กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๕๕) : ถอดบทเรียน "ชีวิตที่เรียนรู้ของครูเล็ก"


จากประสบการณ์การทำ KM “ชีวิตที่เรียนรู้...ของครูเพลินฯ” ทำให้ตนเองได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น การได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสอนของครูแต่ละคนนั้น เป็นประสบการณ์เชิงประจักษ์ที่ดูมีชีวิตชีวาอย่างมาก การได้อ่านงานเขียนของเพื่อนครูและได้ฟังสิ่งที่ครูกลั่นกรองประสบการณ์ดีๆ มาแลกเปลี่ยนกันนั้น ทำให้ตนเองได้เห็นภาพห้องเรียนที่มีชีวิตผ่านเรื่องเล่าของครู

 

ระยะหลังมานี้ตนเองได้ทำหน้าที่เป็น KO ของช่วงชั้น ต้องพยายามสร้างวง KM จดบันทึกองค์ความรู้ และจับประเด็นความรู้ต่างๆ ที่เพื่อนครูนำมาแลกเปลี่ยนกัน  ทุกๆ ครั้งที่มีการทำวง KM ครูใหม่ก็มักจะให้โอกาสตนเองในการเป็นผู้สังเคราะห์และสรุปความรู้ผ่านแผนที่ความคิด (concept map) โดยมีการวางแผนและรู้ตัวก่อนว่าต้องทำหน้าที่นี้ แต่ครั้งนี้ค่อนข้างประหลาดใจเพราะครูใหม่ไม่ได้บอกไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาที่ตัวแทนครูแต่ละกลุ่มออกไปพูดแลกเปลี่ยน ครูใหม่ก็มากระซิบบอกว่าให้สังเคราะห์และสรุปประเด็นต่างๆ ด้วย

 

ประสบการณ์ที่สำคัญครั้งหนึ่ง คือ ในช่วงการทำ WS "ชีวิตที่เรียนรู้...ของครูเพลิน" ที่เพิ่งผ่านมา  ตอนนั้น อ. วิจารณ์ พานิช (ปรมาจารย์ในเรื่อง KM)  เข้ามาร่วมสังเกตการณ์พอดี และตนเองต้องออกไปสรุปความรู้ของวง ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย แต่ก็พยายามมีสติ ออกไปสรุปและสังเคราะห์ความรู้ในเรื่องนี้จนจบครบกระบวนความ

 

เมื่อได้ทำหน้าที่นี้เสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้ลองมานั่งทบทวนตนเองดูว่า คงเป็นกุศโลบายของครูใหม่ที่อยากจะทดสอบดูสิว่า ตนเองที่ก็เปรียบเสมือนเป็นลูกศิษย์ของครูใหม่ในเรื่อง KM นี้ จะมีสมรรถนะในเรื่องของการจับประเด็นและสังเคราะห์ความรู้หรือไม่ เพราะเวลาที่เราจะวัดสมรรถนะใครว่ามีอยู่จริงหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องให้เตรียมการไว้ก่อน ถ้าสมรรถนะนั้นฝังอยู่ในตัวเราแล้ว ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น เราก็สามารถนำสมรรถนะนั้นมาใช้ได้

 

จากสถานการณ์นี้ก็ทำให้ตนเองพบว่า ตนเองมีสมรรถนะในการฟังและจับประเด็นสาระสำคัญนำมาสังเคราะห์ได้ รู้สึกดีใจและปลื้มใจมากที่ตนเองสามารถทำได้ มาถึงตอนนี้ก็ต้องขอบคุณครูใหม่ที่ให้โอกาสตนเองได้ฝึกฝน ทั้งนี้ครูใหม่ยังให้คำแนะนำและเป็นตัวอย่างที่ดีในการจดบันทึก การเขียน และการจับประเด็นต่างๆ ในวง KM ที่สำคัญคือ เป็นแรงบันดาลใจให้กับตนเองในการเขียนเรื่องราวดีๆ ในแบบ KM ด้วย

 

จากการได้สังเคราะห์ความรู้ในเรื่อง “ผลที่เกิดขึ้นจากการทำ Lesson Study ของครู"  พบว่า มีองค์ประกอบ ๔ ด้าน ที่ขอนำมาแลกเปลี่ยน ดังนี้

๑.     ครู

  • เปลี่ยนแปลงภาวะภายใน รู้สภาวะของตนเองในขณะสอน
  • ลดอัตตา ลดตัวตน
  • เกิดแรงบันดาลใจในตนเองและดึงออกมาใช้
  • เชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง ในตัวเด็ก และในสิ่งที่สอน
  • ฟังเด็กมากขึ้น ฟังเสียงข้างในของเด็ก เป็นเสียงที่เด็กไม่ได้พูดออกมา
  • ใส่ใจและอดทนรอคอยเด็ก
  • อ่านเด็ก อ่านอารมณ์ความรู้สึกได้
  • ต้องยืดหยุ่น ปรับแผนให้ได้ตามรูปแบบการเรียนรู้ของเด็ก

๒.    บรรยากาศในการเรียนรู้

  • ผ่อนคลาย
  • สงบ
  • สวยงาม
  • สนุก

๓.    กระบวนการ Lesson Study

  • แลกเปลี่ยนด้วยความเป็นกัลยาณมิตร
  • ปรับปรุงผ่านระบบทีม
  • เมื่อแรงบันดาลใจถึงโจทย์ก็จะน่าตื่นเต้นและท้าทาย
  • พัฒนาบนหน้างานจริง ทำให้สามารถนำไปใช้ได้ 

๔.    ผู้เรียน

  • รูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างของผู้เรียน
  • พื้นความรู้เดิม (met before)
  • ความพร้อมก่อนเรียน
  • เกิดแรงบันดาลใจ
  • แก้ปัญหาได้

ผลสรุปมานี้ได้มาจากประเด็นเรียนรู้ที่เพื่อนครูได้แลกเปลี่ยนกันจากประสบการณ์ในการทำ Lesson Study สองภาคเรียนที่ผ่านมา

 

คุณครูเล็ก - ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์  บันทึก

 

 

หมายเลขบันทึก: 475196เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2012 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น้ำภาพบ้านของถวัลย์ ดัชนีมาแลกเปลี่ยน 

ขอบพระคุณสำหรับภาพสวยๆ ที่นำมาฝากนะคะ... อาจารย์ไปเที่ยวไกลเชียวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท