กะปิ กะ เรือหางขาด


บ้านๆ ง่ายๆสไตล์กะปิ

ทัวร์คายัคเขื่อนเชี่ยวหลานสามวันสองคืนครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา วันที่สองขณะเดินทางไปปลายคลองแสงใบพัดเรือหางยาวก็ขาดลงรวมทั้งน๊อตล็อกใบพัดด้วย เหลือแค่แกนโผล่ออกมาซักนิ้วครึ่งเห็นจะได้ คลองแสงคือคลองสุดท้ายของเขื่อนเชี่ยวหลาน เรือผ่านไปมาน้อยเราจึงอยู่ในจุดอับ เราต้องช่วยตัวเอง

รัน คนขับเรือมีใบพัดสำรองอีกสองอัน ลองใส่อันแรกและตอกอัดกับค้อนเข้าไปได้ราวครึ่งนิ้ว วิ่งไปได้ไม่กี่ร้อยเมตรก็หลุดหาย เราเหลือใบพัดแค่อันเดียวแล้ว รันค่อยๆพิถีพิถันถูร่องใบพัดด้วยมีดสวิสของแขก ตอกอัดเข้าไปลึกกว่าเดิมหน่อย ยันยังได้ถอนตะปูจากไม้แผ่นปูเรือตอกอัดเข้าไปเป็นลิ่มเพิ่มความแข็งไปอีกนิด ได้ผลคราวนี้เราคลานต๊อกแต๊กๆมาจนถึงที่พักที่คลองแสง เราได้โอกาสเพิ่มมาอีกหนึ่งโอกาส ก็คือมีเรือที่นั่นให้ยืมใบพัดอีกใบ และคืนนั้นตอนออกไปดูวัวกระทิงที่ปลายคลองเราก็เสียใบพัดใบที่สามไป เราเหลือแค่ใบเดียวที่เพื่อนเพิ่งจะให้ยืมเมื่อตะกี้นี้เท่านั้น ยันทำแบบเดิมคลานกลับมาอย่างระมัดระวัง เรากลับมาถึงที่พัก แต่ยังมีเรื่องให้ต้องคิดหนักพรุ่งนี้จะกลับกันยังใง

พี่หลวงหัส เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแนะว่าให้เอาเคยมาทา ออ กะปิบ้านเรานั้นเอง ส่วนพี่บ่าวต้อยนั่งอยู่ใกล้ๆก็เสริมเข้ามาว่าให้ทาเกลือเข้าไปด้วยทาแล้วตอกอัดเข้าไปเสร็จแล้วยังไม่ต้องขับไปใหนเอาแช่น้ำใว้ซักสองสามชั่วโมงรับรองถึงหัวท่าแน่นอน เพราะเมื่อครั้งสมัยก่อนที่จะมีเขื่อนเชี่ยวหลานต้องขับเรือล่องตามยาวคลองการที่เรือต้องเจออุบัติเหตุใบพัดขาดกลางป่านั้นเป็นเรื่องปรกติ ก็แก้ขัดสถานการเฉพาะหน้ากันด้วยเคยกะเกลือทั้งนั้น ผมแอบหัวเราะในใจเพราะกะปิกะเกลือนั้นไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับใบพัดและแกนที่ขาดได้อย่างไร แต่เมื่อคิดถึงแช่น้ำก็เริ่มเอะใจและก็ทำตาม ได้ผลจริงๆ สองชั่วโมงการเดินทางเรากลับมาท่าเรือได้อย่างปลอดภัยโดยใบพัดไม่หลุดเลย ที่ท่าเรือเจอพี่หลวงหัสอีกครั้งผมยกมือขอบคุุณที่ขับเรือพีชประคองมาจากปลายคลองแสงจนถึงท่าเรือเขื่อนเชี่ยวหลาน และพูดได้คำเดียวว่า "เคยเติ้นแน่จริง"

กะปิเป็นอาหารทะเลมีความเค็มคือมีเกลือเยอะ และเกลือนี่แหละที่กัดกินทั้งแกนเหล็กและใบพัดอลูมิเนียมให้เป็นสนิม และสนิมนี่แหละที่เป็นตัวเชื่อมแกนกับใบพัดเข้าด้วยกันทำให้แน่นขึ้นนั่นเอง งานนี้ฝรั่งแขกที่มาด้วยแถมเป็นช่างยังยอมรับครับ ยกนิ้วให้ กะปิไทย กับภูมิปัญญาไทย

ขอบคุณพี่หลวงหัส ขอบคุณพี่บ่าวต้อย และขอบคุณภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำให้งานหินของเราเป็นงานง่ายๆสไตล์กะปิ

หมายเลขบันทึก: 478168เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2012 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เส้นทางคลองแสงถึงคลองนาคา

เส้นทางหลังคาตึก เป็นเส้นทางวัดใจของนักเดินทาง

การเอาตัวรอดกับธรรมชาติ เป็นคุณสมบัติของผู้ผจญภัย

สลาม ลัยกม ครับท่าน ผู้เฒ่า

เส้นทางที่ว่ามานั้นผมได้ยินมาแค่คำร่ำลือเท่านั้น ยังฝากกับพี่ๆพิทักษ์ป่าหลายคนว่าถ้ามีโอกาศเดินสำรวจแบบข้ามคืน ไม่ว่าจะไปคลองนาคา เขาพระหมี หลังคาตึก หรือว่าเส้นใหนก็ตามให้บอกด้วย อย่าไปจริงๆ อยากเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นครับ

ผมไม่ได้แวะมาเสียนานเลย สบายดีหมั๊ยครับ

รับสลามครับ นานแล้วจริงๆที่ไม่คุยกันเรื่องเดินทางท่องเที่ยว เขาลำเนาไพร อีกเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจคือเหมืองโชน โตนพันเมตร พี่น้องจากนครไปอยู่คุระบุรีไปตีผึ้งหลบมาเล่าให้ฟังว่าสุดยอดเหมือนกัน หากมีโอกาสต้องไปสัมผัสสักครั้ง

ครับ ขึ้นไปตามลำคลองแสงจะมีสองแพรก แพรกหนึ่งก็ไปหลังคาตึก อีกแพรกหนึ่งก็ไปเหมืองโชน กำลังรอโอกาศขึ้นไปครับ แล้วเดี๋ยวจะเที่ยวเผื่อน่ะครับ ออ..ได้มีดพกมาเล่มหนึ่งด้ามเขา จำได้ว่าท่านมีตำราคำนวนลักษณะมีดพกประจำตัว เดี๋ยวจะขอกลับเข้าไปค้นหน่อยน่ะครับ

แวะมาตามหาน้องชายคนเก่งค่ะ ไม่ได้อ่านบันทึกท่องเที่ยวน้องนานแล้ว สบายดีนะคะ

อ้าวยังหายตัวเหมือนเดิมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท