๒๓๘.ผีหอ เจ้าพ่อรับใช้สังคม


หากมองอีกแง่มุมหนึ่ง เจ้าพ่อก็คือผู้รับใช้สังคม ถ้าสามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ดีโดยทำอภินิหาริย์ให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์มาก ก็จะได้รับผลตอบแทนมาก หากได้น้อย ผลตอบแทนก็น้อยลงไปตามนั้น

 

     การที่สังคมเป็นทุกข์ หรือป่วยด้วยภาวะบีบคั้นทางใจ คนจำเป็นต้องหาที่พึ่ง ทางออกหนึ่งในสังคมยุคโบราณก็คือ "ผี" เพราะผีเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าคน คือสามารถทำให้คนสุขและทุกข์ได้ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือสร้างและทำร้ายคนได้

     ดังนั้น เพื่อให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นดับไป ชุมชน คนในท้องถิ่นก็นำสิ่งที่เรียกว่า "ผี" ผู้ร้าย ให้กลายมาเป็นผู้ปกป้อง จึงเป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ การคลายความทุกข์ความกังวลใจ จากร้ายให้กลายเป็นดี โดยการนำสิ่งนั้น(ผี)มาเยียวยาให้หาย หรือดับโรคทางใจที่เกิดขึ้นนี้

     ที่บ้านเกิผู้เขียน มีการเลี้ยงผีหอกัน บางปีเจ้าพ่อต้องการกินวัว(สัตว์ใหญ่) บางปีเจ้าพ่อต้องการกินไก่(สัตว์เล็ก) บางปีเจ้าพ่อต้องการกินหมู(สัตว์ขนาดกลาง) เป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษมาแล้ว

     ทั้งนี้ ยังไม่มีใครเคยตั้งข้อสังเกตุหรือเกิดความสงสัยขึ้นว่าสิ่งเหล่านั้นมีข้อเท็จจริงประการใด หรือว่ามีคนสงสัยแล้ว แต่ไม่กล้าค้นหาสิ่งที่เป็นประเด็น ดังกล่าวมานี้

     สมัยเด็ก ผู้เขียนเกิดความสงสัยอย่างมากว่า ทำไมเจ้าพ่อจึงกำหนดว่าจะกินสัตว์อะไรในแต่ละปี? คนสามารถรู้ใจเจ้าพ่อได้อย่างไร? เมื่อกั้นความสงสัยไว้ไม่อยู่ ผู้เขียนจึงไปถามร่างทรงที่เป็นผู้หญิง (เรื่องนี้ก็แปลกเหมือนกันว่า เจ้าพ่อ แต่ทำไมร่างทรงของท่านจึงไม่เป็นผู้ชาย) 

     เมื่อถามไปถามมาได้ความว่า การจะกำหนดว่าในแต่ละปีจะนำสัตว์ขนาดไหนฆ่าเซ่นถวายเจ้าพ่อนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ดูแลรักษาหอเจ้าพ่อ นั้นก็หมายความว่า "เจ้าพ่อไม่ได้สั่งการ แต่คนเป็นผู้สั่งแทน" โดยเข้าไปสวมอำนาจแทนเจ้าพ่อ

     ส่วนคณะกรรมที่กล่าวมา ก็มักจะประกอบไปด้วยผู้นำชุมชน ในตำบลนั้นเอง ซึ่งจะร่วมกันพิจารณาว่า ปีนี้บ้านเราข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ ปีนี้เราจะถวายวัวควาย(สัตว์ใหญ่)ให้เจ้าพ่อ เรียกง่าย ๆ ว่าบำเน็จรางวัลใหญ่ให้

     บางปีคณะกรรมการก็บอกว่าปีนี้ชาวบ้านได้ข้าวน้อย พืชพันธุ์ธัญญาหารก็เก็บได้ไม่มากนัก จะถวายสัตว์ขนาดกลางให้เจ้าพ่อ หรือบางปีก็บอกว่าปีนี้ฝนแล้ง การทำไร่ไถนาของชาวบ้านไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร คณะกรรมการคิดกันว่าจะถวายสัตว์เล็กให้กับเจ้าพ่อ ซึ่งคนทรงเจ้าก็รับคำจากคณะกรรมการไปอีกทีหนึ่ง

     นั้นหมายความว่า คณะกรรมการใหญ่กว่าเจ้าพ่อ เนื่องจากเป็นผู้กำหนดว่าในแต่ละปีจะทำอะไรถวายเจ้าพ่อดี ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าพ่อจะบรรดาลให้เกิดดินฟ้าอากาศให้กับชาวบ้านอุดมสมบูรณ์แค่ไหน?

     หากมองอีกแง่มุมหนึ่ง เจ้าพ่อก็คือผู้รับใช้สังคม ถ้าสามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ดีโดยทำอภินิหาริย์ให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์มาก ก็จะได้รับผลตอบแทนมาก หากได้น้อย ผลตอบแทนก็น้อยลงไปตามนั้น

     ในที่สุด คนก็ฉลาดพอใช้ผีที่น่ากลัว แล้วทำเป็นยกย่อง แท้จริงแล้วคนเป็นผู้หลอกผี ให้สนองตัณหาตนเองโดยล่อด้วยเครื่องบวงสรวงต่าง ๆ

     หากดูตามแนวทางที่กล่าวมา ก็สะท้อนให้เห็นว่า "คนหลอกผี ไม่ใช่ผีหลอกคน"

หมายเลขบันทึก: 475187เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2012 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการ

ต่างฝ่ายต่างหลอก เพราะผลประโยชน์ส่วนตน

สังคมไทยจึงวุ่นวายไม่หยุดหย่อน

และ

กราบนมัสการขอบพระคุณที่เมตตาไปเยี่ยมครับ

เจริญพรคุณโยมชนะ ตถตา เป็นเช่นนั้นเอง...สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท