“กำไล” เครื่องประดับของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์


มารูจักเครื่องประดับของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์กันเถอะ

เครื่องประดับเป็นสิ่งที่อยู่บนร่างกายของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย และทุกยุคสมัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน เครื่องประดับนอกจากจะมีไว้เพื่อความสวยงามแล้ว ยังเป็นสื่อที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางสังคมและค่านิยมของคนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ก็พบว่ามนุษย์มีความนิยมในการใช้เครื่องประดับทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เช่น เครื่องประดับศรีษะ ต่างหู ลูกปัด และกำไล เป็นต้น

จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราทราบว่า กำไลเป็นเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมจากคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยจะพบกำไลฝังร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ โดยคนสมัยก่อนจะใช้ของที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาทำกำไล เช่น หิน เปลือกหอย กระดองเต่า และงาช้าง เป็นต้น และเมื่อมนุษย์มีความสามารถทางด้านโลหะกรรม ก็มีการนำโลหะหรือสำริด(โลหะผสมระหว่างดีบุกและทองแดง) มาผลิตเป็นกำไลรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำแก้วมาทำกำไลอีกด้วย โดยเราได้พบหลักฐานที่ใช้หรือเหลือจากการผลิตกำไล เช่น หินงบน้ำอ้อย(เป็นหินที่เกิดจากการเจาะแกนกลางของกำไลหิน มีรูปร่างแบนและกลมคล้ายเหรียญขนาดใหญ่) และแม่พิมพ์กำไล  เป็นต้น หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนแห่งนั้นสามารถผลิตกำไลใช้เองได้แล้ว

กำไลเป็นเครื่องประดับที่คนนิยมสวมใส่ในชีวิตประจำวันเพื่อความสวยงาม แต่กำไลบางรูปแบบอาจจะผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในโอกาศพิเศษ เช่น กำไลจากแหล่งโบราณคดีโคกพลับ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ทำจากส่วนล่างของกระดองเต่าทะเล เป็นรูปคล้ายดาวหกแฉกสวมติดอยู่กับข้อมือของโครงกระดูกเพศชาย กำไลชิ้นนี้ผู้ตายอาจจะใช้สวมเฉพาะงานพิธีสำคัญหรือญาติผู้ตายคงจะสวมให้ก่อนฝังศพ เนื่องจากรูปทรงของกำไลดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะนำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวัน[1] นอกจากนี้เครื่องประดับที่คนเราสวมใส่นั้นยังเป็นเครื่องแสดงถึงสถานะทางสังคม เช่น ที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี พบโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิงที่มีการฝังลูกปัดแบบเปลือกหอยจำนวนกว่าแสนเม็ด เครื่องประดับศรีษะ และกำไล รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ เช่น ภาชนะดินเผาจำนวนหลายใบ และหินดุดินเผา เป็นต้น จากการที่พบเครื่องประดับและ   ข้าวของเครื่องใช้เป็นจำนวนมากในหลุมศพจึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่คนผู้นี้อาจจะเป็นคนที่ร่ำรวยและเป็นบุคคลสำคัญของชุมชน ซึ่งนักโบราณคดีได้ขนานนามให้โครงกระดูกเพศหญิงโครงนี้ว่า “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี”[2]

กำไลและเครื่องประดับอื่นๆ นั้นแสดงให้เห็นว่าคนในอดีตมีความนิยมในเรื่องของความสวยงาม และเครื่องประดับยังแสดงถึงสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่เช่นเดียวกับคนในสมัยปัจจุบันอีกด้วย  

 

 

 

  

 

 

เอกสารอ้างอิง                                                                                         

อัญชลี สินธุสอน และพรพรรณ หงสไกร. คนก่อนประวัติศาสตร์ บนดินแดนไทย. ศิริ  วัฒนาอินเตอรพริ้นท์: กรุงเทพ, ๒๕๕๒.                                                 

อมรา ขันติสิทธิ์. “เครื่องประดับโบราณในสมัยภาคใต้” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๙.   



[1] อัญชลี ศินธุสอน และพรพรรณ หงสไกร, คนก่อนประวัติศาสตร์ บนดินแดนไทย, ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์: กรุงเทพฯ, ๒๕๕๒, หน้า ๑๐๘.  

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๙.

 

 

หมายเลขบันทึก: 478132เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2012 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในอีกแง่มุมนึงก็อาจสะท้อนถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีของแต่ละชุมชนและการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่างๆของแต่ละชุมชนในสมัยนั้นร่วมอยู่ด้วยก็เป็นไปได้ในอีกประเด็นครับ ^^

เป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท