วิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล : จะสร้างเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอดีต หรือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต



          เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ต่อคนอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียง   และต่อมหาวิทยาลัยมหิดล   ว่าจะสร้างมหาวิทยาลัยอำนาจเจริญให้เป็นมหาวิทยาลัยแบบไหน 

          นั่นคือข้อสรุปของผม จากการที่สภามหาวิทยาลัยมหิดล และฝ่ายบริหาร ไปเยี่ยมชื่นชมวิทยาเขต อำนาจเจริญ เมื่อวันที่ ๒๐ ม.ค. ๕๕

          วิธีจัดขั้นตอนอย่างดีเยี่ยมแก่ทีมไปเยี่ยมชื่นชมของฝ่ายบริหารวิทยาเขต นำโดยท่านรองอธิการบดี ผศ. นคร เหมะและ ดร. จักรณรงค์ จันทร์ศรีทิพย์ ทำให้ผม ‘ปิ๊งแว้บ’ ข้อสรุปนี้(หรือ AAR นี้)   โดยที่ไม่รับรองว่า ผลของการ “คิดแบบไม่คิด” นี้ จะถูกต้อง    แต่มันมีค่า ตรงที่มันกระตุกให้เราไม่คิดแบบเดิมๆ ไม่ตกหลุมความคิดแบบแผ่นเสียงตกร่อง 

           ข้อเสนอของประชาคมอำนาจเจริญ ที่แสดงข้อคิดเห็นอย่างหลากหลาย   และแสดงภูมิปัญญาของคน อำนาจเจริญที่น่าเคารพชื่นชมยิ่ง กระตุกความคิดของผม   ว่าถ้าเราไม่ระวัง ภูมิปัญญาและความคิดดีๆ นั้นเองคือกับดัก ให้เราติดอยู่กับอดีตและปัจจุบันที่ทรงคุณค่า    แต่มันไม่ใช่หนทางแห่งอนาคต

          มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนสังคมสู่อนาคต ไม่ใช่ชวนกันหยุดนิ่งอยู่กับอดีต

          แต่ความเข้าใจอดีต และนำเอาอดีตมารับใช้อนาคต ก็เป็นพลังและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

          เราต้องใช้อดีตเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทรงคุณค่า ไม่ใช่เครื่องมือหยุดนิ่งอยู่กับอดีต

         อดีตเป็น assets หรือ means   ไม่ใช่ goal หรือ destination

          คนอำนาจเจริญบอกเราเองว่า จังหวัดอำนาจเจริญเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ๑ ใน ๓ จังหวัดของประเทศไทย

          แต่ข้อเสนอจากประชาคมอำนาจเจริญ ให้วิทยาเขตอำนาจเจริญดำเนินการนั้น เป็นข้อเสนอประเภท “แก้ปัญหา” หรือ “พัฒนาเล็กๆ น้อยๆ จากสภาพปัจุบัน” (improvement) เท่านั้น    ไม่มีข้อเสนอประเภท “หลุดโลก” หรือ “เปลี่ยนกระบวนทัศน์” โดยสิ้นเชิง (innovation) เลย

          และแนวทางที่วิทยาเขตอำนาจเจริญกำลังดำเนินการ ก็เป็นไปในแนวทางที่ประชาคมอำนาจเจริญ ต้องการ   คือเป็นการทำงานสนองความต้องการของประชาคมอำนาจเจริญ

          แต่ผมขอเสนอว่า วิธีทำงานแบบนี้ ในที่สุดแล้ว ประชาคมอำนาจเจริญจะขาดทุน แทนที่จะได้กำไร   คือจะยังคงดำรงตำแหน่งจังหวัดที่ยากจนที่สุด ๓ จังหวัดแรกอยู่อย่างเดิม   ไม่ขยับไปไหน   เพราะยังคงเดินตามแนวคิด (กระบวนทัศน์) เดิมๆ

          การที่มหาวิทยาลัยมหิดลมาสร้างวิทยาเขตใหม่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ จึงเป็นทั้ง opportunity และ  threat ในเวลาเดียวกัน ในการสร้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย   ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และของสภามหาวิทยาลัยมหิดล

          และในขณะเดียวกัน วิทยาเขตอำนาจเจริญ ก็เป็นทั้ง asset และ liability ของมหาวิทยาลัยมหิดลในเวลา เดียวกัน   คือเป็น asset สำหรับสร้างผลงานใหม่ๆ ให้แก่วงการอุดมศึกษา และแก่ประเทศไทย   และเป็น liability ต่อการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งอดีตขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง

          มองจากมุมของสภามหาวิทยาลัยมหิดล สภาฯ จะปล่อยให้วิทยาเขตนี้เป็น threat ต่อมหิดล หรือจะกำหนดให้เป็น opportunity ในการสร้างมหาวิทยาลัยที่ไม่เหมือนใครในปัจจุบัน …. มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต 

          ผมอยากให้สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ dream …. ฝัน .. และสร้างจิตวิญญาณแห่งความใฝ่ฝัน   ที่จะทำหน้าที่อุดมศึกษาแห่งอนาคต   แล้วมอบให้ฝ่ายบริหารทำหน้าที่แสวงหา เสาะหา และทดลอง วิธีการบรรลุความฝันนั้น   โดยสภาฯ ช่วย facilitate และ empower

          นี่คือการทำหน้าที่กำกับดูแล มิติที่สาม และมิติที่สอง   คือ Generative Mode  และ Strategic Mode ที่ผมใฝ่ฝันทำในฐานะนายกสภาฯ

          ผมฝันอยากเห็นมหาวิทยาลัยอำนาจเจริญ ทำหน้าที่ (ร่วมกับประชาคมอำนาจเจริญ) เปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของคนอำนาจเจริญโดยสิ้นเชิงใน ๑ ชั่วอายุคน คือ ๒๕ - ๓๐ ปี   เปลี่ยนจากสภาพสังคมล้าหลังยากจน   สู่สังคมที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งอินโดจีนใหม่   ที่คึกคักเชื่อมโยง และในขณะเดียวกันก็รักษาความหลากหลายทางธรรมชาติและชาติพันธุ์ของมนุษย์ไว้ได้อย่างดี   ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำรงชีวิต และในขณะเดียวกันก็รักษาศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานดั้งเดิมไว้อย่างทรงคุณค่า    ผู้คนประกอบสัมมาชีพโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ผสมผสานกับทรัพยากรธรรมชาติดั้งเดิมในพื้นที่

          โจทย์นี้ยากเกินไปหรือไม่   หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือทำ the impossible ให้ possible

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ม.ค. ๕๕

 

ชมพื้นที่จัดตั้งวิทยาเขตที่ป่าดงหัวกองและป่าดงบังอี่ อ. เมือง จ. อำนาจเจริญ พร้อมฟังผู้นำชุมชนเล่าเรื่องราวของพื้นที่และชุมชน 

ผมสัมผัสการเตรียมต้อนรับที่วางแผนอย่างดีเยี่ยม


 

 

 ป้ายต้อนรับ


 

 

 ผังจำลองแสดงพื้นที่


 

 

 คุยกันในห้องประชุมของอาคารดลเมธา  ในพื้นที่โครงการจัดตั้ง วข. อำนาจเจริญ บริเวณศูนย์ราชการ


 

 

5 ชมการทำงานของเครื่อง telepresence ราคา ๔ ล้านบาท ที่จะช่วยให้การเรียนการสอนทางไกลสะดวกเหมือนอยู่ที่เดียวกัน


 

 

จอของเครื่อง telepresence แสดงให้เห็นพลังของการสื่อสารหลายจุด เชื่อมไปยังห้องเรียนที่อาคารดลเมธา


 

 

ห้องเรียนที่ชั้นสองของอาคารดลเมธา อาจารย์สอนอยู่ที่คณะพยาบาลศาสตร์

หรือคณะสาธารณสุขศาสตร์ กรุงเทพ หรือที่ศาลายา ได้


 

 

ห้องประชุมสุนทรียสนทนากับชาวประชาคมอำนาจเจริญ


 

 

นายวิชัย เสวมาตย์ อดีต สส.พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ปี ๒๕๑๒ แสดงความคิดเห็น


 

 

หมายเลขบันทึก: 478138เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2012 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มหาวิทยาลัยจากส่วนกลาง ขยายวิทยาเขตออกไปพื้นที่ยากจน ผมว่ามันก็แนวคิดเดิมๆ แบบรวบอำนาจแหละครับ ...แค่คิด็กผิดแล้ว วงจรอุบาทว์ประการหนึ่งของการศึกษาไทย ที่ตัดตอนวิวัฒนาการการเรียนรู้ของคน

ตัวเองยังเอาไม่รอด แล้วจะไปช่วยคนอื่น ผมพูดตรงๆนะครับอาจารย์ว่า ไม่ต่างอะไรกับ บอดจูงบอด (ที่ผมมาแปลว่า บอดจูงบอร์ด)

มหิดล จุฬา ธรรมศาสตร์นั้น คิดว่าตัวเอง "แน่" เสียเหลือเกิน เพระมีเงินมาก จนเอาไป "บริจาค" ช่วยคนอื่นเขาหมด ทั้งที่ที่ "แน่" มาได้ทุกวันนี้ ถามว่า แน่มาด้วยตัวเองหรือมี"ตัวช่วย" อันมากมายมหาศาล ประเภทว่าคาบช้อนเงินช้อนทางมาเกิด

...คนถางทาง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท