ไปร่วมเสวนาของเครือข่ายวิจัยประชาชื่น


ผมชี้ให้เห็นว่า เราสามารถใช้งานบริการวิชาการที่ทำอยู่เป็นประจำ ให้กลายเป็นงานวิจัยได้ และ นศ. ก็ได้เรียนรู้ไปด้วย เสมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสามตัว.....
          วันที่ ๑๗ ม.ค. ๕๕ ผมไปร่วมประชุมเสวนาเรื่อง “บริหารงานวิจัยเพื่ออะไร” ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ศ. ดร. บุญเสริม วีสกุล  ศ. ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ และผม   
 
          เมื่อไปถึงก็พบว่าผู้มาร่วมวงเสวนามาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย   ไกลที่สุดมาจาก มน. ที่พิษณุโลก   และพบว่าการเสวนานี้ร่วมจัดโดยเครือข่ายวิจัยประชาชื่น ซึ่งมีสมาชิกหลายมหาวิทยาลัยมาก ได้แก่ ม. กรุงเทพ,  ม. เกษตรศาสตร์,  สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์,  มทร. ธัญบุรี,  มทร. พระนคร,  มทร. สุวรรณภูมิ,  ม. ธุรกิจบัณฑิตย์,  มรภ. พระนคร,  มศว., มสธ., วิทยาลัยราชพฤกษ์,  ม. นานาชาติสแตมฟอร์ด,  ม. อินเตอร์เทคลำปาง    เป็นตัวอย่างของการร่วมมือกันแบบเครือข่ายเพื่อการทำงานวิจัยเพื่อประโยชน์ของสังคมที่ น่าชื่นชมยิ่ง   ผมหวังว่าเครือข่ายวิจัยนี้จะร่วมกันฟันฝ่าไปสู่ความสำเร็จได้

 
          ผมได้เห็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย   และได้เสนอว่าน่าจะเน้นการวิจัยแบบประยุกต์ใช้ความรู้ (Translational Research)    โดยจะต้องพัฒนาทักษะและวัฒนธรรมของการทำงานวิจัยประเภทนี้ ซึ่งไม่เหมือนกับทักษะและวัฒนธรรมของการวิจัยแบบ Discovery Research

 
          ฟังสาระในการเสวนาของผู้มาร่วมจากสมาชิกของเครือข่ายแล้ว    ผมให้ความเห็นว่าในมหาวิทยาลัยนี้คณาจารย์ยังมีประสบการณ์ในการทำวิจัยไม่มาก    การเสนอหัวข้อและโครงการวิจัยที่ดี ที่แหล่งทุนยอมรับอาจยังต้องการการฝึกฝนอีกมาก   การบริหารงานวิจัยตรงขั้นตอนของการตั้งโจทย์วิจัยน่าจะสำคัญที่สุด   มหาวิทยาลัยในเครือข่ายจึงน่าจะรวมตัวกันจัดกระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัย ที่จะนำไปสู่การเขียนโครงการวิจัยที่มีคุณภาพสูง นำไปเสนอขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ต้องการใช้ผลการวิจัย หรือจากแหล่งทุนได้   ต้องมองการจัดการ และการทำวิจัย เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการวิจัย เชื่อมโยงไปยังการเรียนการสอน และการทำหน้าที่ให้การบริการวิชาการแก่สังคม

 
          ผมชี้ให้เห็นว่า เราสามารถใช้งานบริการวิชาการที่ทำอยู่เป็นประจำ ให้กลายเป็นงานวิจัยได้   และ นศ. ก็ได้เรียนรู้ไปด้วย   เสมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสามตัว    ผมได้โอกาสอวดภรรยาของตัวเอง   ว่า ศ. พญ. อมรา พานิช มีผลงานวิจัย จนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ จากผลงานวิจัยปรับปรุงเทคนิกการให้ยาสลบและยา ระงับปวด ที่ทำอยู่เป็นงานประจำในฐานะวิสัญญีแพทย์นั่นเอง   เรื่องเล่าเกี่ยวกับภรรยาของผม คือตัวอย่างของ การทำงานแบบยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสามตัวข้างต้น

 

 

 
วิจารณ์ พานิช
๑๗ ม.ค. ๕๕


บรรยากาศในห้องประชุม

 

 

หมายเลขบันทึก: 477724เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2012 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท