เด็กข้างวัด (๖) ละครเพศที่สาม


        ในงานการกุศลของจังหวัดนครราชสีมาครั้งหนึ่ง ในช่วงที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ทางโรงเรียนต้องจัดการแสดงละครไปร่วมงานกับทางจังหวัดด้วย และผู้นำหรือคนหลักในการจัดการละครครั้งนี้ก็คือเพื่อนร่วมชั้นเรียนในชั้นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อนหลาย ๆ คนรวมทั้งตัวเองก็เลยได้ร่วมแสดงละครในครั้งนี้ด้วย เป็นการแสดงที่ยังมีรูปเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ครับ

 

          สำหรับเนื้อเรื่องละคร (ถ้าจำไม่ผิด) น่าจะเป็นเรื่องจันทโครพ ซึ่งแน่นอนจะต้องมีตอนจัทโครพเปิดผอบพบนางโมรา  ดังนั้นจึงต้องมีตัวละครที่เป็นผู้หญิง แต่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนชาย จึงต้องใช้นางโมราและนางกำนัลต่าง ๆ ที่อยู่ภายในพระราชวังเป็นเพศที่สาม เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๔ คือ ๕๐ ปีมาแล้ว จึงหาคนที่จะแสดงได้ค่อนข้างยาก แต่ก็หากันจนได้ครบครับ โดยคนหลักในการจัดการแสดงครั้งนี้ก็เป็นคนแสดงเป็นนางโมราเองอีกด้วย

          การแสดงจัดขึ้นที่หอประชุมของจังหวัด บริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ที่ห่างจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยในสมัยนั้น ที่อยู่ที่บริเวณหน้าค่ายสุรนารี (กลายเป็นสนามกีฬาในปัจจุบัน) พอสมควร  การเดินทางมาแสดงหลังจากต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยจากที่โรงเรียน ก็โดยอาศัยรถทหารดังในภาพ

       

          การเดินทางจากบ้านพักไปโรงเรียน ในสมัยนั้นสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย (ม.๔-๖) และชั้นเตรียมอุดม (ม.๗-๘) ส่วนใหญ่จะให้รถจักรยานสองล้อ ในขณะที่นักเรียนชั้นมัธยมต้น (ม.๑-๓) ส่วนใหญ่มักจะมีผู้ปกครองมาส่งหรือนั่งรถสามล้อถีบมา โดยบางคนก็รับส่งกันเป็นรายเดือน เนื่องจากในตอนนั้น เมืองโคราช จะเต็มไปด้วยบริการรถสามล้อถีบ ที่กล่าวกันว่า "รถสามล้อ" ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่ จ.นครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖  โดยนาวาอากาศเลื่อน พงษ์โสภณ นำรถลากหรือรถเจ็ก มาดัดแปลงร่วมกับจักรยาน ถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อถีบที่ใช้รับผู้โดยสารแพร่หลายไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา

          ในสมัยนั้นเด็กจากต่างอำเภอเข้ามาเรียนต่อในเมืองก็มักไปอาศัยพักอยู่กับบ้านญาติกันเป็นส่วนใหญ่ กรณีไม่มีญาติก็มักจะไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดผ่านพระจากอำเภอที่รู้จักพระวัดในเมือง มีน้อยมากที่จะไปอยู่หอพักเหมือนในปัจจุบัน สำหรับผมเองโชคดีที่มีน้าชาย (อากู๋) อยู่ในเมืองโคราช จึงได้มาพักอยู่ที่บ้านอากู๋ ซึ่งอยู่บนถนนโพธิ์กลาง ใกล้ๆ กับตรอกศาลเจ้าแม่ทับทิม ตอนสอบเข้า ม.๗ ได้ที่บ้านถอยรถจักรยานใหม่ให้ เป็นยี่ห้อยอดฮิตในสมัยนั้นคือ ฮัมเบอร์ตะเกียบคู่ เป็นอะไรที่ภูมิใจมาก การดูแลรักษารถคันนี้ไม่ต้องพูดถึง จะทำการเช็ดเกือบทุกวัน ฝุ่นไม่มีให้เห็นหรือเกาะ ขอบล้อรถชุบโครเมี่ยมสีเงินเป็นมันวาวตลอดเวลา ช่วงหน้าฝนเมื่อรถเปื้อนโคลน กลับมาถึงบ้านจะต้องล้างทำความสะอาดและเช็ดถูให้เรียบร้อยทันทีเสมอ ระยะทางจากบ้านไปถึงโรงเรียนประมาณ ๒ กิโลเมตร

     เส้นทางหลักก็คือ ออกจากบ้านจะเดินทางไปตามถนนโพธิ์กลางไปทางทิศตะวันออกจนถึงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนราชดำเนินจนกระทั่งข้ามทางรถไฟ จึงเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกไปตามถนนจีระ ซึ่งจะไปยังสถานีรถไฟชุมทางจีระ โดยโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยจะอยู่ด้านขวามือในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นสนามกีฬากลางของค่ายสุรนารี  ขากลับก็มักจะขี่ย้อนกลับในเส้นทางเดิม ยกเว้นในบางวันก็อาจจะเลี้ยวเข้าถนนจอมสุรางค์ยาตร์ (ซึ่งเป็นถนนที่ตั้งของคลังพลาซ่าในปัจจุบัน) แล้วผ่านมาตามถนนบัวรองก่อนที่จะมาเชื่อมต่อกับถนนโพธิ์กลาง

      รถจักรยานคันนี้ผมได้ใช้จนกระทั่งเมื่อได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี ๒๕๐๗ ก็ยังเอาไปใช้ต่อ ในช่วงที่พักอยู่ที่วิทยาลัยที่ ๑ ภายในมหาวิทยาลัย แต่ในอีกสองปีต่อมาเมื่อต้องออกไปพักอยู่ที่หอพักข้างนอกจึงเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์แทน

หมายเลขบันทึก: 474612เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2012 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2014 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท