ปล่อยตัวปล่อยใจในธรรมปฏิบัติ


พระพุทธวจนะในพระสูตรสามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่ผมอย่างมาก โดยเฉพาะบทสวดเช้าเพราะฟังดูคล้ายกับได้ฟังคำสอนโดยตรงที่ตรัสออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ ท่านกล่าวถึงการทำวิปัสสนาที่ลักษณะท่าทาง ลักษณะทางร่างกาย กายภาพ(กาย) ที่ความรู้สึกทางร่างกาย(เวทนา) ที่จิตใจ(จิต) และที่สิ่งที่เกิดขึ้นในจิต(ธรรม) ไว้โดยละเอียดแก่ชาวกุรุ แห่งนิคมกัมมาสธัมมะ

สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๕๕ ครับท่านผู้อ่านทุกท่าน

                ในคอร์สสติปัฏฐานของโกเอ็นก้าครั้งแรกของผมระหว่างวันที่ ๒๐-๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ ธรรมอาภา จัดว่าเป็นคอร์สที่เข้มข้นในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานคอร์สหนึ่งเลย ผู้ปฏิบัติทุกคนล้วนแต่เป็นศิษย์เก่า ทุกคนรู้หน้าที่รู้หน้าที่และวิธีการปฏิบัติอย่างดีมาแล้ว บรรยากาศที่เงียบสงบจึงเกิดขึ้นเป็นขึ้นอย่างไม่ยาก ไม่ต้องห่วงเรื่องการถูกรบกวนจากศิษย์ใหม่ต่อการเข้าถึงธรรมที่ลึกขึ้นละเอียดขึ้น การถูกรบกวนนั้นจริงๆแล้วเป็นเพียงการรับรู้เฉพาะของแต่ละบุคคล มือใหม่อย่างผมอาจจะมองว่าเป็นการรบกวนให้เกิดเวทนาทางกายที่หยาบๆขึ้นบ่อยจนเสียเวลาในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเวทนาที่ละเอียดอ่อนข้างใต้นั้น แต่บางท่านผู้ปฏิบัติที่มีสติแนบแน่นและละเอียดอ่อนแล้วอาจมองว่าการมีผู้ปฏิบัติใหม่เป็นการท้าทาย เป็นแบบฝึกหัดของการเคลียร์เวทนาหยาบๆซึ่งยิ่งฝึกก็ยิ่งก้าวหน้าได้ไวได้ลึก หรือหากจะมีอริยบุคคลบางท่านอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรต่อผู้ปฏิบัติใหม่เลย ท่านถือเป็นเพียงอนิจจธรรมสิ่งหนึ่ง ไม่ปล่อยให้มากระเทือนอวัยวะรับรู้ใดๆเลย เนื่องจากท่านเหล่านี้มีอุเบกขาธรรมดักคอยสิ่งที่มากระทบอยู่ในทุกอายตนะแล้ว (ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ)

                เช่นเคยที่ระยะเวลาประมาณ ๑ ใน ๓ ของเวลาที่อยู่ที่นั่น ใช้ไปเพื่อการสงบจิตในเกิดสมาธิระดับต้นหรือมากพอที่จะสามารถเคลื่อนจิตไปเพื่อสำรวจกายและใจในเวลาต่อไปที่เหลืออยู่ การกระทำข้างต้นนี้เราเรียกว่าสมถะกรรมฐาน ก่อนที่จะนำไปใช้วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง โดยที่คอร์สนี้มีความแตกต่างอยู่ที่บทสวดตอนเช้าและบทสอนธรรมบรรยายตอนค่ำ โดยจะเน้นให้ผู้ปฏิบัติก้าวหน้าและตกตะกอนเพิ่มขึ้นในเชิงหลักคำสอนสำคัญๆขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยอ้างอิงพระสูตรในตอนมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งพระอานนท์ตรัสไว้ตอนที่ทำสังคยานาพระไตรปิฎกครั้งแรก โดยเท่าที่ทราบมาพระอานนท์ท่านมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือความสามารถในการคัดลอกคำสอนต่างๆของพระพุทธองค์มาเป็นประโยคต่อประโยคอย่างไม่มีผิดเพี้ยน อาจจะด้วยบุญเก่าที่ท่านเคยให้การสนับสนุนการศึกษาในชาติที่ผ่านๆมา

                พระพุทธวจนะในพระสูตรสามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่ผมอย่างมาก โดยเฉพาะบทสวดเช้าเพราะฟังดูคล้ายกับได้ฟังคำสอนโดยตรงที่ตรัสออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ ท่านกล่าวถึงการทำวิปัสสนาที่ลักษณะท่าทาง ลักษณะทางร่างกาย กายภาพ(กาย) ที่ความรู้สึกทางร่างกาย(เวทนา) ที่จิตใจ(จิต) และที่สิ่งที่เกิดขึ้นในจิต(ธรรม) ไว้โดยละเอียดแก่ชาวกุรุ แห่งนิคมกัมมาสธัมมะ โดยผมขอพูดถึงเนื้อหาโดยย่นย่อดังนี้คือ (อ้างอิงจากมหาสติปัฏฐานสูตรแปล จากต้นฉบับคำแปลภาษาอังกฤษของสถาบันวิปัสสนาวิจัยแห่งธรรมคีรี)

๑.       กายานุปัสสนา (การเฝ้าดูกาย The Observation of Body)

ก.       อานาปานบรรพ (ตอนว่าด้วยลมหายใจ Section on Respiration) อยู่ที่ไหนก็ดีที่เงียบสงบ ให้รู้ชัดว่ากำลังหายใจเข้า-ออก สั้น-ยาว พร้อมกับการรู้เวทนาตลอดร่างกายขณะหายใจเข้า-ออก พร้อมรู้เวทนานั้นสงบระงับตลอดทั่วร่างกายขณะหายใจเข้า-ออก

ข.       อิริยาบถบรรพ (ตอนว่าด้วยอิริยาบถ Section on Postures) ขณะยืน เดิน นั่ง นอน ให้รู้ชัดลักษณะและความเป็นจริงของกายทั้งภายในและภายนอก

ค.       สัมปชัญญะบรรพ (ตอนว่าด้วยการมีความรู้ชัด เข้าใจในความไม่เที่ยงอยู่ตอนเวลา Section on Constant Thorough Understanding of Impermanence) ไม่ว่าจะเหลียวมองทางใด วางหรือหยิบจับอะไร กิน ดื่ม เคี้ยว หรือลิ้มรสอาหารอะไร ย่อมทำด้วยความรู้ชัดในความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ขณะขับถ่าย ขณะตื่น ขณะพูดอยู่ หรือขณะนิ่งอยู่

ง.        ปฏิกูลบรรพ (ตอนว่าด้วยการพิจารณาสิ่งที่น่ารังเกียจ Section on Reflections on Repulsiveness) พิจจารณาร่างกายตามจริงว่ามีเพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ ผังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะอาหารและของในกระเพาะอาหาร อุจจาระ น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ ไขมัน น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ และน้ำปัสสาวะ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตน ไม่ใช่สิ่งสวยงามไม่สิ่งน่ายึดเหนี่ยวไว้

จ.       ธาตุมนสิการบรรพ (ตอนว่าด้วยการพิจารณาธาตุที่ประกอบกันขึ้นเป็นรูป Section on Reflections on the Material Elements) ในร่ากายนี้มีธาตุทั้ง ๔ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟและลม

ฉ.       นวสีวถิกาบรรพ (ตอนว่าด้วยข้อสังเกต ๙ ประการเกี่ยวกับป่าช้า Section on the Nine Charnel-ground Observations) (๑)ซากศพที่ถูกทิ้งไว้ ตายมาแล้ว ๑ ๒ หรือ ๓ วัน พองอืด เขียว และมีน้ำเหลืองไหล (๒)ถูกฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกิน ฝูงนกตะกรุม หมู่สนัข หมู่เสือ หมู่เสือดาว หมู่สุนัขจิ้งจอก หรือหมู่สัตว์ต่างกัดกินอยู่ (๓)ร่างของศพยังมีกระดูก มีเนื้อมีเลือด โดยมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ (๔)เป็นโครงกระดูกไม่มีเนื้อ แต่ยังมีเลือดฉาบติด และมีเอ็นผูกรัดอยู่ (๕)เป็นโครงกระดูกไม่มีเลือดเนื้อ แต่มีเอ็นผูกรัดอยู่ (๖)เป็นกระดูกไม่มีเส้นเอ็นรัดแล้ว กระจุยกระจายไปทุกทิศทาง (๗)เป็นท่อนกระดูกสีขาวเหมือนสีสังข์ (๘)เป็นกองกระดูกกองอยู่ด้วยกันเน ๑ ปี (๙)กระดูกที่ผุละเอียดแล้ว สิ่งต่างๆข้างต้น ย่อมนึกเปรียบเทียบกับกายตนว่าแม้ร่างกายนี้เล่า ก็จะมีธรรมชาติอย่างเดียวกัน จะเป็นอย่างนี้ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้

๒.       เวทนานุปัสสนา (การสังเกตเวทนา The Observation of Sensations) (๑)เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุขเวทนาก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยทุกขเวทนา เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนา (๒) เมื่อเสวยสุขเวทนาด้วยความยึดติด ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยสุขเวทนาด้วยความยึดติด เมื่อเสวยทุขเวทนาด้วยความยึดติด ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยทุกขเวทนาด้วยความยึดติด เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาด้วยความยึดติด ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาด้วยความยึดติด (๓)เมื่อเสวยสุขเวทนาด้วยความไม่ยึดติด ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยสุขเวทนาด้วยความไม่ยึดติด เมื่อเสวยทุขเวทนาด้วยความไม่ยึดติด ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยทุกขเวทนาด้วยความไม่ยึดติด เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาด้วยความไม่ยึดติด ก็รู้ชัดว่ากำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาด้วยความไม่ยึดติด เมื่อเธอเฝ้าสังเกตเวทนาในเวทนาภายใน หรือเฝ้าสังเกตเวทนาในเวทนาภายนอก หรือเฝ้าสังเกตเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอก ดังนี้คือเธอได้เฝ้าสังเกตปรากฎการณ์การเกิดขึ้นของเวทนนา การดับไปของเวทนา การเกิดขึ้นและดับไปของเวทนา บัดนี้ สติของเธอตั้งมั่นอยู่ นี่คือ “เวทนา”

๓.       จิตตานุปัสสนา (การสังเกตจิต The Observation of Mind) (๑) craving เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ เมื่อจิตปราศจากราคะก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากราคะ (๒) aversion เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตปราศจากโทสะก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโทสะ (๓) delusion เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ เมื่อจิตปราศจากโมหะก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโมหะ (๔) collected เมื่อจิตรวมกันอยู่ ก็รู้ชัดว่าจิตรวมกันอยู่ (๕) scattered เมื่อจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน (๖) expanded เมื่อจิตแผ่ขยายออกไป ก็รู้ชัดว่าจิตแผ่ขยายออกไป (๗) unexpanded เมื่อจิตไม่แผ่ขยายออกไป ก็รู้ชัดว่าจิตไม่แผ่ขยายออกไป (๘) unsurpassable เมื่อจิตยังไม่ถึงภาวะสูงสุด ก็รู้ชัดว่าจิตยังไม่ถึงภาวะสูงสุด (๙) surpassable เมื่อจิตยังถึงภาวะสูงสุดแล้ว ก็รู้ชัดว่าจิตยังถึงภาวะสูงสุดแล้ว (๑๐) concentrated เมื่อจิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่าจิตเป็นสมาธิ (๑๑) unconcentrated เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่าจิตไม่เป็นสมาธิ (๑๒) freed เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตหลุดพ้น (๑๓) not freed เมื่อจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตยังไม่หลุดพ้น เมื่อเธอเฝ้าสังเกตจิตในจิตภายใน หรือเฝ้าสังเกตจิตในจิตภายนอก หรือเฝ้าสังเกตจิตในจิตทั้งภายในและภายนอก ดังนี้คือเธอได้เฝ้าสังเกตปรากฎการณ์การเกิดขึ้นของจิต การดับไปของจิต การเกิดขึ้นและดับไปของจิต บัดนี้ สติของเธอตั้งมั่นอยู่ นี่คือ “จิต”

๔.       ธัมมานุปัสสนา (การสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต The Observation of Mental Contents)

ก.       นีวรณบรรพ (ตอนว่าด้วยนิวรณ์ The Hindrances) (๑)กามฉันทะ sense desire (๒) พยาบาท aversion (๓) ถีนมิทธะ sloth and torpor (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ agitation and remorse (๕) วิจิกิจฉา doubt

ข.       ขันธบรรพ (ตอนว่าด้วยขันธ์ ๕ The Aggregates) (๑)เวทนา sensations (๒) สัญญา perception (๓) สังขาร reactions (๔) วิญญาณ consciousness (๕) รูป matter

ค.       อายตนบรรพ (ตอนว่าด้วยอายตนะ The Sense Spheres) ภายใน internal ได้แก่ (๑)ตา eye (๒)หู ear (๓)จมูก nose (๔)ลิ้น tongue (๕)กาย body (๖)ใจ mind /ภายนอก external ได้แก่ (๑)รูป visible objects (๒)เสียง sound (๓)กลิ่น smell (๔)รส taste (๕)สัมผัส touch (๖)ธรรมารมณ์ content of the mind

ง.        โพชฌงคบรรพ (ตอนว่าด้วยธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ The Factors of Enlightenment) (๑)สติ awareness (๒)ธรรมวิจัย investigation of Dhamma (๓)วิริยะ effort (๔)ปีติ rapture (๕)ปัสสัทธิ tranquillity (๖)สมาธิ concentration (๗)อุเบกขา equanimity

จ.       สัจจบรรพ (ตอนว่าด้วยอริยสัจ The Noble Truths) (๑) ทุกข์ -of the suffering (๒)สมุทัย –of the arising of suffering (๓)นิโรธ –of the cessation of suffering (๔)มรรค -of the path leading to the cessation of suffering ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ including right of understanding, right of thought, right of speech, right of action, right of livelihood, right of effort, right of awareness and right of concentration

เรื่องที่ผมกำลังจะแบ่งปันต่อจากนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะตนอีกเรื่องหนึ่งในระหว่างปฏิบัติธรรมในระดับที่อาจจะเชื่อว่าลึกมากขึ้นไปอีกขั้นในชีวิตของผมก็ว่าได้ และแน่นอนประสบการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับท่านผู้อ่านมาแล้ว โดยอาจจะมีการพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์หรือ ท่านอาจจะเคยได้ยินมามากมายในอดีต หากแต่เป็นเพียงความเข้าใจว่านั่นคือความเพ้อฝัน เพ้อเจ้อ เป็นอวิชชา เป็นการอวดตน เป็นเรื่องโกหกหลอกลวง หรือเป็นเพียงการเรียกศรัทธาเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของผู้พูด หลายครั้งที่ผมเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้ ผมเองก็เคยคิดและให้วินิจฉัยทางจิตเวชทันที ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากไม่พบหลักฐานความเป็นจริง และเป็นเหตุเป็นผลมากพอที่คนรอบข้างจะเชื่อสิ่งที่เขาพูดได้

ขณะที่จิตดำดิ่งสู่สมาธิระดับที่ลึกขึ้นเรื่อยๆพร้อมๆกับการวิปัสสนาเคลียร์เวทนาหยาบชั้นแล้วชั้นเล่า จนได้พบกระแสความสะเทือนที่ละเอียดเบาสบาย(ปีติ สุข) เสียงหัวใจที่ดูเหมือนจะดังอยู่ขณะหนึ่งทำท่าจะเงียบลง ร่างกายทั่วทั้งร่างส่วนศีรษะ อก ท้องและระยางค์แทบจะจับความรู้สึกไม่ได้นั้น มีเพียงลมหายใจแผ่วเบาที่รู้สึกได้ภายในหลอดลมที่หน้าอก และนั่นก็เป็นการทำงานเอง ด้วยตัวของมันเอง แม้ขณะนั้นผมไม่ได้มีส่วนร่วมในการหายใจ แต่ก็รู้ชัดว่าผมจะไม่ตายแน่นอนขณะนี้ เนื่องจากการเต้นหรือบีบตัวของหัวใจแต่ละครั้งนั้น ส่งเลือดไป fill up ในปอดทำให้เกิดการผลักอากาศภายในออก และเมื่อมีการขยายตัวของหัวใจห้องบนก็เป็นขณะเดียวกันกับการดึงเลือดที่ไฟอกที่ปอดกลับมา อากาศในหลอดลมของผมซึ่งต่อตรงขึ้นมาที่ทางออกของช่องจมูกด้านบนก็ถูกดึงเข้าไปแทนที่ด้วย negative pressure ทันที อาจจะกล่าวได้ว่าขณะนั้นผมหากใจถี่และละเอียดมากด้วยอัตราเร็วเท่ากับการเต้นของหัวใจเลยทีเดียว

สติที่ตื่นรู้ตัวอยู่ทำหน้าที่ของมันตามความเคยชินคือ สำรวจทั่วร่างกายจากศีรษะจรดเท้าอยู่ตลอดเวลา ทราบในจิตขณะนั้นไม่ได้คิดอะไร ไม่มีภาพ ไม่มีเสียงคำพูด ไม่มีภาษาหรือการสื่อสารใดๆผุดขึ้นมาในใจเลย มีเพียงการรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย ทันใดนั้นจิตที่เป็นอุเบกขาก็จับได้ว่าแสงสว่างนั้นมืดลง(ปัสสัทธิและสมาธิ) มืดสนิทที่บริเวณลูกตาทั้งสอง (รู้เพียงว่ามืดลงโดยไม่มีคำว่า “ลูกตา” หรือคิดว่าเป็น ลูกตาในขณะนั้น) นิมิตที่เกิดขึ้นเป็นภาพเด็กผู้หญิงในชุดขาวยืนหันหลังมองออกไปขากบ้านไม้ข้างถนน โดยมีแม่นั่งอยู่บนพื้นด้านข้างตัวเด็กน้อย พูดชัดว่าให้เด็กน้อยคนนั้นทำตัวให้เหมาะสม หากไม่เป็นเช่นนั้นจะถูกคุยยายว่า  เด็กคนนั้นหันหลังกลับมามองหน้าผม ผมเริ่มพูดดุว่าเด็กน้อยคนนั้นด้วยเสียงที่แหบแห้งของหญิงชราคนหนึ่งโดยที่ไม่สามารถบังคับคำพูดตนเองได้เลยเป็นช่วงเวลาไม่กี่วินาทีที่ผมรู้สึกตกใจมาก ในนิมิตนั้นหน้าของผมซ้อนทับสนิทกับหน้าของหญิงชราผู้นั้นแสดงอารมณ์เกี้ยวกราดใส่เด็กน้อยคนหนึ่งด้วยคำพูดหยาบคาย ผมจึงทำการคิดถึงบทสวดมนต์ชินบัญชรคาถาทันที จิตที่สงบลงเป็นอุเบกขาดึงเอาใบหน้าของผมหลุดออกจากให้หน้าของหญิงชราผู้นั้นกลับมายังความรู้สึกทางกายที่บริเวณศีรษะหน้าและดังเดิม ในบริเวณดวงตามีแสงสว่างขึ้นแทรกซึมเข้ามาที่เปลือกตาทั้งสอง ให้รับรู้ได้จากนั้นเริ่มได้ยิงเสียงลมหายใจ หัวใจ ตลอดจนความรู้สึกทางกายต่างเริ่มกลับคืนมา ผมตั้งสติอีกครั้งโดยรู้ชัดว่าเหตุการณ์นั้น ไม่ใช่ความฝันเพราะผมไม่ได้หลับไป แต่นั่นเป็นภาพในความทรงจำบางอย่างที่ติดค้างในจิต อาจจะอธิบายในเชิงจิตวิทยาได้ว่าผมเองสะกดจิตตนเองให้ย้อนถอยหลังไปในความทรงจำในอดีต บางอย่าง และไม่เหมือนเรื่องราวในความฝันเพราะจิตที่เป็นความฝันนั้นมักจะวุ่นวายฟุ้งซ่านไม่เป็นแก่นสาร ทั้งยังมักจะมีตัวเราอยู่ในเรื่องราวได้บ่อยๆ ร่างกายก็มักจะอ่อนเพลียได้หลังจากตื่น แต่แน่นอนไม่ว่าจะเป็นฝันหรือนิมิตนั้นก็เป็นส่วนที่เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตทั้งนั้น ตามความเข้าใจของผมมันต่างกันเพียงว่าเป็นเหตุการณ์ที่ปรุงแต่งขึ้นเองในชาติปัจจุบันสามารถไตร่ตรองได้หรือเป็นสิ่งเป็นธรรมชาติ หรือเรื่องราวเดิมไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชาตินี้

หลังจากตั้งสติได้ผมตั้งใจนั่งต่อเพื่อกลับเข้าไปพิสูจน์อีกครั้ง ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง การรับรู้ต่างๆจึงเข้าสู่ปัสสัทธิอีกครั้งหนึ่ง ความมืดเงียบสงบอย่างมาก ไม่มีอาการของจิตซึ่งได้แก่ วิตก(นึกคิดบัญญัติ) วิจาร(ครุ่นคิดตีความบัญญัติ) ความอิ่มเอิบที่เรียกว่าปีติ ความสุข มีเหลือแต่เพียงความสงบเงียบและจิตที่เป็นกลาง(อุเบกขา) จดจ่ออยู่จนเกิดสมาธิ(สมาธิ) จนกระทั่งจิตที่ตื่นรู้มืดลง และทันใดนั้นก็เกิดเป็นนิมิตว่าผมอยู่บนถนนขณะนั้นเงยหน้ามองดูรถ ๓ ล้อเก่าๆ คันหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า ด้านข้างมีชายวัยรุ่นคนหนึ่งยืนชี้มาที่ผม แสดงอาการเหมือนจะบอกให้ผมถอยออกไปจากเส้นทาง ผมมีแต่ความรู้สึกขอบคุณชายผู้นั้น จากนั้นก็กลับมาสู่การรับรู้ตามเดิม

แล้วนั่นก็คือตัวอย่าง ๒ ครั้งที่ผมสามารถแบ่งปันได้เนื่องจากเป็นประสบการณ์ตรง จึงมีความรู้สึกสนุกกับการศึกษาเข้าไปในตนเอง และตั้งใจว่าจะหาโอกาสฝึกฝนจิตด้วยนี้ให้มีกำลัง และสร้างสติที่เต็มด้วยอุเบกขาขึ้นให้มากเพื่อพร้อมต่อการรับรู้ประสบการณ์ครั้งต่อๆไปที่ชัดเจนขึ้นละเอียดขึ้น ผมเชื่อและเข้าใจว่านี่คือวิธีการกำจัดกิเลสเก่าๆที่ได้ฝังแฝงอยู่มานานมากแล้ว ซึ่งกิเลสหรือสังขารปรุงแต่งเหล่านี้อยู่ในชั้นลึกๆลงไปของจิต พร้อมที่จะหลุดลอกออกมาปรากฏให้เห็นให้รับรู้ได้ เมื่อจิตนิ่งสงบพอ ชั้นแล้วชั้นเล่าจนกระทั่งถึงชั้นที่ลึกที่สุด ก็จะรู้ได้ว่าใครคือผู้สร้างกระแสแห่งชีวิตของเราตามที่พระอริยบุคคลท่านประสบมาก่อนเรา

ความเห็นอีกด้านหนึ่ง คือการพบเจออดีตภพ อดีตชาติหรือสังขารเก่าๆ นิมิต หรือที่เรียกว่าอนุสัยกิเลส ของตนเองโดยเฉพาะตอนที่จิตไม่ได้มีกำลังพอคือไม่มีอุเบกขาเพียงพอนั้น ทำให้เรื่องราวที่พบเจอคลุมเครือไม่ชัดเจน บางครั้งคนผู้นั้นกลับมาด้วยความกลัวตีความไปต่างๆนานา ว่านั่นคือผีอำบ้าง นั่นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษบ้าง หรือสิ่งเหล่านั้นคือเจ้ากรรมนายเวรที่ตามมาเอาคืนบ้าง ก็สุดแล้วแต่สังขารใหม่ของแต่ละท่านจะตีความกันไปนะครับ ผมขอแนะนำว่ากินให้พอดี พักให้พอดี จัดท่าให้พอดี ทำสมถะสมาธิก่อนวิปัสสนาให้ดีพอก่อนและจึงวิปัสสนาลงไป ท่านจะได้พบความเป็นจริงภายในกายในจิตของท่านแบบชัดๆ ไม่ต้องไปถกเถียงกันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เนื่องจากธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งรู้เฉพาะตนและหากตนรู้ตนเองพอพร้อม ปล่อยตัวปล่อยใจในธรรมปฏิบัติ ธรรมะก็จะให้ผลแสดงออกมาที่ชัดเจนเอง สุดท้ายนี้ขออนุโมทนากับท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทุกท่านทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตไว้ ณ ที่นี่ด้วยครับ ธรรมสวัสดีครับ 

หมายเลขบันทึก: 473431เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท