คาราโอเกะ


การร้องเพลงเป็นการทำสมาธิวิธีหนึ่ง

        คาราโอเกะ(karaoke) เป็นคำญี่ปุ่นที่ประสมจากสองคำ คือ คารา ซึ่งแปลว่า “ว่างเปล่า”  กับ โอเกะ ซึ่งกร่อนจากคำเต็มว่า โอเกะสึโตะระ อันเป็นเสียงญี่ปุ่นของคำว่า orchestra  ดังนั้น คาราโอเกะ จึงหมายถึงดนตรีบรรเลงล้วนๆ

        การบุกเบิกคาราโอเกะ เริ่มจากมือกลองชาวญี่ปุ่น ชื่อ ไดสุเกะ อิโนอุเอะ ซึ่งได้บันทึกดนตรีบรรเลงล้วนๆ ลงในเทปคาสเสต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อใช้แบ็คอัพการร้องเพลงแทนการใช้วงดนตรีจริงๆ  หลังจากนั้นก็แพร่หลายในหมู่นักร้องอาชีพที่ร้องเพลงได้สะดวกและประหยัดกว่าเดิมเพราะไม่ต้องพึ่งวงดนตรี การพัฒนาโปรแกรมคาราโอเกะดำเนินคู่กันมากับการใช้อิเลคโทนเล่นแทนวงดนตรี จนล่วงเข้ายุคดิจิตัล  การเลียนเสียงเครื่องดนตรีด้วยเครื่องมืออิเลคตรอนิค เช่น ซินธิไซเซอร์ ได้ทำให้เกิดการพัฒนาคาราโอเกะ ด้วยระบบ มีดี (MIDI : Musical Instrument Digital Interface)  อย่างที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

        ดนตรีที่บันทึกลงในโปรแกรมคาราโอเกะ เท่าที่มีในเมืองไทยนี้  ประณีตบ้าง หยาบบ้าง  นอกจากขึ้นกับตัวโปรแกรมเองแล้ว ยังขึ้นกับเนื้อหาทางดนตรีด้วย บางเพลงทำได้ประณีตตรงกับต้นฉบับ ขณะที่บางเพลงเลือกใช้เฉพาะที่จำเป็น  ทั้งสองวิธีนี้เป็นเรื่องธรรมดา ดังจะเห็นได้จากเพลงเดียวกันวงออร์เคสตราจะเล่นได้ละเอียดกว่าการเดี่ยวด้วยเปียโนหลังเดียว เป็นต้น  ในบางกรณี ที่หาดนตรีต้นฉบับไม่ได้ (เช่นเป็นเพลงเก่าเหลือเกินหรือเป็นเพลงภาษาอื่น) นักเรียบเรียงก็ต้องสร้างขึ้นใหเอง  ซึ่งมีทั้งประณีตและไม่ประณีต  มีทั้งเข้าท่าและไม่เข้าท่า แล้วแต่วิทยายุทธของผู้ทำ  เรื่องเหล่านี้ ผู้รู้ดนตรีจะฟังออกและบอกคุณภาพได้

        แต่สำหรับนักร้อง-โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักร้องสมัครเล่น- น้อยคนจะรู้เรื่องนี้  และบางรายไม่รับรู้อะไรเลย หลายๆปีก่อนนี้ มีนักร้องสมัครเล่นประเภทหลังขึ้นไปร้องเพลงแล้วล่มบ่อยๆ  ระยะหลังนี้ ปรากฏการณ์เช่นนี้ลดลงมาก  ที่เป็นเช่นนี้ เพราะโอกาสที่จะได้ฝึกฝนร้องเพลงให้ถูกต้องทั้งทำนองและจังหวะมีมากขึ้น เนื่องจากมีให้ฝึกให้ซ้อมถึงบ้าน  แทบกล่าวได้ว่า ถ้ามีคอมพิวเตอร์ก็จะมีคาราโอเกะโดยอัตโนมัติ

       การร้องเพลงคาราโอเกะแพร่หลายจากนักร้องอาชีพสู่นักร้องสมัครเล่นมาตั้งแต่ยุคแรกๆแล้ว  ปัจจุบันนี้ ในเมืองไทยเราดูเหมือนว่า คาราโอเกะ จะถูกเหมาว่าเป็นอุปกรณ์ประกอบการร้องเพลงของมือสมัครเล่นโดยเฉพาะด้วยซ้ำ 

     จะอย่างไรก็ตาม  การร้องเพลง(ไม่ว่าจะมีคาราโอเกะช่วยหรือไม่ก็ตาม) มีประโยชน์หลายอย่าง  กล่าวเฉพาะมือสมัครเล่น ก็มีประโยชน์ สามประการเห็นๆ คือ

๑.     ได้ฝึกและได้ใช้ประสาทกับอวัยวะที่เกี่ยวกับเสียง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  นั่นคือ ได้ฝึกซ้อมโสตประสาทให้แม่นยำทั้งในด้านระดับเสียง (pitches) และจังหวะ (time) กับได้ฝึกซ้อมการบังคับอวัยวะสำหรับเปล่งเสียง(articulators) อย่างสม่ำเสมอ

๒.     การร้องเพลงคือการทำสมาธิอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งต่างกับวิธีนั่งนิ่งๆ(ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ถ้าไม่นั่งนิ่งๆ ไม่ใช่การทำสมาธิ)   ถ้าไม่มีสมาธิ ต่อให้เป็นนักร้องอาชีพก็มีโอกาสทำให้เพลงล่มได้  สมาธิในการร้องเพลงนี้ คล้ายกับสมาธิในการเขียนภาพสีน้ำ ตรงที่ต้องทำรวดเดียวจนจบ  จะทิ้งค้างไว้ก่อนแล้วค่อยมาต่อทีหลังไม่ได้ (เรื่องสี้น้ำนี้ ขออ้างอิง ดร.สุชาติ วงษ์ทอง จิตรกรสีน้ำมือใหญ่ ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรผู้หนึ่งของผม)

๓.     มีสังคมมิติเพิ่มขึ้น  กรณีนี้เกิดจากการออกไปร้องเพลงนอกบ้าน ซึ่งทำให้ได้พบปะมักคุ้นกับคนคอเดียวกัน  และมีโอกาสเจริญทางไมตรีได้อีกด้วย

       การร้องเพลงไม่น่าจะมีข้อเสีย  ถ้ามีก็มักเป็นของผู้ร้องเองเสียมากกว่า เช่นร้องเพลงคร่อมจังหวะซึ่งไม่ใช่ข้อเสียหายร้ายแรง  กับร้องเพลงไม่ตรงกับบันไดเสียงซึ่งบางรายแก้ไขได้ด้วยการปรับบันไดเสียงดนตรี  แต่บางรายแก้ไขไม่ได้ เช่นกรณีที่ผู้นั้นบอดเสียง (tone deaf) เ ป็นต้น

        ครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว  ผมได้ยินวณิพกคนหนึ่งพูดถึงการร้องเพลงในตลาดของตนว่า น่าจะเป็นวิธีขอรับสตางค์จากผู้อื่นที่ดีกว่าไปร้องไห้โอดครวญให้คนสงสารเป็นไหนๆ เพราะการร้องเพลง นับเป็นบริการอย่างหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนตามสมควร

        สรุปได้สั้นๆว่า ร้องเพลงดีกว่าร้องไห้ นั่นเอง

        นับว่าเป็นวาทะที่น่าสนใจทีเดียว  แต่ใครจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นเสรีภาพของปัจเจกชนทุกผู้อยู่แล้ว

 

 

หมายเลขบันทึก: 474542เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2012 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท