ชวนโรงพยาบาลสังกัด กทม. สร้างเครือข่าย KM


รพ.ต่าง ๆ น่าจะทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายแล้วใช้ KM เป็นเครื่องมือในการพัฒนางาน

เมื่อบ่ายวานนี้ ดิฉันรับเชิญจากสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ไปเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “การสร้างเสริมสุขภาพของผู้ใช้บริการ” ให้กับข้าราชการสายงานการพยาบาล ระดับ ๗-๘ จากวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์และจาก ๙ รพ.ที่สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ๔๐ คน ในการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการพยาบาล ณ ห้องประชุมอบทิพย์ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ มีอาจารย์สานันท์หรืออาจารย์เล็กเป็นผู้ประสานงาน

การบรรยายเชิงวิชาการ ถ้าพูดกันนานๆ ก็คงจะเบื่อ ดิฉันมีความเห็นว่าปัจจุบันนี้เราสามารถเข้าถึงความรู้ explicit เหล่านี้ได้ง่าย การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองน่าจะได้ความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่า ดิฉันจึงเตรียมเนื้อหาการบรรยายเอาไว้ ๓ ส่วน คือ (๑) เนื้อหาวิชาการเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎี หลักการ วิธีการสร้างเสริมสุขภาพ (๒) ตัวอย่างของกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในผู้ป่วยเบาหวาน และ (๓) เสนอแนวทางการสร้างเครือข่าย KM เพื่อพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพของผู้ใช้บริการ

 

ผู้เข้ารับการอบรม (ถ่ายภาพจากด้านซ้าย)

 

ดิฉันได้เล่าเรื่องโครงการวิจัย “พัฒนารูปแบบการส่งเสริมการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒” ซึ่งเป็นงานที่ทีมอาจารย์จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำร่วมกับทีมของ รพ.เทพธารินทร์ โดยมี ผศ.สมนึก กุลสถิตพร เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมองเห็นว่าการจะให้คนเราออกกำลังกาย ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมการส่งเสริมและปกป้องสุขภาพนั้น จะต้องให้เขามีความรู้เพียงพอ ไม่เพียงแต่รู้วิธีการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ต้องรู้จักตนเองด้วยว่ามีสมรรถนะแค่ไหน ทำอะไรได้ ไม่ได้บ้าง นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการมีพฤติกรรมดังกล่าวด้วย

 

ผู้เข้ารับการอบรม (ถ่ายภาพจากด้านขวา)

ดิฉันถามผู้เข้าอบรมว่ามี รพ.ใดที่ทำเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพแล้วประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างของ best practice บ้าง ผู้เข้าอบรมส่งเสียงให้ได้ยินว่ามีทำภายในโรงพยาบาล  แต่ยังไม่ได้ยินว่าที่ไหน ใครทำอะไรเป็นเลิศบ้าง ประกอบกับช่วงพักรับประทานอาหารว่าง ดิฉันเห็นผู้เข้าอบรมแจกจ่ายหนังสือ (ซื้อไม่ได้แจกฟรี) “การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ” ของ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด และสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการจัดการความรู้จากการประชุมวิชาการของสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช ที่มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ไปบรรยายด้วย แสดงว่าผู้เข้าอบรมสนใจเรื่อง KM เหมือนกัน เข้ากับเนื้อหาในส่วนที่ ๓ ที่เตรียมมาพอดี ดิฉันได้เล่าเรื่องเครือข่าย KM เบาหวานและชักชวนว่า รพ.ต่าง ๆ น่าจะทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายแล้วใช้ KM เป็นเครื่องมือในการพัฒนางาน เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้ รพ.ในสังกัด กทม. มีเพียง รพ.วชิระเท่านั้นที่ผ่านการรับรอง HA แล้ว

มีผู้เข้าอบรมบอกว่ามีแผนจะทำ KM อยู่แล้ว ดิฉันได้บอกไปว่าหากจะดำเนินการกันจริง ถ้าต้องการดิฉันยินดีช่วยประสานกับทาง สคส.และเข้าไปช่วยจัด KM workshop ให้

อาจารย์สานันท์ (เล็ก)

ตอนท้ายของวันนี้อาจารย์สานันท์แจ้งผู้เข้ารับการอบรมเรื่อง assignment ที่ต้องมีการนำเสนอ ดิฉันเลยได้ทราบว่าผู้เข้าอบรมกลุ่มนี้จะเดินทางไปนิวซีแลนด์เป็นเวลา ๗-๘ วันด้วย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๙

คำสำคัญ (Tags): #พยาบาล#อบรม
หมายเลขบันทึก: 47370เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2006 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมแนะนำชื่ออาจารย์วัลลา  ให้แก่  อ. ปิ่นนเรศ  จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าธนบุรี   ไปด้วยนะครับเพราะติดต่อสอบถามเกี่ยวกับ KM 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท