พระในบ้าน


พระในบ้าน

พระในบ้าน
โดย พระธรรมกิตติวงศ์
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัญฑิต)
“พระ” หมายถึงผู้ประเสริฐ ผู้ยอดเยี่ยม เพราะเป็นผู้มีคุณสมบัติดีอยู่ในตัว และประกอบความดีต่อผู้อื่น โดยมิได้มุ่งหวังการตอบแทน ทำด้วยดวงใจอันเปี่ยมล้นด้วยความรักความปรารถนาดีและความสงสารเป็นมูลฐาน หากผู้ใดทำได้ดังนี้ ไม่ว่าผู้นั้นจะครองเพศแบบไหน วัยไหนโลกย่อมแซ่ซ้อง สรรเสริญผู้นั้นว่าเป็น “พระ” ในสายตาของเขา และพร้อมที่จะยกมือทั้งสองขึ้นไหว้บูชา หรือยอมก้มศีรษะพร้อมทั้งกายหมอบราบกราบกรานด้วยความเต็มใจมิได้ตะขิดตะขวงหรือลังเลสักนิด เพราะมาเห็นว่าผู้นั้น คือเนื้อนาบุญอันหาได้ยากของเขาอย่างแท้จริง “ความเป็นพระ” อย่างที่ว่ามานั้น มิใช่จะมีเฉพราะกับนักบวชในศาสนาใดศาสนาหนึ่งตามความเข้าใจของคนทั่วไปเท่านั้น ความจริงเราท่านทุกคนต่างก็เคย ประสบพระหรือมีพระผู้ประกอบด้วยคุณความดีดังกล่าวมาแล้วทุกคนและมิได้พบที่ในป่าถ้ำลำเนาเขาหรือแดนบุญสถานนักบวชอื่นใดเลย หากพบกันอยู่ที่บ้าน มีอยู่ในบ้านของเรานั้นเองมิพักต้องไปหาที่อื่นเสียให้ยากเลย เพราะพระดังกล่าวนี้หาได้ในบ้าน จึงเรียกในที่นี้ว่า “พระในบ้าน” หากจะบอกในตอนต้นนี้เสียเลยว่า “พระในบ้าน” นั้นคือ “พ่อ” กับ “แม่” ก็คงจะทำให้คลายสงสัยไปได้เปลาะหนึ่งเพราะบางทีอาจเกิดความแคลงใจขึ้นมาเมื่อได้ยินคำนี้เข้า ว่าเหตุใดพระจึงไปอยู่ในบ้าน ดุออกจะขัดๆ หูอยู่ ด้วยตามปกติเรามักจะเห็นพระท่านอยู่แต่ในวัดหรืออยู่ในถ้ำในเขาเท่านั้น แม้หากจะเข้าบ้านบ้างในบางคราว ก็อยู่ชั่วระยะเวลามีกิจเสร็จแล้วท่านจะกลับวัดอย่างเดิม และก็คงไม่มีใครกล้าคัดค้านหรือปฏิเสธว่า “พ่อแม่” ไม่ได้เป็น “พระ” หากว่าผู้นั้นเป็นคนดีมีความคิดและยุติธรรมทั้งมองโลกในแง่ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เหตุที่ท่านทั้งสองได้นามว่าเป็นพระนั้น เพราะท่านมี “ความเป็นพระ” คือคุณธรรมความดีอยู่ในตัว และได้ปฏิบัติภารกิจอันเป็นหน้าที่ของตัวอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ทั้งในด้านจิตใจก็เปี่ยมล้นด้วยความรัก ความปรารถนาดี และความสงสาร อันเป็นเหตุชักจูงให้ท่านได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ ยอมเป็น “ผู้ให้” อยู่ตลอดมา แน่แล้ว พ่อแม่ คือ พระในบ้าน ตามปกติเรามักจะแสวงหาพระ ไปกราบไว้พระกันตามวัดตามถ้ำ ตามป่า หรือแม้อยู่บนยอดเขาก็ยอมไปกันด้วยความมุ่งมั่นว่าจะเป็นมงคลแก่ตัว แม้จะต้องไปค้างอ้างแรมกัน หรือใช้เวลาเดินทางไปเป็นวันๆ เราก็ยังทนหอบหิ้วสังขารไปจนกระทั่งถึงท่านจนได้ พอได้เห็นท่านได้กราบไหว้บูชาท่านแล้วก็กลับ เท่านี้เกิดความอิ่มเอิบใจหายเหน็ดเหนื่อย โอกาสหน้าก็แวะเวียนไปหาท่านบ่อยๆ เล่าทุกข์สุขให้ท่านฟังให้ท่านช่วยแก้ปัญหาชีวิตซึ่งมันคับอกคับใจให้ เป็นต้น “พระนอกบ้าน” ที่ว่ามานี้เราไปหาได้ บูชาได้ แลัทำได้บ่อยๆเสียด้วยซ้ำไป แต่ในเราทั้งหลายนี้ จะมีสักกี่คนเล่าที่นึกถึง “พระในบ้าน” กัน พระในบ้านที่ใจจดใจจ่อรอท่าที่บรรดา “ลูก” จะมาหามากราบไหว้บูชา หรืออย่างน้อยๆมาให้เห็นหน้าก็ดีใจถมไปแล้ว โดยมากเราต่างก็มักจะเอื้อบำรุงอุดหนุนกันแต่พระนอกบ้าน หรือดั้นด้นไปเช่าพระนอกบ้าน ซึ่งปราศจากลมหายใจเข้ามาไว้ในบ้านด้วยราคาแพงๆ ทำที่ประดิษบานไว้ด้วยห้องหรูๆ ราคาแพงลิบแต่พระในบ้านซึ่งยังมีลทหายใจอยู่ เรากลับปล่อยให้อดอยากปากแห้ง ปล่อยให้ใจแล้งอับเฉา และเศร้าใจอยู่ตามลำพัง เพราะปราศจากน้ำใจลูกๆนั้น อาจยิ่งกว่า “ข้าวคอยฝน” อย่างที่เราชอบเปรียบกันเสียอีก ท่านคงจะมิใช่เป็นผู้หนึ่งในจำนวน “โดยมาก” นั้น!

คำสำคัญ (Tags): #พระในบ้าน
หมายเลขบันทึก: 473958เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วทำให้นึกถึง พ่อกับแม่จริงๆค่ะ อยากไปกราบท่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท