Brain-Based Learning - BBL


Brain-Based Learning อาศํยความเข้าใจกลไกการทำงานของระบบประสาทในการนำไปประยุกต์กับการเรียนรู้

Brain-Based Learning เป็นการเรียนรู้ของมนุษย์โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของระบบประสาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง และตัวรับความรู้สึกหรืออวัยวะรับความรู้สึกทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกจากตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม แล้วไปประมวลผลที่สมอง ซึ่งอาจถือว่าเป็น ใจ รวมเป็น อายตนะ หรือ แดนต่อ 6 ประการ

การที่มนุษย์มีการพัฒนาของสมองซีกซ้ายและซีกขวาไม่เท่ากัน รวมทั้งการพัฒนาในส่วนของสมองที่ทำหน้าที่รับและประมวลผลความรู้สึกที่ส่งมาจากตัวรับหรืออวัยวะรับความรู้สึกทั้ง 5 ไม่เท่ากัน ทำให้คนแต่ละคน มีความถนัดในการเรียนรู้จากการรับตัวกระตุ้นจากภายนอกแตกต่างกัน เช่น บางคนถนัดเรียนรู้ด้วยการมองเห็น  บางคนถนัดเรียนรู้ด้วยการได้ยิน  บางคนถนัดเรียนรู้ด้วยการได้รับกลิ่น หรือรส หรือการสัมผัส

ทั้งนี้และทั้งนั้น สัญญาณขาเข้าทั้งหมดจะถูกประมวลผลในสมองและเกิดกระบวนการคิด การดึงข้อมูลจากความทรงจำ การบันทึกเป็นความทรงจำ ประมวลผลสุดท้ายแล้วส่งคำสั่งขาออกทางระบบประสาทมอเตอร์ หรือระบบประสาทยนต์ ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกาย ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ผลของการปฏิบัติหรือการเคลื่อนไหว จะถูกส่งไปยังสมองเพื่อเป็นข้อมูลป้อนกลับ และย้ำให้เกิดความทรงจำ บันทึกในสมองอีกรอบหนึ่ง    ถ้าได้มีการฝึกปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้สมองมีการทบทวนความจำรวมทั้งการฝึกกล้ามเนื้อทำให้เกิดทักษะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ก็ยิ่งเป็นการย้ำเตือนความทรงจำ แบบการเรียนรู้ และทักษะการเคลื่อนไหว (motor skill)  ดังเห็นได้จากการฝึกซ้อมกิฬา ดนตรี งานฝีมือประเภทต่างๆ เป็นต้น

การเลือกใช้ตัวกระตุ้นให้เหมาะสมกับความถนัดของแต่ละปัจเจกบุคคล จะเป็นการเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็วขึ้นกว่าช่องทางที่ไม่มีความถนัด จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ประเภท brain-based learning ขึ้นครับ

นักการศึกษาหรือครูสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้นี้ โดยการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนว่า นักเรียนมีความถนัดเรียนอย่างไร ใช้ตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกายสัมผัส แล้วจัดหรือพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความถนัดของนักเรียน ก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกและสามารถรับรู้ทางช่องทางของระบบประสาทที่ตัวเองมีความถนัดอยู่  และอย่าลืมที่จะเสริมแรงโดยการฝึกคิดและฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการบันทึกเป็นความทรงจำในสมองเป็นความทรงจำและทักษะระยะยาวต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 47574เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เรียน  ท่านอาจารย์หมอชัยเลิศ ที่เคารพ

     ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอเป็นอย่างสูงนะคะสำหรับบันทึกนี้เพราะหนูเคยได้ฟังเรื่องนี้ทางรายการโทรทัศน์ซึ่งเป็นการเล่าจากคุณหมอท่านหนึ่ง (ต้องขอโทษที่จำชื่อไม่ได้ค่ะ  ถ้าจำไม่ผิดเป็นรายการการกุศล อ.หมอท่านนั้นหน้าตาคล้ายๆ อาจารย์หมอค่ะ) ได้ฟังวันนั้นสนใจและนึกถึงอาจารย์ค่ะแต่ฟังไม่ทัน  และไม่มีข้อมูลให้อ่านทบทวน  ได้มาพบบันทึกนี้ของคุณหมอถูกใจมากๆ ค่ะ 

     ด้วยความเคารพ และระลึกถึง
     เจนจิต.

เรียน คุณเจนจิตที่นับถือ

ด้วยความยินดีครับ และขอบคุณครับสำหรับข้อคิดเห็นครับ  ความจริงแล้ว กลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ที่ยั่งยืนนั้น อยู่ที่การทำความเข้าใจสรีรวิทยาการเรียนรู้ และการนำไปประยุกต์ให้เข้ากับปัจเจกบุคคลประกอบกับสิ่งแวดล้อมของปัจเจกบุคคลนั้นๆ พอดีวันนี้ผมมีภาระกิจที่ต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนตามกำหนด ถ้าภาระกิจเรียบร้อยแล้วผมจะมาเขียนเล่าสู่กันอ่านต่อครับ :-)

 

 

       ได้อ่าน BBL ของคุณหมอแล้วมีความรู้ที่จะนำไปเผยแพร่แก่ครูในโรงเรียน  เพื่อการพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพ  เพราะผมเป็ผู้บริหารโรงเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกล  โรงเรียนมีอินเทอร์เน็ตติดบ้างไม่ติดบ้าง  เพื่อศึกษาหาความรู้ไปจัดการศึกษาของชาติ  แต่ขาดวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นจำนวนมาก

        ขอขอบคุณคุณหมอมากครับ... ที่ได้รู้จัก BBL

        โรงเรียนบ้านฉกาจช่องโค    สพฐ.

         บ้านฉกาจ  หมู่ที่ 2  ต.รังกาใหญ่

          อ.พิมาย   จ.นครราชสีมา  30110

 

 

    

รู้สึกดีใจครับที่บทความเล็กๆนี้ พอจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาไทย ความจริง ความรู้เกี่ยวกับ BBL มีประเด็นที่หลากหลายพอสมควรครับ ที่ผมเขียนไปนั้นเป็นประเด็นทางด้านสรีรวิทยาของระบบประสาท โดยเฉพาะเกี่ยวกับกลไกการเรียนรู้ของคนโดยใช้ลักษณะความสัมพันธ์ของตัวกระตุ้น--> ตัวรับความรู้สึก --> อวัยวะรับความรู้สึก --> ส่วนของสมองรับความรู้สึก --> การเรียนรู้โดยส่วนของสมองในระดับสูง    ประกอบกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียนที่รู้สึกสนุกในการเรียนรู้ด้วยอายตนะนั้นๆ ครับ ไว้ผมจะเขียนลงในรายละเอียดเพิ่มเติมประมาณสัปดาห์หน้านะครับ

อยาก ทราบเกี่ยวกับว่า อธิบายกฎทางฟิสิกส์ว่าทำไมความเข้มแสงและพลังงานอื่นๆที่ระยะทางห่างจากแหล่งกำเนิดมากน้อยต่างกันจึงเป็นสัดส่วนผกผันกับระยะทางกำลังสอง โดยใช้ความรู้ทางเรขาคณิต         อย่างงี้เราต้องทำอย่างไรอะครับ ช่วยตอบด้วยครับด่วน หรือถ้าอาจารย์หมอจะกรุณาโทรมาที่ 069560133

ต้องขออภัย ผมไม่ได้เข้าอินเตอร์เน็ตสองสามวัน ลองใช้ภาพนี้ช่วยดูนะครับ

http://gotoknow.org/file/chailerd/LightReverse.JPG

 

สมมุติว่า พลังงานแสงมีค่าเป็น 1 แรงเทียนที่ระยะทาง 1 เมตร แสดงด้วย 1 ช่องตารางทางเรขาคณิต

เมื่อระยะทางเป็น 2 เมตร แสงที่ตกลงไปจะต้องกินพื้นที่ = ระยะทางกำลังสอง คือ 4 ช่อง ฯลฯ

 

 

อาจารย์หมอค่ะ หนูสนใจเกี่ยวกับ BBL นี้มากแล้วหนูจะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ไหนบ้างค่ะ รบกวนด้วยค่ะ

มีข่าวดีมาบอกครับ พอดีที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ จะจัดประชุมวิชาการประจำปี ผมจะเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง

การออกแบบคำสอนเชิงกลยุทธ์โดยอาศัยสรีรวิทยาของการเรียนรู้ตามความถนัดของสมองเป็นหลัก

(Strategic Instructional Design Utilizing Physiology of Brain-Based Learning)

ในวันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 เวลา 8.30-16.30 น. ที่ตึกสยามินทร์ชั้น 7  ห้อง 7005

รับจำนวนจำกัดเพียง 50 ท่าน เท่านั้น

รายละเอียดการประชุมดูได้จากไฟล์

http://gotoknow.org/file/chailerd/Workshop50_IDandBBL.pdf 

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ครับ หรือแวะเข้าไปดูที่เว็บไซต์

http://www.SirirajMedicalConference.com

สวัสดีครับ

ชัยเลิศ

 

อาจารย์ครับ ผมได้อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว ชอบมากเลยครับ

ผมเคยพยายามศึกษา เรื่องที่มีลักษณะคล้ายกันนี้อยู่พักหนึ่ง

ผมเรียกมันว่า สมมติฐานการแทรกสอดของแดนรู้ทั้ง 5 ครับ

อ่านเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ก็แล้วกันนะครับอาจารย์ ไม่มี reference

สมมติฐานนี้มีอยู่ว่า ในยามปกติคนเราจะไม่ใช้เพียงแดนรู้ใดแดนรู้หนึ่ง ในการรับรู้สิ่งของชิ้นเดียว สิ่งนี้เองที่ทำให้คนเรามี มิติ ในการรับรู้

ยกตัวอย่างเช่น เวลาอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์เรื่องก้อน (mass) เรามีมิติในการมองแบ่งออกเป็น size, side, shape, surface, consistency, movement, pulsatile, magin, skin coverage,และ progression (How fast it change?)

จะสังเกตได้ว่า "มิติ" การเรียนรู้ในแต่ละด้าน ไม่จำเป็นต้องใช้แดนอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งในการศึกษา แต่เรากลับใช้ร่วมกันทั้งหมด เท่าที่เราจะสามารถใช้ได้

เช่น -มิติ size อาจใช้การมองเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นเพียงการกะขนาดเท่านั้น

-มิติ size อาจใช้ measure(การวัด) ซึ่งต้องอาศัยการมอง การสัมผัส รวมถึงการมีเครื่องมือที่เที่ยงตรง และมีตัวเลขกำกับ สามารถใช้เปรียบเทียบได้อย่างมีความหมาย เช่น ก้อนขนาด 1x1cm2 ย่อมมีพื้นที่(ในplaneที่เราวัด)เล็กกว่า ก้อนขนาด 2x2cm2 เป็นต้น

ดังนั้น

อายตนะ คือ แดนรู้ อันประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส

เราเลือก ตา+สัมผัส

เมื่อเกิดการแทรกสอดกัน

จึงได้มิติใหม่ คือ size#

และเมื่อเราเอาข้อมูลจากหลายๆมิติมารวมเข้าด้วยกัน ก็เป็นสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่นั่นเอง.

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ เหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ เพราะเราไม่ได้มองกล่องเป็นกล่อง เราไม่ได้มองก้อน(mass) เป็นเพียงก้อน แต่เรามองได้ลึก ตราบเท่าที่เราคิด.

PS. ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ ในฐานะที่ผลงานของอาจารย์ เปิดโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ ให้นักเรียนคนหนึ่ง หวังว่าอาจารย์อ่านแล้วจะสนุกเพลิดเพลิน และอาจจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยของอาจารย์ไม่มากก็น้อย

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ธีรเจต ลีลาพากเพียร

(ฮัท เองครับ อาจารย์-น้องอ.เบลล์)

ขอฝากตัวเป็นศิทย์ และขอคำชี้แนะด้วยนะคร๊าป ^^!

(ครึ่งแรกคิดตอนเรียนวิชาพุทธศาสนา ครึ่งหลังคิดได้ตอนเรียนแพทย์และได้อ่านบทความของอาจารย์)

น่าสนใจมากครับในเรื่องของมิติการรับรู้จากแดนต่อของคนเรา

ขอบคุณสำหรับคำชม และยินดีรับเป็นทั้งลูกศิษย์ เป็นเพื่อน และเป็นครูครับ

เพราะ คนเราสามารถเรียนรู้ได้จากคนทุกคน เนื่องจากคนทุกคนย่อมมีความรู้ที่มากกว่าเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง และอาจมองเห็นไม่เหมือนเราไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง จริงไหมครับ :-)

ผม เลยขอถือโอกาสเขียนต่อยอดในเรื่องของประเภทของตัวกระตุ้น จำแนกตาม mode ของการนำเข้าข้อมูลสู่อายตนะของเรา แล้วส่งต่อไปยังระบบประสาทส่วนกลางต่อไป

Input stimuli แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. Unimodal input เป็นข้อมูลรูปแบบเดียวของสิ่งเร้า เช่น ภาพสุนัข, เสียงสุนัข, กลิ่นสุนัข, สัมผัสสุนัข เป็นต้น แต่ละอันเป็น unimodal input ซึ่งอายตนะของเรารับเข้าครั้งละ 1 อย่างเท่านั้น

2. Polymodal input เป็นข้อมูลหลายรูปแบบของสิ่งเร้าเดียวกันและเข้าสู่อายตนะของเราพร้อมๆ กัน ดังตัวอย่างข้างบนจะเป็น ภาพสุนัข+เสียงสุนัข+กลิ่นสุนัข+สัมผัสสุนัข ซึ่งทั้งสี่ตัวกระตุ้นเข้าสู่อายตนะของเราพร้อมๆกัน หรือจะพูดอีกแบบหนึ่งคือ เหมือน Multimedia ก็ไม่ผิดครับ

3. Multimodal input เป็นข้อมูลของสิ่งเร้าหลายชนิด หลายรูปแบบที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น หน้าคน เพศ ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น กลิ่นกาย น้ำเสียง การแต่งตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวกระตุ้นที่มีความสัมพันธ์กันแต่ไม่ใช่ตัวกระตุ้นเชิง เดี่ยวมารวมกัน

ถ้าจะเปรียบเทียบกับเทคโนโลยี ก็เหมือนกับมี multimedia หลายๆ อัน มาผสมผสานกันอย่างกลมกลืนนั่นเอง

ดังนั้นในส่วนที่ฮัทเขียนถึง มิติของ size# จึงเข้าได้กับข้อ 2 Polymodal input นั่นเองครับ

และ ที่ฮัทเขียนว่า "เมื่อเราเอาข้อมูลจากหลายๆมิติมารวมเข้าด้วยกัน ก็เป็นสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่นั่นเอง" ก็คือ Multimodal input นั่นเอง

และ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่เรียกว่า "ความคิดสร้างสรรค์" ซึ่งเป็นหนึ่งในสองความสามารถของ "มนุษย์" (สมอง + มือ) ที่มีเหนือสัตว์อื่นๆ จึงทำให้...

คนเราหลายคน "มอง" ของอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน แต่ "เห็น" ไม่เหมือนกันครับ ซึ่งขึ้นกับประสบการณ์ ความรู้ ทักษะการคิด และมี "ใจเปิด" (open-minded) แค่ไหน ที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เรามีโอกาสจะเรียนได้ทุกวันครับ

ชัยเลิศ พิชิตพรชัย

สวัสดีครับอาจารย์ เนื้อหาความรู้จากการที่อาจารย์ถ่ายทอดได้ดีมากเลยครับ เป็นประโยชน์ในวงทางด้านการศึกษายิ่งครับ

สวัสดีครับคุณอดุลย์สมาน

ยินดีที่ได้รู้จักครับและขอบคุณสำหรับคำชมครับ

ขอให้คุณอดุลย์สมานจะสำเร็จการศึกษาตามที่ตั้งความประสงค์ไว้โดยเร็ววันครับ

ถ้ามีอะไรให้ช่วยเหลือก็จะยินดีมากครับ

ชัยเลิศ

ขอบคุณครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท