เตรียมพร้อมดี เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง : ทักษะสำหรับ Facilitator


หลายท่านไม่เข้าใจ และไม่ยอมที่จะเสียเวลาที่จะเตรียมความพร้อมอุ่นเครื่องผู้เข้าร่วมประชุม พอได้เวลาก็ลุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเลย หรือ ตั้งหน้าตั้งตาลุย โดยมีเป้าประสงค์คือ ผลลัพธ์ที่คาดหวัง หากสถานการณ์เป็นแบบนี้เราอาจจะได้ผลงานตามที่ต้องการ แต่เวทีเรียนรู้เต็มไปด้วยความร้อนรน หวาดระแวง และรู้สึกไม่ปลอดภัย

การเตรียมความพร้อมก่อนทำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“เตรียมพร้อมดี เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง”  ประโยคดังกล่าวไม่ได้กล่าวเกินเลยสำหรับการเตรียมความพร้อมของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมหมายความรวมถึงการเตรียมความพร้อมทั้งหมดของทีมงาน และ ตัวของวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) ในด้านคุณสมบัติและทักษะ  

เมื่อวิทยากรกระบวนการและทีมงานอยู่ในหน้างาน การเตรียมความพร้อมที่จะต้องให้ความสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเวทีถอดบทเรียน หรือเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใดๆก็ตาม คือ การเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อกระบวนการโดยรวมทั้งหมด

หลายท่านไม่เข้าใจ และไม่ยอมที่จะเสียเวลาที่จะเตรียมความพร้อมอุ่นเครื่องผู้เข้าร่วมประชุม พอได้เวลาก็ลุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเลย หรือ ตั้งหน้าตั้งตาลุย โดยมีเป้าประสงค์คือ ผลลัพธ์ที่คาดหวัง หากสถานการณ์เป็นแบบนี้เราอาจจะได้ผลงานตามที่ต้องการ แต่เวทีเรียนรู้เต็มไปด้วยความร้อนรน หวาดระแวง และรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่วนที่เป็นห่วงมากกว่านั้นก็คือ โหมดการปกป้อตัวเองทำงาน ปิดการเรียนรู้ไปเลย

ผมและทีมงานจะใช้เวลาส่วนหนึ่ง (ประมาณ 1 ชั่วโมง) ในการอุ่นเครื่อง เตรียมพร้อม เปิดตัว เปิดใจ และผ่อนคลาย ด้วยฐานความคิดที่ว่า คนเรามีความหลากหลาย วัฒนธรรม ความเชื่อ การเปิดใจมีระดับที่แตกต่างกัน การใช้เวลาร่วมกันเพื่อใช้เวลาคุณภาพค่อยๆเปิดคลี่หัวใจของทุกคนออกมาช้าๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการเรียนรู้

มีคำศัพท์ที่ใช้เรียกการเตรียมความพร้อมแตกต่างกันไป เช่น การเข้าเงียบ,การเช็คอิน(Check in)เกมละลายพฤติกรรมน้ำแข็ง หรือกระบวนการใดก็ตามที่สร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นธรรมชาติกับกลุ่มเป้าหมายในการช่วยเปิดใจเรียนรู้ และสร้างพื้นที่ปลอดภัย การเตรียมความพร้อมจึงเป็นกระบวนการที่ประณีต และมีกระบวนการที่มีวัตถุประสงค์แฝงไปด้วยความหมาย

การที่เราจะใช้เวลามากน้อยกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นดุลยพินิจของวิทยากรกระบวนการว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ เพื่อให้กลุ่มมีความพร้อมมากที่สุด

วิธีการที่ผมเคยใช้บ่อยๆ ได้แก่  

วิธีการที่ 1 การเล่าเรื่องผูกโยงผ่านสถานการณ์จริงๆ และชักชวนให้ผู้เข้าร่วมเวที แลกเปลี่ยน หากเป็นประเด็นร่วมสมัย (ประเด็นที่เหมาะตามกาล เช่น ละครที่ส่วนใหญ่ติดงอมแงม) การสนทนาก็จะออกรสเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นค่อยๆปูทางเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้

วิธีการที่ 2 การใช้ภาพเป็นสื่อและพูดคุยต่อเนื่องจากเรื่องราวที่มีอยู่ในภาพนั้น การสะท้อนความรู้สึกผ่านภาพเป็นการเรียนรู้ตัวตนของคู่สนทนาได้ในระดับหนึ่ง เป็นวิธีที่ผ่อนคลายและง่ายที่สุด วิธีนี้หากผู้เข้าร่วมกลุ่มใหญ่ก็ใช้วิธีการฉายภาพผ่านเครื่องฉายภาพ (ภาพที่คัดเลือก ต้องเป็นภาพที่ทีเรื่องราว มีสัญลักษณ์บางอย่างที่สามารถเกิดประเด็นในการพูดคุยต่อเนื่องได้ง่าย)

วิธีการที่ 3 การใช้คลิป (ละคร,เพลง,หนังสั้น) เพื่อเปิดประเด็น การใช้สื่อแบบนี้ น่าสนใจมาก หากคลิปที่เปิดนั้นมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ท้าทายให้ทุกคนคิด ส่วนใหญ่คลิปที่นำมาเปิดจะถูกเลือกสรรมาเป็นอย่างดี จาก Facilitator

วิธีการที่ 4 การใช้เกมสันทนาการ เพื่อการรู้จักกัน เกมเหล่านี้มีหลากหลาย โดยทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมได้ผ่อนคลาย เป็นการละลายพฤติกรรมน้ำแข็งที่สนุกสนาน ความรู้สึกผ่อนคลายจากการเล่นเกมนำไปสู่การเปิดใจในกระบวนการเรียนรู้ด้วย และในเกมจะมีกระบวนการให้ทุกคนได้มีโอกาสรู้จักกันด้วย

วิธีการที่ 5 การเข้าเงียบ หรือการใช้เวลาอยู่กับตัวเอง หากในพุทธศาสนาเราเรียกว่า”การเข้าสมาธิ” หรือ Meditation เป็นการใช้เพลง เสียงพูดเล่า หรือ ความเงียบให้ผู้เข้าร่วมได้อยู่กับตัวเอง ดึงเอาสติมากำหนดรู้ตามลมหายใจเข้าออก หรือให้จิตจ่อกับสิ่งที่วิทยากรกระบวนการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์หลัก  ใช้เวลาในการทำกระบวนนี้ประมาณ 10 นาที ก็เป็นการรีชารต์พลังตัวเองให้พร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้เป็นอย่างดี

วิธีการทั้งหมดอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วนั้น อาจใช้วิธีการเดียวไม่พอหากเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในช่วงแรกที่ยังไม่รู้จักกัน หรือ ผู้เข้าร่วมแปลกหน้าต่อกัน ต้องมีกระบวนการเตรียมความพร้อมหลักๆ ที่ทำให้ทุกคนมีความพร้อมและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น ขอแนะนำวิธีการ “รู้จักฉัน รู้จักเธอ” วิธีการนี้ผมและทีมงานใช้บ่อยและค่อนข้างได้ผลครับ

รู้จักฉันรู้จักเธอ...จุดเริ่มต้นของการเปิดใจเรียนรู้ 

คนเรามีความเป็นเด็กซุกซ่อนอยู่ในตัวเองทุกคน แต่หลายคนเก็บความเยาว์วัยของเด็กไว้ในซอกลึกๆ ไม่กล้าเปิดเผย ทั้งนี้เพราะการแปลความหมายว่าเด็ก คือ ความอ่อนแอ ไม่รู้และไม่ทันโลก แต่ลองมองในอีกมุมหนึ่งเด็กเป็นวัยที่ไร้เดียงสา มองโลกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่ท้าทาย เด็กจึงมีชีวิตชีวาในการเปิดรับสิ่งใหม่โดยไม่มีคำถามมากนัก คุณสมบัติแบบนี้ถูกความเป็นผู้ใหญ่เก็บงำไว้จนหมด คงเหลือแต่ผู้ใหญ่ที่เครียดๆ รักษาฟอร์ม และไม่กล้าแม้แต่หัวเราะในสถานที่สาธารณะ...เพราะเหตุใด? จึงเคร่งเครียดได้ขนาดนั้น

เรามากลับคืนวันวานแห่งความสุข มาเป็นเด็กกันเถอะครับ ...กระบวนการ “รู้จักฉัน รู้จักเธอ” ช่วยให้ความสดใสของวัยเยาว์กลับคืนมาผ่านการวาดรูป ละเลงสี งานศิลปะใดๆก็ตามที่คุณชอบ

กระบวนการนี้ต้องเตรียมอะไรบ้าง?  วิทยากรกระบวนการ จัดเตรียมกระดาษวาดเขียน(อาจเป็นกระดาษรีไซเคิล)ก็ได้ตามจำนวนผู้เข้าร่วมกระบวนการ,สี (สีชอล์ก,สีเทียน,สีไม้),กรรไกร,กาว (อุปกรณ์ที่จัดเตรียมแล้วแต่ว่ายากให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะอะไรบ้าง)

ใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที (ทั้งกระบวนการ)

กระบวนการ 

  1. เปิดคลิป,MV,หนังสั้น ที่เกี่ยวข้องเป็นประเด็นร่วมที่ต้องการสื่อสาร เช่น เราเปิดคลิปเกี่ยวกับ “ความสุข” ให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ชมพร้อมกัน ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
  2. วิทยากรกระบวนการให้โจทย์ (คำถาม) เช่น “ความสุขของทุกคนคืออย่างไร? และให้ทุกท่านถ่ายทอดความสุขนั้นลงในกระดาษที่เตรียมไว้ ให้วาดรูปหรือสร้างสรรค์งานศิลปะได้เต็มที่ โดยที่ให้ความเชื่อมั่นกับทุกคนว่า ภาพที่เราวาดไม่ใช่จิตรกรเอก หรือนำมาประกวดประชันกัน เพียงแต่อยากให้ทุกคน วาด หรือเขียน ตามความรู้สึกที่อยากจะบอกกล่าวผู้อื่น ในระหว่างที่วาดรูปปล่อยให้เวทีได้ไหลเลื่อนไปตามธรรมชาติ อาจเปิดเพลงเบาคลอๆเสริมบรรยากาศไปก็ได้ ใช้เวลาวาดประมาณ 10 นาที
  3. เมื่อทุกคนวาดเสร็จให้ผู้เข้าร่วมจับคู่กัน และให้แต่ละคู่แนะนำตัว แล้วเล่าเรื่อง “ความสุข” ของตัวเองที่นำเสนอผ่านภาพศิลปะแลกเปลี่ยนกันโดยให้บริหารจัดการเวลาภายใน 10 นาที ในขั้นตอนนี้เราจะเห็นถึงมวลรวมของความสุขที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากผู้เข้าร่วมกระบวนการแบบไม่รู้ตัว ความภาคภูมิใจในงานศิลปะเล็กๆรวมไปถึงความสุขที่ได้เล่าเรื่องความสุขของตัวเองให้ผู้อื่นฟัง
  4. เมื่อใช้เวลาพอสมควร ให้ทุกคู่หยุดการสนทนาและวิทยากรกระบวนการเชิญชวนอาสาสมัครที่คิดว่า ได้ฟังเรื่องเล่าของเพื่อนแล้ว รู้สึกมีความสุข อยากเล่าต่อ (การที่ให้เล่าเรื่องผู้อื่นต่อสาธารณะอาจจะง่ายกว่าเล่าเรื่องตัวเอง) เชิญทั้งคู่ออกมาโดยแสดงภาพที่ประทับใจไปด้วย ถือโอกาสให้อีกคนที่ออกมาด้วยเล่าเรื่องสลับกัน หากมีเวลาก็อาจเชิญหลายๆคู่ออกมาเล่าเรื่องประทับใจให้กลุ่มใหญ่ฟังร่วมกัน วิทยากรกระบวนการอาจคัดเลือกภาพที่ดูแล้วมีเรื่องราว น่าสนใจแล้วเชิญชวนผู้เข้าร่วมออกมาเล่าความสุขของตนเองเพิ่มเติมได้
  5. วิทยากรกระบวนการสรุป วัตถุประสงค์ของกระบวนการ ตลอดจนผลลัพธ์ที่ได้จากกิจกรรมนี้.ให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน และเชิญชวนให้ทุกท่านนำภาพของตัวเองไปติดรวมกันเป็นนิทรรศการแห่งความสุข ภาพเหล่านี้จะถูกติดแสดงไว้ตลอดการทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากนั้นก็เชิญชวนทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมโดยการชวนให้ทุกคน “เข้าเงียบ” อยู่กับตัวเอง ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการต่อไป

กระบวนการ “รู้จักฉัน รู้จักเธอ” เป็นกิจกรรมที่สนุกและผ่อนคลาย ช่วยให้ทุกคนเปิดใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และการสื่อสารทุกอย่างในกิจกรรมนี้ ช่วยให้รู้จักกันมากขึ้น “ภาพเพียงหนึ่งภาพ แทนอักษรนับพัน” ผู้เข้าร่วมกระบวนการอาจจะรู้จักกันในเชิงลึกมากขึ้นด้วย

เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นวิธีการกลางๆ วิทยากรกระบวนการสามารถใช้วิธีนี้ในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เข้าร่วมเวทีได้แบบง่ายๆ และได้ผลครับ อย่างไรก็ตามการจัดการเรื่องเวลาก็ขึ้นอยู่กับวิทยากรกระบวนการว่าจะปล่อยให้เนิ่นนานขนาดไหน ทั้งนี้ดูธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมายด้วย

BAR ก่อนทุกครั้ง เพื่อเรียนรู้วางหมุดหมายร่วมกัน

ก่อนเริ่มต้นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนทุกครั้งอย่าลืม BAR(Before Action Review) หรือ การวิเคราะห์ความคาดหวังการปฏิบัติงาน เพื่อจัดระเบียบความต้องการของกลุ่มให้ชัดเจน และเป็นข้อมูลตั้งต้นที่ใช้วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายแบบเร็วๆให้กับวิทยากรกระบวนการและทีม ในการปรับเปลี่ยนบางกระบวนการให้สอดคล้องกับความคาดหวัง

ส่วนใหญ่ผมจะใช้ต้นไม้แห่งความคาดหวัง โดยเตรียมต้นไม้(ตัดกระดาษเป็นรูปต้นไม้)  และ ตัดกระดาษเป็นรูปใบไม้ (อาจใช้กระดาษเป็นสีเขียวอ่อนเพื่อความสวยงาม)  ติดเทปกาวสองหน้าด้านหลังใบไม้ ให้ผู้เข้าร่วมได้เขียน “ความคาดหวัง” ลงไปในกระดาษ และให้ทุกคนได้นำไปติดที่ต้นไม้แห่งความคาดหวังด้วยตนเอง แล้ววิทยากรกระบวนการสรุป จัดกลุ่มความคาดหวังของผู้เข้าร่วมให้ทุกคนได้รับทราบร่วมกัน ถือโอกาสกำหนด กฎ กติกากลุ่มร่วมกันไปด้วย เพื่อการบรรลุผลตามที่คาดหวัง  กระบวนการนี้ทำในครั้งแรกช่วงเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำ AAR (After Action Review) หรือวิเคราะห์ผลหลังการปฏิบัติงาน อีกครั้งเมื่อสิ้นสุดเวที

จากการเตรียมความพร้อมมาสู่...การจัดกลุ่มก็สำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ 

กระบวนการเรียนรู้ที่เราออกแบบมักจะมีการแบ่งกลุ่ม (กลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ตามวัตถุประสงค์หลักที่ตั้งไว้) การแบ่งกลุ่มมีความหมายต่อกระบวนการหลายมิติทั้งเงื่อนไขของผลลัพธ์การเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การจัดแบ่งกลุ่มจึงเป็นกลไกที่มีความหมายต่อการเรียนรู้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลายลักษณะ คือ

กลุ่มขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มที่รวมทั้งหมดจากกลุ่มย่อย ที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก 100-300 คน เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้จากการสรุปผลภาพรวมจากกลุ่มย่อย ข้อจำกัดของกลุ่มใหญ่คือการขาดมิติชุมชน และการมีส่วนร่วมในการสื่อสารสองทาง

กลุ่มขนาดกลาง เป็นกลุ่มที่มีขนาด 20 -50 คน เหมาะสำหรับการระดมความคิดที่ต้องการความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่ไม่ได้เจาะลึก มีความเป็นชุมชนค่อนข้างสูง การมีส่วนร่วมค่อนข้างสูง จึงเหมาะสำหรับการระดมความคิดกว้างๆ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการใดๆ

กลุ่มขนาดเล็ก มีสมาชิกที่เหมาะสม สำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้คือ 5 – 10 คน กลุ่มขนาดเล็กมีความเป็นชุมชนสูง และการมีส่วนร่วมสูง เหมาะสำหรับการถอดบทเรียนเชิงประเด็นที่ต้องการความลึก มีความจำเพาะ ละเอียด หรือการวางแผนปฏิบัติงานที่ต้องการรายละเอียด และสมาชิกทุกคนมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มที่

 การกำหนดกติกาในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ถูกจำกัดด้วยเวลา จำเป็นอย่างยิ่งต้องกำหนดกติกาเพื่อความราบรื่นของการดำเนินกิจกรรม และบรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหมายไว้ และเป็นการวางบทบาทให้กับผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กติกาที่นอกจากจะบอกกล่าวถึงธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นมารยาทพื้นฐานเช่น การปิดโทรศัพท์หรือเปิดในระบบสั่น,เวลาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ,การฟังอย่างลึกซึ้ง ฯลฯ สิ่งที่เราต้องกำหนดเป็นภาพใหญ่เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทุกคนรับทราบโดยทั่วกันคือ

เป้าหมายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ ถอดบทเรียน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมถอดบทเรียนได้ทบทวนประสบการณ์ ความรู้เดิม ความรู้ที่ผ่านการปฏิบัติจนเป็น Best Practice และเรียนรู้ความสำเร็จจากการปฏิบัติที่ผ่านมา

วิธีการถอดบทเรียน ใช้วิธีการระดมความคิดเห็น เน้นความเท่าเทียมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่มีผิดและไม่มีถูก มีอิสระเสรีเต็มที่ในการให้ความเห็นต่างๆ  รวมไปถึงการสรุปและสะท้อนบทเรียนร่วมกันในช่วงท้าย

 


 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

08/01/55

 


 

หมายเลขบันทึก: 474019เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีประโยชน์มากค่ะ

สงสัยจะลืมแล้ว....สัญญาว่าจะให้  1  เล่ม

 

ไม่ลืมครับหมด สัญญาที่ร้านแหนมเนืองอุดร ;)55+

อาจารย์เอกครับ เป็นบันทึกที่มีค่าและมีประโยชน์มากครับ

ผมอ่านบันทึกนี้ของคุณจตุพร นี้ ได้ความรู้มาก เทคนิค ดี ๆ น่าสนใจย่ิ่ง

เสียดายเกษียณ ก่อนเจอ ขอบคุณครับความรู้ที่ดี ๆ

ขอบคุณทุกท่านนะครับ

บันทึกหลายๆบันทึกที่หลายท่านได้สะท้อนมา ผมดีใจมากครับที่เกิดประโยชน์ตอนนี้หลายคนได้ใช้ประโยชน์ผ่านการบันทึกบทเรียนแบบนี้เยอะเลย มีทั้งติดต่อทางเมล เเละ โทรศัพท์มาพูดคุย

ช่วยกันนะครับ สร้างสังคมด้วยการเรียนรู้

หากนำไปทำกระบวนการเเล้ว อยากแลกเปลี่ยนด้วยครับ

คิดว่า บริบทที่ต่างก็ทำให้กระบวนการที่ออกแบบเเตกต่างกันไป :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท