สังคมอุดมตัณหา กับเป้าหมายทางการศึกษาของสังคม


บางครั้ง คำทักทายของคนเราก็สะท้อนว่า เรามีทัศคติอย่างไร

เช่น คนจีนในประเทศไทยที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ มักมีคำทักทายว่า กินหรือยัง เพราะคิดถึงความยากลำบากของตนในอดีต จึงมักห่วงใยผู้ที่ตนรัก เอ็นดู ว่าเป็นอยู่อย่างไร อิ่มท้องแล้วหรือไม่

คนไทยในอดีตก็มักทักทายว่า ไปไหนมา เพราะอาจนึกถึงความสนุกสนานของการเที่ยวเล่น

หรือเมื่อผู้ใหญ่พบเด็กๆ ก็มักทักทายว่า เรียนอะไร และมักต่อท้ายด้วยคำว่า ตั้งใจเรียนนะ จบมาจะได้ร่ำรวย มีหน้ามีตา เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน

เรื่องคำทักทายในลักษณะนี้ ผู้ทีมีอายุกว่า 50 อย่างผู้เขียนขอยืนยันว่าเคยได้ยิน ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อการศึกษา ถึงเป้าหมายของการศึกษา ได้เป็นอย่างดี แต่ทว่า ดูเหมือนจะไปกันคนละทางกับความหมายของคำว่า ศึกษา หรือ สิกขา

สิกขา นั้น เป้าหมายคือการพัฒนาคนที่เข้ารับการศึกษา ให้เจริญขึ้นทั้งในด้านจิตใจ และ สติปัญญา เมื่อปัญญาพัฒนาขึ้น มีจิตใจที่มั่นคง ก็มีความสามารถในด้านต่างๆตามมา เช่น เข้าใจสิ่งต่างๆตรงตามความเป็นจริง มีคุณธรรม มีความสามารถในการเรียนรู้ทักษาที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบข้าง และ สภาพแวดล้อม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆอันเป็นธรรมดาโลก รู้จักประมาณในทุกๆด้าน อันส่งผลให้ผู้เข้ารับ หรือสำเร็จการศึกษาจึงมีความสามารถที่จะพบความสุขได้ง่ายขึ้น อยู่อย่างสงบ ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น และส่งผลถึงสังคมพลอยให้สงบสุขไปด้วย

หากสังคมสงบสุข ความจำเป็นต้องออกกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆมาบังคับ ก็ย่อมไม่เกิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการแก้ไขกฎหมายต่างๆในปัจจุบัน

แต่หากเป้าหมายเบี่ยงเบนไป เป็นเพื่อให้ได้ความสามารถที่จะแสวงหาทรัพย์สิน เพื่อเกียรติยศ เพื่อมาสนองความต้องการเสพการบริโภคของเรา ก็เท่ากับเรากำลังผลักดันสังคมให้ไปสู่สังคมอุดมตัณหา พาสังคมไปสู่การเป็นสังคมที่ไม่สงบสุข ด้วยคนในสังคมมีความสุขได้ยากขึ้น

ทำไม??

เพราะธรรมชาติของความต้องการหรือ ตัณหา นั้น เมื่อไม่ได้ ก็แสวงหา เมื่อได้มาก็ต้องพยายามรักษาสิ่งที่ได้มาไว้ รวมถึงอยากได้มากและปรุงให้เลิศขึ้น จึงยิ่งแสวงหา ยิ่งหวงแหน หากผู้นั้นมีหิริ โอตตัปปะ ก็กลายเป็นคนบ้างานเพราะความไม่รู้จักประมาณในการเสพ ในการสะสม หากไม่มี ก็แย่งชิง เบียดเบียนเอาจากธรรมชาติ หรือจากผู้อื่น และเมื่อเกิดความผันผวน ก็ทุรนทุราย เป็นทุกข์

ความสุขของบุคคลจึงไปพึ่งพิงกับวัตถุ ต้องอาศัยกามคุณจึงจะมีสุขได้ (สามิสสุข หรือ สุขอิงอามิส) จึงกลายเป็นว่า ยิ่งศึกษา ยิ่งหาเลี้ยงชีพ ความสุขยิ่งลดน้อย ยิ่งถอยลง เพราะความต้องการที่ไม่รู้จักพอ ทำให้ มีเท่าไรก็ไม่สุข สักที สังคมจึงกลายเป็นสังคมแห่งการแข่งขัน เป็นสังคมที่ปั่นป่วนเพราะสารพัดปัญหาที่หาทางแก้ไขแทบไม่ได้ เพราะความต้องการของคนในสังคมเองเป็นตัวผลักดัน

ปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากตัณหานี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านเรียกว่า วิกฤติลึก อันนำไปสู่วิกฤติอื่นๆ

ในฐานะหน่วยเล็กๆในสังคม หากเรามองการเป็นไปโดยการปล่อยปละ โดยการละเลย ปล่อยให้วิกฤติลึกนี้ ยิ่งลึกลงๆ เราก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา

นโยบายทางการศึกษา จึงควรสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนาปัญญาอย่างแท้จริง เพื่อให้คนในสังคมมีพบกับความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุ เพื่อนำพาสังคมไปสู่สังคมที่เรียบร้อย สงบสุขอย่างถาวร

หมายเลขบันทึก: 476878เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2012 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หากจักพัฒนาคน จำเป็นต้อง พัฒนาครู ก่อนบุคคลอาชีพอื่น

เพราะครูเป็นผู้ชี้นำลูกศิษย์ให้คิดตาม อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่สำคัญ

หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า "อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีหนี้สินมากกว่าอาชีพใด ๆ ในประเทศไทย"

นี่คงไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีใช่ไหมครับพี่ ;)...

สบายดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท