ความทุกข์ 4


คติเตือนใจ,ปรัชญา,มอบให้ กศน ทุกท่าน

ซินเซียยู่อี่  ซินนี้ฮวยไช้  สวัสดีย้อนหลังวันตรุษจีน

วันก่อนได้อ่านบทความคอลัมน์ กิเลน ประลองเชิง ชักธงรบ จาก นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 มกราคม 2555  ดังนี้

ความทุกข์ทั้ง 4

                ในสมัยขงจื้อ  ยังมีนักปราชญ์คนหนึ่งที่เหนือกว่าขงจื้อ เขามีอาชีพประมงชื่อ หยีฟู่  ขงจื๊อนั่งดีดพิณร้องเพลงระหว่างการท่องเที่ยวป่าดำ  ชายชราคิ้วขาว หนวดขาว ยาวย้อยต่ำ ผมขาวกระจายคลุมไหล่ สองมือยัดใส่แขนเสื้อขึ้นจากเรือเดินเข้ามา  ได้ยินเสียงเพลงก็นั่งคุกเข่า  มือเท้าคาง  นั่งฟังอย่างตั้งใจ

                เพลงจบ... พอรู้ว่าเป็นขงจื๊อ ผู้แสวงหาทางการเมือง  หยีฟู่ก็หัวร่อ “ที่เขาเหนื่อยยากถึงปานนี้  ก็น่ายกย่อง  แต่ถ้าเขาขืนทำเช่นนี้ต่อไป ก็น่ากลัวว่าเขาจะห่างไกลจากมรรคออกไปทุกวัน”  แล้วก็เดินจากไป

                เมื่อขงจื๊อทราบ  ก็ผลักพิณไปข้างหน้า บอกศิษย์ว่า “ชาวประมงนั้น เป็นคนมีสติปัญญาล้ำเลิศ”  แล้วก็เดินตามไปทันหยีฟู่  ที่ริมทะเลสาบ  ค้อมคำนับหยีฟู่ แล้วบอกว่า

                “ถ้อยคำที่ท่านพูดสักครู่  ดูจะยังไม่จบ  ข้าพเจ้าโง่เขลา  ใคร่ขอฟังคำสอนจากท่านอีก”

                “ท่านนับเป็นคนรักการศึกษา”.....  “ข้าพเจ้ารักการศึกษามาตั้งแต่เด็ก  เวลานี้มีอายุ 69 ปีแล้ว”

                “คนเรามีโรคร้าย 8 ประการ  มีทุกข์ 4 ประการ  จะไม่สนใจมิได้”  หยีฟู่กล่าว

                ทำในสิ่งที่ท่านไม่ควรทำ  นี่เรียกว่า  แส่เสือก  คนอื่นเขาไม่เชื่อในถ้อยคำของท่าน  แต่ท่านก็พูดไม่รู้จบ นี่เรียกว่าเพ้อพล่าม  เดาใจของผู้อื่น พูดในสิ่งที่ผู้อื่นเขาอยากจะฟัง นี่เรียกว่าประจบ

                ไม่รู้ดีชั่ว  เออออตามคนอื่นเขา นี่เรียกว่าสอพลอ       

                ชอบนินทาความผิดของผู้อื่น นี่เรียกว่าใส่ไคล้  ทำลายความสัมพันธ์ของคนอื่น นี่เรียกว่ายุแยง      ยกย่องคนชั่ว ขับไสคนที่เกลียดชัง นี่เรียกว่าเจ้าเล่ห์  ไม่แยกดีชั่ว ทำดีกับสองฝ่ายเพื่อให้เขาชอบ นี่เรียกว่ากลิ้งกลอก

                หยีฟู่สรุปว่า “โรคร้ายทั้ง 8 ประการนี้  ต่อภายนอกก็ก่อกวนคนอื่น  ต่อภายในก็ทำร้ายตัวเอง  นี่เป็นสิ่งที่ผู้มีสติปัญญามิยอมชิดใกล้”

                “ถ้าเช่นนั้น ที่ว่าความทุกข์ 4 ประการนั้นเล่า คืออย่างไร”  ขงจื๊อถามต่อ

                หยีฟู่กล่าว “คิดจะทำแต่เรื่องใหญ่  เพื่อหาชื่อเสียง นี่เรียกว่ามักใหญ่  ทำเป็นอวดฉลาด ทำอะไรตามใจชอบ เอาแต่ความคิดเห็นของตนเอง ไม่คำนึงถึงการล่วงเกินผู้อื่น นี่เรียกว่าถือดี   มองเห็นความผิดของตน แต่ไม่ยอมแก้ไข ครั้นเมื่อได้ฟังคำตักเตือนของคนอื่น ก็กลับโมโหโกรธา นี่เรียกว่ายโส  ถ้าความเห็นนั้นตรงกับของตนก็ว่าถูก ถ้าความเห็นนั้นไม่ตรงกับคนอื่น แม้จะดีก็ว่าไม่ดี นี่เรียกว่าทะนง”

                “คนคนหนึ่ง  ถ้าหากมีความทุกข์ 4 ประการนี้แล้ว  ก็ยากที่จะสนทนา”                                                       

                จวงจื๊อ ปราชญ์รุ่นหลังขงจื๊อ  ผู้เขียนเรื่องนี้ (มรดกจากเต๋า จวงจื๊อจอมปราชญ์ บุญศักดิ์ แสงระวี เรียบเรียง)  ทิ้งท้าย... ขงจื๊อได้ฟังแล้ว สีหน้าก็เปลี่ยนไป  ค้อมคำนับอีกสามครา แล้วก็จากมา

                หยีฟู่ ชายชราคิ้วขาว เคราขาวยาวคลุมอก... ผู้กล้าสอนขงจื๊อ  ทำให้ขงจื๊อต้องคำนับแล้ว คำนับอีก  จวงจื๊อไม่ได้บอกว่าเป็นใคร มาจากไหน บอกแต่เพียงว่า สอนขงจื๊อแล้วก็ลงเรือหายไปในทะเลสาบ

                แต่คำสอน โรคร้ายทั้ง 8   ความทุกข์ทั้ง 4  ยังมีผู้บันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ว่า บ้านเมืองที่มีแต่คนป่วยเป็นโรคร้ายทั้ง 8  มีแต่คนมีทุกข์ทั้ง 4  เป็นบ้านเมืองที่หาความสงบสุขไม่ได้

                ครม. ก็ต้องปรับใหม่  โครงการรัฐสภาใหม่ก็ตั้งท่ารื้อที่เก่า เอาที่ใหม่  รัฐธรรมนูญก็ต้องแก้ใหม่  แล้วก็น่าจะหานายกฯคนใหม่  เอาคนเก่าเขาเข้ามาเสียที เรื่องวุ่น ๆ ทั้งหลายจะได้หมดไปจากบ้านเมือง

                ก่อสงครามรบกันมาหลายปี  ความสูญเสียมากเกินประเมินประมาณ  ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เรื่องเกิดมาจากความพยายามผลักไสไล่คนคนเดียว

                                                                                                               กิเลน ประลองเชิง

 

                “บทความข้างบทนี้ถือเป็นคติเตือนในการใช้ชีวิตประจำวันและการปฏิบัติงาน”

                                                                                             ชาตรี  แตงภู่  กศน.ไทรน้อย

หมายเลขบันทึก: 476189เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบทความที่ดี มีสาระเหมาะกับการไปใช้ในชีวิตประจำวัน ขอขอบคุณอาจารย์ชาตรีที่แบ่งปันสิ่งที่ดี ๆ

สัจธรรม ลึกซึ้ง นำไปปรับใช้ได้ ขอบคุณครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท