งามอย่างเกลือ


ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลอินเดีย-ยุโรป ที่มีการเติมเสียงหน้าหรือหลังของคำแกน ทำให้เกิดเป็นคำศัพท์ใหม่มากมาย วิธีนี้เอง นอกจากให้สร้างคำใหม่ๆ แล้ว ยังสามารถใช้สืบย้อนกลับไปหาต้นตอคำแกนเดิมได้ด้วย แต่บางครั้งการสืบกลับไปอาจหลงทาง เนื่องจากเวลาที่ผ่านไปเนิ่นนาน

คำว่า "ลาวัณย์" ที่ใช้ในภาษาไทยนั้น มาจากภาษาสันสกฤตว่า "ลาวณฺย" (อ่านว่า ลา-วัน-ยะ) คำนี้ปกติแล้วถือว่ามาจากคำว่า “ลาวณ” (อ่านว่า ลา-วะ-นะ) ซึ่งมีความหมายว่า “ลาวณสฺย ภาวะ” นั่นคือ ความเค็ม หรือ คุณสมบัติของเกลือ ซึ่งเป็นความหมายแรก และความหมายที่สองคือ ความงาม หรือความน่ารัก ดังที่ใช้ในภาษาไทยว่า ลาวัณย์ หรือ วิลาวัณย์ 

เป็นเรื่องแปลก ที่คำเดียว มีความหมายสองอย่างที่แตกต่างกันกันโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ค้นคว้าหาที่มาของคำศัพท์ดังกล่าว เช่น K.C. Chatterjee เสนอว่า ลาวณฺย มาจากคำว่า “รามณฺยก” ซึ่งมีรูปแผลงคือ “รามณิยก” ดังเช่นในวรรณคดีเรื่องรามายณะ ก็มีการใช้คำว่า รามณฺยก สองครั้ง ทั้งนี้ Chatterjee สันนิษฐานว่าที่มีการใช้คำดังกล่าวแทนที่ รามณิยก ก็ด้วยเหตุผลด้านฉันทลักษณ์ จากนั้นเขาได้สืบหาร่องรอยของขั้นตอนการวิวัฒนาการของคำ ลาวณฺย ว่าจากรูปแบบที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งนำมาใช้ให้ตรงตามหลักฉันทลักษณ์เท่านั้น โดยเสนอว่าตอนแรกเสียง “ก” หายไปจาก “รามณฺยก” จากนั้น รฺ เปลี่ยนไปเป็น ลฺ, และ ม เปลี่ยนไปเป็น ว จากใช้มีกระบวนการแยกเสียงติดต่อ ทำให้ได้รูป ลาวณฺย ดังนี้

               รามณฺยก -> รามฺณย > ลามณฺย > ลาวณฺย

ศ.สัตย พรต ศาสตรี บอกว่ามุมมองนี้ไม่น่ายอมรับอย่างยิ่ง เพราะเริ่มต้นจากข้อเสนอที่อ่อนมาก  เป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่ารูปที่ผิดไวยากรณ์นี้ เป็นเพราะผู้เขียนต้องการคำที่สอดคล้องกับคณะของฉันท์ และเมื่อเวลาผ่านไป ก็นำไปสู่การใช้เช่นนั้นจริงๆ ส่วนการที่เีสียง ก หายไปก็ไม่มีคำอธิบาย นอกจากนี้คำว่า ลาวณฺย คงจะประหลาดเอามากๆ หากเรายอมรับข้อเสนอว่ามาจากคำ รามณฺยก

แท้จริงแล้ว ลาวณฺย นั้นไม่ได้หมายถึงความงามธรรมดา แต่หมายถึงความงามยิ่งกว่า "รูป" (ความด้วยรูป) และ "กานติ" (สง่างาม) หรือแม้กระทั่ง "มาธุรย" (อ่อนหวาน) ผู้ที่เคยเห็นเกลือในนาเกลือ คงจะทราบถึงความสว่างไสวเป็นประกายของเกลือ แม้เกลือกองใหญ่มหึมาก็แทบจะโปร่งแสงได้ ดังนั้นความงามที่สว่างไสวเป็นประกายวับวาวเหมือนเกลือนั้น จึงเรียกว่า ลาวณฺย หรือ ลาวัณย์ ดังคำนิยามดังนี้

 

               มุกฺตาผเลษุ  ฉายายาสฺ ตรลตฺวมิวานฺตรา ฯ         

               ปฺรติภาติ ยทงฺเคษุ ตลฺลาวณฺยมิโหจยเต ฯ.

 

“ความสว่างไสวที่ฉายออกมาจากแต่ละส่วนของกาย คล้ายประกายแสงที่ฉายออกมาอยู่เสมอจากภายในเม็ดไข่มุกนั้นแล เรียกว่า ลาวณฺย”

หมายความว่า ลาวณฺย นั้นเทียบได้กับประกายแสงแห่งไข่มุก คำนิยามนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่านักเขียนเชิงวิชาการล้วนทราบดีถึงความเกี่ยวข้องกัน ระหว่าง ลาวณฺย (ความงาม) และ ลาวณ (เกลือ)

นอกจาก Chatterjee แล้ว G.B. Palsule ก็เสนอว่า ลาวณฺย มาจากคำว่า รามณฺย โดยอธิบายขั้นตอนการวิวัฒนาการเช่นเดียวกับ Chatterjee ทั้งนี้ Palsule ไม่เข้าใจว่า ลาวณ จะมีความสัมพันธ์ใดๆ ร่วมกันกับความงาม เขาเห็นว่า หาก ลาวณฺย มาจาก ลาวณ แล้ว ก็คงจะแปลว่า ความเค็ม และการกลายความหมายจาก ความเค็ม ไปเป็นความน่ารักนั้น น่าพิศวงเหลือเกิน ซึ่งเราเห็นแล้วว่าความหมายแท้มิได้เป็นเช่นนั้น แต่เป็นเพราะ ลาวณฺย หมายถึง ประกายแสงของเกลือ

เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดเรื่องความประกายสว่างไสวก็โดดเด่นมากขึ้น ขณะที่ความหมายว่าเกลือนั้นเลือนหายไป ดังนั้น คำว่า ลาวณฺย จึงไม่น่าจะมาจาก รามณฺยก หรือ รามณฺย อันเป็นการลดรูปจาก รามณิยก แต่เป็นการแผลงรูปโดยตรงจาก ลาวณ

ความหมายที่ว่า “ความงาม” นั้น ไม่ได้รับมาโดยตรงจากความหมายว่า “ความเค็ม” แล้วผ่านช่วงเวลาเนิ่นนานจนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากรสชาติกลายเป็นความสง่างาม กระทั่งได้ความหมายว่า ความงามยิ่ง เพราะถ้าคำว่า ลาวณฺย มาจาก ลาวณ ความหมายจะมิได้ผิดเพี้ยนไปแต่อย่างใด  นอกจากนี้แล้ว คำว่า “รามณิยก” ก็หมายถึง ความงามธรรมดาเท่านั้น แต่ “ลาวณฺย” มีความหมายว่า ความงดงามยิ่ง

 

Large_271173_243415195686145_227994687228196_934268_7125153_n

ป้ายคติพจน์ของโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย


ส่งท้าย

คำว่า ลาวัณย์ ในภาษาไทยนั้นพบได้ในบทกวี หรือแม้แต่ชื่อบุคคล ส่วนคำว่า ลาวณะ ไม่ค่อยจะได้เห็น นอกจากพุทธภาษิตที่ว่า “รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธุงฺ ลวณํ โลณตํ ยถา” พึงรักษาความดีของตนไว้ ดุจเกลือรักษาความเค็ม

คำว่าลาวัณย์ในวรรณคดีเก่าอย่างฤคเวทนั้นไม่ปรากฏ (เท่าที่สืบค้นจากฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์) แต่ปรากฏในวรรณคดีชั้นหลัง เช่น รามายณะ หรือ มหาภารตะ ซึ่งมีการใช้ทั้งคำว่า ลาวณฺย และ ลาวณ ตามความหมายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น.

 

เรียบเรียงจาก

Satya Vrat Shatri. “Lavana, Kirata and Kahala” Discovery of Sanskrit Treasures Volume I. Delhi : Yash Publication, 2006, หน้า 62-63.

ภาพจาก http://goo.gl/kx5OZ

หมายเลขบันทึก: 478068เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2012 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สันสกฤตง่ายนิดเดียว แต่ยากเยอะช่ายป่ะคะ

อยากเรียนภาษาสันษกฤตครับ ไม่ค่อยจะมีเปิดสอนเลย พอจะแนะนำได้มั้ยครับ

สวัสดีครับ คุณ yaijum

หลายๆ คนก็บอกอย่างนี้แหละครับ อิๆๆ

---

สวัสดีครับ คุณธรรมฤทธิวงศ์

ที่สอนพิเศษ ไม่ทราบเหมือนกันครับ

แต่ระดับปริญญาตรี โท เอก ที่คณะโบราณคดี มีสอนครับ

ถ้าจะเรียนตามหลักสูตรก็สมัครได้เลย

แต่สนใจจะเรียนนอกเวลา ลองติดต่อที่ศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากรนะครับ

ถ้ามีเพื่อนสักกลุ่มหนึ่ง อาจขอ นศ.ป โท หรือ อาจารย์มาช่วยสอนได้

หรือไม่ก็ลองศึกษาจากหนังสือไปก่อนนะครับ

ร้านหนังสือพอจะมีตำราสันสกฤตระดับพื้นฐานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท